เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แม้ว่า Huawei และ SMIC จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี 5 นาโนเมตร แต่เนื่องจากการสร้างแผ่นเวเฟอร์บนลิโธกราฟีถูกผลิตเป็นจำนวนมากด้วยเครื่อง DUV รุ่นเก่าซึ่งไม่รองรับเทคโนโลยี 5 นาโนเมตร และปัญหานี้ยังขยายไปถึงกระบวนการผลิต 7 นาโนเมตรด้วย ซึ่งหมายความว่า SMIC จะล้าหลังคู่แข่งไปหลายปี เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ทาง TSMC ใช้มาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว และรายงานฉบับใหม่ระบุว่า แม้ SMIC จะได้รับงบประมาณมหาศาลจากรัฐบาลจีน แต่ผู้ผลิตชิปรายนี้ก็ไม่สามารถพัฒนาให้เกินขีดจำกัด 7 นาโนเมตรได้ ทำให้ Huawei จะต้องติดอยู่กับการใช้เทคโนโลยีเก่านี้จนถึงอย่างน้อยปี 2026 เลยทีเดียว

Huawei และ SMIC ล้าหลังคู่แข่งด้านชิปเซตไปหลายปี จากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อาจต้องทนใช้ชิป 7 นาโนเมตรจนถึงปี 2026

ล่าสุดมีการเปิดเผยว่าความทะเยอทะยานในการผลิตชิป AI ของ Huawei ถูกทำให้ล้าหลังไป 3 รุ่น เนื่องมาจากการคว่ำบาตรทางการค้าเพิ่มเติมของสหรัฐฯ เท่านั้นยังไม่พอ ทางด้าน TSMC ยังแจ้งลูกค้าชาวจีนหลายแบรนด์ว่าจะไม่ส่งมอบชิป 7nm อีกต่อไป และต่อมามีการเปิดเผยว่าคำสั่งนี้มาจากทางการสหรัฐฯ นั่นเอง เมื่อทางเลือกของจีนลดลงเหลือเกือบเท่ากับศูนย์ ทางเลือกเดียวคือการพึ่งพาบริษัทผู้ผลิตอย่าง SMIC เพื่อให้เป็นอิสระจากบริษัทอย่าง TSMC และ Samsung และก็ยังดูเหมือนว่ายังมีอุปสรรคอยู่เช่นกัน

โดยทาง ASML เป็นบริษัทเดียวในโลกที่จัดหาอุปกรณ์ EUV ขั้นสูงให้กับผู้ผลิตแผ่นเวเฟอร์ เช่น TSMC และ Samsung ซึ่งก็ถูกห้ามโดยสหรัฐฯ ไม่ให้ขายเครื่องจักรล้ำสมัยนี้ให้กับ SMIC เช่นกัน ทำให้ทางเลือกเดียวของ SMIC คือใช้เครื่องจักรที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจีนคาดว่าจะจัดสรรงบประมาณมหาศาลเพื่อช่วยเหลือโรงหล่อในการพัฒนาอุปกรณ์ EUV ของตัวเอง แต่อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้น ตามรายงานของ Liberty Times แหล่งข่าวที่ใกล้ชิด SMIC และ Huawei กล่าวว่า ทั้งสองบริษัทจะต้องติดอยู่กับกระบวนการ 7nm ที่ล้าสมัยจนถึงอย่างน้อยปี 2026

และเมื่อไม่นานมานี้มีรายงานว่า Huawei เตรียมจะเปิดตัวชิปเซต Kirin 9100 ใหม่สำหรับสมาร์ทโฟนตระกูล Mate 70 Series ที่กำลังจะมาถึง และมีรายงานว่าผลิตจำนวนมากด้วยกระบวนการ 6 นาโนเมตร พร้อมกับคลัสเตอร์ CPU ใหม่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตเทคโนโลยี 6 นาโนเมตรนี้อาจเป็นเพียงการปรับปรุงมาจากเทคโนโลยี 7 นาโนเมตรโดยเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์เข้าไปเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว ทางรอดของ Huawei อาจอยู่ที่การร่วมมือกับ SMIC และทำงานในเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีจากกระบวนการผลิตขั้นสูงด้วยงบประมาณที่รัฐบาลจีนจัดสรรให้ก้อนใหญ่ ดูแล้วก็ได้แต่ต้องให้กำลังใจ Huawei ครับ ขอให้เจอทางออกที่ดีร่วมกันก็แล้วกัน

ที่มา wccftech