หลังจากยืดเยื้อกันมานานถึง 90 วันหลังการประมูล วันนี้นับเป็นเส้นตายของการชำระเงินงวดแรกพร้อมยื่นหนังสือค้ำประกันสำหรับผู้ชนะ ซึ่ง True ได้ชำระไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เหลือเพียง JAS ที่หลายๆฝ่ายต่างลุ้นกันว่าจะสามารถหาเงินและคนค้ำมาจ่ายได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อผ่านเวลา 16.30 น. ที่กำหนด ก็ยังไร้เงาจึงถือว่า JAS สละสิทธิ์ในทันที และทำให้ กสทช. เตรียมนำคลื่นออกมาประมูลอีกครั้งใน 4 เดือนข้างหน้า พร้อมหามาตรการลงโทษ JAS ที่สร้างความวุ่นวายในครั้งนี้

แนวทางการลงโทษที่หลายๆฝ่ายคาดการณ์กันว่า JAS จะโดนจาก กสทช.

  • ไม่มีสิทธิเข้าประมูลใบอนุญาตเดิมได้อีก
  • ถูกยึดเช็คเงินสดที่ JAS ใช้เป็นหลักประกันการประมูล 644 ล้านบาท
  • สัญญาเช่าใช้ และอุปกรณ์ต่างๆที่ทำเอาไว้หลังการประมูล จะต้องเสียไปฟรีๆหลายร้อยล้านบาท
  • รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการประมูลคลื่นครั้งต่อไป

ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงกันว่า JAS อาจจะถูกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการอื่นที่ดำเนินกิจการอยู่ ทั้ง 3BB และ MONO ยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องนี้ เพราะไม่มีระบุเอาไว้ในเงื่อนไขการประมูล ซึ่งหาก กสทช. ตัดสินใจเอาผิดจริง คงต้องดูกันต่อไปว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะอาจถูก JAS ฟ้องกลับได้

เตรียมจัดประมูลอีกครั้งใน 4 เดือนข้างหน้า หากไม่มีต้องเว้นว่าง 1 ปี

หลังจากที่ใบอนุญาตว่างลง กสทช. ได้วางแนวทางที่จะนำเอาคลื่น 900MHz ออกมาประมูลอีกรอบใน 4 เดือนข้างหน้านี้ โดยจะใช้ราคาเริ่มต้นเท่ากับที่ JAS ชนะในราคา 75,654 ล้านบาท ซึ่ง Truemove สามารถเข้าร่วมประมูลเพิ่มอีกใบได้ด้วยเพื่อเพิ่มการแข่งขันในการประมูล

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงการประกาศอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งบอร์ด กทค. เตรียมจะประชุมกันในวันพุธนี้ (23 มีนาคม) และจะประกาศออกมาอีกครั้งหนึ่ง

 

งานนี้นับเป็นช่วงเวลาที่น่าปวดหัวสำหรับทุกฝ่าย เพราะหลายๆอย่างก็เปลี่ยนไปมากหลังจากการประมูล และคงต้องรอให้ทุกอย่างชัดเจนอีกครั้งหลังการประกาศในวันพุธที่ 23 มีนาคมนี้ และต้องมาร่วมลุ้นกันว่า

  • AIS จะเข้าร่วมประมูลอีกครั้ง เอาคลื่น 900MHz กลับมาเพื่อแก้ปัญหาลูกค้าที่จะมีปัญหาใช้งานไม่ได้อีกหลายล้านราย
  • AIS จะปล่อยใบอนุญาตนี้ไปเพราะระยะเวลา 4 เดือนที่เหลืออยู่น่าจะย้ายคนได้หมด และคลื่นที่มีก็เพียงพอแล้ว
  • Dtac จะเข้าร่วมประมูลอีกครั้ง เอาคลื่นมาเสริม เพราะคลื่นที่ตนมีกำลังจะหมดอายุสัมปทานลงในอีก 3 ปีข้างหน้า
  • Dtac จะไม่ปล่อยใบอนุญาตนี้ไปหากราคาจบที่ 75,654 ล้านบาท โดยทั้ง AIS และ True ไม่เพิ่มราคาเข้าไปอีก
  • Dtac จะปล่อยใบอนุญาตนี้ไปเพราะราคาแพงไป ไม่อยากเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปอีก
  • True จะเข้าร่วมประมูลอีกครั้ง เพราะบอกว่าราคานี้ถูก และตัดกำลังของคู่แข่งไม่ให้ได้คลื่นไปเพิ่ม
  • True จะปล่อยใบอนุญาตนี้ไป เพราะตนมีคลื่นเพียงพอแล้ว ต้นทุนที่มีอยู่ก็แบกรับแทบไม่ไหวแล้ว

ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาเป็นแบบไหน คนที่น่าจะต้องรับผิดชอบมากกว่าชาวบ้านก็น่าจะต้องเป็น JAS ที่ป่วนการประมูลนี้เสียเหลือเกิน…

 

 

ที่มาของข่าว blognonemarketeer