ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป.. อะไรๆ มันก็ง่ายขึ้นเยอะ อย่างผมเนี่ยปกติเป็นคนที่ชอบถ่ายวิดีโอมากกว่าถ่ายรูป เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว การจะทำหนังสั้นหรือมิวสิควิดีโอเล่นๆ ก็ต้องมีทั้งกล้องวิดีโอ + คอมพิวเตอร์ + การ์ดแคปเจอร์ + โปรแกรมตัดต่อ (ที่ราคาแพงหูฉีก) แต่เดี๋ยวเนี้ยเหรอ.. มีมือถือแค่เครื่องเดียวก็สามารถทำทุกอย่างตามที่บอกมาได้หมดแล้ว แถมยังตัดต่อได้ง่ายสุดๆ ด้วยแอป KineMaster ที่โหลดไปใช้ได้ฟรีๆ อีกด้วย! ใครอยากรู้ว่ามันง่ายยังไง ดียังไง ก็ตามมาทางนี้เลย

จริงๆ เดี๋ยวนี้แอปตัดต่อวิดีโอสำหรับมือถือ ก็มีให้เลือกใช้ได้แบบฟรีๆ เยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแอปที่ตัดต่อให้เราได้เองแบบอัตโนมัติ แค่เลือกๆ คลิป + รูปภาพ + เพลง ใส่เข้าไปมันก็จะทำคลิปออกมาให้เราแล้ว แต่ถ้าใครอยากได้แอปที่มัน Advance ขึ้นมาหน่อย ไม่ว่าจะเป็นการลดหรือเพิ่มสปีดให้คลิป, แยกเสียงออกจากคลิป, เลือกตัดคลิปส่วนที่ต้องการออกจากคลิปใหญ่, ใส่เสียงประกอบ หรือแม้แต่ทำเอฟเฟ็คท์ Green Screen ฯลฯ เจ้าแอป KineMaster สามารถทำได้หมดเลย แถมการใช้งานก็ง่ายสุดๆ ไปเลยด้วย

KineMaster เป็นแอปที่โหลดเอาไปใช้ได้ฟรีๆ แต่ว่าเซฟวิดีโอออกมาแล้วก็จะมีลายน้ำอยู่บริเวณมุมขวาบนนิดหน่อย ไม่ถึงกับเกะกะหรือทำให้รำคาญสายตาอะไรนักหนา ก็เหมาะดีสำหรับผู้ที่อยากจะตัดต่อวิดีโอขำๆ ไว้ดูเล่นหรือแชร์บนโซเชียลสนุกๆ แต่ถ้าใครอยากเอาลายน้ำทิ้งไปก็ต้องมีการเสียเงินกันบ้างล่ะ แต่ว่าแอปนี้ไม่ใช่แอปที่สามารถซื้อขาดแล้วใช้ได้ตลอดไปนะครับ แต่มันจะคิดค่าบริการเป็นรายเดือนแทน โดยการใช้งาน KineMaster แบบต่ออายุอัตโนมัติ เสียค่าบริการเดือนละ 158.60 บาท ถ้าเป็นรายเดือน 30 วัน แบบไม่ต่ออายุ อยู่ที่ 245.50 บาท และสุดท้ายคือรายปี 1,269.55 บาท 

เริ่มใช้งาน

หลังจากติดตั้งแอปลงเครื่องเรียบร้อยแล้ว พอเปิดแอปมามันก็จะพลิกหน้าจอเป็นแนวนอนให้โดยอัตโนมัติ จากนั้นกดไปที่ปุ่มสีแดงทางซ้าย (อันใหญ่สุดตรงกลาง) เพื่อเริ่มตัดต่อวิดีโอกันได้เลย

จะมีให้เลือกว่าต้องการวิดีโออัตราส่วนเท่าไหร่ เป็นแนวตั้ง แนวนอน หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส

เมื่อเข้ามาก็จะเจอหน้าจอแบบนี้ ตรงด้านซ้ายล่างจะมีโฆษณายึกยักๆ ให้เห็นสำหรับผู้ใช้งานฟรี แต่ก็ไม่ได้น่ารำคาญอะไรนักหนาหรอก

เริ่มต้นด้วยการนำไฟล์วิดีโอหรือภาพนิ่งที่เราต้องการมาใส่ซะก่อน โดยกดที่ Media และเลือกไฟล์ที่เราต้องการซะ

เมื่อเลือกได้แล้ว ไฟล์ดังกล่าวก็จะมาอยู่ตรง Timeline ด้านล่าง เส้นสีแดง (Playhead) จะบอกว่าคลิปที่เราเลือกมามีความยาวกี่วินาที โดยเราสามารถวางคลิปวิดีโอที่ต้องการได้เรื่อยๆ แล้วค่อยมาตัดออกทีหลัง ถ้าจะลบคลิปไหนทิ้งก็กดเลือกให้เป็นขอบสีเหลืองและกดที่รูปถังขยะด้านซ้ายมือเพื่อลบทิ้ง หรือถ้าอยากจะย้ายเอาคลิปด้านหน้ามาไว้ข้างหลังก็ให้แตะตรงคลิปที่ต้องการค้างไว้แล้วลากไปบริเวณที่ต้องการได้เลย

กดเลือกคลิปที่ต้องการลบ แล้วจะมีถังขยะโผล่ขึ้นมาทางซ้าย

พอเราใส่คลิปลงใน Timeline หลายๆ คลิป ตรงช่วงระหว่างคลิปจะมีช่องสี่เหลี่ยมสีเทาขึ้นมาสำหรับใส่ Transition หรือเอฟเฟ็คท์เวลาเปลี่ยนฉาก ซึ่งมีให้เลือกเยอะแยะเลยล่ะ

ส่วนตัวเลือกอื่นๆ ก็จะมี Audio คือเลือกเพลงหรือเสียงประกอบ, Voice จะเป็นการอัดเสียงใหม่ด้วยไมค์ของมือถือ สำหรับพากย์เสียงหรือทำ Voice over เสียงบรรยายก็ได้, Layer เป็นการเพิ่ม Timeline อีกชั้นนึง (หรือมากกว่านั้น) เพื่อใส่ภาพวิดีโอซ้อน ใส่เอฟเฟ็คท์ หรือตัวหนังสือต่างๆ ส่วนปุ่มแดงๆ อันนั้นไว้สำหรับถ่ายภาพหรือวิดีโอด้วยกล้องมือถือ

การตัดต่อ

ถ้าหากว่าเราต้องการจะตัดคลิปให้สั้นลง หรือต้องการตัดเอาเฉพาะส่วนที่ต้องการก็ให้แตะไปที่คลิปด้านล่างนั้น จะมีกรอบสีเหลืองขึ้นมา จากนั้นให้เราแตะที่ขอบเหลืองทางซ้ายหรือขวาและรูดเพื่อตัดคลิปให้ได้ช่วงเวลาที่ต้องการ หรือถ้าอยากจะรูดเพื่อดูคลิปเฉยๆ ก็ให้แตะไปตรงพื้นที่ว่างด้านล่างและรูดนิ้วซ้าย-ขวาเอา

แต่ถ้าต้องการตัดคลิปเพื่อแบ่งเป็นส่วนๆ ก็ให้เลื่อนเส้นสีแดงไปตรงบริเวณที่เราต้องการตัด จากนั้นกดที่เครื่องหมายกรรไกร ก็จะมีตัวเลือกลงมา 5 อย่างคือ

  • Trim to left of playhead : ตัดคลิปทางด้านซ้ายของ playhead ทิ้ง (playhead คือเส้นสีแดง)
  • Trim to right of playhead : ตัดคลิปทางด้านขวาของ playhead ทิ้ง
  • Split at playhead : ตัดคลิปตรง playhead ออกเป็น 2 ส่วน
  • Extract Audio : แยกเสียงออกจากคลิป (เมื่อกดแล้วจะมีคลิปเสียงเป็นแถบสีเขียวเพิ่มมาตรงด้านล่างของคลิป)
  • Split and Insert Freeze Frame : ตัดคลิปออกเป็น 2 ส่วน และใส่ภาพนิ่งของคลิปตรง playhead เข้าไปแทรกกลาง

ถัดจากกรรไกร เป็นเครื่องมือสำหรับ Crop หรือซูมวิดีโอส่วนที่ต้องการ มีลูกเล่นให้เลือก 2 แบบ คือซูมภาพ (ใช้ 2 นิ้วถ่างเพื่อซูม / แตะ 2 ครั้งเพื่อหดกลับ) จากจุดเริ่มต้นคลิป Start Position ให้ไปจุดที่ต้องการตอนจบคลิป End Position หรือจะซูมเป็นจุดเดียวนิ่งๆ ทั้งคลิปก็ให้กดที่เครื่องหมาย =

ถัดมาอีกเป็นเครื่องหมายลำโพง สำหรับปรับเสียงของคลิปที่เราเลือกว่าจะให้ดังหรือเบาขนาดไหน ปรับระดับเสียงเสียงด้านซ้ายหรือขวา หรือปรับ Pitch ให้เสียงใหญ่หรือเสียงแหลมเล็กก็ได้

ส่วนตัวเลือกด้านล่างจะเป็นการเพิ่มลูกเล่นให้กับคลิปของเราเข้าไปอีก ซึ่งมีทั้ง

  • Clips Graphics : ใส่กราฟฟิคลงในคลิปไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรสวยๆ, กราฟฟิกอื่นๆ อย่างพวกดาวตก เครื่องบิน ฯลฯ ซึ่งสามารถหาดาวน์โหลดเพิ่มได้จากร้านค้าในแอป (บางอันต้องสมัครรายเดือนถึงจะใช้ได้)
  • Speed Control : ปรับความเร็วของคลิปให้เร็วได้สุด 2X และช้าสุด 0.25X
  • Rotate / Mirroring : พลิกคลิปซ้ายขวา หรือกลับด้าน
  • Color Filter : ปรับสีตามฟิลเตอร์สำเร็จรูป
  • Color Adjustment : ปรับแสง / สี
  • Volume Envelope : ปรับระดับเสียงตามช่วงที่ต้องการภายในคลิป
  • Audio Filter : ปรับเสียงให้เป็นหุ่นยนต์, ชิปมั้งค์, เสียงห้าว ฯลฯ
  • Vignette : ใส่เงาที่ขอบจอ

การเซฟไฟล์วิดีโอ

เมื่อเราตัดต่อและใส่เสียง ใส่เอฟเฟ็คท์เรียบร้อยตามที่ต้องการแล้วก็ให้กดออกตรงมุมจอด้านขวาบน

ก็จะเห็นว่าคลิปของเราถูกเซฟเอาไว้ตรงด้านหน้าเรียบร้อยแล้ว ถ้าจะเซฟออกมาเป็นไฟล์ก็ให้กดเลือกที่คลิปนั้น แล้วเลือกที่แชร์ (ปุ่มที่ 2)

จากนั้นก็เลือกว่าจะเซฟไฟล์แบบไหน โดยสามารถเลือกความละเอียดได้สูงสุดถึงระดับ 2K (QHD 1440p), เฟรมเรทเลือกได้สูงสุดที่ 30 fps และ Bitrate ได้สูงสุดถึง 29.77Mbps (ยิ่ง Bitrate สูง ก็ยิ่งใช้พื้นที่มากขึ้น) เมื่อเลือกได้แล้วก็กด Export เพื่อเซฟคลิปของเราออกมาเป็นไฟล์ MP4 แต่อย่างที่บอกไปว่ามันจะมีลายน้ำติดอยู่ตรงมุมขวาบน

ก็ถือว่า KineMaster เป็นแอปสำหรับตัดต่อวิดีโอในมือถือที่ใช้งานง่ายและครบเครื่องสุดๆ (บอกไปแล้วใช่มั้ยว่ามันฟรีด้วย) แถมการทำงานก็ลื่นปื้ดๆ ไม่มีสะดุดเลย (ลองใช้บน Note 8 และ Tab S4) ถ้าใครที่เริ่มใช้งานคล่องแล้วจะลองเล่นเอฟเฟ็คท์ Green Screen ล้ำๆ แอปนี้ก็มีให้ใช้ด้วยเหมือนกันนะ ลองไปเล่นกันดูแล้วจะรู้ว่าการตัดต่อคลิปวิดีโอหรือหนังสั้นๆ หนุกๆ มันไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย

Play video

ตัวอย่างคลิปที่ตัดต่อด้วย KineMaster