จริงๆ แล้ว มิจฉาชีพ นั้นมีมาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่เดินหลอกตามบ้าน, ส่งจดหมาย, ส่ง SMS, โทรศัพท์หา และตอนนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยม แน่นอนว่ามิจฉาชีพก็ต้องมาแน่นอน พบเจอได้ทุกที่ และ Facebook ที่ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคน ซึ่งทาง Meta เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาเหล่านี้ ได้ออกนโยบายหาแนวทางป้องกัน ทั้งเพิ่มบุคลากรคัดกรอง และดึงเอาเทคโนโลยี AI มาช่วย รวมถึงการร่วมมือหน่วยงานรัฐท้องถิ่น เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับธุรกิจและผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม
Facebook ประเทศไทย จาก Meta ได้จัดบรรยายให้ความรู้สื่อมวลชนและร่วมพูดคุยกับหน่วนงานภาครัฐในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์” แบ่งปันนโยบายและแนวทางล่าสุดในการรับมือปัญหานี้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญเสริมทักษะด้านดิจิทัลผ่านแคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand โดยมีรายละเอียดในหัวข้อต่างๆ ดังนี้
6 มาตรการป้องกันการฉ้อโกงและการหลอกลวง
1.Policy นโยบาย
ออกนโยบายป้องกันการฉ้อโกงและการหลอกลวง คือการลบเนื้อหาและดำเนินการกับพฤติกรรมที่มีเจตนาในการหลอกลวงผู้ใช้หรือบุคคลที่สาม โดยเป็นความพยายามดำเนินการเพื่อป้องกันกิจกรรมอันเป็นการฉ้อฉลบนแพลตฟอร์ม หากมีการละเมิดข้อกำหนดจะโดนระงับบัญชี สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ข้างล่าง
2.Enforcement การบังคับใช้
- การตรวจสอบยืนยันตัวตนเบื้องต้น
- ใช้ AI ในการสแกนหาสิ่งผิดปกติ
- มีทีมงานคอยตรวจสอบ
- การรายงาน ทั้งจากผู้ใช้งาน เจ้าของแบรนด์ ผู้ลงโฆษณา รัฐบาล หน่วยงานตัวแทนด้านกฎหมาย
3.Tools เครื่องมือป้องกัน
การทำเครื่องป้องกันบนแพลตฟอร์ม เช่น ฟีเจอร์การส่งข้อความผ่าน Messenger ที่หากไม่ใช่เพื่อนในบัญชีของเรา แล้วส่งหาเรา จะถูกเก็บอยู่ในส่วนการขอส่งข้อความ แล้วข้อความที่ส่งมาจะถูกปิดกั้น หากเราไม่ยอมรับ
4.Education การให้ความรู้
ได้จัดทำแคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailandโครงการหลักในการเสริมทักษะดิจิทัลของ Meta ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้แก่ชาวไทย เกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสแกมอีคอมเมิร์ซ สแกมความปลอดภัยและการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง รวมถึงภัยบนโลกออนไลน์อื่น ๆ
5.Partnerships ร่วมมือกับพันธมิตร
Meta ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับหน่วยงานไทย อย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจไซเบอร์ พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ได้แจ้งว่า “ปัญหาภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์ นับเป็นปัญหาสังคมที่ขยายวงกว้างออกไปในทุกพื้นที่บนโลกออนไลน์ อาชญากรรมไซเบอร์และปัญหาเรื่องสแกมเมอร์เป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่ บช.สอท.ให้ความสำคัญและทำงานอย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันทางตำรวจไซเบอร์ได้เปิดสายด่วน 1441 เพื่อขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาปัญหาอาชญกรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงแจ้งเบาะแสได้”
6.Legal action การร่วมมือทางด้านกฎหมาย
Meta ยังจะเดินหน้าดำเนินการและลงโทษกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว ตามความรุนแรงของการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย
มาตรการป้องกันเพจปลอม เนื้อหาหลอกลวงบน Facebook
Meta ยังใช้เทคนิคการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับปัญหาภัยลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Meta ประกอบด้วย
• ใช้เทคโนโลยี machine learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta
• ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง
• ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ
• จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย
• ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ
โดย Meta ได้ให้ข้อมูลว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2566 Meta ได้ลบบัญชีปลอมบน Facebook ออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลก โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกไปโดย AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้งาน และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ยังได้ลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น โดย 95.3% เป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจจับผ่าน AI เช่นกัน
ทำไมมิจฉาชีพถึงยังโฆษณาผ่าน Facebook ได้
ทางทีมงานได้สอบถามไปที่ตัวแทน Meta คุณเฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้คำตอบว่า ส่วนของผู้ลงโฆษณานั้น ใครก็สามารถสร้างบัญชี Facebook แล้วสร้างโฆษณาได้ เพียงแค่ยืนยันบัญชีการสมัครให้ถูกต้องตรงกัน เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ไม่ต้องส่งเอกสารเชิงลึก เช่น บัตรประชาชน หรือการยืนยันตัวตนแบบระบุถึงตัวบุคคลได้ หากบัญชีนั้นๆ ถูกรายงานงานว่าผิดปกติ ทาง Facebook ถึงจะขอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งทาง Meta เอง ก็พยายามปรับปรุงมาตรฐานชุมชนอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาละเมิดต่างๆ และหากพบเนื้อหาหลอกลวง บัญชีปลอม ละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ บัญชีดังกล่าวก็จะถูกลบทันที
ซึ่งในส่วนการจัดเก็บข้อมูลเอกสารระบุตัวตนของผู้ลงโฆษณานี้ ก็รู้สึกว่าเป็นช่องโหว่นึงเหมือนกัน แต่เพื่อความสะดวกการใช้งานของแพลตฟอร์ม จึงอาจจะแลกมาด้วยช่องโหว่ให้มิจฉาชีพฉกฉวยโอกาส
เจอโฆษณาหลอกหลวงบน Facebook ต้องทำยังไง?
หากใครพบเจอโฆษณาหลอกลวงอย่ามองผ่าน เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ช่วยคนอื่นไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ให้ช่วยกันกดรายงานเข้าไป เพราะถึงแม้จะมีระบบ AI ตรวจจับเนื้อหาเหล่านี้ แต่ก็อาจจะมีเล็ดลอดออกมาบ้าง
- กดจุดสามจุด เลือก รายงานโฆษณา
- เลือกเหตุผลที่เนื้อหานั้นละเมิด คือเข้าใจผิดหลอกลวง
ยิ่งกดรายงานยิ่งโผล่มาเรื่อยๆ จริงไหม?
ขอตอบว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ ทีมงานลองทดสอบกดเข้าดูเพจ กดดูเนื้อหา พร้อมรีพอร์ต ปรากฏว่าโฆษณาลักษณะเดียวกันโผล่มาไม่หยุด หากใครเจอ กดรายงานไปเลยรัวๆ เพราะทั้งแอบอ้างชื่อคนอื่น และใช้ภาพของคนอื่นมาโพสต์โฆษณา แล้วอาจจะทำให้คนอื่นหลงเชื่อได้
ขั้นตอน ลักษณะเนื้อหา กลโกงที่มิจฉาชีพใช้
หลังจากทีมงานพบโฆษณาหลอกลวง ซึ่งส่วนมากที่เจอจะเป็นเพจหลอกการลงทุน ทั้งเทรดหุ้น ซื้อทอง โดยให้ผลกำไรสูง อย่างโฆษณาในด้านบน เราได้ลองทักเข้าไปสอบถามในข้อความส่วนตัว แพทเทิร์นที่มิจฉาชีพใช้ตอบกลับจะเป็นลักษณะคล้ายๆ กัน คือแนะนำเบื้องต้น แล้วจะขอให้แอด Line ทันที
นี่เป็นเพียง 1 เคสตัวอย่าง ที่มิจฉาชีพใช้บน Facebook ยังมีคอนเทนต์อื่นๆ มากมายที่โผล่บนโลกออนไลน์ ทางที่ดี คือทุกคนต้องระวัง อย่าหลงเชื่อง่ายๆ ให้เช็กข้อมูลให้ดี และปรึกษาคนรอบข้างอยู่เสมอ ก่อนจะลงทุนหรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับใคร
ลักษณะเนื้อหาหลอกลวงที่มิจฉาชีพมักใช้
จะมีการโน้มน้าวว่าเหมาะกับมือใหม่หัดลงทุน รวยเร็ว ความเสี่ยงต่ำ ปันผลเยอะ แถมยังได้รับโบนัสของฟรีเพิ่ม
เจอข้อความลักษณะนี้ อย่าเพิ่งรีบอยากจะรวยเร็วๆ เพราะมันจะเสียมากกว่าได้ ให้สังเกตเพจนั้นๆ ให้ดี ว่าเป็นเพจน่าเชื่อถือจริงหรือไม่ แต่ส่วนมากถ้ามาแบบนี้ จะเป็นมิจฉาชีพแทบจะ 100% มาดูวิธีสังเกตเพจไหนจริงหรือปลอมกัน
ประเทศของผู้ที่จัดการเพจ ลิสต์แทบจะเหมือนกัน
จากที่สังเกต เพจมิจฉาชีพเหล่านี้ จะมีแหล่งผู้แลเพจอยู่ในประเทศคล้ายๆ กัน เนปาล อินเดีย ไทย เวียดนาม ฟิลลิปปินส์
วิธีเช็คเพจไหนปลอม เพจไหนจริง จับผิดเพจมิจฉาชีพต้องดูยังไง?
1.เขียนผิด มักจะตั้งชื่อใกล้เคียงกับเพจจริง
จะมีการบิดคำ หรือว่าพิมพ์ตัวอักษรผิดไปนิดหน่อย
2.เครื่องหมาย Meta Verified
แสดงให้เห็นว่า Facebook ได้ยืนยันเพจหรือโปรไฟล์นั้นเป็นตัวตนจริงของบุคคล บุคคลสาธารณะ หรือแบรนด์ ที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะเพจหน่วยงานรัฐ จะมีเครื่องหมายถูกสีฟ้านี้อยู่ทุกเพจ
3.จำนวนผู้ติดตาม
มิจฉาชีพจะเอาจำนวนผู้ติดตามมาเขียนตรงแนะนำตัว เวลาเสิร์จจะทำให้ดูเหมือนมียอดเยอะ แต่หากกดเข้าไปจริงๆ จะมีแค่หลักหน่วยหลักสิบ
4.เนื้อหาคอนเทนต์
เนื้อหาโฆษณาเกินจริง ใช้คอนเทนต์คนอื่นมาโพสต์ ก็อปข้อมูล อ้างอิงบุคคลอื่น หรือสังเกตบางเพจก่อนหน้าเป็นเพจรูปแบบอื่น แต่มีการเปลี่ยนชื่อ และเนื้อหา
5.การตอบโต้บนเพจ คอมเมนต์ รีแอคชัน
ไม่มีการพูดคุยตอบโต้ ไม่มีการพูดคุยในเพจเลย มีคนคอมเมนต์บอกว่าโกง มีการกดแสดงความรู้สึกโกรธ
6.เช็กความโปร่งใสเพจ
- เปลี่ยนชื่อบ่อย เนื้อหาไม่สอดคล้องกัน
- จำนวนยอดติดตามน้อย (เพจสาธารณะแบบยืนยันตัวตน ส่วนมากจะมียอดผู้ติดตามเยอะ)
- มีรายชื่อประเทศต้นทางโฆษณาไม่ใช่ประเทศไทย
การป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพ
สุดท้ายแล้ว แม้ว่าจะมีโปรแกรม มาตรการอะไรต่างๆ ที่ป้องกันไว้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวเรานี่แหละ ที่จะป้องกันตัวเองได้ดีที่สุด เพราะว่าเงินอยู่ในกระเป๋าเรา ถ้าไม่บอกข้อมูล หรือกดโอนไป ก็ไม่มีใครเอาไปได้ ต้องตั้งสติดีๆ คิดเยอะๆ ก่อนทำธุรกรรมใดๆ คิดไว้เสมอว่าถ้าอะไรได้มาง่ายได้เยอะ ความเสี่ยงก็ยิ่งสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะกับเรื่องเงินๆ ทองๆ มันไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ขนาดนั้น ควรศึกษาให้รอบครอบ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ
"เราจะแจ้งให้คุณทราบเมื่อมีการอัพเดตเกี่ยวกับรายงานนี้"
อมเจดีย์มาพูดก็ไม่มีวันเชื่อหรอก