อดีตวิศวกรซอฟแวร์จากบริษัท Microsoft ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี จากข้อหาขโมยสกุลเงินดิจิตอลมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ไปจากบริษัท อีกทั้งยังใช้เงินดังกล่าวซื้อบ้านติดทะเลสาป และรถ Tesla สุดหรูรวมมูลค่ากว่า 1,700,000 ดอลลาร์ หลังจากที่ทำงานกับ Microsoft เป็นเวลาแค่ราวๆ 2 ปี เท่านั้น

อดีตวิศวกรซอฟแวร์สุดแสบคนนี้มีชื่อว่า Volodymyr Kvashuk เคยทำงานที่บริษัท Microsoft ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2016 จนถึงเดือนมิถุนายน 2018 รวมแล้วเป็นเวลาสองปี โดยแรกเริ่มได้ทำงานแบบสัญญาจ้าง จากนั้นจึงเข้ามาทำในบริษัทแบบเต็มตัว และถูกไล่ออกหลังจากที่บริษัทจับได้ว่าเค้าเป็นขโมยค่ะ

Volodymyr Kvashuk

วีรกรรมของนายวลาดิเมียร์นั้นเรียกว่าแสบไม่น้อยเลย เพราะว่าเค้าได้ขโมยเงินที่เก็บไว้แบบสกุลเงินออนไลน์ อย่างพวก Gift card หรือ บัตรของขวัญออนไลน์ ในช่วงที่เค้าเป็นผู้ทดสอบแพลตฟอร์มการค้าปลีกของเว็บไซท์ Microsoft ซึ่งหลังจากที่ขโมยมาแล้ว ก็นำมาขายแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงิน Bitcoin อีกทีนึง และนำเงินเหล่านั้นไปใช้ รวมถึงซื้อบ้านติดทะเลสาปสุดหรูราคา 1.6 ล้านดอลลาร์ กับรถ Tesla ราคา 160,000 ดอลลาร์ (หากดูจากราคาแล้วคาดว่าน่าจะเป็นรุ่น Model X)

Tesla Model X

โดยในช่วง 7 เดือน ที่ Volodymyr ทำงานอยู่กับ Microsoft ได้มีการตรวจสอบพบว่ามีเงินจำนวน 2.8 ล้านดอลลาร์ เข้ามาที่บัญชีของเค้า ซึ่ง Volodymyr ก็ได้จงใจปกปิดจำนวนเงินดังกล่าวด้วยการใช้บริการ Bitcoin Mixer (บริการปกปิดการทำธุรกรรมผ่านทาง Bitcoin) จึงทำให้ไม่สามารถตรวจที่มาของเงินจำนวนดังกล่าวได้ โดย Volodymyr อ้างว่าเงินที่ได้มาคือของขวัญที่ครอบครัวให้กับเค้าเอง

เมื่อทาง Microsoft จับได้ว่าหัวขโมยเป็นใคร จึงได้ไล่ Volodymyr ออก และดำเนินคดีกับเค้าเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 จากนั้น Volodymyr ก็โดนจับ และตั้งข้อหาว่ามีการฉ้อโกง (Mail Fraud) ในเดือนกรกฏาคมปีเดียวกัน ซึ่งตอนนี้ได้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดทั้งหมด 18 ข้อหา ได้แก่

  • ความผิดฐานฉ้อโกงเงินดิจิตอล 5 คดี
  • ความผิดฐานฟอกเงิน 6 คดี
  • ความผิดฐานขโมยข้อมูลประจำตัวซ้ำเติม 2 คดี
  • ควาามผิดฐานกรอกข้อมูลเท็จลงในแบบแสดงภาษี 2 คดี
  • ความผิดฐานฉ้อโกงโดยใช้วิธีการทางไปรษณีย์ และกระทำความผิดจากการลักลอบเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รวมแล้ว 3 คดี

ด้วยวีรกรรมทั้งหมด 18 คดี ของนาย Volodymyr Kvashuk ทำให้เค้าถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลานานถึง 20 ปี ค่ะ

 

ที่มา: Businessinsider, Financialfraudnews