ตั้งแต่หันหลังให้กับธุรกิจสมาร์ทโฟนไปเน้นเอาดีกับธุรกิจที่ตัวเองถนัดอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นซอฟแวร์องค์กรหรือผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ระดับพรีเมี่ยมอย่าง Surface ก็ดูเหมือนว่าธุรกิจของ Microsoft จะดีวันดีคืนชนิดที่รายได้ยังเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องในปี 2019 ที่ผ่านมากว่า 14% โดยธุรกิจบริการด้าน Cloud ทำรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 62% ส่วน Surface ก็ยังคงแข็งแกร่งเติบโตขึ้นอีกกว่า 6% ถึงแม้ราคาขายจะไม่ค่อยเป็นมิตรอย่างที่หลาย ๆ คนบ่นกันเอาไว้ก็ตาม

Microsoft ได้ประกาศผลประกอบการประจำปี 2019 ออกมาแล้ว โดยรายได้คงเติบโตได้อีกอย่างแข็งแกร่งชนิดเกินเป้าที่ Microsoft เองได้ตั้งเอาไว้ในช่วงต้นปีเสียด้วยซ้ำ ส่งผลให้ล่าสุดมูลค่าหุ้นของ Microsoft (MSFT) พุ่งอีกกว่า 3% ชนิดไม่แคร์ความกังวลปัญหาไวรัสโคโรน่ากันเลย แตะระดับราคาหุ้นละ 172 เหรียญ (5,350 บาท) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนล่าสุดมูลค่าบริษัทตามราคาตลาดพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปอยู่ที่ราว ๆ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 40.4 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

ธุรกิจองค์กรเกาะกระแส Data-driven | Cloud Business ส่วนผลิตภัณฑ์ Surface ยังแข็งแกร่งสร้างแบรนด์ต่อ

หากมองที่รายได้รวมของไตรมาสสุดท้ายในปี 2019 เทียบกับปีก่อนหน้า ผลปรากฏว่ารายได้ของ Microsoft ในภาพรวมนั้นเพิ่มขึ้นถึง 14% โดยมีรายได้อยู่ที่ราว 3.69 หมื่นล้านเหรียญ (1.15 ล้านล้านบาท) โดยไฮไลท์จะอยู่ที่กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 36% อันเป็นผลจากธุรกิจกลุ่ม Cloud Computing Services และ Big Data ที่มีมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจสูงมากในยุคปัจจุบันด้วยเหตุที่องค์กรยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลกต่างมองหา Online Solutions ให้กับกิจการของตัวเอง เพื่อให้ก้าวทันเทรนด์ Data-driven และรวมถึงเพื่อให้ทันกระแส Thailand 4.0 ของบ้านเราด้วยนั่นเอง 😛

เรากำลังสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้บริการและผลิตภัณฑ์ของพวกเราสามารถเข้าถึงได้ในทุก ๆ กระบวนการขององค์กร สะท้อนความเป็นผู้นำที่เราจะมอบให้แก่ลูกค้าของ Microsoft – Satya Nadella | Microsoft CEO

ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Cloud Computing อย่าง Microsoft Azure นั้นสร้างรายได้ไปกว่า 1.25 หมื่นล้านเหรียญ (3.88 แสนล้านบาท) โดยเป็นอัตราการเติบโตทางรายได้ที่สูงสุดถึง 39% โดย Azure นั้นเป็นบริการโครงสร้างพื้นฐานบน Cloud ที่แข่งขันกับ AWS (Amazon Web Services) จาก E-Commerce ชื่อดังผู้เป็นเจ้าตลาดอยู่ในขณะนี้ หนึ่งในดีลที่สร้างผลงานให้ Microsoft ในปี 2019 คือการได้สัญญาเข้าวางระบบ Cloud-computing ให้กับอาคารเพนตากอนของสหรัฐมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ เอาชนะ Amazon ได้

ถัดมาเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มซอฟแวร์ด้าน Productivity & Business ที่รวมทั้งเพื่อบุคคลและองค์กรไม่ว่าจะเป็นชื่อคุ้นหูอย่าง Office 365 – Social Media สำหรับอาชีพกลุ่มธุรกิจอย่าง LinkedIn – Enterprise Software อย่าง Microsoft Dynamic 365 ทำรายได้รวมกันไปกว่า 1.18 หมื่นล้านเหรียญ (3.67 แสนล้านบาท) รายได้เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2018

ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่ม Consumer Products รวมเอารายได้ของ Windows License – Xbox Gaming Console – และ Personal Computers (ผลิตภัณฑ์ Surface) ไว้ด้วยกันนั้น เดิมที Microsoft ประเมินว่าจะทำรายได้ลดลงจากปีก่อนหน้าอยู่ราว 3% แต่กลับเหนือความคาดหมายรายได้โตอีกกว่า 1.7% ทำเงินไปทั้งสิ้น 1.32 หมื่นล้านเหรียญ ( 4 แสนล้านบาท) โดยจากรายงานของ The Wall Street Journal ระบุเป็นเพราะผู้คนทั่วโลกยอมหันมาใช้ Windows License ที่ถูกกฏหมายกันเพิ่มขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ระดับ Premium อย่าง Surface โมเดลต่าง ๆ เองนั้น ทำตลาดได้มากขึ้นมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 6% ด้วยเช่นกัน

ยักษ์(เคย)หลับอย่าง Microsoft กลับมาแล้ว ! เน้นโฟกัสทำสิ่งที่ถนัด

ถ้ามองย้อนกลับไปว่าในช่วงก่อนปี 2010 – 2015 ที่ Microsoft ผู้คิดช้าทำช้าเพราะเข้าใจว่าตัวเองเป็นเจ้าตลาด ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อแย่งชิงพื้นที่ตลาดสมาร์ทโฟน หวังแทรกกลางระหว่าง Android OS กับ iOS ด้วย Windows Phone ถึงขนาดทุ่มทุนเข้าซื้อแบรนด์ Nokia ก่อนสุดท้ายจะยกธงขาวโดยสมบูรณ์ขายสิทธิ์ในชื่อทิ้งไปจนกลายมาเป็น HMD Global ผู้ปลุกปั้น Nokia ให้กลับมาอีกครั้งได้บนระบบปฏิบัติการ Android เช่นทุกวันนี้ 😆 จะเห็นว่า Microsoft ทำตัวเป็นยักษ์หลับอืดอาดยืดยาดไม่ใช่เพียงแค่ในธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่รวมถึงธุรกิจหลักอย่างกลุ่มซอฟแวร์ที่ ณ วันนั้น Windows OS และ Microsoft Office Suite ทั้งหลายนั้น เรียกได้ว่าก็เชยสุด ๆ แต่พออยู่ได้ก็เพราะสภาวะผูกขาดเป็นหลัก

ใครจะไปคิดว่าเวลาผ่านไปราว 6 ปีมูลค่าหุ้นของ Microsoft จากสภาวะทิ้งดิ่งที่ราคา 30 เหรียญ (920 บาท) ต่อหุ้นในปี 2013 นั้น จะพุ่งกลับขึ้นมาตามกระแสความเชื่อมั่นได้อีกครั้งกว่า 6 เท่าตัวเลย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะถึงแม้พวกเขาจะพบกับสภาวะถดถอยลงไปอยู่พักใหญ่ แต่เมื่อคิดได้และรู้ตัวว่าธุรกิจที่ทำเงินของพวกเขาคือผลิตภัณฑ์ด้านองค์กรทั้งหลาย การปรับตัวครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตัดสินใจขาย Nokia ทิ้งไปในปี 2016 ก่อนจะพลิกโฉมตัวเองชนิดที่เหมือนเกิดใหม่และเติบโตด้วยความเร็วน้อง ๆ Startup ได้ แถมวันนี้กลับมาอยู่ในตำแหน่งแย่งแชมป์โลกกับ Apple และ Amazon ทางด้านมูลค่าบริษัทได้อีกครั้งอย่างเต็มภาคภูมิเลยล่ะ

 

อ้างอิง: CNN Business | The Wall Street Journal | Yahoo Finance