Windows 11 build 27898 ที่ปล่อยให้กลุ่มผู้ใช้ในช่องทาง Canary ได้ลองกันในรอบนี้ ถือเป็นอัปเดตที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะนอกจากจะแก้บั๊กจุกจิกที่หลายคนเจอกันอยู่เรื่อย ๆ แล้ว ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่และการปรับปรุงหลากหลายจุด ทั้งในเรื่องของการใช้งาน ความสะดวก และประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือมีฟีเจอร์บางตัวที่เคยถูกถอดไป กลับมาให้เห็นอีกครั้งแบบเต็มรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ “Small Taskbar Icons” หรือ “ไอคอน Taskbar ขนาดเล็ก” ที่แฟน ๆ Windows รุ่นเก๋าคงคุ้นเคยกันดี

ฟีเจอร์ Small Taskbar Icons หรือ “ไอคอน Taskbar ขนาดเล็ก” เคยเป็นที่นิยมมากในยุค Windows XP และ Windows 7 เพราะช่วยประหยัดพื้นที่หน้าจอ และดูเรียบร้อยกว่า แต่เมื่อเข้าสู่ Windows 11 ฟีเจอร์นี้ถูกถอดออกไปเพื่อเน้นดีไซน์ไอคอนใหญ่ ชัดเต็มตา ล่าสุด Microsoft ใจอ่อน นำกลับมาให้เลือกใช้ได้อีกครั้ง โดยสามารถตั้งค่าให้ใช้ตลอดเวลา เฉพาะตอน Taskbar เต็ม หรือปิดการใช้งานก็ได้ตามใจชอบ

Quick Machine Recovery เป็นอีกฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาของ Windows Recovery ช่วยให้เครื่องที่ติดปัญหาบูตไม่ขึ้น สามารถกู้ระบบกลับมาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องลบลง Windows ใหม่ทั้งหมดลดภาระและเวลาในการกู้ระบบของแผนก IT Support ในอนาคต
ฝั่ง Accessibility ก็มีอัปเดตสำคัญ เช่น Voice Access ที่สามารถสอนให้เข้าใจคำพูดที่ออกเสียงยากได้ดีขึ้น, ฟีเจอร์ Screen Curtain ที่ปิดหน้าจอไม่ให้คนอื่นเห็นตอนเปิด Narrator (กด Caps + Ctrl + C เพื่อเปิดใช้งาน) และคำอธิบายเมนูช่วยเหลือต่าง ๆ ที่แสดงครบมากขึ้นใน System Tray

Context Menu หรือเมนูคลิกขวา ถูกปรับปรุงให้ใช้งานง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่มเส้นแบ่งระหว่างคำสั่งยอดนิยม ช่วยให้แยกแยะเมนูได้ชัดเจนขึ้น และยังมีการปรับหน้าตากล่องขอสิทธิ์แอปใหม่ ให้ดูเรียบง่าย พร้อมเอฟเฟกต์หรี่แอปเพื่อโฟกัสที่คำขอสิทธิ์
ในส่วนของ ระบบแชร์ (Share Dialog) ก็ได้รับการปรับปรุง โดยเพิ่มฟีเจอร์แสดงตัวอย่างลิงก์ก่อนส่ง ช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะไม่แชร์ลิงก์ผิดพลาด หรือส่งแบบไม่ตั้งใจ
Microsoft ยังเพิ่มฟีเจอร์ใหม่อย่าง Adaptive Energy Saver ซึ่งเป็นระบบประหยัดพลังงานอัตโนมัติ จากเดิมที่จะเปิดตามที่เราตั้งไว้ เช่น แบตเหลือต่ำกว่า 20% เท่านั้น ที่จะเปิดหรือปิดโหมด Energy Saver ตามการใช้งานเครื่อง โดยไม่ไปแตะความสว่างหน้าจอ ช่วยให้ประหยัดพลังงานแบบเนียน ๆ โดยผู้ใช้แทบไม่รู้สึกเลย

สุดท้ายคือการแก้บั๊กหลายรายการ เช่น การพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นด้วยคีย์บอร์ดสัมผัสที่เคยหยุดทำงาน, ปัญหาการตั้งค่าเมาส์ที่ทำให้ Settings ค้าง หรือฟังก์ชัน Math.Pow() ที่คำนวณผิดพลาดในบางสถานการณ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่ผู้ใช้สายเทคนิคจะสังเกตได้ทันที
แม้จะยังมีบั๊กที่อยู่ระหว่างการแก้ เช่น การตั้งค่า Power & Battery ที่ทำให้ Settings แครช หรือการแสดงผลเพี้ยนเมื่อ Remote Desktop บนเครื่อง ARM64 แต่โดยรวมแล้ว Build นี้ถือเป็นอัปเดตที่ครบเครื่อง ทั้งในแง่ของฟีเจอร์เก่า ฟีเจอร์ใหม่ และประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นชัดเจน
ที่มา : neowin
Comment