สำนักงาน กสทช. เตรียมปรับแนวทางควบคุมโครงสร้างค่าบริการโทรศัพท์มือถือฉบับใหม่ เตรียมให้ค่ายมือถือออก “แพ็กเกจธงฟ้า” รูปแบบใหม่ ที่มีราคาถูกลง จากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 240 บาท/เดือน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ ทั้งการโทรและใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

สาระสำคัญจากมติ กสทช. ครั้งที่ 20/2568

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประชุมครั้งที่ 20/2568 โดยหนึ่งในหัวข้อสำคัญ คือ แนวทางการกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือภายในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการใช้งานของผู้บริโภคอย่างชัดเจน

เตรียมออก “แพ็กเกจธงฟ้า” ใหม่ ราคาถูกลง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า การพิจารณาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประกาศเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2563 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะมีการกำหนดราคาใหม่ของ “แพ็กเกจธงฟ้า” หรือแพ็กเกจขั้นพื้นฐานที่ให้บริการเฉพาะ เสียงโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือ (ไม่รวม SMS/MMS) ที่เดิมกำหนดให้ไม่เกิน 240 บาทต่อเดือน ให้มีราคาถูกลง เพื่อให้ครอบคลุมพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

การปรับลดอัตราค่าบริการครั้งนี้ อ้างอิงจาก รายรับเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน ของผู้ใช้บริการทั้งแบบรายเดือนและเติมเงิน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

ผู้ให้บริการต้องมี “แพ็กเกจธงฟ้า” อย่างน้อย 2 แบบ

กสทช. ได้เสนอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย จัดทำแพ็กเกจธงฟ้าอย่างน้อย 2 ประเภท ได้แก่

  • แบบจ่ายตามการใช้งาน (Pay Per Use)
  • แบบเหมาจ่ายรายเดือน (Flat Rate)

เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลายตามพฤติกรรมการใช้งาน และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างมีประสิทธิภาพ

ชูหลัก “โปร่งใส เข้าถึงได้ ราคาเป็นธรรม”

การปรับโครงสร้างค่าบริการในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสในการกำหนดราคา เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการ และเปิดทางให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงแพ็กเกจที่จำเป็นได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ผ่านโมเดลที่คล้ายกับ “สินค้าธงฟ้า” ของกระทรวงพาณิชย์

เดินหน้ายกร่างประกาศใหม่ เตรียมใช้เร็ว ๆ นี้

หลังจากที่ กสทช.เห็นชอบแนวทางแล้ว สำนักงาน กสทช. จะเร่งจัดทำ ร่างประกาศใหม่อย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็น และนำไปสู่การบังคับใช้ตามขั้นตอนที่กำหนดในอนาคตอันใกล้