ใครที่เลี่ยงไม่สมัครพร้อมเพย์ และขอคืนเงินภาษีเป็นเช็คอยู่ ฟังข่าวนี้ตอนแรกอาจจะมีสะดุ้งได้ เพราะกรมสรรพากรประกาศยกเลิกคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91) เป็นเช็คไปเรียบร้อย จะใช้วิธีโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์แทนเป็นหลัก แต่ก่อนจะตกใจต้องบอกว่าเค้ายังไม่ถึงกับหักดิบ เพราะใครไม่มีพร้อมเพย์ยังสามารถรับเงินภาษีได้จากธนาคารที่รัฐบาลกำหนดได้อยู่นะ

กรมสรรพากรคืนภาษีเงินได้ปี 61 ด้วยวิธีใดบ้าง?

1. ขอคืนภาษีทางพร้อมเพย์

1. การคืนภาษีฯ ผ่านบัญชีพร้อมเพย์นั้นจะต้องเป็นบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผูกด้วยเลขประจำตัวประชาชน เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2561 พบว่ากว่าร้อยละ 70 ของคนที่ขอคืนภาษี ขอรับคืนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน

2. ขอคืนภาษีทางธนาคาร

สำหรับคนที่ไม่มีบัญชีพร้อมเพย์ แต่ได้คืนภาษี ทางกรมสรรพากรจะมีหนังสือแจ้งคืนเงินให้ทางไปรษณีย์ ให้นำหนังสือดังกล่าวพร้อมด้วยบัตรประจำตัวประชาชน และหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปติดต่อเพื่อขอรับเงินคืนได้ที่ธนาคารธนาคารกรุงไทย หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ภายในวันที่ที่ระบุไว้ในหนังสือ

 

สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเรามีข้อมูลคร่าวๆ มาฝากกันค่ะ  ซึ่งหากต้องการข้อมูลโดยละเอียดสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของกรมสรรพากร  

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันสักนิดว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร  และใครบ้างที่ต้องเสียภาษี  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติแล้วจะจัดเก็บเป็นรายปี ซึ่งผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป

ใครบ้างต้องเสียภาษีเงินได้  (ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91)

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา โดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

1) บุคคลธรรมดา

2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

5) วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

 

เงินได้ประเภทใดบ้างที่ต้องเสียภาษี

  • เงินได้ประเภทที่1 เงินได้จากการจ้างงาน เช่น เงินเดือน, ค่าล่วงเวลา, ค่าเบี้ยเลี้ยง, โบนัส ,บำเน็จ และบำนาญ เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่2 เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม, ค่านายหน้า, ค่าส่วนลด,เบี้ยประชุม เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่3 เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น, ค่ากู๊ดวิลล์, เงินรายปีจากพินับกรรมเป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่4 เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก, เงินปันผล, ส่วนแบ่งกำไร, เงินลด-เพิ่มทุน,และโอนหุ้น เป้นต้น
  • เงินได้ประเภทที่5  เงินได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน, ผิดสัญญาเช่าซื้อ, การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
  • เงินได้ประเภทที่6  เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
  • เงินได้ประเภทที่7  เงินได้จากการรับเหมา ซึ่งผู้รับเหมาต้องลงทุนในส่วนอื่นๆ นอกจากเครื่องมือ
  • เงินได้ประเภทที่8  เงินได้จากการธุรกิจ, การพาณิชย์, เกษตรกรรม การขนส่ง หรือ การขายอสังหาริมทรัพย์

 

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยว่าตนเองเข้าข่ายผู้เสียภาษีหรือไม่ หรือจะได้เงินคืนเท่าไหร่ สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร.1161  ค่ะ

 

ที่มา www.rd.go.th