เมื่อวานนี้ที่รัฐสภามีการแถลงข่าวงาน Open Parliament Hackathon 2024 เปิดข้อมูลภายในแบบ Open data ของสำนักงาน มาให้ประชาชนเข้าถึงได้เป็นครั้งแรก และเชิญผู้สนใจทุกสาขามาร่วมสอดส่องดูข้อมูล พร้อมเสนอไอเดียด้านเทคโนโลยีต่อรัฐสภาไทย ในรูปแบบ Hackathon ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนอย่างเราๆ จะสามารถค้างคืนในรัฐสภาไทยกันได้ด้วย
Hackathon คืออะไร เราร่วมด้วยได้รึเปล่า
Hackathon เกิดจากการนำเอาคำว่า Hack + Marathon มารวมกัน แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเราจะต้องมีความสามารถในการเขียนโปรแกรม แฮกระบบเป็นเท่านั้น เพราะตัวแฮกในที่นี้จะหมายถึงการทางลัด การแก้ปัญหาซะมากกว่า เมื่อรวมกับมาราธอน ก็เรียกได้ว่าเป็นการมารวมตัวกันช่วยแก้ปัญหา แบบด่วนๆถึกๆ ไม่มีหยุดหย่อน โดยมากจะใช้เวลา 24-48 ชั่วโมงแบบนอนสต๊อป ทำกันแบบไม่มีพักผ่อน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเร็วที่สุด (จึงทำให้เราจะได้ค้างคืนที่รัฐสภากัน)
แรกเริ่มเป็นศัพท์ที่ถูกใช้ในวงการไอที แต่หลังๆมาถูกปรับไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้น อย่างในกรณีนี้คือ มาร่วมด้วยช่วยกันส่องข้อมูลของสำนักงานรัฐสภา และออกไอเดียว่าเราอยากจะทำให้เกิดบริการจากข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมาบ้าง ซึ่งเค้าเปิดรับสมัครคนหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนา นักออกแบบ หรือใครก็ตามที่สนใจ และพอมีความรู้ทางด้านไอทีอยู่ก็สามารถเข้าร่วมงานนี้ได้
โดยงานจะจัดขึ้น 2 วัน 6-7 สิงหาคมนี้ ถ้าใครสนใจอยากดูรายละเอียดเพิ่มเติม และเข้าร่วม ต้องสมัครผ่านการ กรอกฟอร์มลิงก์นี้ ภายในวันนี้ (31 ก.ค.) ก่อนเที่ยงคืน
ข้อมูลน่ารู้-ส่วนเสริมเกี่ยวกับโครงการนี้
- สถานที่ที่สส. สว. (รัฐสภา) ประชุมอภิปรายกันเรียกว่า อาคารรัฐสภา
- ในอาคารรัฐสภานี้ มีสนง.เลขาธิการสภาฯ ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการให้แก่สภาฯ หลายครั้งก็จะโดนเรียกรวมๆว่าเป็นรัฐสภาไปด้วย
- สนง. เลขาธิการสภาฯ นี้มีงบประมาณประจำปีราว 5-6 พันล้านบาท (ก็ภาษีพวกเรานั่นแหละ)
- มีข้าราชการ คนทำงานในสนง.นี้ มากกว่า 4 พันคน ทำงานแบ่งเป็น 23 สำนัก 3 กลุ่มงาน 1 กลุ่ม
- หลังจากมีการตรวจสอบโครงการต่างๆภายในสนง. พบความผิดปกติ ใช้ภาษีไปแบบไม่เมกเซนส์อยู่ไม่น้อย
- ในงบปี 2566 มีมติยกเลิกโครงการไปกว่า 300 ล้านบาท ประหยัดภาษีไปได้เยอะ
- โครงการ Open Parliament Hackathon จะเปิดข้อมูลของสนง. ให้คนเข้าถึงได้
- ข้อมูลประกอบไปด้วยข้อมูล 4 แกน คือ
- กระบวนการในสภา สถานะการพิจารณากฎหมาย ผลการลงมติต่างๆ
- รายงานการประชุมสภา มีพูดคุยอภิปรายอะไรกันไปบ้าง (ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครอง 2475)
- คลังความรู้สภา เอกสารทางวิชาการ รายงานกรรมาธิการ
- งบประมาณ ร่างพ.ร.บ. และเอกสารงบประมาณ
- แต่ละแกนถูกแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลแล้ว สามารถนำมาใช้ต่อได้สะดวกขึ้นมาก
- การเปิดข้อมูลอย่างเดียวจะยังไม่เกิดประโยชน์เท่าไหร่ เพราะเป็นข้อมูลดิบขาดการตีความและนำไปใช้
- โครงการ Open Paliament Hackathon จึงขอชวนคนที่สนใจ ไม่ว่าจะอาชีพไหน (ไม่ต้องเป็น dev หรือ data analyst ก็ได้)
- ขอแค่มีความรู้ความสามารถ มาเข้ารับฟังและเสนอไอเดียการเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานกันดู
ตัวอย่างไอเดีย สิ่งที่น่าทำกับข้อมูลเปิดของรัฐสภาไทย
- ระบบตรวจสอบรัฐสภาใช้จ่ายไปเท่าไหร่ (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ฯลฯ) แล้วได้กฎหมายกี่ฉบับ
- ติดตามบันทึกการประชุมสภาย้อนหลังมาวิเคราะห์ข้อความ ทำ word cloud ดูว่ารัฐสภาไทยพูดเรื่องอะไรกันบ่อยที่สุด
- เก็บ digital footprint ของสภาฯ ว่าใคร พรรคไหน พูดเรื่องอะไรบ้าง
- ตรวจสอบเอกสารงบประมาณมาประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดคอร์รัปชัน
- สร้าง AI มาให้ประชาชนถาม และตอบด้วยข้อมูลที่ถูกต้องได้ทุกเรื่อง
สิ่งที่ได้รับ นอกเหนือจากความโปร่งใส
เมื่อการใช้งบประมาณถูกใช้อย่างถูกต้อง ไม่มีการฮั้วประมูล ล็อคสเปคใดๆ ก็จะเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถ เข้ามาแข่งขัน สร้างสรรค์งานคุณภาพ และเติบโตได้จากภาษีของคนไทย ไม่ใช่งานทั้งหมดตกไปอยู่กับขาประจำ ซึ่งทีม OPH ได้มีการพาร์ทเนอร์กับ DEPA ที่รวมรายชื่อบริษัทไทยที่ให้บริการด้านดิจิทัล และสมาคม Thai Startup มารอรองรับงานต่อไป
เมื่อรัฐสภามีความโปร่งใสในการใช้จ่าย ก็จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลลัพธ์ที่โดดเด่นกว่าหน่วยงานอื่นมาก จนน่าจะส่งแรงกระเพื่อมกดดันไปยังหน่วยงานต่างๆให้ต้องมีการเปิดข้อมูล สามารถตรวจสอบให้มีความโปร่งใสเช่นเดียวกันได้
โครงการจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้เมื่อไหร่? จะถูกยกเลิกหรือไม่?
การผลักดัน Open Parliament นี้ ทางทีมจัดทำมองว่าเป็นโครงการที่ทำในระยะยาว อย่างน้อยปี 2570 กว่าจะเริ่มเห็นผล และเมื่อโครงการเดินหน้าเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีการยกเลิกการเปิดเผยข้อมูลนี้ รวมถึงงานนี้ก็เป็นวาระร่วมของสภามากกว่าจะเป็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อการใช้เงินสาธารณะ ที่ก็ควรจะสามารถให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ด้วยเช่นกัน
Comment