วนมาครบกันอีกปีแล้วกับมือถือเรือธงของค่อย OPPO อย่างซีรีส์ Find ซึ่งคราวนี้ OPPO Find X3 Pro ก็ได้เริ่มตำนานฉบับใหม่ กับการสร้างสรรค์มือถือเรือธงที่มีจุดเด่นในแบบของตัวเอง ด้วยสเปคเรือธงระดับแถวหน้าของค่าย งานประกอบที่หรูหรา และระบบกล้องที่ได้รับการดีไซน์มาอย่างดี แล้วประสบการณ์ใช้งานจริง ล่ะจะสมกับชื่อเรือธงพรีเมียมได้หรือไม่ ? วันนี้ Droidsans จะมารีวิว OPPO Find X3 Pro กันครับ

Play video

จากประสบการณ์ที่ได้จับมือถือเรือธงมาหลาย ๆ รุ่น การจะรีวิวมือถือเรือธงซักเครื่องนึงต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรถ้าเราไม่สามารถหา identity ที่แท้จริงของมือถือเครื่องนั้น ๆ ได้ เวลาที่แบรนด์มือถือใส่ทรัพยากรทุกอย่างเข้าไปในมือถือเครื่องหนึ่ง ผลลัพท์ที่ออกมาก็จะได้เป็นแค่มือถือแรง ๆ เครื่องหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ OPPO พยายามทำอยู่ตอนนี้คือการฉีกตัวเองออกจากตลาด แล้วสร้างสรรค์มือถือเรือธงที่ให้ประสบการณ์ที่ต่างออกไป

แกะกล่อง | UNBOXING

มาเริ่มกันที่ของในกล่องกันก่อนเลย ซึ่งมือถือสมาร์ทโฟนเรือธงสมัยนี้เริ่มมีเทรนด์ไม่แถมหัวชาร์จกันมาบ้างแล้ว แต่ OPPO ไม่ผันตัวตามตลาดง่าย ๆ มีแถมหัวชาร์จ SuperVOOC  65W และสายชาร์จ USB-A to C มาให้ในกล่องสามารถหยิบใช้งานได้เลย ตัวกล่องมาเป็นสีเทาขนาดกำลังดีดูพรีเมียมมาก ๆ แถมยังมีหูฟัง USB-C และเคสแบบ Soft-touch สีดำมาให้ด้วย

ดีไซน์ และการจับถือ

สิ่งแรกที่เห็นกันได้ง่าย ๆ เลยคือเรื่องดีไซน์ และการจับถือ OPPO Find X3 Pro ให้ความรู้สึกที่พรีเมี่ยมทันทีจะแต่แรกที่เริ่มจับถือ ด้วยดีไซน์โดยรวมที่เน้นความโค้งมนเป็นหลักตั้งแตขอบเครื่องไม่จนถึงโมดูลกล้อง เป็นมือถือที่หาขอบคม ๆ ยากมาก ให้ความรู้สึกที่นุ่ม ๆ สบายมือเวลาจับถือ ส่วนที่จับแล้วคมจะมีแค่ตรงปุ่มเพิ่มลดเสียงที่อยู่ด้านซ้ายเท่านั้น (จับ ๆ แล้วแอบลื่นพอสมควร 😂)

มาเริ่มกับฝาหลังที่เป็นจุดเด่นกันก่อนเลยดีกว่า โดย OPPO Find X3 จะมี 2 สีได้แก่ดำ และน้ำเงิน ซึ่ง 2 สีที่วางขายจะสัมผัสฝาหลังที่แตกต่างกัน สีดำใช้เป็นกระจกแวววาว ส่วนสีน้ำเงินใช้เป็นวัสดุ Frosted ขุ่น ๆ ให้ง่ายต่อการจับถือ และทั้ง 2 สีก็มีความสวยงามที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ความชอบครับ

ทาง OPPO ได้ย้ำเน้นเรื่องกระบวนการผลิตอันสุดจะซับซ้อนของดีไซน์ฝาหลัง ที่ผ่านกระบวนการหลากหลายขั้นตอนเพื่อจะให้เป็นอย่างที่เห็น ซึ่งก็ต้องยอมจริง ๆ เพราะมันสวยมากโดยเฉพาะบริเวณโมดูลกล้องที่ใช้ชื่อ Gradient Arc Camera นูนขึ้นเป็นเนื้อเดียวกับฝาหลังแบบไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ช่วยให้การจับถือรู้สึกสมูธตลอดตั้งแต่ล่างจรดบน ตบท้ายด้วยโลโก้ OPPO แวว ๆ ด้านล่าง


OPPO ให้ข้อมูลว่าฝาหลังได้ผ่านความร้อนกว่า 700 องศากว่าจะสามารถดัดให้โค้งมนไร้รอยต่อแบบที่เห็นได้ ผนวกด้วย Control Points ทั่วฝาหลังกว่า 2000 จุดเพื่อให้ได้รูปทรงที่แม่นยำสมูธ และพรีเมียมสมกับชื่อเรือธงของค่าย และก็บอกได้เลยว่าเป็นมือถือที่ดีไซน์ฝาหลังยากจะหาใครมาเทียบได้จริง ๆ ครับ

โมดูลกล้องดีไซน์แบบนี้ถึงแม้ว่ามันจะดูสวยงามไร้รอยต่อก็จริง แต่เวลาวางมือถือราบกับโต๊ะ ตัวกล้องจะสัมผัสกับโต๊ะโดยตรงดูไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่ เห็นแบบนี้เอาเคสมาใส่น่าจะปลอดภัยมากกว่า

มองลงมาด้านล่างเราจะเจอกับช่องชาร์จ USB-C ถาดใส่ซิมด้านข้าง และลำโพงที่ทำงานคู่กับลำโพงสนทนาด้านบนเป็นระบบ Stereo เสียงดังใช้ได้ แต่มีข้อสังเกตที่ลำโพงด้านล่างมีเสียงดังกว่าด้านบนเล็กน้อย ส่วนปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงก็จะถูกวางอยู่ด้านซ้าย ตรงกันข้ามกับปุ่ม Power

หน้าจอ 10bit QHD+ รีเฟรชเรท 120Hz

ตั้งแต่จับถือครั้งแรกก็ว้าวเลยทีเดียวกับหน้าแสดงผล AMOLED แบบโค้ง ขนาด 6.7 นิ้ว มีกล้องหน้าแบบเจาะรูอยู่มุมบนขวา ความละเอียด QHD+  อัตรารีเฟรช 120Hz แบบไดนามิก ที่จะเปลี่ยนโดยอัตโนมัติตามคอนเท้นต์ที่ดูอยู่ช่วยให้ประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น มาพร้อมกับมาตรฐาน HDR10+ อีกด้วย

หน้าจอของ OPPO Find X3 Pro ยังรองรับค่าสี 10-bit เป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้งานกันในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สามารถบันทึกภาพนิ่ง, วิดีโอ, เก็บไฟล์ 10Bit และแสดงผล 10Bit บนหน้าจอได้ มีค่าขอบเขตสีกว้างถึง 1.07 พันล้านสี เลยทีเดียว ไม่ว่าจะดูคอนเทนต์ HDR หรือดูภาพที่ถ่ายมาเองก็มีเฉดสีที่สวยสดเหมือนเห็นด้วยตาจริง ๆ เลยแหละครับ

อัตรารีเฟรชเรท 120Hz ผนวกกับความละเอียดสูงถึง QHD+ ช่วยให้ประสบการณ์ในการใช้งานดีเยี่ยมมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทั่วไป จนถึงการเสพย์สื่อ และเล่นเกมก็ได้อรรถรสแบบเต็มที่มาก ๆ แถมยังมีความสว่างสูงสุดถึง 1300nit สามารถใช้งานกลางแจ้งได้ไม่มีปัญหาเลย

สเปค และหน่วยประมวลผล 

สำหรับมือถือเรือธงระดับนี้ มันก็ถือว่าเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่ OPPO Find X3 Pro จะมาพร้อมกับชิปเซ็ตเรือธงตัวแรงประจำปี 2021 อย่าง Snapdragon 888, RAM LPDDR5 ขนาด 12GB และหน่วยความจำ UFS 3.1 ขนาด 256GB ถือว่าให้มาครบครันแบบเต็มที่ใช้งานทั่วไปสบาย ๆ หรือถ้าเป็นสาย Powerhouse เล่นเกมกราฟิกเดือด ๆ ก็ยังสบาย ๆ เลยครับ

Snapdragon888 ทำงานบน OPPO Find X3 Pro ได้อย่างลื่นไหล ซึ่งจากประสบการณ์ใช้งานไม่เคยเจอปัญหาค้างหรือกระตุกให้ได้เห็นเลย การใช้งานทั่วไปลื่นไหลมาก เปิด ปิด หรือสลับแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็วไม่มีสะดุดเลยครับ

สเปค OPPO FIND X3 PRO

  • จอภาพ : AMOLED ขนาด 6.7 นิ้ว, ความละเอียด QHD+, อัตรารีเฟรช 120Hz แบบไดนามิก, รองรับการแสดงผล HDR10+
  • ชิป : Qualcomm Snapdragon 888
  • หน่วยความจำ : RAM 12GB + ROM 256GB
  • กล้องหลัง : 4 ตัว
    – กล้องหลัก 50MP (ƒ/1.8), เซนเซอร์ภาพ Sony IMX766, All Pixel Omni-Directional PDAF, EIS
    – กล้องอัลตร้าไวด์ 50MP (ƒ/2.2), มุมกว้าง 110.3 องศา, เซนเซอร์ภาพ Sony IMX766, All Pixel Omni-Directional PDAF, EIS
    – กล้องเทเลโฟโต้ 13MP (ƒ/2.4)
    – กล้องไมโครเลนส์ 3MP (ƒ/3.0)
  • กล้องหน้า : 32MP (ƒ/2.4)
  • เครือข่าย : 5G
  • การเชื่อมต่อ :
    – Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac/ax
    – Bluetooth 5.2
    – GPS, A-GPS, GLONASS, BDS, GALILEO, QZSS
    – NFC
    – USB Type-C
  • เซนเซอร์ : Fingerprint, accelerometer, gyro, proximity, compass
  • แบตเตอรี่ : 4500mAh, รองรับชาร์จไว 65W
  • ความทนทาน :
    – กระจกหน้าจอ Corning Gorilla Glass 5
    – กันน้ำและฝุ่น IP68
  • ระบบปฏิบัติการ : Color OS 11.2 บนพื้นฐาน Android 11

ทดสอบการเล่นเกมบน OPPO FIND X3 PRO

ส่วนในเรื่องของการเล่นเกมก็ได้มีการทดสอบด้วยสุดยอดเกม Benchmark ภาพสวยอลังการอย่าง Genshin Impact ก็สามารถปรับภาพความละเอียดสูง การตั้งค่ากราฟิกสูงสุด และโหมด 60FPS ก็สามารถเล่นได้นิ่ง ๆ ตลอดเวลาเลยครับ แต่มีข้อสังเกตอยู่ที่แบตเตอรี่ไหลมาก ๆ (มันเป็นเกมที่กินแบตอยู่พอตัวอยู่แล้ว) กับเครื่องที่เริ่มมีความร้อนสะสมบริเวรโมดูลกล้องหลังจากใช้งานได้ราว ๆ 30 นาที

สำหรับเกมที่กินสเปคน้อยลงมาหน่อยอย่าง League of Legends: Wild Rift ก็สามารถเล่นได้ 60FPS ประภาพสุดอลังได้อย่างไม่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นช่วงฟาม หรือช่วงไฟท์ใหญ่ ๆ ก็ไม่มีการอาการกระตุกหรือเฟรมตกให้เห็นเลย การสัมผัสลื่นไหลตอบสนองได้ไวด้วย Touch Sampling 240Hz ทัชติดมือไม่มีเพี้ยนแน่นอน ซึ่งสำหรับเกมอื่น ๆ อย่าง ROV หรือ PUBG ก็สามารถรันได้ไม่มีปัญหาเช่นเดียวกัน

อีกหนึ่งฟีเจอร์ในการเล่นเกมที่น่าพูดถึงของ ColorOS ก็จะเป็น Quick Return Bubble เมื่อผู้ใช้งานเล่นเกมอยู่แล้วออกเกม จะมีเป็นลูกแก้วลอย คอยบอกสถานะต่าง ๆ ในเกม เช่น PUBG เมื่อผู้เล่นเข้าไปในเกมอยู่ในช่วงรอกระโดดร่ม 1 นาทีครึ่ง ตัว Bubble ก็จะมีนาฬิกานับถอยหลังให้ หรือถ้าเป็น ROV เวลาผู้เล่นตายเมื่อออกมาก็จะมีการรับถอยหลังเวลาเกิดให้ ไม่พลาดจังหวะสำคัญ ๆ แน่นอน

ประสบการณ์ใช้งาน และอินเทอร์เฟซ

ถัดมาในเรื่องของประสบการณ์ใช้งาน และอินเทอร์เฟซต่าง ๆ OPPO Find X3 Pro ก็มาพร้อมกับ Color OS 11.2 บนพื้นฐาน Android 11 ซึ่งหน้าตาโดยรวมก็จะเอนไปทางรูปทรงสีเหลี่ยมมากกว่าเห็นได้ชัดจาก Icon ของแถบแจ้งเตือนที่เป็นสีเหลี่ยมขอบมน ๆ มีความสวยงามไปอีกแบบต่างจากระบบปฎิบัติการณ์อื่น ๆ อย่าง MIUI หรือ OneUI

คนที่ใช้งาน ColorOS เป็นประจำอยู่แล้วก็น่าจะคุ้นเคยกับหน้าตาแบบนี้ดี แต่สำหรับผมส่วนตัวยังไม่ค่อยชอบดีไซน์รูปทรงสี่เหลี่ยมแบบนี้เท่าไหร่ครับ

สำหรับหน้า Home ตามแบบฉบับของ ColorOS ก็จะเป็นแบบไม่มี App Drawer อยู่แล้ว ซึ่งผู้ใช้งานคนไหนที่ถนัดแบบ App Drawer มากกว่าก็สามารถเข้าไปเปลี่ยนที่หน้า Settings ได้ โดยจากที่ใช้ ๆ มาก็ถือว่าเป็นหน้า Home ที่ลื่นไหล คลีน ๆ ใช้งานสะดวก ลากไปทางซ้ายสุดก็จะสามารถเปิดหน้า Google Discovery ขึ้นมาได้

ColorOS ก็มาพร้อมกับฟีเจอร์ Gesture ต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์แคปหน้าจอด้วยการลาก 3 นิ้ว และฟังก์ชัน Screen-off gesture ที่สามารถให้ผู้ใช้งานลาก Gesture เป็นรูปตัว V หรือ O เพื่อเรียกใช้กล้อง หรือไฟฉายได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนที่ถูกใจที่สุดก็น่าจะเป็น Live Wallpaper ที่ทาง OPPO เลือกสรรค์มาเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นภาพที่เปลี่ยนตามเวลา ภาพที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนหน้าจอ อนิเมชั่นที่เล่นตามจุดที่สัมผัส หรือจะเป็นแบบที่เล่นกับ Gyroscope ก็มีนะครบและสวยงามมาก ๆ

ถือว่าเป็นการใช้หน้าจอสเปคสุดเทพตัวนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จริง ๆ แล้วใจก็รู้นะว่ามันเปลืองแบตเตอรี่แต่มันสวยจนต้องยอม ใช้แล้วรู้สึกเลยว่าหน้าจอ OPPO Find X3 สีสวยสดเป็นธรรมชาติมาก ๆ ยิ่งถ้าจัดหน้า Home ให้โล่งจะยิ่งสวยเข้าไปใหญ่เลยครับ

สุดยอดกล้อง 4 ตัวเหมารวมทุกระยะ ถ่ายสวยทุกสถานการณ์

มาถึงจุดที่เป็นไฮไลท์หลักของ OPPO Find X3 Pro เลยอย่างเรื่องกล้องที่ให้มาด้วยกันถึง 4 ตัวได้แก่

  • กล้องหลัก 50MP (ƒ/1.8), เซนเซอร์ภาพ Sony IMX766, All Pixel Omni-Directional PDAF, EIS
  • กล้องอัลตร้าไวด์ 50MP (ƒ/2.2), มุมกว้าง 110.3 องศา, เซนเซอร์ภาพ Sony IMX766, All Pixel Omni-Directional PDAF, EIS
  • กล้องเทเลโฟโต้ 13MP (ƒ/2.4)
  • กล้องไมโครเลนส์ 3MP (ƒ/3.0)

ความเจ๋งของกล้องชุดนี้อยู่ที่การใช้เซนเซอร์ IMX766 ที่เป็นเซนเซอร์หลักให้กับกล้อง 2 ตัวได้แก่กล้องหลัก 50MP และกล้อง Ultra-wide 50MP ซึ่งเป็นเซนเซอร์ขนาดใหญ่ถึง 1/1.56 นิ้ว รับแสงได้มาก ความละเอียดสูงแม้จะถ่ายในที่แสงน้อย แถมภาพที่ได้จากทั้ง 2 เลนส์ก็มีคาแรคเตอร์ที่เหมือนกันมาก ๆ

กล้องหลักมีฟีเจอร์ในการถ่ายภาพแบบ บันทึกภาพแบบ RawPlus 10-bit ช่วยให้ขอบเขตสีที่กว้างสามารถเอาไปแต่งได้อย่างอิสระ แถมยังสามารถถ่ายวิดีโอความละเอียด 4K แบบ 10-bit ได้ทั้งฟอร์แมต LOG และ HDR ในสเปกตรัมสี BT.2020 อีกด้วย

ในเรื่องผลลัพท์รูปที่ออกมาได้ก็ไม่ต้องพูดอะไรมากเลยกับสเปคกล้องระดับนี้ ภาพถ่ายมีรายละเอียดคมชัด Dynamic Range ดีแม้กระทั่งสภาพย้อนแสง ไฮไลท์ และเงาไม่เสียรายละเอียด สไตล์สีภาพออกไปทางคอนทราสต์ที่สูงหน่อยทำให้สีออกสดหน่อย ๆ แต่ถ้าชอบภาพแนวนี้ก็เยี่ยมเลยครับ

ภาพกล้องทั่วไป

ภาพ 10 bit ผ่านการแต่ง

ทางด้านของ 10bit ก็ได้มีการทดสอบแต่งโทนสีต่าง ๆ จากแอปที่ติดมากับ ColorOS ซึ่งก็ให้เครื่องมือมาเยอะพอสมควรเลย ผลลัพท์ที่ออกมาคือไฟล์ภาพมีความยืดหยุ่นมาก ๆ สามารถปรับค่าแสงต่าง ๆ ได้อย่างอิสระโดยที่ไม่เสียรายละเอียด

ภาพ 10bit ปกคิ ภาพแต่ง

 

ภาพ 10bit ปกติ ภาพแต่ง

 

ภาพ 10bit ปกติ ภาพแต่ง

ภาพ RAW+ 10 bit ผ่านการแต่ง Lightroom

ส่วนของ RAW+ ที่ไม่สามารถใช้แอปที่ติดมาในการปรับแต่งได้ จึงจำเป็นต้องใช้ Lightroom Mobile ในการแต่งแทนซึ่งบอกเลยว่าว้าวมาก ๆ ภาพแรกที่ถ่ายมาจะออกตุ่น ๆ เหมือนไฟล์ RAW กล้อง Cinema สามารถเอามาปรับสีเพิ่มได้เยอะมาก ๆ ซึ่งเพื่อการทดสอบผมก็ได้ทำการแต่งแบบสีจัด ๆ เพื่อที่จะดูศักภาพของไฟล์ภาพ สามารถดูรูปตัวอย่างได้ด้านล่างเลยครับ

ภาพ RAW ภาพแต่ง

 

ภาพ RAW ภาพแต่ง

 

ภาพ RAW ภา่พแต่ง

Nightmode

สำหรับไนท์โหมดก็ทำออกมาได้น่าพอใจทีเดียว ตัวกล้องเดิมทีก็สามารถถ่ายที่มืดได้ดีพอสมควรอยู่แล้ว เวลาเปิด Night Mode ตัวแอปกล้องจะทำการเพิ่ม Sharpen ให้ภาพคมขึ้น ดึง Highlight โดยรวมให้ภาพดูสว่างขึ้น ข้อดีของมันก็คือถ่ายกลางคืนไม่ได้ออกมาสว่างเป็นกลางวัน ยังคงสเน่ห์ความเป็นภาพกลางคืนอยู่ครับ

กล้องหน้า Selfie

 

สำหรับกล้องหน้า Selfie ก็ไม่มีอะไรจะติจริง ๆ ครับ มาพร้อมฟีเจอร์ Beauty Mode ที่ครบครันเอาใจสายชอบถ่ายเซลฟี่ สี ความละเอียด และ Skin tone ก็ทำออกมาได้น่าพอใจมาก ๆ ครับ

กล้อง Microscope

 

เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์สุดเจ๋งที่ไม่มีมือถือเครื่องไหนในตลาดตอนนี้มี กับกล้อง Microscope ที่ซูมได้สูงสุดถึง 60x แบบชัดถึงรูขุมขน (รูขุมขนจริง ๆ ครับ) ซึ่งตัวกล้อง Microscope ตัวนี้จะต้องวางเลนส์ไปเกือบชิดเข้ากับสิ่งของที่ต้องการถ่าย แล้วตัวกล้องรอบ ๆ จะมีวงแหวน LED อยู่ช่วยให้สามารถถ่ายภาพซูมแบบใกล้มาก ๆ เหมือนกล้องจุลทรรศน์ เลยครับ แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่ตัวกล้องใช้งานได้ยาก ต้องคอยหาสิ่งของที่มีผิวสัมผัสเยอะ ๆ เพื่อที่จะได้ภาพที่สวยงาม แถมในชีวิตประจำวันก็หยิบออกมาใช้ค่อนข้างน้อยด้วย

แบตเตอรี่

ถัดมาในเรื่องของแบตเตอรี่ OPPO Find X3 Pro ก็มีมาให้ถึง 4500mAh ใช้งานอึด ๆ สบายตลอดทั้งวันไม่ว่าจะใช้งานธรรมดา ดูหนัง หรือเล่นเกมหนัก ๆ ก็เอาอยู่ทุกสไตล์เลยครับ มาพร้อม VOOC Flash Charge 2.0 65W ไวมาก ๆ อีกทั้งยังรองรับฟีเจอร์ AirVooc ชาร์จไร้สาย 30W อีกด้วย ถือว่าครอบคลุมทุกเทคโนโลยีการชาร์จเลย

สรุป

OPPO Find X3 Pro ก็ถือว่าทำออกมาได้สมน้ำสมเนื้อกับคำว่าเป็นมือถือเรือธงระดับพรีเมียม การใช้งานทั่วไปลื่นไหลไม่มีสะดุด วัสดุการออกแบบต่าง ๆ ก็เอามาแบบจัดเต็ม สวยงามไม่เหมือนใคร แถมที่เจ๋งที่สุดคือระบบกล้อง และจอ 10Bit ที่ช่วยให้ภาพสีสันสดใสเป็นธรรมชาติอีกด้วย แต่อาจจะมีข้อสังเกตอยู่ที่ ColorOS ที่ส่วนตัวแล้วยังไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ กับมอเตอร์สั่น Heptic ที่ให้ความรู้สึกเหมือนสปริงหลวมสู้เจ้าอื่นไม่ได้ ทำให้ประสบการณ์การใช้งานยังขาดอะไรบางอย่างไปอยู่ แต่นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว OPPO Find X3 Pro ถือว่าเป็นมือถือเรือธงพรีเมียมที่น่าจับตามองมาก ๆ ครับ

ข้อดี

  • Snapdragon 888 ระดับแถวหน้าของวงการ เร็วแรงทุก ๆ การใช้งาน
  • หน้าจอ AMOLED 120Hz ที่ลื่นไหลพร้อมมาตรฐานสี 10bit
  • ดีไซน์สวยงามดูพรีเมียมไม่เหมือนใคร
  • กล้องให้มาครบครันเซนเซอร์หลัก 2 ตัวสวยทุกระยะ
  • กล้อง Microscope เจ้าแรก และยังไม่มีใครมี

ข้อสังเกต

  • ฝาหลังเป็นรอยนิ้วมือง่ายมาก ๆ (เฉพาะสีดำนะ)
  • หน้าตา UI ของ ColorOS ที่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่สวยเท่าไหร่
  • ระบบสั่นยังไม่ละมุน

ราคาและการวางจำหน่าย

OPPO Find X3 Pro รุ่น RAM 12 ROM 256 ราคาไทย – 33,990 บาท มีให้เลือกด้วยกัน 2 สีได้แก่ สีดำ (Gloss Black) และ สีน้ำเงิน (Blue)