พานาโซนิคออกรายงานผลประกอบการในกรอบเวลา 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2024 เมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) มีรายรับรวม 6.4 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 1.6% จากปีก่อน แต่กำไรสุทธิกลับลดลง 28% เหลือ 288,000 ล้านเยน และยังมีประเด็นสำคัญกว่านั้น เมื่อคุณคูซูมิ ยูกิ ประธานพานาโซนิค แจ้งว่าบริษัทจะมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2026

พานาโซนิคกำลังพิจารณาลดขนาดธุรกิจบางส่วนที่ทำผลงานไม่เข้าเป้า และมีอนาคตที่พร่ามัว โดย 4 ธุรกิจที่คุณคูซูมิยกมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ ทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว อุปกรณ์อุตสาหกรรม และเมคาทรอนิกส์
คุณคูซูมิยังบอกอีกว่า ถ้าแค่ลดขนาดยังไม่พอ พานาโซนิคก็พร้อมที่จะใช้มาตรการขั้นรุนแรง คือการขายธุรกิจที่มีปัญหาเหล่านั้นทิ้งไปซะ เพื่อปรับสมดุลการเงินของบริษัท
ทีวีของพานาโซนิค เคยเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองในอดีต แต่การมาของผู้ผลิตจากจีนที่ใช้กลยุทธ์สงครามราคา ทำให้พานาโซนิคแข่งขันด้วยลำบาก
ประกอบกับการเสื่อมความนิยมของทีวี LCD ยอดขายทีวีพานาโซนิคจึงทยอยลดลงเป็นลำดับ ไม่เว้นแม้แต่ในญี่ปุ่นบ้านเกิด จากที่เคยครองส่วนแบ่งอันดับ 2 (16.8%) เมื่อปี 2018 ตอนนี้หล่นฮวบมาอยู่อันดับ 6 (8.8%) ส่วนตลาดโลกก็หลุดชาร์ตท็อป 5 ไปไหนแล้วไม่รู้
ปัญหาข้างต้น (สงครามราคา) เป็นปัญหาที่ซัมซุง แอลจี และชาร์ป ต่างก็เผชิญเช่นกัน จนทั้ง 3 ค่ายต้องตัดสินใจปิดโรงงานผลิตจอ LCD ไปตาม ๆ กันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ตามคำบอกเล่าของคุณคูซูมิ เบื้องต้นยังไม่มีบริษัทใดแสดงความสนใจหรือมีทีท่าว่าจะซื้อธุรกิจทีวีของพานาโซนิค ดังนั้นบทสรุปของเรื่องราวนี้จะลงเอยอย่างไร คงต้องรอติดตามกันต่อ
ที่มา : The Asahi Shimbun | Nikkei Asia
สงครามราคา เจอพวกตัดราคา ทำให้เจ้าเก่าอยู่ยาก ก็ต้องมาดูว่าเขาตัดราคาได้อย่างไร เขาลดคุณภาพหรือลดอะไรตรงไหนถึงได้ราคาต่ำ ทุกเจ้าก็น่าจะต้องมาดูกัน และเปิดไลน์รุ่นราคาถูกมาแข่งบ้าง ลูกค้าชอบราคาเบาฟีเจอร์เยอะๆ แบ่งไปเลยกับลูกค้ารวย ที่ชอบคุณภาพอัดแน่นราคาแพง