เชื่อว่ามือใหม่หลายคนกำลังเจอกับปัญหาการเลือกซื้อโน้ตบุ๊คหรือประกอบคอมพีซี ที่ต้องคอยมาสับสนกับชื่อและตัวย่อต่าง ๆ ในสเปคเยอะแยะเต็มไปหมด อะไรคือการ์ดจอ RTX อะไรคือ SSD PCIe ตกลงมันดีไม่ดีหรือแรงไม่แรงยังไงบ้าง ทำไมมันดูเข้าใจยากซะเหลือเกิน

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเอาจริง ๆ ทุกวงการก็มักจะมีศัพท์เฉพาะเบื้องลึกของตัวเอง อย่างเช่นวงการรถยนต์ ถ้าศึกษาเราก็ต้องรู้เกี่ยวกับประเภทของเครื่องยนต์, ขนาดซีซี และแรงม้าต่าง ๆ หรือถ้าลงดีเทลไปอีกก็จะไปแตะเรื่องระบบเบรก, ระบบควบคุม ฯลฯ ถามว่าต้องรู้หมดมั้ยก่อนซื้อรถคันหนึ่ง ก็ไม่ต้องก็ได้ แต่ถ้ารู้ไว้ก็ได้เปรียบ ซึ่งวงการคอมพิวเตอร์ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน

แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยจำนวนฮาร์ดแวร์ที่มีเยอะมากของพีซี ตั้งแต่ ซีพียู, การ์ดจอ, พื้นที่ความจุเก็บข้อมูล, หน่วยความจำ(แรม) และอื่น ๆ อีกมากมาย ยังไม่รวมพวกเรื่องจอ, เมาส์, คีย์บอร์ดต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกอีก ทำให้วงการนี้มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้เยอะกว่าอย่างอื่นมากจริง ๆ

ได้ยินแบบนี้แล้วก็อย่าเพิ่งหนีถอดใจกันไปก่อนล่ะ แม้มันจะฟังดูเยอะและยาก แต่จริง ๆ ไม่ได้ยากขนาดนั้น ถ้านับเฉพาะเรื่องพื้นฐานจริง ๆ ก็จะมีคำศัพท์เทคนิคอยู่แค่ไม่กี่คำเท่านั้นที่ต้องรู้ ซึ่งวันนี้จะมาไขกระจ่างให้หมดเลยว่าแต่ละคำมีความหมายยังไงบ้าง โดยเริ่มจากหมวดทั่วไปและหมวดซีพียูก่อน (เดี๋ยวจะมีหมวดอื่น ๆ ตามมาด้วย) หวังว่าจะช่วยให้การตัดสินใจเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ของทุกคนเป็นเรื่องง่ายขึ้นครับ

 

ส่วนคำศัพท์ทั่วไป

 

พีซี (PC)

เริ่มจากคำที่ง่ายและได้ยินกันบ่อยที่สุดเลยก็คือพีซี ซึ่ง PC ย่อมาจากคำว่า Personal Computer หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ถ้าเอาตามความหมายที่แท้ทรูเลยไม่ว่าคอมแบบตั้งโต๊ะ(เดสก์ท็อป) โน้ตบุ๊ค หรือออลอินวัน จะนับเป็นพีซีหมดเลย (เพราะว่าใช้งานส่วนบุคคลไง) แต่คนบางกลุ่มดันไปเข้าใจว่าพีซีคำเดียวหมายถึงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะอย่างเดียวจนชิน ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิด

เอาจริง ๆ MacBook ก็ถือว่าเป็นพีซีเหมือนกันนะ เพราะมันใช้งานส่วนบุคคลเหมือนกัน แต่คนทั้งโลกก็ไปเข้าใจอีกว่าพีซีนี่คือเฉพาะคอมที่ใช้ Windows ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ Mac ไปแล้ว ก็ต้องยอมเชื่อตามน้ำแบบนั้นกันไป (คล้าย ๆ คำว่าแท็บเล็ตที่ตั้งขึ้นมาเป็นคำความหมายกลาง ๆ แต่คนใช้ iPad กลับไม่ชอบเรียก iPad ว่าแท็บเล็ต ก็เรียกว่า iPad เลย ส่วนแท็บเล็ตก็ใช้กับแท็บเล็ต Android อย่างเดียว แบบนี้เป็นต้น)

 

เดสก์ท็อป (Desktop)

เดสก์ท็อป (Desktop) ก็มีความหมายแปลได้ตรงตัวเลยคือ สิ่งที่วางอยู่บนสุด (top) ของโต๊ะคอม (desk) ซึ่งก็คือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะนั่นเอง อาจจะมีคนแย้งว่าโน้ตบุ๊คก็เอาวางบนโต๊ะคอมเล่นได้หนิ เรียกว่าเดสก์ท็อปด้วยได้มั้ย ซึ่งเอาจริง ๆ ตามหลักการมันก็ได้ แต่คนคิดค้นได้ให้กำเนิดคำใหม่คำว่าแล็ปท็อป (Laptop) แยกออกมาแทนแล้ว ฉะนั้นคำว่าเดสก์ท็อปจะหมายถึงคอมตั้งโต๊ะที่มีตู้เคสแยกกับจออย่างเดียวเท่านั้น

อีกความหมายหนึ่งคือสามารถใช้กับหน้าแรกสุดของจอ Windows ที่มีวอร์เปเปอร์และไอคอนโปรแกรมวางเรียงอยู่ได้ด้วย ถ้าคนถามถึงหน้าเดสก์ท็อป ๆ มันคือหน้านั้นแหละ

 

แล็ปท็อป / โน้ตบุ๊ค (Laptop / Notebook)

แล็ปท็อป / โน้ตบุ๊ค สองคำนี้มีความหมายเหมือนกันคือคอมพิวเตอร์พกพา แต่คำที่เป็นสากลกว่าตอนนี้เห็นว่าคงจะเป็นแล็ปท็อป (Laptop) เพราะใช้กันทั่วโลกมากกว่า โดยมีความหมายคือสิ่งที่วางอยู่บนสุด (top) ของตัก (lap) รากเดียวกับคำว่าเดสก์ท็อป แถมตอนนั้นก็ใหญ่เกือบจะเท่ากันด้วย แค่พกพาได้เท่านั้น (เครื่องแรกสุดถ้าได้เห็นรูปนี่ไม่น่าวางตักคนได้เลย)

ส่วนโน้ตบุ๊ค (Notebook, NB) เป็นคำที่เกิดมาทีหลังด้วยขนาดที่เบากว่าเกือบเท่าสมุด (Notebook) ปัจจุบันนิยมใช้เป็นคำหลักแค่ไม่กี่ประเทศ ซึ่งไทยเราเป็นหนึ่งในนั้น นี่ยังไม่รวมว่ามีคำว่า Netbook, Ultrabook ที่เสื่อมความนิยมไปแล้วด้วย เอาเป็นว่าปัจจุบันทั้งสองคำใช้แลกเปลี่ยนกันได้ทุกประการแล้ว ไม่มีใครผิดครับ

 

ออลอินวัน (All-in-One, AIO)

AIO ย่อมาจาก All-in-One (ออลอินวัน) หมายถึงคอมพิวเตอร์ที่มีทุกอย่างประกอบอยู่ภายใต้เครื่องที่มีหน้าจอแค่อันเดียว โดยเอาฮาร์ดแวร์ส่วนอื่น ๆ ฝังไว้ด้านหลังจอหมดแล้ว ซึ่งจะสะดวกทั้งการเคลื่อนย้ายและใช้งานมากกว่าคอมตั้งโต๊ะทั่วไป แต่ก็ต้องแลกกับประสิทธิภาพที่อาจจะมีข้อจำกัดกว่า แถมบางรุ่นอัปเกรดฮาร์ดแวร์ด้านในเพิ่มไม่ได้ด้วย

 

ส่วนคำศัพท์ฮาร์ดแวร์ซีพียู

 

ซีพียู (CPU)

ซีพียู หรือ CPU ย่อมาจาก Central Processing Unit หมายถึงหน่วยประมวลผลกลาง หรือก็คือสมองส่วนหลักของคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ปัจจุบันซีพียูที่ใช้งานบนพีซีระบบ Windows จะแบ่งออกเป็น 2 ยี่ห้อหลัก ๆ คือ Intel และ AMD ทั้งคู่จะมีให้เลือกตั้งแต่รุ่นประหยัดพลังงานที่เน้นแบตอึดเอาไว้ใช้งานบนโน้ตบุ๊คเครื่องเบา ๆ ไปจนถึงรุ่นประสิทธิภาพสูงที่ใช้บนคอมเกมมิ่งหรือคอมที่ทำงานหนัก ๆ แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้

 

Intel Core

อินเทล (Intel) คือผู้ผลิตซีพียูบนคอมพิวเตอร์รายแรก ๆ ของโลก ซีพียูรุ่นที่โด่งดังที่สุดและนิยมใช้งานบนพีซีในปัจจุบันก็คือ Intel ตระกูล Core (จริง ๆ จะมีตระกูล Xeon อีก แต่เอาไว้ใช้งานด้านอื่น) ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ ซีพียูตระกูล Core ได้เดินทางมาถึงเจเนอเรชันที่ 12 แล้ว (นับจาก Gen 1, Gen 2 … ขยับเป็นเจนใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ) เรียกชื่อทางการว่า Intel Core 12th Gen หรือเรียกสั้น ๆ ก็คือ Intel Gen 12

 

 

Core i3, i5, i7, i9

ซีพียูตระกูล Core ถูกซอยย่อยออกเป็น 4 ระดับก็คือ Core i3, Core i5, Core i7 และ Core i9 ยิ่งเลขท้าย i มากก็หมายถึงประสิทธิภาพยิ่งสูง ราคาก็จะยิ่งแพงขึ้นตาม โดยแต่ละ Core i ก็จะถูกแบ่งย่อยออกไปอีกเป็นรหัสท้ายตัวเลข 4-5 หลัก ตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษอีก 1-2 ตัว (หรือไม่มีก็ได้) เช่น Core i3-10100, Core i5-1135G7, Core i7-1270P หรือ Core i9-12900K รหัสแต่ละหลักมีความหมายเฉพาะตัวทั้งหมด เดี๋ยวมาดูกันว่าหมายถึงอะไรบ้าง

 

 

รหัสเลขท้ายซีพียู Core i

สำหรับมือใหม่ที่ไม่รู้อะไรเลย รู้แค่ว่าเลขยิ่งเยอะ จำนวนหลักยิ่งเยอะ แปลว่ายิ่งแรงก็พอ ตัวอย่างเช่น ถ้าเอาซีพียู 2 ตัวมาเทียบกัน เจออันไหนที่เลขหน้าสูงกว่าก็ให้อนุมานว่ามันแรงกว่าอีกตัวไปเลย หรือถ้าเลขหน้าเท่ากันก็ให้เลื่อนไปดูหลักถัดไปเรื่อย ๆ แต่ตามความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นอย่างงั้นเป๊ะ ๆ ก็ได้ เพราะมันมีเรื่องของเจนเก่าเจนใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ เช่น ตัว Core i5 Gen 12 บางเลขรหัสอาจจะแรงกว่า Core i7 Gen 11 บางเลขรหัสก็เป็นได้

แต่ถ้าชอบดูให้ละเอียดขึ้นมาหน่อย ก็คือให้สนใจเฉพาะเลข 2 หลักแรก และตัวอักษรอังกฤษ 1-2 ตัวท้ายก็พอ โดยเลข 2 ตัวแรกหมายถึงเลขเจเนอเรชันอย่างที่กล่าวไป เช่น เลข 12 ก็หมายถึง Intel Gen 12 ซึ่งใหม่สุดแล้วในปี 2022 นี้ ส่วนตัวอักษรอังกฤษตัวท้าย นอกจากบ่งบอกว่ารุ่นนี้เป็นซีพียูที่ใช้เฉพาะบนคอมตั้งโต๊ะ, โน้ตบุ๊ค หรือ AIO เท่านั้น ยังบ่งบอกว่ามันเป็นรุ่นที่เน้นแรง หรือเน้นประหยัดพลังงานอีกด้วย มาดูกันว่าแต่ละตัวหมายถึงอะไรบ้าง

 

ตัวอักษรท้ายซีพียู Core i รุ่นโน้ตบุ๊ค

  • U หมายถึง Ultra-Low Power คือซีพียูรหัสที่ประหยัดพลังงานที่สุดในบรรดาทั้งหมด เน้นใช้งานบนโน้ตบุ๊คแบบ Thin & Light หรือมีความบางเบา พกพาสะดวก ไม่ต้องมีพัดลมระบายความร้อนก็อยู่ได้ แถมแบตอึดใช้งานได้ทั้งวัน ตัวอย่างเช่น Core i3-10110U, Core i5-1240U
  • G1 – G7 หมายถึง Graphics Level 1-7 ซึ่งเป็นซีพียูที่จะมากับการ์ดจอออนบอร์ดเทคโนโลยีล่าสุด ยิ่งเลขเยอะก็คือการ์ดจอออนบอร์ดจะยิ่งแรง แต่ตัวซีพียูยังถือว่าประหยัดพลังงานอยู่พอ ๆ กับรหัส U (ปัจจุบัน Intel Gen 12 ตัดซีรีส์นี้ออกไปแล้ว) ตัวอย่างเช่น Core i7-1165G7
  • P หมายถึง Performance Thin & Light ยังเป็นซีพียูสำหรับใช้งานบนโน้ตบุ๊คบางเบาอยู่เหมือนกับรหัส U แต่เน้นประสิทธิภาพที่สูงกว่า ทำงานได้หนักกว่า ขณะเดียวกันก็ยังเน้นประหยัดพลังงาน แบตอยู่ได้นานกว่ารหัส H ตัวอย่างเช่น Core i7-1270P
  • H หมายถึง High-Performance คือซีพียูสำหรับโน้ตบุ๊คประสิทธิภาพสูง มักใช้งานบนโน้ตบุ๊คเล่นเกม หรือโน้ตบุ๊คทำงานที่ต้องการความแรง เช่นงานตัดต่อ หรืองานเรนเดอร์ต่าง ๆ แต่ก็แลกมากับการกินไฟเยอะ ทำให้แบตไม่อึด และส่วนมากจะใช้งานร่วมกับการ์ดจอแยกเพื่อให้ได้คุณภาพกราฟิกที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น Core i9-12900H
  • HX – หมายถึง High-Performance eXtreme คือซีพียูโน้ตบุ๊ครหัสที่แรงที่สุดในบรรดาทุกตัวของ Intel ใช้ซิลิคอนขนาดเดียวกับซีพียูเดสก์ท็อป ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพกว่ารหัสอื่น ๆ เหมาะกับเครื่องประเภท Mobile Workstation เปิดใช้งานเต็มแรงตลอดเวลา แถมยังเป็นรหัสแรกของซีพียูโน้ตบุ๊คที่สามารถ overclock เพิ่มความแรงเองได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น Core i5-12450HX

 

ตัวอักษรท้ายซีพียู Core i รุ่นเดสก์ท็อป

  • ไม่มีตัวอักษรท้ายเลย หมายถึง ซีพียูเดสก์ท็อปรุ่นเริ่มต้น ความแรงระดับเริ่มต้น เน้นตลาดกลุ่มผู้ใช้งานคอมประกอบทั่วไป มีการ์ดจอออนบอร์ดในตัวมาให้ ตัวอย่างเช่น Core i9-12900
  • F คือรุ่นที่เหมือนกับรุ่นไม่มีอักษรท้ายทุกประการ แต่จะตัดการ์ดจอออนบอร์ดออกไป ทำให้มีราคาถูกกว่า เหมาะกับคนที่ต้องการจะหาซื้อการ์ดจอแยกมาใช้ร่วมกันอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น Core i9-12900F
  • K หมายถึง Unlocked CPU คือซีพียูเดสก์ท็อปรุ่นประสิทธิภาพสูง เน้นใช้งานหนัก ๆ หรือเล่นเกม โดยคำว่า Unlocked หมายถึงการปลดล็อกให้ซีพียูสามารถรองรับการ overclock เพื่อเพิ่มความแรงเองได้อีก เรียกว่าเกิดมาเพื่อผู้ใช้พีซีระดับ High-End อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น Core i5-12600K
  • KF คือรุ่นที่เหมือนกับรุ่น K ทุกประการ แต่จะตัดการ์ดจอออนบอร์ดออกไป ทำให้มีราคาถูกกว่า เหมาะกับคนที่ต้องการจะหาซื้อการ์ดจอแยกมาใช้ร่วมกันอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น Core i5-12600KF

 

Intel EVO

Intel EVO หมายถึง มาตรฐานหนึ่งที่ Intel ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเกณฑ์กำหนดว่า โน้ตบุ๊คเครื่องนี้จะต้องมีประสิทธิภาพขั้นต่ำอะไรที่เหนือกว่าโน้ตบุ๊คทั่วไปบ้าง อย่างเช่น ใช้งานแบตได้อย่างน้อย 9 ชม./วัน, ชาร์จไฟ 30 นาทีต้องใช้งานได้อย่างน้อย 4 ชม. และต้องผ่าน USB-C เท่านั้น, ดันหน้าจอขึ้นมาต้องติดและพร้อมใช้งานภายใน 0.8 วินาที, แรมต้องอย่างน้อย 8GB, จอต้องอย่างน้อย Full HD และอื่น ๆ อีกเพียบ ซึ่งโน้ตบุ๊คเครื่องไหนทำให้ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งหมด ก็จะได้รับสติกเกอร์ Intel EVO ไปติดเพื่อการันตีทันที

 

AMD Ryzen

เอเอ็มดี (AMD) คือผู้ผลิตซีพียูบนคอมพิวเตอร์สัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากอีกหนึ่งเจ้าของโลก ซีพียูรุ่นที่โด่งดังที่สุดและนิยมใช้งานบนพีซีในปัจจุบันก็คือ AMD ตระกูล Ryzen (จริง ๆ จะมีตระกูล Ryzen Threadripper, EPYC อีก แต่เอาไว้ใช้งานด้านอื่น) ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ ซีพียูตระกูล Ryzen ได้เดินทางมาถึงซีรีส์ 6000 แล้ว (นับจาก 1000, 2000, … ขยับเป็นเจนใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ) เรียกตามความคุ้นเคยกันว่า Ryzen 6000

 

 

Ryzen 3, 5, 7, 9

ซีพียูตระกูล Ryzen ถูกซอยย่อยออกเป็น 4 ระดับก็คือ Ryzen 3, Ryzen 5, Ryzen 7 และ Ryzen 9 ยิ่งเลขท้ายมากประสิทธิภาพก็ยิ่งสูง และราคาก็จะยิ่งแพงขึ้นตาม โดย Ryzen แต่ละรุ่นจะถูกแบ่งย่อยออกไปอีกเป็นรหัสท้ายตัวเลข 4-5 หลัก ตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษอีก 1-2 ตัว (หรือไม่มีก็ได้) เช่น Ryzen 3 3100, Ryzen 5 5500U, Ryzen 7 5800X3D หรือ Ryzen 9 6900HX รหัสแต่ละหลักมีความหมายเฉพาะตัวทั้งหมด เดี๋ยวมาดูกันว่าหมายถึงอะไรบ้าง

 

 

รหัสเลขท้ายซีพียู Ryzen

สำหรับมือใหม่ที่ไม่รู้อะไรเลย รู้แค่ว่าเลขยิ่งเยอะ จำนวนหลักยิ่งเยอะ แปลว่ายิ่งแรงก็พอ ตัวอย่างเช่น ถ้าเอาซีพียู 2 ตัวมาเทียบกัน เจออันไหนที่เลขหน้าสูงกว่าก็ให้อนุมานว่ามันแรงกว่าอีกตัวไปเลย หรือถ้าเลขหน้าเท่ากันก็ให้เลื่อนไปดูหลักถัดไปเรื่อย ๆ แต่ตามความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นอย่างงั้นเป๊ะ ๆ ก็ได้ เพราะมันมีเรื่องของเจนเก่าเจนใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ เช่น ตัว Ryzen 5 6000 บางรหัสอาจจะแรงกว่า Ryzen 7 5000 บางรหัสแล้วก็เป็นได้

แต่ถ้าชอบดูให้ละเอียดขึ้นมาหน่อย ก็คือให้สนใจเฉพาะเลขหลักแรก และตัวอักษรอังกฤษ 1-2 ตัวท้ายก็พอ โดยเลขตัวแรกหมายถึงเลขเจเนอเรชันอย่างที่กล่าวไป เช่น เลข 6 ก็หมายถึง Ryzen 6000 Series ซึ่งใหม่สุดแล้วในปี 2022 นี้ (เฉพาะบนโน้ตบุ๊ค) ส่วนตัวอักษรอังกฤษตัวท้าย นอกจากบ่งบอกว่ารุ่นนี้เป็นซีพียูที่ใช้เฉพาะบนคอมตั้งโต๊ะ, โน้ตบุ๊ค หรือ AIO เท่านั้น ยังบ่งบอกว่ามันเป็นรุ่นที่เน้นแรง หรือเน้นประหยัดพลังงานอีกด้วย มาดูกันว่าแต่ละตัวหมายถึงอะไรบ้าง

 

ตัวอักษรท้ายซีพียู Ryzen รุ่นโน้ตบุ๊ค

  • U หมายถึง Ultra-Low Power คือซีพียูรหัสที่ประหยัดพลังงานที่สุดในบรรดาทั้งหมด เน้นใช้งานบนโน้ตบุ๊คแบบ Thin & Light หรือมีความบางเบา พกพาสะดวก ไม่ต้องมีพัดลมระบายความร้อนก็อยู่ได้ แถมแบตอึดใช้งานได้ทั้งวัน ตัวอย่างเช่น Ryzen 5 5600U
  • HS หมายถึง High-Performance Slim Mobile ยังเป็นซีพียูสำหรับใช้งานบนโน้ตบุ๊คบางเบาอยู่เหมือนกับรหัส U แต่เน้นประสิทธิภาพที่สูงกว่า ทำงานได้หนักกว่า ขณะเดียวกันก็ยังเน้นประหยัดพลังงาน แบตอยู่ได้นานกว่ารหัส H ตัวอย่างเช่น Ryzen 5 6600HS
  • H หมายถึง High-Performance Mobile คือซีพียูสำหรับโน้ตบุ๊คประสิทธิภาพสูง มักใช้งานบนโน้ตบุ๊คเล่นเกม หรือโน้ตบุ๊คทำงานที่ต้องการความแรง เช่นงานตัดต่อ หรืองานเรนเดอร์ต่าง ๆ แต่ก็แลกมากับการกินไฟเยอะ ทำให้แบตไม่อึด และส่วนมากจะใช้งานร่วมกับการ์ดจอแยกเพื่อให้ได้คุณภาพกราฟิกที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น Ryzen 7 6800H
  • HX – หมายถึง High-Performance eXtreme คือซีพียูโน้ตบุ๊ครหัสที่แรงที่สุดของ AMD ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพกว่ารหัสอื่น ๆ เหมาะกับเครื่องประเภท Mobile Workstation หรือเกมมิ่งที่ต้องการความแรงแบบจัดเต็ม ปัจจุบันมีเฉพาะบน Ryzen 9 เท่านั้น ตัวอย่างเช่น Ryzen 9 5900HX

 

ตัวอักษรท้ายซีพียู Ryzen รุ่นเดสก์ท็อป

  • ไม่มีตัวอักษรท้ายเลย หมายถึง ซีพียูเดสก์ท็อปรุ่นเริ่มต้น ความแรงระดับเริ่มต้น เน้นตลาดกลุ่มผู้ใช้งานคอมประกอบทั่วไป แต่ไม่มีการ์ดจอออนบอร์ดในตัวมาให้ ต้องซื้อการ์ดจอแยกมาประกอบร่วมเท่านั้น ตัวอย่างเช่น Ryzen 5 5500
  • G คือรุ่นที่เหมือนกับรุ่นไม่มีอักษรท้ายทุกประการ แต่จะเพิ่มการ์ดจอออนบอร์ดเข้ามา ทำให้มีราคาสูงขึ้นนิดหน่อย สามารถประกอบคอมโดยไม่ต้องมีการ์ดจอแยกก็ได้ ตัวอย่างเช่น Ryzen 5 4650G
  • X หมายถึง X High-Performance with XFR คือซีพียูเดสก์ท็อปรุ่นประสิทธิภาพสูง เน้นใช้งานหนัก ๆ หรือเล่นเกม มาพร้อมเทคโนโลยี XFR ช่วยเพิ่มค่า clock ให้แรงขึ้นอัตโนมัติ และรองรับการ overclock เพื่อเพิ่มความแรงเองได้อีก แต่ไม่มีการ์ดจอออนบอร์ดในตัวมาให้ ตัวอย่างเช่น Ryzen 7 3700X
  • X3D คือซีพียูรุ่นพิเศษ ออกแบบมาสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ โดยเอารุ่น X มาปรับแต่งความแรง และเพิ่มขนาดแคชหน่วยความจำเข้าไปอีก ก็ทำให้เล่นเกมได้เร็วขึ้น ปัจจุบันมีแค่รุ่นเดียวคือ Ryzen 7 5800X3D (สนใจลองไปอ่านเพิ่มเติมในหัวข้อแคช)

 

คอร์ / เธรด (Core / Thread)

Core หรือ คอร์ หมายถึง แกนประมวลผลของซีพียู โดย 1 แกนก็เปรียบเสมือน 1 สมอง ยิ่งมีแกนมากก็ยิ่งเหมือนมีสมองให้ช่วยกันคิดหลายหัว แบ่งงานเล็กงานใหญ่กันไปทำ ส่งผลให้เครื่องทำงานได้รวดเร็ว

Thread หรือ เธรด หมายถึง แกนประมวลผลซีพียูเหมือนกัน แต่เป็นแกนที่จำลองขึ้นมาด้วยโค้ด จะมาทำหน้าที่คอยซัพพอร์ตเพื่อแบ่งงานให้กับ Core หรือแกนแท้ในเครื่อง ให้สมองเดียวสามารถทำงานพร้อมกันได้ทีละหลาย ๆ อย่าง (multitasking) ซึ่งส่วนใหญ่แค่ 2 อย่างก็เต็มที่แล้ว

เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ หากเปรียบการประมวลผลของซีพียูคือการกิน เราจะเปรียบเทียบว่า Core คือปาก และ Thread คือมือสำหรับหยิบของกิน หากเราอยากจะกินอะไรซักอย่างให้ได้เร็วที่สุด วิธีหนึ่งที่คอมพิวเตอร์ทำได้ก็คือเพิ่มปากให้ได้เยอะที่สุด แต่ลองคิดตามว่าถ้ามีปาก 10 ปาก ขณะที่มือยังมีแค่ 2 ข้าง เราก็จะหยิบของกินเข้าปากช้าอยู่ดี จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนมือเข้ามาให้สัมพันธ์กันด้วย ถึงจะเกิดการกินที่มีประสิทธิภาพที่สุด

กลับกันถ้ามีแต่มือเยอะ 20 ข้าง แต่มีปากแค่อันเดียว มือทุกอันก็จะแย่งกันหยิบของกินเข้าปาก ซึ่งก็เคี้ยวไม่ทันอยู่ดี จึงเกิดเป็นอาการคอขวดที่ทำให้ทำงานช้าไม่ต่างกัน ดังนั้นจำนวน Core / Thread ที่สัมพันธ์กันที่สุดและนิยมใช้ในปัจจุบันก็คือ 2 Thread ต่อ 1 Core หรือ 2 มือ ต่อ 1 ปาก ซึ่งเยอะสุดเท่าที่เห็นบนซีพียูทั่วไปตอนนี้ก็คือ 16 Core 32 Thread (ชอบเขียนย่อเป็น 16C/32T)

 

P-Core / E-Core

P-Core หมายถึง Performance Core หรือแกนประสิทธิภาพสูง นิยมเรียกว่าคอร์ใหญ่ มีค่า Clock Speed สูง เอาไว้ใช้สลับไปทำงานหนัก ๆ เช่นการเล่นเกม หรือการประมวลผลเรนเดอร์วิดีโอ สังเกตว่าถ้าใช้งานแล้วพัดลมคำดังหนักขึ้นมาก็แปลว่าคอร์ใหญ่นี้กำลังทำงานอยู่

E-Core หมายถึง Efficiency Core หรือแกนประสิทธิภาพทั่วไป นิยมเรียกว่าคอร์เล็ก มีค่า Clock Speed ต่ำ เอาไว้ใช้ทำงานเบา ๆ เช่นพิมพ์งานเอกสาร, ท่องเว็บ หรือดูวิดีโอทั่วไป ซึ่งแกนนี้จะกินไฟต่ำกว่า P-Core เวลาไม่ใช้หนักก็จะถูกสลับไปใช้เป็นแกนหลักแทนแกนใหญ่ไปเลย ช่วยให้ประหยัดพลังงานซีพียูลงได้เยอะ

ปัจจุบันซีพียูที่มีทั้ง P-Core และ E-Core จะยังมีเฉพาะฝั่ง Intel เท่านั้น ซึ่งล่าสุดคือ Intel Gen 12 ขณะที่ของฝั่ง AMD ยังใช้เป็นแบบ P-Core ล้วนทั้งหมดอยู่ ซึ่งก็แล้วแต่กลยุทธ์ของแต่ละยี่ห้อว่าจะทำซีพียูแบบไหนออกมาแข่ง ตัวอย่างหากเห็นซีพียูตัวหนึ่งระบุในสเปคว่า 8C+6E คือให้เข้าใจว่ามี 8 P-Core กับอีก 6 E-Core หรือมีคอร์รวมเท่ากับ 14C นั่นเอง

 

Clock Speed

Clock Speed ภาษาไทยชอบเรียกว่าค่าคล็อก หมายถึง ค่าความถี่สัญญาณนาฬิกา เป็นหน่วยวัดความแรงของคอร์ซีพียูคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน นึกถึงภาพเข็มนาฬิกาหรือล้อรถที่กำลังหมุน ยิ่งหมุนได้หลายรอบก็แปลว่าเครื่องยิ่งเร็ว โดย 1 รอบ เท่ากับ 1 เฮิรตซ์ แต่ปัจจุบันความเร็วซีพียูพุ่งไปถึงระดับกิกะเฮิรตซ์ (Gigahertz, GHz) แล้ว สูงสุดเท่าที่เห็นบนซีพียูทั่วไปตอนนี้ก็คือ 5.5 GHz

 

Overclock

โอเวอร์คล็อก (Overclock, OC) ตามชื่อเลยคือแปลว่าการทำให้ค่าสัญญาณนาฬิกา (clock) มีค่าเกิน (over) กว่าขีดจำกัดที่สเปคของซีพียูนั้นโดนกำหนดมาจากโรงงาน ซีพียูบางตัวออกแบบมาให้รองรับการ OC ได้ บางตัวก็ไม่ เพราะข้อเสียก็คือจะทำให้กินไฟหนัก เกิดความร้อนสูง แต่ก็แลกมากับประสิทธิภาพการประมวลผลที่แรงขึ้น เหมาะกับคนที่ชอบทำอะไรเสี่ยง ๆ หน่อย จนปัจจุบันกลายเป็นกีฬาแล้วด้วยซ้ำ สูงสุดที่มีคนทำได้ตอนนี้บนซีพียูรุ่นธรรมดาอยู่ที่ 8.7 GHz

 

TDP

TDP ย่อมาจาก Thermal Design Power หมายถึงค่าพลังงานความร้อนสูงสุดที่ชิปซีพียูปล่อยออกมาในหน่วยวัตต์ (W) ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็นหน่วยวัดการกินไฟของซีพียูเลยก็อนุโลมได้ไม่ผิด เพราะสามารถเอาไปคำนวณต่อเป็นค่าพลังงานได้

เช่น ซีพียูตัวหนึ่งมีค่า TDP 40W แปลว่าจะมีอัตราการปล่อยความร้อนออกมาไม่เกิน 40 จูล(Joule)/วินาที ผู้ผลิตจะเลือกวัดการกินไฟของซีพียูจากความร้อนที่ฮีตซิงค์กำจัดออกได้ภายใน 1 วินาทีนั้น ยิ่งความร้อนปล่อยออกมามาก ฮีตซิงค์ก็จะยิ่งทำงานหนัก ไฟที่ฮีตซิงค์ใช้ไปกับการกำจัดก็จะถูกเอามาคำนวณประมาณเป็นค่าไฟนั่นเอง (เป็นการประมาณคร่าว ๆ เท่านั้น จริง ๆ มีปัจจัยเยอะกว่านี้)

วิธีคำนวณค่าไฟ เช่น ถ้าใช้ซีพียูเต็มกำลัง 40W ตลอดเวลานาน 10 ชั่วโมง จะคำนวณได้จาก 40W x 10 h / 1000 Wh = 0.4 หน่วย สมมติค่าไฟหน่วยละ 4 บาท แปลว่าตลอด 10 ชั่วโมงที่เปิดคอมมาเต็มแรงนี้ก็จะเสียค่าไฟเฉพาะของซีพียูอยู่ที่ 0.4 x 4 = 0.16 บาทนั่นเอง

 

ออนบอร์ด (Onboard)

ออนบอร์ด (Onboard) หมายถึงการ์ดจอที่ฝังอยู่ในซีพียูเลย ซึ่งจริง ๆ คำว่าออนบอร์ดเป็นแค่คำเรียกติดปากของคนไทยเฉย ๆ เพราะคำที่เป็นทางการจริง ๆ คือคำว่า “Integrated Graphics” หรือ iGPU แต่ก็อนุโลมเรียกตามนั้นได้ ซึ่งการ์ดจอออนบอร์ดนี้จะเป็นชิปประมวลผลกราฟิกที่ใช้ทั้งไฟและแรมร่วมกับซีพียูในเครื่องเลย ต่างจากการ์ดจอแยกที่มีทั้งแรมของตัวเองและกินไฟแยกออกมาต่างหาก (แยกสมชื่อ) ซึ่งเดี๋ยวค่อยไปลงรายละเอียดกันอีกทีในหมวดการ์ดจอ

อย่างที่กล่าวไปในเรื่องรหัสท้ายซีพียูว่าการ์ดจอออนบอร์ดจะมีหรือไม่มีบนซีพียูก็ได้ ฝรั่งจะนิยมเรียกซีพียูที่มีออนบอร์ดในตัวว่าเอพียู (APU) ถ้าคอมเครื่องไหนใช้เอพียูอยู่แล้ว จะต่อหรือไม่ต่อการ์ดจอแยกเพิ่มก็ได้ แต่ถ้าใช้ซีพียูที่ไม่มีออนบอร์ดจำเป็นต้องต่อการ์ดจอแยกเพิ่มเท่านั้น ไม่งั้นก็จะประมวลผลภาพขึ้นจอหรือเล่นเกมอะไรไม่ได้เลย

 

แคช (Cache)

แคช (Cache) ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะแคชของซีพียู หมายถึง หน่วยความจำชนิดหนึ่งที่อยู่ใกล้กับซีพียูมากที่สุด มีความเร็วสูงกว่าและมีขนาดเล็กกว่าแรมมาก อยู่แค่หลัก MB เท่านั้น เอาไว้พักข้อมูลที่ซีพียูอยากจะดึงมาใช้แบบด่วนจี๋ที่สุด ซึ่งก็คือข้อมูลที่เราเปิดบ่อย ๆ นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเปิด Google Chrome ครั้งแรก ซีพียูก็จะเรียก Chrome ทั้งตัวมาเก็บไว้ในแรมก่อน แล้วก็แสดงขึ้นจอให้เราเห็นปกติไม่มีอะไร (ซึ่งการเปิดครั้งแรกจริง ๆ มันช้านะ) แต่นานวันเข้าถ้าเราเปิด Chrome บ่อยขึ้น ซีพียูจะเริ่มรู้แล้วว่าเอ๊ะไอ้นี่มันใช้งานโปรแกรมนี้บ่อยนี่หว่า งั้นเราขอเอาโค้ดบางส่วนที่ใช้กระตุ้นโปรแกรมนี้มาพักไว้ในแคชให้ก่อนละกันนะ เวลาคุณเปิดครั้งต่อไปอีกจะได้ไม่ต้องไปรอจากแรมเพียว ๆ ทั้งหมดอีกแล้ว รับรองเปิดปุ๊บติดปั๊บแน่นอน เป็นต้น

แคชในซีพียูจริง ๆ จะถูกแบ่งอีกออกเป็น 3 ระดับแยกกันคนละก้อน คือ L1, L2 และ L3 ยิ่ง L ต่ำก็ยิ่งอยู่ใกล้ซีพียูและยิ่งเร็วมาก แถมยิ่งจุข้อมูลได้น้อยกว่าตัวถัดไปด้วยเนื่องจากต้นทุนมันแพง ตัวอย่างซีพียูในคอมเดสก์ท็อปทั่วไปที่มีแคชสูง ๆ ก็เช่น Ryzen 7 5800X3D มีค่า L1 = 512KB, L2 = 4MB และ L3 = 96MB ซึ่งความจุที่สูงขนาดนี้มีประโยชน์มากในการเล่นเกม เพราะต้องดึงข้อมูลโหลดแมปอะไรไปมาตลอดเวลา การเลือกซื้อซีพียูที่ยิ่งมีค่าแคชมาก ก็เลยยิ่งดีมากนั่นเอง แต่ราคาก็จะแพงขึ้นตามปริมาณเช่นกัน

 

นาโนเมตร (Nanometer)

นาโนเมตร (nanometer, nm) คือหน่วยของขนาดเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตซีพียู เพื่อความง่ายให้เข้าใจว่าเป็นขนาดทรานซิสเตอร์ก็ได้ ซีพียูหนึ่งตัวจะมีทรานซิสเตอร์อยู่ประมาณ 10-100 ล้านตัว ยิ่งมีมากก็ยิ่งทำให้ซีพียูแรง ผู้ผลิตเลยพยายามจะทำให้ขนาดของทรานซิสเตอร์พวกนี้เล็กลงจาก 10nm เป็น 7nm และเป็น 5nm ไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะได้ยัดจำนวนเพิ่มลงไปอีก

ดังนั้นถ้าซีพียูตัวไหนถูกผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ยิ่งเล็กก็จะยิ่งดีนั่นเอง แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ อย่างในปัจจุบันซีพียู Intel Gen 12 มีขนาดอยู่ที่ 10nm ขณะที่ AMD Ryzen 6000 มีขนาดอยู่ที่ 5nm ผลทดสอบออกมาพบว่าในรุ่นราคาใกล้กัน บางครั้งให้ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน หรือ 10nm บางรุ่นของ Intel แรงและประหยัดพลังงานกว่า 5nm บางรุ่นของ AMD ก็มี เพราะฉะนั้นให้วัดกันที่การใช้งานในชีวิตจริงจะเหมาะสมที่สุดครับ

เป็นยังไงกันบ้างสำหรับศัพท์เกี่ยวกับซีพียูที่เรานำมาฝากกันวันนี้ บางคำอาจจะฟังแลดูยากและไกลตัวไปสักหน่อย ก็เหมือนอย่างที่บอกไว้ตอนต้นเลยว่าไม่จำเป็นต้องรู้ทุกคำก็ได้ เอาแค่พื้นฐานนิดหน่อยก็พอ จะได้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อซีพียูบนโน้ตบุ๊คหรือพีซีของเรา เพื่อให้ได้ของที่คุ้มค่าคุ้มราคาหรือเหมาะกับการใช้งานของเราที่สุดครับ

ส่วนคราวหน้าใน EP.2 จะเป็นบทความเกี่ยวกับการเลือกซื้อการ์ดจอบนพีซีและโน้ตบุ๊ค ซึ่งก็จะรวมคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ต้องรู้เกี่ยวกับสเปคการ์ดจอมาเจาะลึกให้ดูแบบนี้อีกเช่นกัน ไว้ฝากติดตามกันด้วยนะครับ

 

รวมคำศัพท์คอมพิวเตอร์ หมวดเกี่ยวกับการ์ดจอ (GPU) ฉบับลงลึก แต่เข้าใจง่าย รู้แล้วเลือกสเปคคอมได้เก่งขึ้นแน่นอน (EP.2)