จากที่ทีมงาน Droidsans ได้เดินทางไปร่วมเรียนรู้เทคโนโลยี DM-i Super Hybrid ที่เป็นเทคโนโลยีเอกสิทธิ์ของทาง BYD ทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจในระบบการทำงานของระบบนี้มากขึ้น ซึ่ง DM-i Super Hybrid มีความน่าสนใจในหลายมิติมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการประหยัดพลังงาน, ประสิทธิภาพการขับขี่ที่ดี ตลอดจนเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์คนที่อยากลองเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV แต่ยังกังวลเรื่องการชาร์จอยู่ 

ทำความรู้จัก PHEV แบบคร่าว ๆ กันก่อน

ภาพรวมของรูปแบบรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภท จาก Bizreps

หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นหูคุ้นตากันดีกับรถยนต์ประเภท PHEV หรือ Plug-in Hybrid Electric Vehicle ที่รู้จักกันในภาพกว้าง ๆ ว่าเป็นรถที่ใช้ได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน และสามารถชาร์จไฟเข้าได้ รถประเภทนี้พัฒนามาจากรถ HEV ที่ใช้ได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเช่นเดียวกัน แต่ว่าชาร์จไฟจากสถานีชาร์จไม่ได้เท่านั้นเอง แต่ในบทความนี้เราจะพูดถึง PHEV DM-i Super Hybrid ซึ่งเป็นระบบรถ Plug-in Hybrid ที่ขับเคลื่อนได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 EV Mode โหมดไฟฟ้าล้วน

รถขับเคลื่อนด้วยการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการเป็นหลัก พลังงานจะถูกดึงจากแบตเตอรี่มาใช้

รูปแบบที่ 2 Series Mode โหมดไฮบริดที่ขับเคลื่อนแบบอนุกรม

โหมดนี้จะมีการใช้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันคู่กัน แต่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลักในการขับเคลื่อนล้อ ส่วนเครื่องยนต์จะมีไว้สร้างพลังงานให้มอเตอร์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนล้อ

รูปแบบที่ 3 Parallel Mode โหมดไฮบริดแบบขนาน

โหมดนี้จะมีการใช้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันคู่กันเช่นกัน แต่ระบบนี้ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์จะเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนล้อแบบเต็ม ๆ

ทำความรู้จัก DM-i Super Hybrid

มาทำความรู้จักกับ DM-i Super Hybrid มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Dual Motor – Inteligent Super Hybrid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีควบคุมการทำงานและระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ประเภท PHEV เอกสิทธิ์เฉพาะของแบรนด์ BYD ที่ทางแบรนด์คิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ขับรถยนต์ EV ระยะทางไกล ๆ ได้ประสบการณ์เสมือนได้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือผู้ที่ยังไม่พร้อมที่จะใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า 100% แบบเต็มตัวเพราะรถ EV ล้วนมีข้อจำกัดของรถยนต์ไฟฟ้าคือวิ่งระยะทางไกลแล้วต้องเสียเวลาชาร์จไฟกลับนาน หาที่ชาร์จยาก ไม่สะดวกแบบรถยนต์ระบบน้ำมัน ที่เติมน้ำมันแค่ไม่กี่นาทีก็เดินทางต่อได้เลย ระบบนี้ก็จัดว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับคนกลุ่มนี้ 

ซึ่ง BYD ได้มีการพัฒนารถ PHEV มาตั้งแต่ปี 2008 จนถึง 2024 นับเป็นเวลายาวนานกว่า 16 ปี กินส่วนแบ่งทางการตลาดรถประเภทดังกล่าวถึง 50% หรือกว่า 3.6 ล้านคันเลยทีเดียว โดยเส้นทางการพัฒนาของระบบ DM มี ดังนี้ 

  • DM 1.0 – จุดเริ่มต้นหรือยุคบุกเบิกของการออกแบบและพัฒนาสถาปัตยกรรมระบบไฮบริดมอเตอร์คู่ รูปแบบการขับเคลื่อนแบบไฮบริดอนุกรม (Series) และไฮบริดขนานผสมผสานกัน 
  • DM 2.0- ยุคที่ทางแบรนด์เริ่มก้าวมาเป็นผู้นำ ได้มีการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบไฮบริดใช้ระบบส่งกำลัง DCT ที่มีรูปแบบการขับเคลื่อนแบบไฮบริดขนาน (Parallell) 
  • DM 3.0 – ยุคที่ BYD เป็นผู้เชี่ยวชาญ ได้มีการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบไฮบริดโดยใช้ระบบส่งกำลัง DCT ที่มีรูปแบบการขับเคลื่อนแบบไฮบริดขนาน  (Parallell) และอนุกรม  (Series) 
  • DM 4.0 – ยุคที่ทาง BYD ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ มีการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบไฮบริดมอเตอร์คู่ ที่มีรูปแบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดอนุกรม (Series) และไฮบริดขนาน (Parallell)  ผสมผสานกัน ปัจจุบัน DM-i Super Hybrid ของ Sealion 6 ใช้เป็นรุ่นนี้  
  • DM 5.0 – เป็นช่วงที่มีการต่อยอดนวัตกรรม มีการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบไฮบริดมอเตอร์คู่ ที่มีรูปแบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดอนุกรม (Series) และไฮบริดขนานผสมผสานกัน  (Parallell)   

องค์ประกอบหลักในการทำงานของ DM-i Super Hybrid 

โดยในตัวแพลตฟอร์มนั้นก็จะประกอบไปด้วย ระบบควบคุมยานยนต์ (Vehicle Control Unit) , กล่องควบคุมเครื่องยนต์ (Engine Control Unit), กล่องควบคุมชุดมอเตอร์ (Motor Control Unit) และระบบจัดการแบตเตอรี่อัจฉริยะ (Battery Management System) ซึ่งทาง BYD เค้าได้มีการวิจัยและพัฒนาระบบส่งกำลังกับระบบควบคุมแยกจากกัน 100% เลย ข้อดีของการที่ระบบแยกกันคือจะช่วยควบคุมและแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พูดถึงด้านพละกำลัง ตัวมอเตอร์คู่ ให้กำลัง 145kW แรงบิด 300 นิวตันเมตร ส่วนเครื่องยนต์จะเป็นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 4 สูบ ให้กำลัง 72kW แรงบิด 122 นิวตันเมตร เมื่อทำงานร่วมกันแล้วจะได้ขุมพลังรวมสูงสุด 160kW แรงบิด 300 นิวตันเมตร 

การทำงานของ DM-i Super Hybrid

DM-i Super Hybrid การทำงานหลัก ๆ เลยคือจะมีการผสานการทำงานของทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาป จุดเด่นคือขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเป็นหลัก แต่มีเครื่องยนต์ที่ต้องเติมน้ำมันเป็นพลังงานมาเป็นส่วนเสริมในการขับเคลื่อน รวมทั้งเป็นตัวช่วยในการใช้งานหนัก ๆ เช่น การเร่งแซง หรือการขึ้นเนินด้วย อีกจุดเด่นนึงคือระบบนี้แบตเตอรี่จะใหญ่ ทำให้ขับเคลื่อนแบบ EV ได้ไกลขึ้นกว่า PHEV ทั่วไป โดยระบบนี้จะถูกนำมาใช้กับรถ BYD Sealion 6 ที่เตรียมจะเปิดตัวในไทยในวันที่ 8 สิงหาคม 2024 นี้ ซึ่งรูปแบบนี้ขับเคลื่อนได้ 3 โหมดตามที่ได้อธิบายไปในต้นบทความแล้ว แต่ก็มีการใช้งานและความแตกต่างกัน ดังนี้  

  • EV Mode โหมดไฟฟ้าล้วน อย่างที่บอกว่าเป็นการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียว ซึ่งในโหมดนี้เมื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำ-ปานกลาง มอเตอร์จะทำงานได้อย่างเต็มที่ ให้แรงบิดสูง เวลาขับก็จะทำให้รู้สึกขับได้ราบเรียบและนุ่มนวลเหมือนกับขับรถยนต์ไฟฟ้าปกติเลย
  • Series Mode โหมดไฮบริดที่ขับเคลื่อนแบบอนุกรม ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเป็นหลัก แต่มีเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นตัวปั่นไฟจ่ายไปยังมอเตอร์ ข้อดีคือทำให้เสียงรบกวนน้อยลง ทำให้ได้ความรู้สึกในการขับขี่ได้เรียบเนียนเสมือนขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าล้วนเช่นเดียวกัน แถมอัตราเร่งแซงช่วงต่ำ – กลาง ตอบสนองได้ดีกว่ารถยนต์สันดาปด้วย
  • Parallel Modeโหมดไฮบริดแบบขนาน โหมดนี้จะใช้ทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาปเป็นตัวขับเคลื่อนเลย เพื่อที่จะช่วยให้ได้กำลังที่สูงที่สุด เอาไว้ขับขึ้นเนิน ขึ้นเขา หรือมีการเร่งแซง หรือขับแบบโหด ๆ เหมือนในสนามแข่ง เครื่องยนต์และมอเตอร์ก็จะรวมพลังกันเป็นหนึ่งเพื่อรีดพลังขับเคลื่อนของรถออกมาได้อย่างเต็มที่
ระบบ DM-i Super Hybrid

 ระบบ DM-i Super Hybrid ดียังไง

  • ระบบ DM-i Super Hybrid ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเป็นหลัก ไม่มีอัตราทดเกียร์ ทำให้การขับขี่ของรถมีความเงียบ ไร้รอยต่อ เสมือนการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า 
  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อขับด้วย EV Mode รถแทบจะไม่มีการปล่อยคาร์บอนออกมาเลย 
  • รองรับการขับขี่ได้ไกลถึง 1,100+ กม. เนื่องจากมีเครื่องยนต์ในการช่วยปั่นไฟและนำไปใช้กับมอเตอร์ไฟฟ้า  
  • มอเตอร์มี Oil Cooling ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อน ทำให้มอเตอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • ใช้เครื่องยนต์ Xiaoyun 1.5L/ หรือ 1.5T มีประสิทธิภาพเชิงความร้อนที่สูง พร้อมช่วยลดการปล่อยมลพิษและเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ อีกทั้งยังมีระบบระบายความร้อนแบบแยกส่วน ซึ่งช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกอุณหภูมิ 
  • เครื่องยนต์เป็นระบบขับเคลื่อนแบบไม่มีสายพานที่ลดการสูญเสียพลังงานและเพิ่มความทนทาน

แล้ว PHEV DM-i Super Hybrid ของ BYD ต่างจากการทำงาน EREV ยังไง?

ในปัจจุบัน นอกจากประเภทหลัก ๆ ของรถยนต์ไฟฟ้าจะมี BEV, HEV และ PHEV แล้ว ยังมีรถประเภท EREV ที่ถือกำเนิดขึ้นมาด้วย ซึ่งหลังจากที่ไปดูเทคโนโลยีดังกล่าวจึงทำให้เกิดความสงสัยว่า PHEV DM-i Super Hybrid ของ BYD ต่างจากการทำงาน EREV (Extended Range Electric Vehicle) ยังไงบ้าง

การทำงานของ EREV 

โดยหลักการทำงานของรถยนต์ประเภท EREV ก็จะมีความคล้ายกับ PHEV อยู่คือ เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากรถยนต์ HEV แต่ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเลยคือรถประเภทนี้ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มีเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันมาทำหน้าที่ช่วยปั่นไฟเข้าไปในแบตเตอรี่ คล้ายกับการทำงานแบบ Series Hybrid Mode (อนุกรม) ระบบนี้มีทั้งชาร์จไฟได้และไม่ได้ ทำให้ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเดินทางระยะไกล แต่อยากจะประหยัดพลังงาน หากนึกภาพไม่ออก ขอยกตัวอย่างเคสการขับเคลื่อนของ Nissan Kick e-Power 

โครงสร้างระบบ EREV จาก H2S Media
ระบบ EREV (Extended Range Electric Vehicle) ภาพจาก ARENAEV

ตัวอย่างการทำงานของ Nissan Kick e-Power

Nissan Kick e-Power เป็นลูกผสมของ EREV ใช้ระบบการทำงานของเทคโนโลยี e-POWER คือ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 100% มีเครื่องยนต์ที่เปลี่ยนน้ำมันให้เป็นพลังงานไปเป็นไฟฟ้า ผู้ใช้งานเพียงแค่เติมน้ำมันตามปกติเหมือนรถยนต์ทั่วไปเท่านั้น รุ่นนี้จะไม่สามารถชาร์จไฟได้ 

ระบบขับเคลื่อน Nissan Kick e-Power

สรุป PHEV DM-i Super Hybrid ของ BYD ต่างจากการทำงานของระบบ EREV ยังไง

ดังนั้นจึงขอสรุปได้ว่า PHEV DM-i Super Hybrid ของ BYD ต่างจากการทำงานของระบบ EREV อย่างสิ้นเชิง สามารถสรุปสั้น ๆ ได้ว่า

  • PHEV DM-i Super Hybrid สามารถสลับโหมดการขับเคลื่อนได้หลากหลายมากกว่า นอกเหนือจากโหมดไฟฟ้าล้วน คือขับเคลื่อนแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก (Series Mode) และขับเคลื่อนแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์ผสานพลังกันขับเคลื่อน (Parallel Mode) ได้
  • EREV จะขับเคลื่อนได้เพียงรูปแบบเดียว คือจะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก เครื่องยนต์ทำหน้าที่เป็นเครื่องปั่นไฟฟ้าให้แก่มอเตอร์เท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน ข้อสังเกตของระบบนี้คือ เมื่อขับด้วยความเร็วสูงก็อาจจะสู้กำลัง Parallel Mode ของ DM-i Super Hybrid ไม่ได้ อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดที่เห็นได้ชัด

PHEV DM-i Super Hybrid และ EREV เหมาะกับใครบ้าง?

PHEV DM-i Super Hybrid

  • เหมาะกับผู้ที่เดินทางทั้งระยะสั้นและระยะไกล เพราะมีการขับเคลื่อนให้เลือกหลายรูปแบบ  
  • เหมาะกับคนที่ต้องการขับรถปลั๊กอิน ไฮบริด แต่ได้ประสบการณ์เหมือนขับรถยนต์ไฟฟ้า 
  • ตอบโจทย์คนที่ต้องการตัวเลือกในการขับขี่ที่ต้องการเปลี่ยนใช้ระหว่างใช้งานทั่วไปและใช้งานแบบสมรรถนะจัดเต็ม 
  • เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการประโยชน์จากการขับขี่ด้วยไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน แต่ยังต้องการความยืดหยุ่นในการเดินทางไกลและใช้เครื่องยนต์เมื่อจำเป็น

EREV

  • เหมาะกับผู้ที่ต้องการขับขี่ระยะทางไกลเป็นประจำ
  • สำหรับผู้ที่ต้องการหาตัวเลือกในการประหยัดน้ำมัน
  • เหมาะกับผู้ที่ไม่สะดวกตั้งที่ชาร์จที่บ้าน หรือหาที่ชาร์จในระหว่างทริป
  • เหมาะกับผู้ชื่นชอบฟีลลิ่งการขับขี่แบบรถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่อยากเสียเวลารอชาร์จแบตนาน เติมน้ำมันแล้วไปต่อได้เลย

พาชมคันจริง BYD Sea lion 6 รุ่นแรกที่ใช้ DM-i Super Hybrid  

BYD Sealion 6 รถ SUV รุ่นนี้เป็นที่เป็นขุมพลัง DM-i Plug-in Hybrid ซึ่งจะมาเป็นตัวเลือกให้แก่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการจะเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่อยากลองย้ายไปทาง EV ล้วนแบบเต็มตัว

มาพร้อมข้อดีในเรื่องของสมรรถนะ โดยสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายในเวลาเพียง 8.3 วินาที, มีประสิทธิภาพเชิงความร้อนสูง ทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำ ทำให้ประหยัดน้ำมันได้ดีด้วย ส่วนสเปคอื่น ๆ มี ดังนี้

  • เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ให้กำลัง 98 แรงม้า แรงบิด 122 นิวตันเมตร 
  • ทำงานร่วมมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลัง 197 แรงม้า แรงบิด 300 นิวตันเมตร
  • เมื่อเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ ได้กำลังรวม 218 แรงม้า แรงบิด 300 กม.
  • ระยะวิ่งสูงสุด 1,092 กม.

จากที่ได้ลองสัมผัสในฐานะผู้นั่งรู้สึกได้เลยว่าภายในห้องโดยสารมีความเงียบจริง ในระหว่างที่เครื่องดับอยู่แล้วกลับมาเครื่องติดคือแทบไม่ได้ยินเสียง เหมือนกับใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าล้วนของจริงเลย