ในยุคที่เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ทำให้เรามีความต้องการใช้ไฟฟ้าในทุกวัน แต่บางครั้งที่เราไปนอกสถานที่ ซึ่งไม่มีปลั๊กไฟให้เราเสียชาร์จได้ เช่น เข้าป่าตั้งแคมป์ หรือแม้แต่การเดินทางปกติของเราก็ตาม ทำให้เราต้องมีแบตเตอรี่สำรอง จำพวก Power Bank หรือถ้าต้องใช้ไฟเยอะก็จะเป็นพวก Power Station แทน วันนี้เราจะพาไปรู้จักอุปกรณ์สำรองไฟพกพาหลาย ๆ แบบกัน

1. Power Bank เครื่องเล็กพกพาง่าย

เชื่อว่าสิ่งนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือยังไงก็ต้องเคยเห็นบ้าง เพราะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำรองไฟที่ใช้งานที่สุด โดยในช่วงแรกที่ Power Bank เข้าสู่ประเทศไทย อุปกรณ์แบบนี้มักจะจ่ายไฟอยู่ที่ประมาณ 5V 1A หรือ 5V 2.1A เท่านั้น ไม่ได้เน้นระบบชาร์จเร็วเท่าไหร่ ส่วนมากจะเน้นความจุแบตมากกว่า

แต่ในระยะหลังมานี้ได้มีการพัฒนาโปรโตคอลการชาร์จที่หลากหลายมากขึ้น รองรับการชาร์จเร็วหลายแบบ หรือแม้กระทั่งจ่ายไฟ PD ชาร์จโน้ตบุ๊กได้เลยทีเดียว

ส่วนความจุก็มีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ 4,000mAh ไปจนถึง 30,000mAh ซึ่งส่วนมากมักจะมีความจุที่ไม่เกินพิกัดนี้ เพราะสามารถถือขึ้นเครื่องบินได้นั่นเอง แต่ต้องไม่ลืมว่ายิ่งความจุแบตเยอะยิ่งเพิ่มขนาด และน้ำหนักของตัวแบตสำรองด้วย

โดยตัว Power Bank ในปัจจุบันก็มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบปกติ แบบมีสายในตัว หรือแบบที่รองรับการชาร์จไร้สาย ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการใช้งานของเพื่อน ๆ เลย

ข้อดี

  • ขนาดเล็กพกพาง่าย
  • น้ำหนักเบา
  • ราคาเริ่มต้นต่ำที่สุด

ข้อเสีย

  • ปล่อยกระแสไฟออกมาได้น้อยกว่าแบตสำรองรูปแบบอื่น
  • ใช้งานพร้อมกันหลายอุปกรณ์ไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ
  • ใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าปกติไม่ได้ เช่น พัดลม ทีวี

วิธีเลือก Power Bank

อย่างแรก คือเลือกตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น เอาไปใช้ชาร์จโทรศัพท์มือถือ ต้องการชาร์จเร็วไหม ชาร์จกี่เครื่อง หรือไม่ได้สนเรื่องพวกนี้เลย ต้องการรุ่นที่มีน้ำหนักเบาที่สุดเล็กที่สุดมากกว่า

หรือจะเลือกตามความจุแบตเตอรี่ กำลังไฟที่จ่ายได้แทนก็ได้ หากต้องการนำไปชาร์จอุปกรณ์ที่กินกระแสเยอะ ๆ เช่น ชาร์จโน้ตบุ๊ก หรือเน้นความจุเยอะ ๆ สำหรับเน้นใช้ชาร์จได้ทั้งวันตอนไปเที่ยว

สุดท้ายถ้าไม่ได้เน้นฟีเจอร์อะไรมาก เน้นความคุ้มเป็นหลัก ก็อาจจะเลือกตามงบแทนก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าจะให้ทีมงานแนะนำฟีเจอร์ที่ Power Bank ควรมีในปี 2024 ก็จะมี ดังนี้

  • รองรับการชาร์จไฟเข้าแบบ USB-C
  • รองรับการชาร์จเร็ว 20W ขึ้นไปแบบ USB-C
  • พอร์ตที่มีให้ใช้ควรมีทั้ง USB-A และ USB-C
  • ถ้าเป็นรุ่นชาร์จไร้สายควรรองรับแม่เหล็ก Magsafe
  • ความจุ 10,000 mAh ขึ้นไป สำหรับการใช้งานทั่วไป
  • ความจุ 5,000 mAh สำหรับรุ่นน้ำหนักเบาขนาดเล็กพิเศษ เน้นพกพา

แนะนำ Power Bank น่าใช้

ZMI QB817 เน้นความคุ้มค่า

สำหรับรุ่นแรกจะเป็นรุ่นที่มีราคาไม่ถึง 1 พันบาท แต่ได้รุ่นที่รองรับการชาร์จเร็วแบบ PD 20W และ USB-A ก็รองรับ QC 3.0 ด้วย สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือได้เร็วใกล้เคียงกับการชาร์จด้วยไฟบ้านปกติเลย แต่ความจุที่ให้มาไม่ได้สูงมาก จึงอาจทำให้เราชาร์จมือถือเราได้แค่ไม่กี่รอบเท่านั้น

AUKEY PB-Y43 เน้นไฟแรง

รุ่นต่อมาเหมาะสำหรับคนที่เน้นไฟแรงเอาไว้ชาร์จโน้ตบุ๊ก เพราะรุ่นนี้สามารถจ่ายไฟได้สูงถึง 65W แบบ PD เลยทีเดียว ซึ่งเพียงพอสำหรับการชาร์จโน้ตบุ๊กได้สบาย ๆ หรือจะเอาไว้ชาร์จอุปกรณ์อื่นพร้อมกันหลาย ๆ อุปกรณ์ก็ทำได้สบาย ๆ

แบตเตอรี่ที่ให้มามีความจุที่ค่อนข้างใหญ่ประมาณนึง ใช้ชาร์จมือถือได้หลายรอบเพียงพอสำหรับการใช้งานหลายวันแน่นอน และแน่นอนว่าสเปคที่ให้มาจัดเต็มขนาดนี้ ย่อมแลกมากับน้ำหนักและความร้อนเวลาชาร์จเต็มกำลังอยู่แล้ว ดังนั้น รุ่นนี้เลยเหมาะสำหรับคนที่พกพาไม่บ่อย แต่พกแล้วต้องการความจัดเต็ม ครบเครื่อง

Orsen by Eloop EW50 MagCharge เน้นใช้ง่าย

ตัวสุดท้ายจะเหมาะสำหรับคนที่เน้นใช้งานง่าย แค่แปะหลังเครื่องก็ชาร์จแล้ว เหมาะสำหรับคนที่เดินทางด้วยรถสาธารณะมาก ๆ เพราะบางทีเราอาจต้องชาร์จแบตระหว่างโหนรถด้วยมือเดียว ที่บอกเลยว่าการหาของในกระเป๋าว่ายากแล้ว การเสียบสายเป็นอะไรที่ยากกว่ามาก การใช้ Power Bank ที่มี Magsafe เป็นอะไรที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ดีจริง ๆ

หรือใครที่ต้องการความคล่องตัวต้องหยิบมือถือมาใช้บ่อย ๆ แต่แบตก็จะหมด การได้ Power Bank ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมือถือก็เป็นอะไรที่ใช้งานได้สะดวกสุด ๆ ดีกว่ามีสายชาร์จมาเกะกะรบกวนการใช้งาน แต่ถ้าใครต้องการชาร์จอุปกรณ์อื่น เช่น หูฟัง ก็สามารถใช้สายชาร์จเสียบตรงได้เช่นกัน

2. Power Station แบตเยอะตัวใหญ่ ใช้งานได้ครบจบเหมือนอยู่บ้าน

หนึ่งในอุปกรณ์ที่พักหลังมานี้ได้รับความนิยมขึ้นมาก ทั้งในหมู่ผู้รักการตั้งแคมป์ หรือผู้ใช้งานทั่วไปก็ตาม เนื่องจากมีราคาที่จับต้องได้ง่ายมากขึ้น แถมนำไปใช้งานได้หลากหลาย ทั้งชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่น้ำไปต่อเคืร่องใช้ไฟฟ้าปกติ เช่น พัดลม ทีวี ฯลฯ

โดยอุปกรณ์นี้เกิดมาเพื่อตอบโจทย์คนที่คิดว่า Power Bank ปกตินั้นมีความจุไม่พอ จะให้ซื้อ Power Bank หลายสิบลูกก็ไม่สะดวกอีก หรือเกิดมาเพื่อตอบโจทย์คนที่อยากได้ Power Bank ที่สามารถเสียบปลั๊กไฟบ้านได้ ให้คิดง่าย ๆ ว่ามันคือ Power Bank ขนาดใหญ่บิ๊กเบิ้มแทนแล้วกัน

ส่วนขนาดความจุของแบตเตอรี่ก็จะมีให้เลือกหลากหลาย เริ่มต้นที่ประมาณ 30,000 mAh เท่ากับขีดจำกัดของ Power Bank ไปจนถึงหลายแสน mAh เห็นสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 620,000 mAh

สิ่งที่บ่งบอกว่าสิ่งนี้คือ Power Station หรือไม่ ถ้าดูง่าย ๆ คือพอร์ตการจ่ายไฟที่เยอะ มีหลากหลาย และต้องมีพอร์ตจ่ายไฟแบบเดียวกับปลั๊กไฟบ้าน

ด้านกำลังไฟที่จ่ายได้ก็มีตั้งแต่ 100W ไปจนถึง 3200W เลยทีเดียว อันนี้คือรวมทุกพอร์ตใช้พร้อมกันนะ ส่วนถ้าใช้พอร์ตเดียวแต่ละพอร์ตก็จะมีขีดจำกัดการจ่ายไฟกำหนดไว้อยู่ รุ่นสูง ๆ อย่าง 2000W ก็ใช่ว่าจะจ่ายพอร์ตเดียวเต็ม 2000W เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

เรื่องน่าสนใจคือ หากเปรียบเทียบ Power Bank ที่จ่ายไฟได้ 100W กับ Power Station ที่จ่ายไฟได้ 100W ที่แบตเตอรี่ความจุเท่ากัน จะมีขนาดและน้ำหนักที่ต่างกันพอสมควร เนื่องจาก Power Station จะมี Inverter หรืออุปกรณ์แปลงไฟ และแบตเตอรี่ที่มีสเปคสูงกว่า เพื่อรองรับการจ่ายไฟผ่านปลั๊กไฟบ้าน

ข้อดี

  • ถูกออกแบบมาให้เคลื่อนที่พกพา
  • ใช้งานได้หลากหลาย
  • แบตใหญ่ความจุเยอะ

ข้อเสีย

  • ราคาสูง
  • มีน้ำหนักเยอะ

วิธีเลือก Power Station

การเลือก Power Station มีหลักการคล้าย ๆ Power Bank คืออย่างแรกเลือกตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น พกพาเอาไปออกบูท ต่อโน้ตบุ๊ก 3 ตัว ต่อโคมไฟ เอาไปตั้งแคมป์ ต่อกาต้มน้ำร้อน หรือไว้สำรองตอนไฟดับ เป็นต้น ทำให้เราสามารถประเมินได้คร่าว ๆ ว่าควรใช้กำลังไฟเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอเครื่องไม่ดับ

เลือกตามงบเพราะราคาของ Power Station ตัวหนึ่งค่อนข้างสูง คือถ้าเทียบกับ Power Bank แล้วแพงกว่ามาก ทำให้เราอาจจะต้องคำนึงถึงงบประมาณด้วยว่าจะ “เพิ่มอีกนิด” เอารุ่นที่สเปคสูงกว่าหรือไม่

หรือจะเน้นความอึดถึกทนใช้ได้นาน ก็ให้เลือกตามความจุแบตเตอรี่ที่ใส่มาให้แทน และเรื่องสุดท้ายคือวิธีการเคลื่อนย้าย ต้องบอกก่อนว่าตัว Power Station ตามปกติแล้วมีน้ำหนักที่เยอะกว่า Power Bank ทำให้การที่จะเคลื่อนย้ายนั้นทำได้ยากกว่า

ดังนั้น รุ่นที่ความจุแบตเตอรี่ไม่ใหญ่มาก ก็ควรที่จะมีหูหิ้วเพื่อให้การหยิบจับเคลื่อนย้ายทำได้สะดวก ส่วนรุ่นใหญ่แบตเตอรี่ความจุสูง ๆ ก็ควรมีล้อ และที่ลากด้วย เพราะการขนย้ายสิ่งของน้ำหนักหลายสิบกิโลกรัมด้วยตัวคนเดียว น่าจะไม่ดีต่อสุขภาพเท่าไหร่ ถ้าจะให้ทีมงานแนะนำฟีเจอร์ที่ Power Bank ควรมีในปี 2024 ก็จะมี ดังนี้

  • สามารถจ่ายไฟ Output ได้ทั้งแบบ DC และ AC
  • จ่ายไฟ AC ได้แบบ Pure Sinewave
  • มีช่องชาร์จแบบ USB-A และ USB-C
  • รองรับการชาร์จไฟกลับ Input ทั้งแบบ DC และ AC
  • กันน้ำกระเซ็น
  • มีหูหิ้ว ล้อลาก
  • มีหน้าจอแสดงสถานะการทำงาน
  • มีปุ่มตัดไฟ
  • มีไฟฉายในตัว
  • ผ่านมาตรฐาน มอก.

แนะนำ Power Station น่าใช้

POWER STATION PS-300 ตัวเริ่มต้นกำลังไฟ 300 Watt

มาดูกันที่ตัวที่ทางทีมได้ใช้และทดสอบแล้วกับ PS-300 เป็นตัวที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ใช้งานได้หลากหลาย จะใช้ชาร์จมือถือ หรือโน้ตบุ๊กพร้อมกันหลาย ๆ เครื่องก็ทำได้สบาย ๆ เพราะสามารถจ่ายไฟได้สูงถึง 300 Watt

แบตเตอรี่ความจุ 83,200 mAh ก็จัดว่าให้มาเยอะประมาณนึง ถ้าไม่ได้ใช้งานหนักเต็มกำลังไฟที่เครื่องจ่ายได้ ก็สามารถใช้ข้ามวันได้เลย เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่เหมาะสำหรับการพกพาไว้ใช้ตอนไปแคมป์อย่างมาก ถ้าใช้ชาร์จแค่มือถือ โน้ตบุ๊ก ไม่ได้ต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟหนัก ๆ

ECOFLOW RIVER 2 MAX PORTABLE รุ่นกลางกำลังไฟ 500 Watt

สำหรับใครที่คิดว่ารุ่นที่แล้วยังไม่พอใช้ลองดูรุ่นนี้ เพราะอัปเกรดสเปคขึ้นมาอีกเป็นกำลังไฟระดับ 500W และ X-BOOST ได้สูงสุด 1000W มีช่องปลั๊กไฟบ้าน AC เพิ่มเป็น 2 ช่องด้วย สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น หรือเหมาะกับการใช้งานที่มีจำนวนคนที่เพิ่มากขึ้นกว่ารุ่นที่แล้ว

แบตเตอรี่ความจุ 512 WH (ประมาณ 138,240 mAh) เยอะเพียงพอสำหรับการใช้งานตามสเปคแน่นอน แถมรุ่นนี้เวลาชาร์จไฟกลับไม่ต้องใช้อะแดปเตอร์แยกด้วย หรือถ้าใครอยากใช้นอกสถานที่ยาว ๆ จะชาร์จไฟกับแผงโซล่าเซลล์ก็ได้เช่นกัน

ALPHA-X S1000 ตัวจบไฟแรง 1200 Watt

สำหรับตัวนี้คงนิยามได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเคลื่อนที่เลยก็ว่าได้ เพราะแบตเตอรี่ที่ให้มามีขนาดใหญ่ระดับ 1.021kWh แถมยังรองรับกำลังไฟรวมสูงถึง 1200 Watt จ่ายไฟได้แรงมาก ๆ เอาไปใช้กับอุปกรณ์ที่กินไฟสูง ๆ อย่างกระทะไฟฟ้า หรือเตารีดได้ บอกเลยว่ามี Power Station ไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่สามารถทำแบบนั้นได้

แน่นอนว่าตัวเครื่องที่มีสเปคสูงแบบนี้ย่อมมาคู่กับน้ำหนักที่เยอะพอสมควรที่ 8.5 กิโลกรัม ไม่รวมอะแดปเตอร์ การจะ Power Station ตัวนี้ไปแคมป์ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่

3. UPS เครื่องสำรองไฟสำหรับคอมพิวเตอร์

หลายคนอาจจะลืมเครื่องสำรองไฟอย่าง UPS ไปแล้ว แต่ต้องบอกเลยว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่สามารถสำรองไฟไว้ใช้งานนอกสถานที่ที่เกิดขึ้นก่อน Power Station หรือ Power Bank สะอีก

แต่ต้องบอกก่อนว่าระยะเวลาที่สามารถกระแสไฟไปใช้งานอาจจะไม่ได้อึดถึกทนเท่าอุปกรณ์ประเภทอื่น ส่วนหนึ่งเพราะคอมพิวเตอร์มีอัตราการกินไฟที่สูงกว่าอุปกรณ์พกพาอย่างโทรศัพท์มือถือค่อนข้างมาก

แต่ถ้าใครที่เอาไปใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้กินไฟเยอะ บอกเลยว่าแบตเตอรี่มันก็สามารถใช้งานได้นานเอาเรื่อง แต่ต้องหารุ่นที่สามารถเสียบปลั๊กแบบปกติได้ด้วยนะ เพราะบางรุ่นมีแค่ปลั๊กของคอมพิวเตอร์เท่านั้น

ส่วนข้อสังเกตคงเป็นเรื่องของขนาด และรูปทรงที่ไม่เหมาะสำหรับการพกพา และวัตถุประสงค์ของ UPS ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อชาร์จแล้วพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ แต่เกิดขึ้นมาเพื่อสำรองตอนไฟดับชั่วคราวมากกว่า

ปัจจุบันมีให้เลือกหลายความจุหลายประเภท เริ่มตั้งแต่ประมาณ 500VA 300W จนไปถึง 3000VA 2700W กันเลยทีเดียว

ข้อดี

  • ราคาต่อความจุแบตเตอรี่ที่ได้มีความคุ้มค่าที่สุด
  • ได้ความจุแบตเตอรี่เยอะ

ข้อเสีย

  • รูปทรงไม่เหมาะสำหรับการพกพา
  • มีน้ำหนักที่เยอะ
  • ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานลักษณะนี้

วิธีเลือก UPS

เลือกตามเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำไปใช้งาน เช่น คอมพิวเตอร์สำนักงานทั่วไป จะเลือกรุ่นธรรมดาราคาไม่สูงก็ใช้งานได้แบบเหลือ ๆ ส่วนคอมพิวเตอร์เล่นเกมสเปคสูง ก็อาจจะต้องเลือกรุ่นที่มีความจุแบตเตอรี่ และกำลังไฟที่จ่ายได้เยอะหน่อย ที่สำคัญควรจ่ายได้ไฟแบบ Pure Sinewave ด้วย

หรือถ้านำไปต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกับ Power Station ก็ควรเลือกรุ่นที่สามารถจ่ายไฟได้แบบ Pure Sinewave เช่นกัน เพราะจะช่วยยืดอายุให้เครื่องใช้ไฟฟ้า มากกว่าเดิม

ที่สำคัญควรเลือกรุ่นที่สามารถปิดเสียงแจ้งเตือนได้ เพราะ UPS ถูกออกแบบมาให้ใช้งานตอนไฟดับเท่านั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ลักษณะเดียวกับ Power Station ดังนั้นตัวเครื่องจะส่งเสียงร้องเตือนตลอดเวลาที่เปิดใช้แน่นอน ส่วนวิธีการเลือกเราได้เขียนสรุปไว้อย่างละเอียดแล้ว แต่ถ้าให้สรุปแบบสั้น ๆ มีดังนี้

  • มีหน้าจอแสดงสถานะการทำงาน
  • จ่ายไฟได้แบบ Pure Sinewave
  • มี มอก.
  • ปิดเสียงเตือนได้
  • มีช่อง Output ปลั๊กไฟบ้านไม่น้อยกว่า 4 ช่อง
  • ถอดสายไฟ Input ได้

แนะนำ UPS น่าใช้

APC BV650I MS 650VA / 375 Watts รุ่นเริ่มต้นคุ้มค่าน่าใช้

รุ่นแรกจะเป็นรุ่นที่เหมาะสำหรับการใช้งานกับคอมพิวเตอร์ทั่วไป ไม่ได้มีสเปคแรงมาก หรือคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีการ์ดจอ แต่ด้วยความที่เป็นรุ่นเริ่มต้นเลยไม่ได้จ่ายไฟแบบ Pure Sinewave และความจุแบตเตอรี่น้อย เลยอาจจะทำให้ใช้งานไม่ได้นานมากนัก

และไม่เหมาะกับการนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขดลวดเหนี่ยวนำ มอเตอร์ เช่น พัดลม แต่สามารถเอาไปใช้กับหัวชาร์จโปรศัพท์มือถือได้ในตอนจำเป็น

ZIRCON PI 1200VA / 840W รุ่นสุดคุ้มสำหรับคอเกม

บอกเลยว่ารุ่นนี้เป็นอีกหนึ่งในรุ่นที่น่าใช้ เพราะเป็นรุ่นที่สามารถจ่ายไฟได้แบบ Pure Sinewave ในราคาไม่ถึง 5000 บาท สามารถใช้งานได้กับคอมพิวเตอร์สเปคแรง หรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้ PSU แบบ Active-PFC ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าปกติได้ด้วย เช่น เอาไปใช้กับพัดลมรอบก็จะหมุนปกติ ไม่มีอาการเพี้ยนแต่อย่างใด

แต่ก็จะมีข้อสังเกตอยู่บ้างเรื่องของสายไฟ Input ที่ถอดไม่ได้ และขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ไม่เหมาะสำหรับการพกพาเท่าไหร่ เรียกว่าเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินแก้ขัดได้เหมือนไฟบ้านปกติแทนแล้วกัน

Cleanline T-1000 1000VA / 900W ตัวเทพ ตัวจบ ของทุกวงการ

ตัวนี้เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่เทพที่สุดของบรรดา UPS ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดเลย เพราะตัวเครื่องเป็น UPS แบบ True Online Double-conversion สามารถจ่ายไฟ Output ได้ดียิ่งกว่าไฟจากการไฟฟ้าเสียอีก สามารถนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ทุกประเภท

ตามปกติแล้ว UPS ลักษณะนี้มักจะถูกใช้กับคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญสูงอย่างเครื่องเซิร์ฟเวอร์ หรือเครื่องบันทึกภาพกล้องวงจรปิด ทำให้มันมีราคาที่สูงกว่า UPS ทั่วไปในท้องตลาดอยู่มากพอสมควร