เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา NASA ได้ออกมาประกาศข่าวดีว่าตอนนี้เฮลิคอปเตอร์จิ๋วที่มีชื่อว่า Ingenuity ขึ้นแท่นเป็นวัตถุชิ้นแรกของโลก ที่สามารถเทคออฟขึ้นจากพื้นผิวของดาวอังคาร โดยในส่วนนี้หลายคนอาจจะงง ๆ ว่ามันเกี่ยวกับวงการไอทีของเรายังไง คำตอบก็คือ เจ้าเฮลิคอปเตอร์ตัวนี้ มันขับเคลื่อนด้วย Snapdragon 801 อดีตชิปเรือธงเมื่อหลายปีก่อนของ Qualcomm นั่นไงล่ะ

Ingenuity ได้เดินทางไปดาวอังคาร ด้วยการเกาะท้องของรถสำรวจ Perseverance ไป โดยทั้งสองได้ลงสู่พื้นผิวของดาวอังคารอย่างปลอดภัยไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แถว ๆ Jezoro Crater (อารมณ์ประมาณแอ่งหรือหลุมอุกกาบาต) ซึ่งจริง ๆ แล้วตอนแรก จะมีเพียงแค่รถสำรวจ Perseverance เท่านั้นนะครับ ที่ได้ขึ้นไปสำรวจพื้นผิวของดาวอังคาร แต่ภายหลัง NASA กลับตัดสินใจเพิ่มเจ้าเฮลิคอปเตอร์ขนาดจิ๋วอันนี้ห้อยสอยไปด้วย เพื่อที่จะสาธิตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบันของมนุษยชาติ 

หน้าตาของ Ingenuity

โดย Ingenuity มาพร้อมกับชิปเซ็ต Snapdragon 801 จาก Qualcomm ที่เคยมีสถานะเป็นชิประดับเรือธงมาก่อน ซึ่งแม้ว่าจะมีอายุอานามเกือบ ๆ 7 ปีแล้ว แต่ชิปตัวนี้ก็มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ Ingenuity เทคออฟและบินอยู่บนชั้นบรรยากาศของดาวอังคารได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ชิป Snapdragon 801 ได้รับการออกแบบให้สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ทรหดของดาวอังคารได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เจ้า Ingenuity สามารถบินอยู่บนอากาศของดาวอังคารได้เพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งนาทีดีเท่านั้นนะครับ ก่อนจะลงจอดอย่างปลอดภัย ไม่มีชิ้นส่วนใดเสียหาย ซึ่งแม้ว่าจะลอยได้ในแค่ระยะเวลาสั้น ๆ แต่นี่ก็ถือว่าเป็นการตอกย้ำว่าเทคโนโลยีของเราตอนนี้ไปไกลจริง ๆ เพราะอย่างที่บอกไปว่าสภาพแวดล้อมของดาวอังคารอันนี้ปราบเซียนสุด ๆ แถม Ingenuity ยังสามารถลงจอดได้อย่างนิ่ม ๆ อีกต่างหาก

Ingenuity ถ่ายเงาของตัวเอง หลังจากลอยขึ้นบนชั้นบรรยากาศดาวอังคารสำเร็จ

Perseverance พระเอกหลักของภารกิจดาวอังคาร กลับใช้ชิปตัวเดิมกับ Curiosity ที่มีอายุอานามกว่า 20 ปี

ส่วนใครที่สงสัยว่าแล้ว Perseverance ล่ะใช้ชิปเซ็ตอะไร (Apple M1 หรือเปล่า 😆) คำตอบก็คือ เจ้ารถสำรวจสุดอึดดังกล่าว ยังคงใช้ชิป PowerPC ที่มีอายุ 20 ปีอยู่เลย ซึ่งสาเหตุที่ทำไม NASA ถึงเลือกใช้ชิปตัวนี้ ทั้ง ๆ ที่ความแรงเทียบกับชิปรุ่นล่าสุดของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันไม่ได้เลย ก็เป็นเพราะเจ้า PowerPC นั้น สามารถทำงานท่ามกลางการแพร่รังสีของกัมมตภาพบนดาวอังคารเล่นงานนั่นเอง พูดง่าย ๆ คือ แก่แต่เก๋า โดยรถสำรวจรุ่นพี่อย่าง Curiosity ที่ปลดประจำการตัวเอง ตัดสินใจงีบหลับครั้งสุดท้าย (ก่อนจะไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย🥺) ก็ขับเคลื่อนด้วยชิป PowerPC เช่นเดียวกัน

ข้อความสุดท้ายของ Curiosity ก่อนจะหลับใหลไปตลอดกาลคือ “My battery is low and it’s getting dark” 😭

โดยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า NASA ได้เตรียมแผนเอาไว้ว่า พวกเขาจะทดลองให้เจ้า Ingenuity บินสูงและไกลขึ้นกว่าเดิม เพื่อที่จะดูว่าเจ้าเฮลิคอปเตอร์นี้สามารถทนต่อสภาพอากาศดาวอังคารได้มากน้อยแค่ไหน แต่ทั้งนี้ก็ต้องเตรียมใจกันเอาไว้ก่อนนะ เพราะ NASA บอกเองว่า Ingenuity ถูกออกแบบแค่สำหรับสาธิตเทคโนโลยีในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งนั่นแปลว่าเจ้าเฮลิคอปเตอร์จิ๋วตัวนี้อาจจะไม่ได้ปักหลักอยู่นานเหมือนกับรถสำรวจ Perseverance นั่นเอง (เอาจริง ๆ ผู้เขียนแอบหวังนะว่าเจ้า Ingenity จะแอบหาร่างของ Curiosity เจอ ไม่รู้ว่าป่านนี้โดนพายุทรายพัดหายไปไกลหรือยัง)

น่าคิดเหมือนกันว่าหากวันใดวันนึง เจ้าตลาดชิปเซ็ตอย่าง Qualcomm, MediaTek, Samsung, HUAWEI, Apple หรือผู้ผลิต TSMC ตัดสินใจร่วมกันคิดค้นชิปเซ็ตที่มีความแรงพอ ๆ กับชิปเรือธง Snapdragon 888 หรือ A14 Bionic พร้อมกับให้มีความแข็งแกร่งทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เหมือนกับ PowerPC ที่ Perseverance ใช้ล่ะก็ อนาคตของหุ่นยนต์อวกาศน่าจะสดใสไม่มากก็น้อยเลยล่ะ

Play video

 

ที่มา: Android Police