GeForce NOW เรียกได้ว่าเปิดให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย หลังจากเปิดให้ทดลองใช้งานในช่วง Beta เมื่อเดือนที่ผ่านมา บริการคลาวด์เกมมิ่งจาก NVIDIA รายนี้ก็พร้อมให้เกมเมอร์ชาวไทยได้สัมผัสประสบการณ์เล่นเกมระดับ AAA โดยไม่ต้องพึ่งคอมแรงอีกต่อไป ด้วยการตั้งเซิร์ฟเวอร์ภายในประเทศที่ช่วยลดค่าดีเลย์และปิงลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมี Bro.game (หรือ Brothers Pictures) รับหน้าที่เป็นผู้ให้บริการหลักในไทยอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2568 เป็นต้นมา

นี่คือบริการคลาวด์เกมมิ่งแบบเต็มรูปแบบเจ้าแรกในไทย ที่เปิดโอกาสให้เราเล่นเกมภาพสวยระดับสูงได้จากอุปกรณ์แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต มือถือ หรือแม้แต่ Smart TV ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตที่เสถียร ก็สามารถสตรีมเกมจากคลาวด์มาเล่นได้ทันที ไม่ต้องดาวน์โหลด ไม่ต้องลงเกม ไม่ต้องลงทุนอัปเกรดสเปกเครื่อง

ในยุคที่เกมฟอร์มใหญ่มีความต้องการสเปกเครื่องสูงขึ้นเรื่อย ๆ GeForce NOW ก็เข้ามาเปลี่ยนเกม ด้วยแนวคิดที่ให้ผู้เล่น “จ่ายเพื่อประสบการณ์เกม” แทนที่จะ “จ่ายเพื่ออัปเกรดฮาร์ดแวร์” และแน่นอนว่าเมื่อเปิดเซิร์ฟเวอร์ไทยแล้ว เราเองก็ไม่พลาดที่จะลองใช้งานจริง มาดูกันว่าเล่นแล้วรู้สึกยังไง ลื่นแค่ไหน มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้างที่ควรรู้ก่อนสมัคร

GeForce Now คืออะไร

GeForce NOW คือบริการคลาวด์เกมมิ่งจาก NVIDIA ที่ให้ผู้เล่นสตรีมเกมจากเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์ไปยังอุปกรณ์ของตัวเอง เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก มือถือ แท็บเล็ต หรือแม้แต่ Smart TV โดยไม่ต้องติดตั้งเกมหรือใช้เครื่องสเปกสูง

ระบบจะใช้ซีพียูและการ์ดจอระดับสูงที่อยู่บนคลาวด์ของ NVIDIA ในการประมวลผลเกม แล้วสตรีมภาพกลับมาที่หน้าจอของเราแบบเรียลไทม์ คล้ายกับการดูวิดีโอ YouTube หรือ Netflix แต่แทนที่เราจะเป็นแค่คนดู เราสามารถควบคุมเกมได้เหมือนเล่นอยู่ที่เครื่องตัวเองทุกประการ ไม่ว่าจะใช้เมาส์ คีย์บอร์ด หรือจอยคอนโทรลเลอร์

รองรับเกมมากกว่า 2,200 เกมจากแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Steam, Epic Games และ Ubisoft Connect เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วพอ ก็สามารถเล่นเกมภาพสวยระดับ AAA ได้จากทุกที่ทุกเวลา

เล่น GeForce NOW ได้บนอุปกรณ์อะไรบ้าง?

หนึ่งในจุดเด่นของ GeForce NOW คือความยืดหยุ่นในการใช้งาน เพราะสามารถเล่นเกมได้จากอุปกรณ์หลากหลาย ไม่จำกัดแค่พีซีหรือโน้ตบุ๊กเครื่องแรง ๆ เท่านั้น ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตเสถียรและหน้าจอ ก็สามารถเข้าสู่โลกของเกมได้ทันที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

1. พีซี / โน้ตบุ๊ก (Windows)

ใช้งานผ่านโปรแกรม GeForce NOW โดยตรง หรือจะเล่นผ่านเว็บเบราว์เซอร์ (เช่น Chrome, Edge) ก็ได้ สเปกเครื่องไม่ต้องแรง เพราะตัวเกมประมวลผลจากคลาวด์ทั้งหมด

2. Mac / MacBook (macOS)

แม้ macOS จะเล่นเกม AAA โดยตรงได้น้อย แต่บน GeForce NOW ผู้ใช้ Mac ก็สามารถเล่นเกมจาก Steam หรือ Epic ได้เต็มรูปแบบผ่านแอปของ NVIDIA หรือจะเล่นผ่านเว็บเบราว์เซอร์ก็ได้

3. สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต (Android / iOS / iPadOS)

รองรับทั้ง Android และ iPhone/iPad โดยใช้งานผ่านแอป (Android) หรือเล่นผ่านเบราว์เซอร์ Safari (iOS/iPadOS) บนอุปกรณ์จอสัมผัสจะมี virtual controller ให้ใช้งานบนหน้าจอ แต่ถ้าเชื่อมต่อจอย Bluetooth จะได้ประสบการณ์ที่ดีกว่า

4. Chromebook

สามารถเล่นผ่านเว็บเบราว์เซอร์ได้ทันที เหมาะกับผู้ใช้ที่ต้องการเล่นเกมบนเครื่องเบา ๆ พกพาง่าย

5. Smart TV

รองรับบางรุ่น เช่น Samsung Smart TV, LG webOS, Android TV และอุปกรณ์ที่ใช้ NVIDIA Shield ผ่านแอป GeForce NOW โดยตรง หรือใช้งานผ่านเบราว์เซอร์บนทีวีก็ได้ (ขึ้นอยู่กับรุ่น)

6. เครื่องเล่นเกม / กล่องทีวี Android

หากใช้กล่อง Android TV (เช่น Xiaomi Mi Box, True ID TV) ก็สามารถติดตั้งแอป GeForce NOW และเชื่อมต่อจอยเพื่อเล่นได้ทันที

จะเล่น GeForce NOW สมัครใช้งานยังไง?

การเริ่มต้นใช้งาน GeForce NOW ในประเทศไทยไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด อย่างแรกคือคุณต้องสมัครบัญชีผ่านเว็บไซต์ของ Bro.Game ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอย่างเป็นทางการในไทยก่อน โดยสามารถเลือกสมัครผ่านเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลก็ได้

จากนั้นเลือกแพ็กเกจที่ต้องการใช้งาน ซึ่งในตอนนี้มีให้เลือกทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ Lite, Performance, Ultimate และ Unlimited โดยแต่ละแพ็กจะมีความละเอียด ภาพ เฟรมเรต และเวลาการเล่นต่อรอบที่แตกต่างกัน

คุณสมบัติLitePerformanceUltimateUnlimited
ราคา (ต่อเดือน)219 บาท399 บาท649 บาท999 บาท
สิทธิการเข้าใช้งาน (Queue)ปกติ (คิวยาวสุด)คิวเร็วคิวเร็วพิเศษคิวเร็วพิเศษ
ระยะเวลาเล่นต่อครั้งสูงสุด 3 ชม.สูงสุด 6 ชม.สูงสุด 8 ชม.สูงสุด 8 ชม.
จำนวนชั่วโมง/เดือนสูงสุด 40 ชม.สูงสุด 100 ชม.สูงสุด 100 ชม.ไม่จำกัด
ความละเอียดสูงสุด1080p @60fps1440p @60fps4K @240fps4K @240fps
รองรับจอ UltrawideNoYesYesYes
Ray Tracing (RTX)NoYesYesYes
DLSS / NVIDIA ReflexNoNoYesYes
อินเทอร์เน็ตไม่จำกัดNoNoNoYes (True / Dtac)
เหมาะกับใคร?มือใหม่/เล่นเกมทั่วไป / ทดลองเล่นเกมเมอร์ทั่วไปเกมเมอร์จริงจัง / ไม่อยากรอคิวนานเกมเมอร์จริงจัง / ไม่อยากรอคิวนาน / ใช้เน็ต True-dtac อยู่แล้ว

หลังจากเลือกแพ็กเกจและชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเข้าสู่ระบบและเริ่มเล่นได้ทันทีจากอุปกรณ์ต่าง ๆ

เล่นบนแต่ละอุปกรณ์ต้องทำยังไง?

PC (Windows)

ล็อกอินเข้าระบบผ่านเว็บไซต์ GeForce NOW ก็สามารถค้นหาเกมและกดเล่นได้เลยผ่านเบราว์เซอร์ (Chrome, Edge) หรือหากต้องการประสบการณ์ที่เสถียรกว่าเล็กน้อย สามารถดาวน์โหลดแอปมาติดตั้งแล้วเล่นผ่านแอปได้เช่นกัน

Mac (macOS)

ใช้งานได้เหมือนกับบน Windows คือสามารถเล่นได้ทั้งผ่านเบราว์เซอร์และผ่านแอป GeForce NOW ที่รองรับบน macOS เหมาะมากสำหรับคนที่ใช้ MacBook แต่ยังอยากเล่นเกม PC แต่ต้องเข้าไปโหลดมาติดตั้งเองนะ ไม่มีใน App Store

iOS / iPadOS (iPhone, iPad)

สำหรับผู้ใช้ iPhone และ iPad สามารถเล่นผ่านเบราว์เซอร์ Safari ได้เลย โดยไม่ต้องติดตั้งแอป เนื่องจาก App Store ไม่อนุญาตให้แอป Cloud Gaming ขึ้นสโตร์โดยตรง

Android (มือถือและแท็บเล็ต)

สามารถใช้งานได้ 2 วิธีคือ เล่นผ่านเบราว์เซอร์ หรือดาวน์โหลดแอป GeForce NOW จาก Google Play Store มาใช้โดยตรง ซึ่งวิธีหลังจะให้ประสบการณ์ใช้งานที่ลื่นไหลกว่า โดยเฉพาะถ้าเชื่อมต่อกับจอย

Smart TV ขึ้นอยู่กับรุ่นและระบบปฏิบัติการ:

  • ถ้าเป็น Android TV เช่น Xiaomi, TCL, หรือ Sony สามารถดาวน์โหลดแอป GeForce NOW มาติดตั้งได้เลย
  • ถ้าเป็นแบรนด์อื่นอย่าง Samsung หรือ LG ที่ใช้ระบบของตัวเอง ต้องเข้า Store ของแบรนด์นั้นเพื่อค้นหาแอป
  • อีกทางเลือกหนึ่งคือเข้าเล่นผ่านเบราว์เซอร์บนทีวี (หากรองรับ) แต่ไม่แนะนำ เพราะอาจเจอปัญหาจอดำเล่นไม่ได้

กล่องทีวี Android / Android Box ใช้งานเหมือนกับ Smart TV เลย คือสามารถติดตั้งแอป GeForce NOW จาก Play Store แล้วล็อกอินเข้าเล่นได้ทันที หรือจะใช้เบราว์เซอร์ในกล่องก็ได้หากไม่ต้องการติดตั้งแอป

ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่แนะนำ

เพื่อประสบการณ์การเล่นเกมที่ลื่นไหล แนะนำความเร็วอินเทอร์เน็ตขั้นต่ำดังนี้:

  • 720p ที่ 60 FPS: 15 Mbps
  • 1080p ที่ 60 FPS: 25 Mbps
  • 1440p ที่ 120 FPS: 35 Mbps
  • 4K ที่ 120 FPS พร้อม Ray Tracing: 45 Mbps ขึ้นไป

ควรใช้การเชื่อมต่อแบบสาย LAN หรือ Wi-Fi 5GHz และมีค่า Latency ต่ำ (ต่ำกว่า 40ms)

เล่นมาแล้วเป็นยังไง? ความแรง ความลื่น ทำได้ขนาดไหน

ต้องบอกก่อนว่าในการทดสอบครั้งนี้ ผมเลือกใช้งานเป็นหลักด้วย แพ็กเกจ Ultimate ซึ่งเป็นตัวท็อปสุดของ GeForce NOW ที่รองรับภาพระดับ 4K, เฟรมเรตสูงสุด 240fps พร้อมฟีเจอร์อย่าง RTX, DLSS และ NVIDIA Reflex จัดเต็ม แต่ในบางช่วงก็ได้ลองสลับไปใช้ แพ็ก Lite เพื่อดูความแตกต่างในการเล่นจริงด้วยเช่นกัน

รายละเอียดเปรียบเทียบระหว่างแพ็กทั้งสองจะพูดถึงในหัวข้อถัดไป แต่สำหรับตรงนี้จะขอโฟกัสที่ “ประสบการณ์การเล่นจริง” เป็นหลัก ทั้งภาพที่ได้ ความลื่น การตอบสนอง รวมถึงข้อสังเกตเล็ก ๆ ระหว่างการใช้งานจริงในเกมต่าง ๆ

เกมกาชาจากค่ายที่เรารัก Genshin Impact และ Zenless Zone Zero

หลังจากสมัครและล็อกอินเข้าระบบเรียบร้อย ผมก็ไม่รอช้า รีบกดเข้าเกมแรกทันทีแบบไม่ต้องติดตั้งอะไรให้เสียเวลา ความรู้สึกแรกคือ “นี่มันเล่นผ่านคลาวด์จริงเหรอ?” ภาพมาไว ฉากโหลดเร็วแบบเกินคาด ความลื่นไหลของเกมแทบไม่ต่างจากการรันบนเครื่องตัวเองเลย

เกมที่เลือกลองก่อนใครคือ Genshin Impact และ Zenless Zone Zero เพราะคุ้นมือและเล่นประจำอยู่แล้ว ยิ่งใช้ต่อสาย LAN กับเครื่องพีซีสเปกกลางค่อนไปทางสูง (i5-14500, RAM 32GB, RTX 4060 Ti) ความลื่นแทบไร้ที่ติ ทุกอย่างตอบสนองทันใจทั้งตอนหมุนกล้อง วิ่งเข้าศัตรู หรือใช้สกิลรัว ๆ

ในคอนเทนต์ระดับ End Game อย่าง Spiral Abyss หรือ Shiyu Defense ซึ่งต้องการความแม่นยำและจังหวะที่เป๊ะ สามารถเล่นได้แบบไม่มีสะดุด ไม่มีเฟรมหล่นหรือจังหวะขาดให้รู้สึกขัดใจ แต่ก็ต้องบอกตามตรงว่าเวลาเล่นฉากที่มีเสียงเยอะ ๆ อย่างระเบิดตูมตาม หรือเอฟเฟกต์เต็มจอ บางครั้งจะมีเสียงบางส่วนหายไปนิดหน่อย คล้ายกับระบบพยายามบีบอัดข้อมูลเสียงเพื่อให้สตรีมไม่กระตุก

แม้โดยรวมจะลื่นไหลและน่าประทับใจ แต่ก็ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ ที่อยากให้รู้ไว้ก่อนใช้งานจริง โดยเฉพาะเวลาเล่นเกมของ HoYoverse อย่าง Genshin Impact หรือ Zenless Zone Zero เราจะต้อง ล็อกอินบัญชี HoYoverse ใหม่ทุกครั้งที่เข้าเล่น เพราะระบบ GeForce NOW จะรีเซ็ตเซสชันทุกครั้งที่เริ่มเกม (เหมือนใช้เครื่องใหม่ทุกครั้ง) ซึ่งอาจรู้สึกวุ่นวายนิดหน่อยสำหรับคนที่เข้าเล่นบ่อย ๆ โชคดีที่ไม่ต้องทำ 2FA ทุกครั้ง แค่ใส่อีเมลกับรหัสผ่านใหม่ก็พอ

อีกเรื่องที่ต้องเตรียมใจไว้คือ การตั้งค่ากราฟิกและภาษาในเกมจะถูกรีเซ็ตกลับเป็นค่าเริ่มต้นทุกครั้ง (เพราะเหมือนเราใช้เครื่องใหม่ของ NVIDIA ทุกครั้งที่ล็อกอิน) ถ้าอยากให้เล่นลื่นที่สุด แนะนำว่า ไม่ควรไปปรับอะไรเพิ่มเติม โดยเฉพาะในแพ็ก Lite ที่ระบบตั้งค่ามาให้ค่อนข้างพอดีอยู่แล้ว ถ้าฝืนดันกราฟิกสูงเกินที่ระบบแนะนำ อาจเริ่มรู้สึกหน่วง ๆ หรือเกิดอาการเฟรมตกได้ง่าย แม้จะดูเหมือนเน็ตแรงและเครื่องไหวก็ตาม

โดยรวมแล้วคือ “ดีจนเกินคาด” ถ้าไม่บอกว่าเป็นการเล่นผ่านคลาวด์ แทบไม่รู้สึกเลยว่านี่ไม่ใช่เกมที่รันอยู่บนเครื่องตัวเอง จนกระทั่งลองปิด GeForce NOW แล้วเปิดเกมเดียวกันจากเครื่องจริง จึงเริ่มรู้สึกว่า “อ๋อ มันต่างกันตรงนี้นี่เอง” ทั้งเรื่องดีเลย์ ความไวของการตอบสนอง และเสียงที่เต็มอิ่มกว่า

เกม AAA กราฟิกสวย

อีกกลุ่มเกมที่นำมาทดสอบคือบรรดาเกม AAA กราฟิกจัดเต็มอย่าง Cyberpunk 2077, Monster Hunter Wilds และ Forza Horizon 5 ซึ่งล้วนขึ้นชื่อว่าโหดทั้งในแง่กราฟิกและการใช้ทรัพยากรเครื่อง แต่ผลลัพธ์ที่ได้จาก GeForce NOW ต้องบอกว่า “เหนือความคาดหมาย” อย่างชัดเจน ความลื่นไหลบนหน้าจอระดับ 4K ที่ได้กลับมานั้นแทบไม่ต่างจากการเล่นบนคอมแรงระดับกลางถึงสูง บอกเลยว่าเครื่องที่ผมใช้อยู่ (RTX 4060 Ti) ยังไม่กล้าปรับสุดเท่าที่ GeForce NOW ทำให้เห็น

แม้จะเล่นผ่านเบราว์เซอร์โดยไม่ต้องติดตั้งแอปแบบเนทีฟ ภาพที่ได้ก็ยังคมชัด เฟรมเรตนิ่ง ไม่มีอาการกระตุก ค้าง หรือเบลอให้รู้สึกขัดใจเลย ต้องยอมรับว่าการตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยโดย Bro.game นั้นช่วยเรื่อง latency ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทดสอบในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้สัญญาณเสถียรและตอบสนองได้ไวมาก

ผมยังลองปรับภาพให้รองรับจอ UltraWide ความละเอียด 3440×1440 (อัตราส่วน 21:9) บนแพ็กเกจ Ultimate ซึ่งสามารถใช้งานได้สมบูรณ์แบบทั้งใน Forza และ Monster Hunter ภาพฉากกว้าง ๆ แสดงผลเต็มจอ ลื่นตาแบบสุด ๆ ส่วนแพ็ก Lite จะไม่สามารถเลือกอัตราส่วนจอกว้างได้ และในบางครั้งหลังจากตั้งค่าภาพใหม่อาจต้อง ออกจากเกมแล้วเข้า GeForce NOW ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ค่าภาพแสดงผลได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในจอความละเอียดสูงที่ไม่ใช่มาตรฐาน 16:9

เกมหมาแนว Competitive E-Sport

หนึ่งในประเด็นที่หลายคนสงสัยและพูดถึงบ่อยที่สุดเกี่ยวกับ GeForce NOW คือ “มันเล่นเกมแนว Competitive ได้จริงไหม?” เพราะเกมประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็น CS2, DOTA 2, PUBG, Marvel Rivals หรือ Overwatch ล้วนไวต่ออาการดีเลย์ การตอบสนอง และการเคลื่อนไหวของเมาส์แบบเสี้ยววินาที ถ้าระบบคลาวด์มีดีเลย์แม้แต่นิดเดียว ก็อาจทำให้พลาดจังหวะสำคัญในเกมได้ทันที

ผมเลยลองจัดเซสชันทดสอบจริงบนสาย LAN เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงที่สุดกับการเล่นบนเครื่องพีซีจริง ผลที่ได้ต้องบอกว่า “เหนือความคาดหมาย” เลยทีเดียว เกมทุกเกมที่ทดสอบสามารถเล่นได้ลื่นไหล ใกล้เคียงกับประสบการณ์บนเครื่องตัวเองแบบสัมผัสได้ สะบัดเมาส์แรง ๆ ไม่มีอาการภาพฉีก โหลดไม่ทัน หรือสกิลดีเลย์จังหวะกดเลย

แต่แน่นอนว่าถ้าเป็นสายจริงจังระดับแข่งขัน หรือ “ซีเรียสเกมมิ่ง” แบบลงแรงค์/ลงแมตช์จัดอันดับ ยังมีบางจังหวะที่รู้สึกว่าไม่สมบูรณ์ 100% เช่น latency ที่น้อยแต่ “ยังมี” หรือความหน่วงระดับมิลลิวินาทีที่บางคนอาจจับความรู้สึกได้หากเล่นเป็นอาชีพหรือเล่นบ่อยพอจะเปรียบเทียบได้ และภาพที่ได้แม้ปรับให้เฟรมเรตวิ่งแบบ Unlimited แล้ว แต่ก็ยังเหมือนอยู่ที่ 60 FPS อยู่ดี

สรุปคือ เล่นได้จริง ใช้ได้ดี แต่ยังไม่ใช่ระดับแข่งขันระดับสูง หากเล่นขำ ๆ ลงแรงค์เบา ๆ หรือลงกิจกรรมในเกมต่าง ๆ ถือว่า “ผ่านสบาย” แต่ถ้าเอาไว้ซ้อมยิงหัวเพื่อแข่งจริงจัง อาจยังมีข้อจำกัดเล็ก ๆ ให้รู้สึกได้อยู่บ้าง

เกมที่เล่นไม่ได้

แม้ว่า GeForce NOW จะรองรับเกมมากกว่า 2,000 เกมจากหลากหลายแพลตฟอร์ม แต่ก็ยังมีบางกลุ่มเกมที่ไม่สามารถเล่นได้บนระบบคลาวด์นี้ โดยเฉพาะเกมที่มีเงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์ หรือรูปแบบการติดตั้งที่ไม่เข้ากับระบบของ GeForce NOW เช็กได้ตรงนี้

ตัวอย่างเกมที่ยังไม่สามารถเล่นได้ มีทั้ง:

  • GTA V Red Dead Redemption และ FiveM เนื่องจากอยู่ในค่าย Rockstar ซึ่งยังไม่เปิดสิทธิ์ให้ใช้ร่วมกับ GeForce NOW
  • เกมจากค่าย Riot Games เช่น Valorant, League of Legends
  • เกมใหม่ ๆ อย่าง Helldivers 2, Delta Force ที่ยังไม่รองรับใน GeForce NOW ไทย
  • เกมที่ไม่มีอยู่ในแพลตฟอร์มอย่าง Steam หรือ Epic เช่น Ragnarok Online, เกมจากเซิร์ฟไทย หรือเกมเก่า ๆ ที่ต้องติดตั้งผ่านไฟล์ .exe ด้วยตนเอง

GeForce NOW จะรองรับเฉพาะเกมที่ผูกกับแพลตฟอร์มหลัก และได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากผู้พัฒนาเท่านั้น หากเป็นเกมที่ต้องใช้ Launcher แยก หรือมีระบบ DRM, Anti-Cheat เฉพาะทาง มักจะยังไม่สามารถใช้งานบน GeForce NOW ได้

เกมที่เล่นได้แต่…

นอกจากเกมที่ยังไม่รองรับเลย ยังมีบางเกมที่สามารถเล่นได้บน GeForce NOW แต่จะต้องใช้แพ็กเกจที่รองรับฟีเจอร์ RTX เท่านั้น จึงจะสามารถเข้าเกมได้อย่างเต็มรูปแบบ เช่น

  • Wuthering Waves (WUWA)
  • Black Myth: Wukong

เกมเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับการประมวลผลภาพระดับสูง เช่น Ray Tracing หรือระบบแสงเงาแบบสมจริง ซึ่งต้องอาศัยเซิร์ฟเวอร์ที่รองรับ RTX โดยตรง หากใช้แพ็ก Lite ซึ่งไม่มีฟีเจอร์นี้ ตัวเกมจะไม่สามารถเปิดได้

GeForce NOW รองรับการเปิดใช้งาน RTX ตั้งแต่แพ็ก Performance ขึ้นไป (Performance, Ultimate และ Unlimited) ดังนั้นหากตั้งใจจะเล่นเกมที่ใช้กราฟิกขั้นสูงเหล่านี้ ควรตรวจสอบว่าแพ็กที่สมัครอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่

สามารถดูรายละเอียดของแต่ละเกมได้จากหน้ารายชื่อเกมอย่างเป็นทางการของ GeForce NOW ซึ่งจะมีระบุชัดเจนว่า “Requires RTX” สำหรับเกมที่มีข้อจำกัดแบบนี้

ทดลองเล่นบนเน็ตแต่ละแบบ

การเล่น GeForce NOW นอกจากจะพึ่งพาแพ็กเกจที่ใช้แล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญมากคือ “อินเทอร์เน็ต” ที่ใช้งาน เพราะแม้จะมีความเร็วสูงระดับ 300 Mbps แต่ถ้าการเชื่อมต่อไม่เสถียร หรือมีสัญญาณรบกวน ก็ยังสามารถทำให้เกมกระตุกหรือดีเลย์ได้อยู่ดี ผมเลยทดลองเล่นผ่านการเชื่อมต่อหลายรูปแบบ เพื่อดูว่าแบบไหนใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน

สาย LAN ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเล่น GeForce NOW แบบไม่มีสะดุด การเชื่อมต่อเสถียร แพ็กเก็ตไม่หล่น ค่า latency ต่ำมาก เล่นได้ลื่นไหลทั้งภาพและเสียง ไม่มีอาการกระตุกแม้แต่น้อย แนะนำที่สุดหากเล่นอยู่บ้าน และสามารถลากสายเข้าคอม/โน้ตบุ๊กได้

Wi-Fi 5 GHz ใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง ภาพคม เฟรมเรตนิ่ง แต่บางจังหวะอาจมีอาการสะดุดหรือเฟรมดรอปคล้ายกับตอนเล่นเกมบนเครื่องตัวเองที่ประสิทธิภาพไม่เต็มร้อย โดยเฉพาะถ้าอยู่ห่างจากเราเตอร์หลายเมตร หรือมีผนังกั้นสัญญาณ

Wi-Fi 2.4 GHz ไม่แนะนำ — แม้สัญญาณจะดูนิ่ง แต่ความเร็วและ Bandwidth ต่ำมากจนไม่เหมาะกับการสตรีมเกมบนคลาวด์ ความละเอียด Full HD ก็ใช้ Bandwidth ไปเกิน 25–30 Mbps แล้ว ยังไม่รวมสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์อื่นในบ้านอีก

5G (มือถือ) สามารถเล่นได้ในระดับ “พอแก้ขัด” แต่จะมี ดีเลย์แบบรู้สึกได้ โดยเฉพาะเรื่องเสียง เสียงในเกมจะหน่วงกว่าภาพ เช่น ได้ยินเสียงเอฟเฟกต์ช้ากว่าจังหวะจริงเล็กน้อย ซึ่งอาจไม่ร้ายแรงถ้าเล่นเกมชิล ๆ หรือเกมเทิร์นเบส แต่ถ้าเป็นเกมที่ต้องใช้ความแม่นยำ เช่น ยิงหัว ซุ่มยิง ปล่อยสกิลจังหวะพอดี บอกเลยว่า “ไม่รอด”

***ทดสอบในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถ้าเล่นจังหวัดอื่นตัว Latency อาจเปลี่ยนได้ อินเทอร์เน็ตที่ใช้ทดสอบ เน็ตมือถือ AIS 5G เน็ตบ้าน AIS 500/200 Mbps

ทดลองเล่นบนอุปกรณ์ต่าง ๆ

GeForce NOW รองรับการเล่นเกมผ่านอุปกรณ์หลากหลายมาก ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ทีวี และกล่อง Android แต่จากที่ทดสอบมา ต้องบอกตรง ๆ ว่า ไม่ได้เล่นได้ทุกอุปกรณ์แบบที่เราวาดฝันไว้ มีทั้งอุปกรณ์ที่เล่นได้ลื่นไหลแบบไม่มีปัญหา และบางอุปกรณ์ที่เจอข้อจำกัดจน “เล่นได้ไม่เต็มที่” หรือ “เล่นไม่ได้เลย” ก็มีเหมือนกัน

PC (Windows)

ใช้งานได้ลื่นและเสถียรที่สุด ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ GeForce NOW รองรับเต็มที่ ไม่ว่าจะเล่นผ่านแอปหรือเบราว์เซอร์ ใช้งานได้หมด แม้กระทั่งบน Windows on ARM ก็ยังเล่นได้ไม่มีปัญหา

Mac (macOS)

ประสบการณ์ใกล้เคียงกับ Windows มาก สามารถใช้งานเมาส์ คีย์บอร์ด และจอย Bluetooth ได้ทั้งหมด ไม่มีปัญหาเรื่องการควบคุม หรือดีเลย์ใด ๆ เพิ่มเติม ถือว่าเล่นได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนกัน

iOS / iPadOS (iPhone, iPad)

อุปกรณ์ฝั่ง Apple ใช้ Safari ในการเล่น เนื่องจาก App Store ไม่อนุญาตให้มีแอปสตรีมเกมแบบ native แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือ Safari (WebKit) ไม่รองรับ Pointer Lock API ทำให้ไม่สามารถใช้เมาส์เล่นเกมได้อย่างแท้จริง ถึงแม้จะเชื่อมต่อเมาส์ผ่าน USB-C ได้ แต่ระบบ iOS จะไม่ส่งข้อมูลการคลิกหรือเคลื่อนไหวให้กับตัวเกม ส่งผลให้เล่นเกมที่ต้องใช้เมาส์ไม่ได้

แต่ถ้าหากใช้จอย Bluetooth (ในที่นี้ทดสอบด้วยจอย Xbox) สามารถใช้งานได้ตามปกติ เล่นได้ลื่นและแม่นยำดี เหมาะสำหรับเกมที่ออกแบบมารองรับจอยโดยเฉพาะ

มือถือ Android

ฝั่ง Android ได้เปรียบ iOS อย่างมาก เพราะมีแอป GeForce NOW ให้โหลดจาก Play Store โดยตรง และ รองรับการใช้เมาส์ คีย์บอร์ด และจอยได้ครบถ้วน เทียบประสบการณ์แล้วใกล้เคียงกับการเล่นบนพีซีมาก สามารถเล่นได้ทั้งแนวนอน แนวตั้ง มีตัวเลือกปรับเยอะ และไม่มีข้อจำกัดเรื่อง Pointer Lock

Smart TV

ทดสอบบน Android TV (TCL) และ Samsung Tizen OS ทั้งสองรุ่นสามารถใช้งาน GeForce NOW ได้อย่างราบรื่น มีแอปรองรับ เชื่อมต่อเมาส์ คีย์บอร์ด และจอย Bluetooth ได้ครบทุกอุปกรณ์ ตัวเกมเล่นได้ลื่นไม่มีปัญหา

ข้อสังเกต: ความลื่นไหลขึ้นอยู่กับตัว UI ของทีวีแต่ละรุ่นมากกว่าตัวเกม เช่น บางรุ่นเข้าแอปช้า กดเมนูหน่วง แต่พอเข้าเกมจริง ๆ แล้วลื่นปกติ

ทีวีที่เล่นไม่ได้: Hisense รุ่นที่ใช้ VIDAA OS ไม่สามารถเล่นได้ พบอาการจอดำหลังเปิด GeForce NOW จึงแนะนำว่าหากต้องการเล่นจริงจัง ควรเลือกทีวีที่มีแอป GeForce NOW รองรับโดยตรง หรือใช้ กล่อง Android TV เช่น Mi TV Stick แทน

กล่อง Android / Android Box

ทดสอบกับ AIS Play Box (Gen 2 ที่มี Wi-Fi) เล่นได้ดี แต่ต้องติดตั้งแอป GeForce NOW เพิ่มเติม กล่องรุ่นเก่าอย่าง Gen 1 ที่ไม่มี Wi-Fi พบว่าเล่นไม่ได้

แพ็กแพง 649 บาท กับถูกสุด 219 บาท ต่างกันหรือไม่

คำตอบสั้น ๆ คือ: ต่างมาก และรู้สึกได้ตั้งแต่นาทีแรกที่เข้าเล่น

ในแพ็ก Lite ซึ่งเป็นแพ็กเกจเริ่มต้นราคาถูกสุด จะมีระบบ “คิวรอเข้าเล่น” โดยเฉพาะช่วงพีคไทม์ เช่น คืนวันศุกร์-เสาร์ หรือช่วงหัวค่ำ วันธรรมดายังพอเล่นได้ไม่รอนาน แต่ถ้าเป็นคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมเองเจอเข้าไป 30 กว่าคิว และในกลุ่มผู้ใช้งานบางคนรายงานว่าเจอคิว เกิน 60 คน ต้องรอกันนานจนหมดอารมณ์เล่นกันเลยทีเดียว (เฉลี่ยประมาณ 1 คิว = 1 นาที)

ในทางกลับกัน แพ็ก Ultimate ที่ผมใช้ทดสอบมาตลอด ไม่เคยเจอปัญหารอคิวเลย จะเล่นเวลาไหนก็เข้าได้ทันที กดปุ๊บ โหลดแป๊บ เข้าหน้าเกมเลย ไม่มีขั้นตอนให้สะดุดหรือรอคิวกับใคร

ประสิทธิภาพในการเล่นก็มีผลต่างเช่นกัน

แม้ว่าในสเปกของแพ็ก Lite จะระบุว่าเล่นได้แค่ 1080p 60fps แต่จากที่ลองใช้งานจริง ผมสามารถปรับขึ้นไปได้ถึง ความละเอียดระดับ 2K และเฟรมเรตสูงกว่า 60fps ได้เหมือนกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพจริงขึ้นอยู่กับ “เครื่องเซิร์ฟเวอร์” ที่เราเชื่อมต่อเข้าไป มากกว่าเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเอกสาร

แต่สิ่งที่แพ็ก Lite ทำไม่ได้แน่ ๆ คือ เปิด RTX หรือ Ray Tracing ดังนั้นแม้ตัวเกมจะรองรับเอฟเฟกต์แสงขั้นสูง แต่ถ้าเราใช้แพ็ก Lite ก็จะไม่เปิดการตั้งค่าส่วนนั้นไม่ได้เลย

จากที่สังเกตระหว่างทดสอบ:

  • แพ็ก Lite ส่วนใหญ่ได้เครื่องที่ใช้ RTX 3060
  • แพ็ก Ultimate ได้ RTX 4080 เป็นหลัก และแทบไม่เคยเจอการ์ดต่ำกว่านี้เลย

ดังนั้นประเด็นในการเลือกแพ็กเกจของ GeForce NOW อาจไม่ได้อยู่แค่เรื่องกราฟิก หรือว่าอยากเล่นเกมแรงแค่ไหนเท่านั้น แต่ “เวลา” ที่ต้องเสียไปรอคิว กลับกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญกว่าด้วยซ้ำ

นี่คือเหตุผลที่ทำให้แพ็กแพงอย่าง Ultimate ดู “น่าจ่าย” แม้คุณจะไม่ได้เล่นเกมระดับ 4K RTX Ultra ก็ตาม เพราะแค่กดเข้าแล้วเล่นได้เลย ไม่ต้องเสียเวลานั่งรอสิบกว่านาทีหน้าจอ เรียกได้ว่า จ่ายเพื่อความพร้อมใช้งาน ไม่ใช่แค่จ่ายเพื่อกราฟิก

บางคนอาจคิดว่า “นาน ๆ เล่นที ใช้แค่เวลาไปต่างจังหวัด อยู่บ้านก็คอมแรงอยู่แล้ว” หรือ “จะใช้เล่นขำ ๆ ช่วงพักกลางวันในที่ทำงาน คอมบริษัทก็ลงอะไรเพิ่มไม่ได้อยู่ดี” แบบนี้ดูเหมือนแพ็ก Lite จะตอบโจทย์ เพราะราคาถูก แถมแค่ปรับภาพต่ำ ๆ ก็เล่นได้แล้ว

แต่พอถึงเวลาจริง… กลับพบว่า “รอคิวนานจนหมดอารมณ์จะเล่น” คือปัญหาหลัก กดเข้าเกมแล้วเจอ 40 คิว 60 คิว ต้องรอเกินครึ่งชั่วโมง ซึ่งในหลายกรณีกลายเป็นว่า “เวลาที่จะได้เล่น” กลับหมดไปกับการรอเข้าเซิร์ฟเวอร์ซะเอง

จุดเด่นที่ชอบ

ภาพสวยมาก แม้ใช้คอมเครื่องเก่า

ไม่ต้องพึ่งคอมแรงหรือการ์ดจอเทพก็สามารถเล่นเกม AAA ได้แบบภาพคมชัด ปรับกราฟิกสูงได้จริง (ในบางแพ็ก) แถมเปิด Ray Tracing ได้ในแพ็กที่รองรับ สำหรับใครที่มีโน้ตบุ๊กเก่าแต่ยังอยากสัมผัสภาพสวย ๆ นี่คือคำตอบ

ไม่ต้องโหลดเกมให้หนักเครื่อง เข้าเกมเร็วมาก

แค่เปิดแอปหรือเบราว์เซอร์ ล็อกอิน แล้วกดเข้าเกมได้ทันที ไม่ต้องรอดาวน์โหลดหรือรอติดตั้งเป็นชั่วโมง ๆ เหมือนบนพีซีปกติ เหมาะมากกับเกมที่อัปเดตบ่อยหรือลงใหม่แล้วกินพื้นที่หลายร้อย GB

เล่นข้ามอุปกรณ์ได้สะดวกมาก

จะเล่นบนพีซีที่บ้าน ต่อโน้ตบุ๊กที่คาเฟ่ หรือแม้แต่บนมือถือระหว่างเดินทาง ทุกอุปกรณ์สามารถเข้าต่อเนื่องได้ทันที ขอแค่มีเน็ตแรงและล็อกอินด้วยบัญชีเดิมเท่านั้น สลับจอได้ตามสะดวก

ความหน่วงต่ำจนแทบไม่รู้สึกว่าเล่นผ่านคลาวด์

โดยเฉพาะเมื่อเล่นผ่านสาย LAN การตอบสนองทั้งภาพและเสียงทำได้ดีมาก จนหลายครั้งรู้สึกไม่ต่างจากการรันเกมอยู่ในเครื่องตัวเองเลย

เหมาะมากเวลาเดินทาง ไม่ต้องแบกคอมเครื่องใหญ่

สำหรับคนที่ต้องเดินทางบ่อย หรือไปต่างจังหวัดแต่ยังอยากเล่นเกม ไม่ต้องแบกโน้ตบุ๊กเกมมิ่งหนัก ๆ ไปด้วย แค่มีแท็บเล็ตหรือมือถือดี ๆ กับจอย ก็เล่นได้แทบทุกเกม หรือจะใช้กล่อง Android แทนก็ได้เหมือนกัน

ข้อสังเกต/ข้อจำกัด

ถ้าเน็ตช้าหรือสัญญาณไม่เสถียร เกมจะกระตุกทันที

แม้ตัวเกมจะประมวลผลบนคลาวด์ แต่คุณภาพที่ได้ขึ้นอยู่กับ “เสถียรภาพของอินเทอร์เน็ต” ล้วน ๆ ถ้าเน็ตสะดุดหรือมี jitter เยอะ ภาพจะเบลอ เสียงหาย หรือเกมอาจกระตุกแบบเห็นได้ชัด

แพ็กเกจราคาถูกมีคิวรอนานมากในช่วงพีคไทม์

แพ็ก Lite ต้องรอคิวเข้าเซิร์ฟเวอร์ โดยเฉพาะช่วงเย็นและวันหยุด อาจต้องรอ 20–60 คิวขึ้นไป ทำให้เสียเวลา และบางครั้งหมดอารมณ์จะเล่นก่อนจะได้กดเข้าเกมจริง ๆ

ยังมีเกมบางกลุ่มที่ไม่รองรับ

เกมจากค่าย Riot, Rockstar (GTA V, Valorant), หรือเกมที่ไม่มีใน Steam รวมถึงเกมบางประเภทที่ต้องติดตั้งจากไฟล์ .exe เองก็ไม่สามารถเล่นได้

ไม่มีแพ็กฟรีให้ลองเล่น ต้องเริ่มจ่ายตั้งแต่แพ็ก Lite ที่อาจไม่คุ้มจริง

GeForce NOW ในไทยไม่มีแพ็กฟรีแบบให้ลองใช้งานก่อน ทุกคนต้องเริ่มที่แพ็ก Lite ราคา 219 บาท/เดือน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกสำหรับ “ลองเล่นก่อนจ่ายแพง” แต่พอใช้งานจริงกลับต้องเผชิญกับคิวรอนาน ภาพปรับได้จำกัด หลายคนจึงเกิดคำถามว่า “แล้วจะจ่ายแพ็กนี้ไปทำไม?” เพราะถึงราคาจะไม่สูง แต่ประสบการณ์ที่ได้กลับไม่ประทับใจ ทำให้สุดท้ายแล้วอาจรู้สึกว่า “น่าจะเพิ่มเงินอีกหน่อยไปจบที่แพ็ก Ultimate จะคุ้มกว่าเยอะ”

ไม่เหมาะกับสายจริงจังเกมมิ่งหรือแข่งขันระดับสูง

แม้จะเล่นได้ลื่นในระดับหนึ่ง แต่สำหรับผู้ที่ต้องการความไวตอบสนองระดับมือโปร เช่น เกม FPS หรือ MOBA แข่งขันแบบซีเรียส — Latency เพียงเล็กน้อยก็อาจมีผลกับการเล่นได้

แล้วเหมาะกับใคร

คนที่มีคอมเก่าหรือโน้ตบุ๊กไม่แรง แต่ยังอยากเล่นเกมใหม่ ๆ

สำหรับคนที่ยังใช้โน้ตบุ๊กบางเบา หรือคอมเก่า ๆ ที่ไม่มีการ์ดจอแรง ๆ GeForce NOW คือตัวช่วยเปลี่ยนเครื่องธรรมดาให้เล่นเกม AAA ได้แบบสบาย ๆ โดยไม่ต้องอัปเกรดอะไรเลย เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตแรงพอ ก็เล่นเกมกราฟิกสูงได้ทันที

คนที่อยากได้ประสบการณ์เล่นคอมเครื่องแรง ๆ แต่ไม่อยากจ่ายแพง

ถ้าไม่อยากลงทุนซื้อคอมใหม่เป็นหมื่น ๆ เพื่อเล่นแค่ไม่กี่เกม การเช่าพลังประมวลผลผ่านคลาวด์จาก GeForce NOW ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ได้เล่นเกมระดับ Ultra, เปิด Ray Tracing, ความละเอียด 2K 4K โดยไม่ต้องมี RTX 4080 อยู่ที่บ้าน

คนที่เดินทางบ่อย หรือไม่ได้อยู่หน้าคอมตลอดเวลา

สำหรับคนที่ต้องออกต่างจังหวัด ไปประชุม เดินทางบ่อย หรือย้ายที่ทำงานประจำ การมี GeForce NOW แค่พก iPad หรือโน้ตบุ๊กเล็ก ๆ ก็ยังเล่นเกมได้เหมือนอยู่บ้าน ไม่ต้องแบกเครื่องใหญ่หรือเกมมิ่งแล็ปท็อปหนัก ๆ ติดตัว

คนที่ใช้ macOS หรือ Windows on ARM ที่ปกติเล่นเกมได้น้อยมาก

MacBook และพีซีที่ใช้ Windows on ARM มักเป็นอุปกรณ์ที่เล่นเกมได้จำกัด แต่ GeForce NOW สามารถเปิดเกมได้บนเบราว์เซอร์หรือแอปโดยไม่ต้องพึ่งแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง ทำให้แม้จะอยู่ใน ecosystem ที่ไม่เน้นเกม ก็ยังเล่นได้

คนที่ไม่ได้เล่นเกมบ่อย แต่อยากเล่นแค่บางเกมในบางช่วงเวลา

ถ้าคุณไม่ได้เป็นสายเกมมิ่งประจำ แต่แค่อยากเล่นแค่บ้างครั้งบางคราว หรือเกมอยากลองเล่นเกมใหม่ ๆ สเปกสูงเป็นครั้งคราว GeForce NOW ก็เป็นทางเลือกที่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อคอมใหม่ หรือเสียเวลาติดตั้งเกมทุกครั้ง

ไม่เหมาะกับใคร

คนที่เน็ตไม่เสถียร หรือสปีดต่ำกว่า 30 Mbps

เพราะ GeForce NOW ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ตในการสตรีมเกมทั้งหมด หากความเร็วเน็ตต่ำ หรือสัญญาณมี jitter บ่อย ๆ ภาพอาจเบลอ เสียงหาย หรือเกมกระตุกแบบรู้สึกได้ทันที โดยเฉพาะ Wi-Fi 2.4GHz หรือ 5G ที่สัญญาณไม่แน่นอนเท่าสาย LAN

คนที่เล่นเกม Competitive แบบจริงจัง

แม้จะลองเล่นเกมแนว FPS หรือ MOBA ได้แบบไม่รู้สึกหน่วงมากนัก แต่สำหรับผู้เล่นที่แข่งขันจริงจังหรือเน้นแรงค์สูง การมี latency แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจเสียจังหวะสำคัญ โดยเฉพาะเกมที่ต้องอาศัย timing และความไว เช่น CS2, Valorant, Overwatch

คนที่เน้นเล่นเกมเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่รองรับ

GeForce NOW ยังไม่รองรับเกมจากบางค่าย เช่น Riot Games (Valorant, LoL), Rockstar (GTA V, Red Dead), หรือเกมที่ไม่มีบน Steam/Epic/Ubi อย่าง Ragnarok Online อาจเป็นปัญหาสำหรับผู้เล่นที่เล่นเกมเฉพาะทาง

คนที่ไม่ชอบระบบจ่ายรายเดือน หรืออยากซื้อขาดทีเดียวจบ

GeForce NOW เป็นบริการแบบ subscription อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีตัวเลือกซื้อขาด ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบมีพันธะ ต้องจ่ายรายเดือนเรื่อย ๆ เพื่อ “เช่าใช้เครื่องเล่นเกม” อยู่ตลอดเวลา อาจรู้สึกไม่คุ้ม หรือไม่สบายใจกับโมเดลแบบนี้ แม้ราคาไม่แพง แต่ถ้าหยุดจ่ายก็เข้าเล่นไม่ได้ทันที

คนที่ใช้คอมแรงอยู่แล้ว และเล่นอยู่บ้านเป็นหลัก

ถ้ามีคอมที่ใช้การ์ดจอแรง ๆ อยู่แล้ว ก็อาจไม่เห็นความจำเป็นในการใช้บริการนี้ เพราะไม่ช่วยให้ดีกว่าเครื่องตัวเองมากนัก

คนที่เชื่อว่า “เล่นได้ทุกอุปกรณ์” แล้วจะลื่นทุกอุปกรณ์

แม้ GeForce NOW จะรองรับหลายแพลตฟอร์ม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเล่นได้ “ดีเท่ากัน” ทุกเครื่อง บนอุปกรณ์บางตัวเช่น iPad (ใช้เมาส์ไม่ได้), Smart TV (บางรุ่นเล่นไม่ได้) หรือกล่อง Android รุ่นเก่า อาจเจอข้อจำกัดที่ทำให้ใช้งานไม่สะดวก

คนที่เริ่มต้นจากศูนย์ ยังไม่มีเกมเป็นของตัวเอง

GeForce NOW ไม่แจกเกม การจะเล่นต้อง “มีเกมในบัญชีของตัวเองก่อน” เช่นใน Steam, Epic Games หรือ Ubisoft Connect ดังนั้นถ้ายังไม่มีเกมเลย จะต้องซื้อแยกเองอีก ทำให้ต้นทุนเริ่มต้นสูงกว่าที่คิดไว้

คนที่ใช้คอมเก่าเกินไป (อายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป)

ถึงจะเป็นคลาวด์เกมมิ่ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเครื่องไหนก็เล่นได้เสมอ ถ้าอุปกรณ์ของเก่าเกินไป เช่น ใช้ Windows 7, RAM 2GB, จอ 720p หรือเบราว์เซอร์ไม่รองรับ GeForce NOW ก็อาจไม่สามารถใช้งานได้จริง

ทดแทนพีซีได้หรือไม่

ต้องบอกว่า GeForce NOW สามารถทดแทนคอมพิวเตอร์เครื่องแรง ๆ ได้ “บางส่วน” เหมือนกับที่กล่าวไปข้างต้นว่า ประสบการณ์ที่ได้จากการสตรีมเกมจากคลาวด์นั้นลื่นไหล ภาพสวย เฟรมเรตนิ่ง เล่นได้ดีมากจนบางครั้งลืมไปเลยว่านี่ไม่ใช่เครื่องตัวเอง

แต่ก็ยังไม่สามารถแทนพีซีได้แบบ 100% ยังมีข้อจำกัดยังมีในบางด้าน เช่น

  • ประสบการณ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับอินเทอร์เน็ต ถ้าเน็ตไม่ดีก็เล่นได้ไม่ลื่น
  • ไม่สามารถปรับแต่งหรือม็อดไฟล์เกมได้เต็มที่
  • เกมบางแนวที่ต้องการความแม่นยำสูงหรือเล่นในระดับแข่งขัน E-Sport อาจยังไม่เหมาะกับ latency ของคลาวด์
  • เล่นได้เฉพาะเกมที่มีบนแพลตฟอร์มที่รองรับ
  • ทำได้เฉพาะ “แค่เล่นเกม” เท่านั้น ไม่ใช่การเช่าพีซีบนคลาวด์อย่าง AIS Cloud PC พิมพ์งานเล่นเน็ตไม่ได้

สรุปคือถ้าให้คะแนนความสามารถในการทดแทนพีซีเกมมิ่งแบบดั้งเดิม GeForce NOW ทำได้ประมาณ 9 เต็ม 10 สำหรับผู้เล่นทั่วไปหรือคนที่ไม่ได้ซีเรียสเรื่องความแม่นยำแบบมือโปร ถือว่าเพียงพอเกินพอในชีวิตจริง

แต่ถ้ามองในแง่ความคุ้มค่า การใช้งาน GeForce NOW ถือว่าประหยัดกว่ามากเมื่อเทียบกับการประกอบพีซีแรง ๆ เพราะถ้าจะประกอบคอมที่ให้ประสบการณ์ใกล้เคียงกับแพ็ก Ultimate ของ GeForce NOW (ระดับ RTX 4080) อาจต้องลงทุนราว 50,000 บาทขึ้นไป แต่หากเลือกใช้ GFN ก็จ่ายเพียงหลักร้อยถึงพันบาทต่อเดือน เท่ากับว่าจ่ายเท่าค่าพีซีเครื่องเดียว ก็เล่นได้ต่อเนื่องเป็นสิบปี แถมไม่ต้องกังวลเรื่องอัปเกรดหรือดูแลเครื่องเลยด้วยซ้ำ

ก็นั่นแหละแลกกับการไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องจริง ๆ เงินที่จ่ายไปก็เหมือน “ค่าเช่า” ถ้าวันไหนไม่ได้เล่น หรือใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็อาจรู้สึกเหมือนจ่ายเงินทิ้งไปเปล่า ๆ เช่นกัน

สรุปส่งท้าย

GeForce NOW ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการเกมในไทย ที่ช่วยให้เกมเมอร์เข้าถึงประสบการณ์เล่นเกมคุณภาพสูงได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีคอมแรง หรือลงทุนกับฮาร์ดแวร์ราคาแพง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ หรืออยากพกแค่ iPad ไปต่างจังหวัด แล้วสามารถเล่นเกมระดับ AAA ได้ทันทีจากทุกที่

โดยเฉพาะผู้ใช้ macOS ที่แม้จะได้อุปกรณ์บางเบา แบตอึด ใช้งานได้ทั้งวัน และซอฟต์แวร์ที่เสถียรตามสไตล์ Apple แต่ก็มีข้อจำกัดด้านเกมมาตลอด การมาถึงของ GeForce NOW ช่วยเติมเต็มจุดอ่อนนี้ได้อย่างลงตัว

หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้อยากประกอบคอมเอง ไม่ได้เล่นเกมทุกวัน แต่อยากเปิดเกมเล่นสบาย ๆ ผ่าน Smart TV หรืออุปกรณ์ใกล้ตัวในบางช่วงเวลา ก็สามารถเปลี่ยน “ทีวีธรรมดา” ให้กลายเป็นเครื่องเล่นเกมคุณภาพสูงได้ในพริบตา

จากที่ได้ทดสอบมา ต้องบอกว่า GeForce NOW ทำได้ดีเกินคาด ทั้งในด้านภาพ ความลื่น และความหลากหลายของอุปกรณ์ที่รองรับ โดยเฉพาะถ้าใช้อินเทอร์เน็ตที่แรงและเสถียร ร่วมกับแพ็กเกจที่เหมาะกับการใช้งาน ก็แทบไม่ต่างจากการเล่นบนเครื่องคอมแรง ๆ เลยด้วยซ้ำ

แม้จะยังมีข้อจำกัด เช่น ความจำเป็นต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูง, เกมบางค่ายยังไม่รองรับ, และรูปแบบการจ่ายรายเดือนที่ต้องทำใจยอมรับ แต่ก็ต้องบอกว่า ถ้าใครกำลังมองหาทางเลือกใหม่ในการเล่นเกมโดยไม่ต้องแบกทั้งเครื่อง GeForce NOW คืออีกหนึ่งทางเลือกที่ “ลองได้” ในราคาที่ไม่แรงจนเกินไป