ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากยังจำกันได้เวลาอ่านสเปกมือถือของ i-mobile เรามักจะมีความรู้สึกว่า ทำไมให้หน่วยความจำมาน้อยจัง แรมจะกั๊กทำไมเนี่ย อ่าวทำไมไม่รองรับ 3G 850 จะแยกคลื่นเพื่อ? ทำไมใช้ CPU MediaTek บลาๆๆ ในวันนี้ทาง i-mobile จึงจัดเต็ม ใส่ทุกอย่างแบบไม่กั๊กลงใน IQ X Pro 2 ไม่ว่าจะเป็นหน่วยความจำ 32 GB แรม 3 GB รอง 3G / 4G ทุกคลื่นในไทย ใช้ชิปเซ็ต Snapdragon 615 Octa-Core นอกจากนี้ตัวกล้องหลังยังใช้โมดูล IMX220 ที่มีความละเอียดสูงถึง 20.7 ล้านพิกเซล ซึ่งเป็นโมดูลเดียวกันกับที่ใช้บนมือถือ Sony Xperia ตระกูล Z 

จากสเปกที่ได้กล่าวไปในด้านบน เราลองมาดูสเปกแบบจัดเต็มของ IQ X Pro 2 กัน

  • ชิปเซ็ต CPU Qualcomm Snapdragon 615 Octa-Core 1.5 Ghz
  • ชิปเซ็ต GPU Qualcomm Adreno 405
  • RAM 3 GB
  • หน่วยความจำภายใน 32 GB
  • รองรับ micro SD Card สูงสุด 32 GB
  • หน้าจอ OGS (One Glass Sensor) ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1080 x 1920)
  • กล้องหลัง 30 ล้านพิกเซล (Sensor IMX220 20.7 ล้านพิกเซล) F 1.8 
  • กล้องหน้า 8 ล้านพิกเซล F 2.0 พร้อมเซลฟี่แฟลช
  • รองรับ 2 SIM แบบ Hybird
  • รองรับ 2G/3G/4G 850/900/2100 Mhz
  • รองรับ 3G ด้วยความเร็วสูงสุด 42/11.2 Mbps
  • รองรับ 4G ด้วยความเร็วสูงสุด 150/50 Mbps (LTE Cat4)
  • Bluetooth 4.0
  • รองรับ Digital TV
  • Android 5.0.2 Lollipop
  • ราคาเปิดตัว 9,900 บาท / ปัจจุบัน 8,900 บาท

หลังจากอ่านสเปกแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะสงสัยสเปกที่ i-mobile ยัดใส่ IQ X Pro 2 แบบจัดเต็ม เวลาใช้จริงมันจะเป็นยังไง วันนี้ผมจะมาบอกเล่าประสบการณ์หลังจากที่ได้ลองใช้มาสองสัปดาห์ ก่อนอื่นเราลองมาดูรูปลักษณ์กันก่อน

รูปลักษณ์

ครั้งแรกที่ได้เห็นโฉมหน้า IQ X Pro 2 หลายๆ คนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หน้าตามันเหมือนสมาร์ทโฟนตระกูล Lumia มาก เหมือนทั้งวัสดุและหน้าตา ซึ่งจะเห็นได้ชัดขึ้นจากรูปด้านล่าง

ปุ่มพื้นฐานของ android ใน IQ X Pro 2 จะเป็นปุ่มภายนอก ไม่ถูกผนวกรวมเข้าไปในหน้าจอตามมาตรฐานมือถือ android (อ้างอิงจาก Nexus) โดยปุ่มโฮมของ IQ X Pro 2 นั้นมีลูกเล่นเป็นไฟแจ้งเตือนในเวลาปิดหน้าจอ โดยจะกระพริบเป็นสีเขียวเมื่อมีการแจ้งเตือน และไฟแจ้งเตือนจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อมีการชาร์จไฟหรือแบตเตอรี่ใกล้หมด

แน่นอนว่าช่วงนี้กระแสเซลฟี่มาแรง i-mobile ก็ไม่พลาดที่จะใส่กล้องหน้าที่มีความละเอียดสูงถึง 8 ล้านพิกเซลที่มาพร้อมกับรูรับแสงที่กว้างถึง F 2.0 และนอกจากนี้ยังมีแฟลชมาให้ด้วย

ช่องเสียบซิมใน IQ X Pro 2 ใช้เป็น 2 ซิมแบบระบบ Hybrid นั่นก็คือต้องเลือกว่าช่องที่สองจะใส่ซิมการ์ดหรือ micro sd card

ฝาหลังของ IQ X Pro 2 ไม่สามารถที่จะถอดได้ ดังนั้น IQ X Pro 2 จึงไม่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ ส่วนกล้องหลังที่ระบุว่าความละเอียด 30 ล้านพิกเซล แต่จริงๆ แล้วตัวกล้องใช้เซ็นเซอร์ที่มีความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซลเท่านั้น ที่สามารถถ่ายรูปความละเอียดสูงสุดได้ 30 ล้านพิกเซล เป็นเพราะแอปกล้องเอารูปขนาด 20.7 ล้านพิกเซลไปขยาย (upscale) จนมีขนาด 30 ล้านพิกเซล สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อภาพถ่าย

หน้าจอและการแสดงผล

หน้าจอที่ใช้ใน IQ X Pro 2 นั้นใช้เทคโนโลยี OGS (One Glass Sensor) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำเอาหน้าจอในส่วนแสดงผลมารวมเข้ากับเซ็นเซอร์ตรวจจับการสัมผัส (touch sensor) ไว้ในชิ้นเดียวกัน ทำให้ชิ้นส่วนของหน้าจอมีขนาดที่บางลง ส่งผลให้การแสดงผลบนหน้าจอคมชัดขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้ตัวเครื่องบางลงได้อีก โดย IQ X Pro 2 นั้นมีความนหาเพียง 8.59 มม.

การแสดงผลของหน้าจอที่ใช้เทคโนโลยี OGS นั้นถือได้ว่าแสดงผลได้สวย สีสันคมชัด แต่เสียอย่างเดียวสู้แสงแดดจ้าไม่ไหว นอกจากนี้เซ็นเซอร์วัดแสงใน IQ X Pro 2 ยังเอ๋อๆ วัดแสงได้ไม่ค่อยตรง ทำให้ระดับความสว่างที่แสดงบนหน้าจอเดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง อย่างรูปด้านบนเป็นกรณีที่ปรับความสว่างหน้าจอแบบอัตโนมัติ แต่เซ็นเซอร์วัดเพี้ยนทำให้แสงของหน้าจอไม่สัมพันธ์กับสภาวะแวดล้อม ณ ตอนนั้น

IQ X Pro 2 รองรับการสัมผัสได้ 10 จุดพร้อมกันโดยไม่มีอาการสัมผัสเพี้ยน แต่จะเกิดอาการสัมผัสเพี้ยนเล็กน้อยเมื่อหน้าจอเปื้อนเหงื่อจากบนนิ้วมือ แต่กับการทำงานทั่วไปอาจจะไม่เห็นผลจากการสัมผัสที่เพี้ยนสักเท่าไร แต่ถ้าเล่นเกมอยู่จะรู้ได้ทันที

ประสิทธิภาพและความร้อน

ชิปเซ็ตที่ใช้ใน IQ X Pro 2 นั้นเป็นชิปเซ็ต Snapdragon 615 ซึ่งเป็นชิปเซ็ตระดับกลางๆ ดังนั้นประสิทธิภาพที่ได้อาจจะไม่สูงมากนักหากเทียบกับมือถือ Flagship โดยทั่วไปที่ใช้ชิปเซ็ต Snapdragon 8xx โดยการใช้งานทั่วไป IQ X Pro 2 ค่อนข้างลื่นไหล แต่จะเจออาการหน่วง + กระตุกตอนที่เล่นเกมหนักๆ 

ส่วนเรื่องความร้อน โดยส่วนตัวเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับปัญหาความร้อนบนชิปเซ็ต Snapdragon 615 ในมือถือหลายๆ รุ่นที่นำเอาชิปเซ็ตตัวนี้มาใช้ อย่างใน Xiaomi Mi 4i ซึ่งภายหลังได้ออกอัพเดตมาแก้เรื่องนี้แล้ว (แต่ก็ยังร้อนอยู่) ส่วนใน Samsung Galaxy A7 และ HTC Desire 826G ที่ใช้ชิปเซ็ตตัวเดียวกัน จากที่ผมเคยได้ลองใช้พบว่าตัวเครื่องทั้งสองเมื่อใช้งานหนักๆ จะมีอาการร้อนกว่ามือถือทั่วไป ซึ่งใน IQ X Pro 2 นั้นก็พบเจอเรื่องความร้อนที่เกินปกตินี้เช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นโลหะตรงกล้องและปุ่มเปิดปิดเสียง (รูปด้านบน) จะร้อนมากๆ 

UI และ Launcher

หากดูแบบผ่านๆ เชื่อว่าหลายๆ คนคงคิดว่าตัว launcher ที่ติดมากับ IQ X Pro 2 คงจะเป็นแบบ pure google แต่จริงๆ แล้วเป็น launcher ที่สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์และแพคไอคอนได้ โดยสไตล์จะมีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 4 แบบ แต่ไม่สามารถโหลดมาเพิ่มได้ นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนแอฟเฟ็กต์เวลาเลื่อนหน้าจอทั้งบนหน้าจอหลักและหน้าจอรวมแอปได้อีกด้วย ซึ่งสามารถดูได้จากวีดิโอด้านบน

การถ่ายภาพ

ลูกเล่นที่มีมาให้ในแอปกล้องนั้นไม่ค่อยมีอะไรซักเท่าไร ดูคลีนๆ คล้ายแอปกล้องใน ROM ของ android ที่ไม่ได้ถูกปรับแต่งอะไร (Nexus) สามารถดูหน้าตาแอปกล้องได้ตามวีดิโอด้านบน

ตัวกล้องนั้นใช้โมดูล IMX220 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ใช้บนสมาร์ทโฟน Sony Xperia ตระกูล Z ทำให้ตัวกล้องเก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดี

ด้วยรูรับแสงที่กว้างถึง F 1.8 ทำให้สามารถถ่ายแบบละลายฉากหน้าหรือหลังได้ดีพอสมควร 

ความละเอียด 30 ล้านพิกเซลดีจริงไหม

ถึงแม้ตัวโมดูลของกล้องจะรองรับการถ่ายรูปได้ความละเอียดสูงสุด 20.7 ล้านพิกเซล แต่ตัวแอปกล้องถ่ายรูปกลับสามารถถ่ายภาพด้วยความละเอียดสูงสุดถึง 30 ล้านพิกเซลผ่านทางเทคโนโลยีการขยายขนาด (upscale) ทำให้ภาพในความละเอียด 30 ล้านพิกเซลออกมาแล้วมีความฟุ้งในเม็ดสี (เมื่อขยายภาพ) นอกจากนี้ยังได้ขนาดไฟล์ที่ใหญ่มากด้วย ดังนั้นหากจะถ่ายภาพแนะนำว่าควรเลือกถ่ายภาพที่ความละเอียดแค่ 20 ล้านพิกเซลก็เพียงพอแล้ว แถมขนาดไฟล์ที่ได้ก็เล็กกว่าด้วย 

สามารถไปดูรูปต้นฉบับได้ในอัลบั้มรูปบน imgur ด้านบนนี้ครับ

ปัญหาเรื่องการวัดแสง

ดูเหมือนว่าตัวแอปกล้องใน IQ X Pro 2 นั้นค่อนข้างจะมีปัญหาในเรื่องการวัดแสง เพราะตัวแอปกล้องมันไม่ได้วัดแสงจากการเฉลี่ยทั้งภาพ แต่จะวัดแสงจากจุดโฟกัส ยิ่งเราโฟกัสในจุดที่ทึบแสง ตัวแอปกล้องมันจะไปวัดแสงในจุดที่ทึบแสง ทำให้จุดที่สว่างในภาพที่มาอยู่แล้วกลายเป็นสว่างเกินไป ถ้าเราต้องการที่จะได้ภาพที่มีความสว่างสมดุลกันทั้งภาพ จำเป็นต้องไปโฟกัสในจุดที่ทำให้ภาพที่ได้ออกมาแสงสมดุลกันทั้งภาพ โดยปัญหานี้จะพบเจอได้บ่อยในสภาวะแสงน้อย ดังนั้นการถ่ายรูปกับแอปกล้องใน IQ X Pro 2 จำเป็นต้องอาศัยความคุ้นเคยด้วยส่วนหนึ่ง

ตัวอย่างภาพถ่ายที่ได้แสงออกมาในลักษณะที่สว่างเกินไป

ปล. เนื่องจากปัญหานี้เป็นที่ระดับ API กล้องของ IQ X Pro 2 ดังนั้นถ้าหากใช้แอปถ่ายรูปที่เรียก API กล้องของ IQ X Pro 2 ปัญหานี้ก็จะยังคงอยู่ เช่น Google Camera แต่แอปกล้องที่ไม่ได้เรียกใช้ API กล้องของ IQ X Pro 2 อย่าง Camera FV-5 จะไม่เจอปัญหานี้

ลูกเล่น

รูปด้านบนเป็นฟีเจอร์นึงใน IQ X Pro 2 ที่มีชื่อว่า หน้าจอแอมเบียนท์ (ambient display) โดยคำอธิบายฟีเจอร์นี้ในหน้าต่างการตั้งค่าบอกว่า ปลุกหน้าจอเมื่อมีการหยิบอุปกรณ์หรือมีการแจ้งเตือน ซึ่งการปลุกหน้าจอที่ว่านี้ ไม่ใช่เป็นการปลุกหน้าจอให้อยู่บนหน้าล็อกสกรีน แต่เป็นการลุกหน้าจอแบบขาวดำดังภาพด้านบนพร้อมกับแสดงการแจ้งเตือน โดยหน้าจอที่ว่านี้เราจะเรียกมันว่า หน้าจอแอมเบียนท์

 

แต่น่าเสียดายมันจะแสดงหน้าจอแอมเบียนท์ได้ตอนเฉพาะที่มีการแจ้งเตือนเข้ามาเท่านั้น แต่ไม่ได้แสดงหน้าจอยามเมื่อมีการหยิบจับอุปกรณ์ตามคำมือถือที่อธิบาย โดยสามารถเข้าไปเปิดฟีเจอร์นี้ได้ที่ การตั้งค่า -> การแสดงผล -> หน้าจอแอมเบียนท์ (เกือบหล่อแล้ว)

 

นอกจากนี้ตรงปุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มออปชั่น ปุ่มโฮม ปุ่ม เปิด/ปิด เครื่อง เราสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานของปุ่มได้ อย่างเช่นปุ่มออปชั่นถ้าเราไม่ชอบเราสามารถให้มันทำหน้าที่เป็นปุ่ม recent app ตามแบบฉบับพื้นฐานของของ android ทั่วไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดหน้าที่จากท่าทางการกด เช่น กดค้างไว้ หรือ กดเบิ้ลซ้ำ จะให้ทำอะไร เช่น เข้า Google Now ค้นหาด้วยเสียง หรือ ปิดหน้าจอเป็นต้น โดยการตั้งค่าที่ว่านี้อยู่ใน การตั้งค่า -> ปุ่ม

ทีวีดิจิตัล

เนื่องจากสัญญาณทีวีดิจิตัลเริ่มครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพนอกจากสัญญาณจะครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว กำลังส่งก็ยังแรงขึ้นด้วย ทำให้การดูทีวีดิจิตัลบนรถโดยสารนั้นเป็นไปอย่างไม่สะดุด อาจจะมีบางจุดที่สัญญาณติดขัด แต่ก็ถือว่าดูได้อย่างราบรื่น 

เนื่องจากว่าใน IQ X Pro 2 นั้นไม่มีเสาสัญญาณภายในตัวเครื่องเหมือนมือถือรุ่นอื่นๆ ที่รองรับทีวีดิจิตัล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เสาอากาศภายนอกจากที่แถมมากับ​ IQ X Pro 2 ซึ่งเชื่อเลยว่าโอกาสที่เราจะทำหายนั้นมีโอกาสสูงมาก (โดยเฉพาะสำหรับผม) แต่ยังโชคดีที่เราสามารถใช้หูฟังธรรมดาเสียบแทนเสาอากาศที่แถมมาได้

ระบบ 2 ซิม

ระบบสองซิมใน IQ X Pro 2 สามารถรองรับ 3G/4G ได้ทั้งสองซิม แต่ไม่สามารถเชื่อมต่อ 3G/4G ได้พร้อมกัน ถ้าซิมใดซิมหนึ่งเชื่อมต่อในระบบ 3G/4G อยู่อีกซิมนึงจะถูกสแตนบายในระบบ 2G แทน แต่สามารถสลับการเชื่อมต่อ 3G/4G ในระหว่างซิมได้อย่างอิสระโดยผ่านการตั้งค่า ไม่จำเป็นต้องถอดซิมออกมาเพื่อสลับช่อง แต่การตั้งค่านั้นดูค่อนข้างสับสน เพราะเมนูการตั้งค่าเพื่อสลับ 3G/4G ระหว่างซิมนั้นถูกแยกออกไปอยู่ในเมนู เพิ่มเติม -> เครือข่ายมือถือ ไม่ถูกรวมลงไปในเมนูหลักอย่าง ซิมการ์ด

การตั้งค่าการใช้งานของระบบ 2 ซิม

สามารถเข้าไปตั้งค่าเพื่อจัดการซิมได้สองวิธี วิธีแรกเข้าไปจากหน้า การตั้งค่า -> ซิมการ์ด ส่วนวิธีที่สองเข้าผ่าน toggle ข้อมูลมือถือ บนแถบการแจ้งเตือน โดยกด toggle ข้อมูลมือถือ ค้างไว้เพื่อเป็นการเข้าไปยังหน้าการตั้งค่าในส่วนซิมหาร์ด (ดังรูปด้านล่าง)

ในเมนูการตั้งค่านี้ จะเป็นการตั้งค่า การโทร การส่งข้อความ ว่าจะเลือกใช้ซิมไหนหรือจะให้ถามก่อนเรียกใช้เสมอ นอกจากนี้ยังสามารถปิดเปิดการใช้ซิมจากเมนูนี้ได้เช่นกัน

การสลับเปลี่ยน 3G/4G ระหว่างซิม

การสับเปลี่ยนการเชื่อมต่อ 3G / 4G ระหว่างซิม หน้าต่างการตั้งค่าจะไม่ได้ถูกรวมอยู่ในเมนูการตั้งค่า ซิมการ์ด แต่จะอยู่ในหน้าของ เพิ่มเติม -> เครือข่ายมือถือ แทน

บั๊กของระบบ WiFi

การเชื่อมต่อ WiFi นั้นมีบั๊กอยู่ 2 อย่าง อันแรกเป็นฟีเจอร์ (ที่ใครหลายๆ คนเรียกว่าบั๊ก) จากระบบ Android 5.0 ส่วนอันที่สองน่าจะเป็นบั๊กของ ROM ในตัว IQ X Pro 2 เอง

  • ฟีเจอร์บั๊กของระบบ Android 5.0 ถ้าหากว่าเราเชื่อมต่อ WiFi โดยมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายมือถือค้างไว้ ถ้าหากว่า WiFi ที่เราเชื่อมต่อนั้นใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้ ระบบ Android 5.0 จะไม่แจ้งเตือนเรา แต่จะสลับไปเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายมือถือแทน ทำให้เราเสียเงินไปโดยโดยไม่รู้ตัวไปกับค่าบริการอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายมือถือ ดังนั้นถ้าเราจะเชื่อมต่อ WiFi ก็ควรปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายมือถือด้วย (อัพเดตใน Android 5.1.1 ใน Moto X ก็ยังพบปัญหานี้)
  • บั๊กการเชื่อมต่อ WiFi

    ในบางครั้ง IQ X Pro 2 ไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อ WiFi ได้ เมื่อพยายามเข้าไปในเมนูการตั้งค่า WiFi หน้าต่างการตั้งค่าก็เกิดอาการ force close ไปเลย (ตามวิดีโอด้านบน) ต้องทำการ reset เครื่องใหม่ถึงจะกลับมาใช้ WiFi ได้ โดยปัญหานี้ยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เท่าที่ลองมาตลอดสองสัปดาห์พบเจอปัญหานี้เกือบทุกวัน

แบตเตอรี่

เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดหน้าจอของ IQ X Pro 2 ที่มีขนาดใหญ่ถึง 5.5 นิ้ว แต่แบตเตอรี่ที่ให้มานั้นกลับแปรผกผันกับขนาดของหน้าจอ เพราะ i-mobile กลับให้แบตเตอรี่มาเพียงแค่ 2500 mAh เท่านั้น  จากเท่าที่ได้ทดลองใช้มากว่า 2 สัปดาห์ พบว่าถ้าใช้งานอย่างจริงๆ จังๆ แค่บ่ายสามแบตเตอรี่ก็หมดแล้ว ดังนั้นระหว่างวันยังไงก็ต้องหาที่ชาร์จ

แต่ถ้าไม่ค่อยได้ใช้ตัวเครื่องก็สามารถสแตนบายอยู่ได้ทั้งวัน ไม่มีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ไหล (รูปด้านบน) แต่ยังไงก็ควรพกแบตสำรองไว้

นอกจากนี้ในตัว IQ X Pro 2 ยังมีระบบป้องกันแบตเตอรรี่เสื่อม เมื่อใดที่แบตเตอรี่ลดลงเหลือ 3% ตัวเครื่องจะแจ้งเตือนขึ้นมานับถอยหลัง 10 วินาทีเพื่อปิดเครื่อง ระหว่างนั้นถ้าหาสายชาร์จมาเสียบทันเครื่องจะไม่ดับ แต่ถ้าไม่ทันเครื่องก็จะปิดตัวลง ถึงเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่ตัวเครื่องก็ยังคงบังคับปิดตัวลงเหมือนเดิม

 

ส่วนระยะเวลาในการชาร์จ จาก 3% จนเต็มใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 2 ชม.

สรุป

ข้อดี

  • ราคาถูกสุดในบรรดามือถือที่ใช้ชิปเซ็ต Snapdragon 615 ที่มีขายอยู่ในประเทศไทย ณ ตอนนี้
  • รองรับทีวีดิจิตัล
  • รองรับ 2 ซิม
  • หน่วยตวามจำ 32 GB
  • รองรับ micro SD Card

ข้อเสีย

  • ร้อนกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป (เพราะชิปเซ็ต Snapdragon 615)
  • ปัญหา WiFi 
  • แบตเตอรี่ไม่อึด
  • ถอดแบตไม่ได้

ในส่วนตัวแล้วสำหรับผมคิดว่า IQ X Pro 2 นั้นเกือบจะเป็นมือถือที่ดี ยกเว้นเรื่องแบตเตอรี่ที่ให้มาไม่สัมพันธ์กันกับขนาดของหน้าจอกับซอฟแวร์กล้องที่ทำมาไม่ค่อยดีในเรื่องการวัดแสง ต้องอาศัยความคุ้นเคยในการถ่ายทำให้ไม่สามารถหยิบออกมาปุ๊บแล้วถ่ายได้ปั๊บ (ในสภาวะแสงน้อยๆ) ส่วนเรื่องปัญหาการเชื่อมต่อของ WiFi นั้นผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเป็นเครื่องทดสอบที่ทาง i-mobile ส่งมานั้นเป็นเฟิร์มแวร์ที่สมบรูณ์แล้วหรือยัง ยังไงฝากรบกวนเพื่อนๆ ที่ใช้รุ่นนี้อยู่ ช่วยบอกกล่าวหน่อยครับ ว่าเจอปัญหา WiFi เช่นเดียวกันกับผมหรือไม่

แล้ว IQ X Pro 2 เหมาะกับใคร? สำหรับผมคิดว่ามันเป็นสมาร์ทโฟนที่เหมาะสำหรับคนที่มองหาสมาร์ทโฟนที่รองรับการดูทีวีดิจิตัล แต่ก็ยังอยากได้มือถือที่มีสเปกแรงๆ และที่สำคัญราคาต้องไม่แพงมากด้วย ซึ่งถ้าคุณสามารถยอมรับจุดด้อยบางอย่างที่กล่าวมาตามด้านบนได้ IQ X Pro 2 ก็ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่เหมาะกับคุณ