เรียกได้ว่านานมากแล้วเหมือนกันนะเนี่ย นับจากที่สมัย Moto ยังเป็น Motorola อยู่ แล้วโดน Google อุปถัมภ์อยู่พักหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นก็ได้เปิดตัวตระกูล X ออกมาอยู่หลายปี จนกระทั่งล่าสุดก็ได้ไปอยู่ในอ้อมกอดของ Lenovo เป็นที่เรียบร้อย และล่าสุดก็ได้เปิดตัวตระกูล Z ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ก็ได้มาอยู่ในมือของผมเรียบร้อยแล้ววววววว

Play video

 

รูปร่างหน้าตา

อย่างแรกเลยคือตัวเครื่องมีความโค้งมนคล้ายๆกับ Moto X แต่ว่าขอบบนล่างของตัวเครื่องจะโค้งเล็กน้อยด้วยเช่นกัน ดังนั้นอย่าเสียใจไปถ้าคุณไม่สามารถตั้งเครื่องในแนวนอนหรือแนวตั้งได้

 

ด้านล่างของข้างหน้าตัวเครื่องจะมีไมค์ 2 ตัว, เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว (IR Sensor น่ะแหละ) และ Fingerprint Scanner

 

ข้างบนของด้านหน้าตัวเครื่องจะมีกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซลพร้อม LED Flash, Proximity, Ambient Light และลำโพง

ด้านบนของตัวเครื่องจะมีช่องไมโครโฟนอีก 1 ตัว และช่องใส่ซิม มีลายขีดพาดบนนี้อยู่หนึ่งเส้น สำหรับเสาอากาศ

 

ด้านล่างของตัวเครื่องมีแค่ช่อง USB-C เพราะตัดช่องหูฟัง 3.5mm ออกไปแล้ว

 

ด้านข้างฝั่งซ้ายของตัวเครื่องมีปุ่ม Power และ Volume Up/Down โดยที่ Moto Z จะย้าย Volume Up/Down ไปอยู่เหนือปุ่ม Power แทน (เรียงจากบนลงล่างจะเป็น Volume Up, Volume Down และ Power)

ไม่มีอะไรอยู่ที่งด้านข้างฝั่งซ้ายของตัวเครื่อง มีแต่ขอบเรียบๆเท่านั้น

 

ตัวเครื่องด้านหลังจะมีความมันวาวและมีลายพาดขวางในแนวนอนและโลโก้ Moto ที่สังเกตเห็นได้ยากนิดหน่อย และจุดเด่นที่ด้านหลังของตัวเครื่องก็คือกล้องที่นูนออกมา และขั้วทองแดงมากมายที่อยู่บริเวณข้างล่าง

 

มือถือทุกวันนี้ออกแบบให้บางมากแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายก็จะติดเรื่องกล้องยื่นนี่แหละ เพื่อให้สามารถใส่เซ็นเซอร์ภาพและเลนส์คุณภาพดีๆได้ จึงทำให้ Moto Z มีกล้องที่นูนขึ้นมาอย่างที่เห็น อาจจะรู้สึกว่ามันนูนมากก็จริง แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะตัวเครื่องที่บางมากๆนั่นเอง

 

ตัวเครื่องมาในรูปแบบที่บางเฉียบ จะเรียกว่าบางโคตรก็ว่าได้ เพราะส่วนที่บางที่สุดของตัวเครื่องคือ 5.19 mm ซึ่งก็คือตัวเครื่องเกือบทั้งหมดนั่นแหละ มีแค่ตัวกล้องที่นูนขึ้นมาเท่านั้นเอง ดังนั้นเมื่อได้จับตัวเครื่องก็จะรู้สึกได้ถึงความบางพิเศษ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บางที่สุดในโลกก็เถอะ แต่มันบางมากๆเลยนะ!!!

เมื่อเทียบกับ Moto X Style ที่เป็น Flagship ในปีที่แล้วก็ต้องบอกเลยว่าแตกต่างกันพอสมควร ทั้งขนาดตัวเครื่อง ความหนา และน้ำหนักของตัวเครื่อง สามารถเห็นได้ชัดมากเมื่อเอามาเทียบคู่กัน

 

ตัวเครื่องรองรับ Dual SIM หรือ SIM + microSD Card เป็นทางเลือกตามความต้องการของผู้ใช้

 

คุณสมบัติโดยรวม

    • Codename : Griffin
    • OS : Android 6.0.1 Marshmallow
    • CPU
      • เทคโนโลยี Motorola Mobile Computing System
      • Qualcomm MSM8996 Snapdragon 820 (Kryo)
      • รองรับ 64-bit
      • Quad-core ความเร็ว 1.8GHz (ทำงานได้ต่ำสุดที่ 307Mhz)
      • หน่วยประมวลผลสำหรับ Natural Language
      • หน่วยประมวลผลสำหรับ Contextual Computing
    • GPU
      • Qualcomm Adreno 530
      • ความเร็ว 624 MHz
      • รองรับ OpenGL ES 3.1
      • รองรับ DirectX 11.1
      • รองรับ Vulkan
    • Display
      • หน้าจอแสดงผล AMOLED
      • ความกว้าง 5.5 นิ้ว ความละเอียด 2,560×1,440 พิกเซล (~535PPI)
      • กระจก Corning Corilla Glass 4
      • สัดส่วนพื้นที่หน้าจอต่อพื้นที่ด้านหน้าตัวเครื่อง ~72%
      • Multitouch 10 จุด
    • RAM : 4GB LPDDR4 (มีให้ใช้งานจริง 3.7GB)
    • ROM
      • 32GB/64GB UFS
      • รองรับ microSD Card สูงสุด 2TB
    • Network
      • Nano SIM รองรับ Dual SIM (เลือกระหว่าง SIM + microSD กับ SIM + SIM)
      • 2G : GSM 850 / 900 / 1800 / 1900
      • 3G : HSDPA 850 / 900 / 1900 / 2100
      • 4G : LTE Band 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 7 / 13
      • HSPA 42.2/5.76 Mbps และ LTE Cat9 450/50 Mbps
      • ยังไม่ชัวว่าของไทยจะเป็นโมเดลนี้หรือไม่
    • Camera
      • ความละเอียด 13 MP (4,160×3,120 px)
      • รูรับแสง f/1.8
      • ระบบกันสั่น (OIS)
      • Laser Autofocus
      • Dual LED Flash (Color Correlated Temperature)
      • Zero Shutter Lag
      • ใช้เซ็นเซอร์ที่มีพิกเซลไมครอนขนาด 1.12um
      • 8x Digital Zoom
      • รองรับการบันทึกวีดีโอ 4K@30fps, 1080p@60fps
      • รองรับการบันทึกวีดีโอแบบ Slow Motion ที่ความละเอียด 720p@120fps
      • รองรับ HDR ขณะถ่ายวีดีโอ
      • รองรับการถ่ายภาพแบบ Manual
      • รองรับไฟล์ RAW
      • ความละเอียด 5 MP (2,592×1,944 px)
      • รูรับแสง f/2.2
      • เลนส์มุมกว้าง (Wide-angle)
      • LED Flash
      • ใช้เซ็นเซอร์ที่มีพิกเซลไมครอนขนาด 1.4um
      • รองรับการบันทึกวีดีโอ 1080p@30fps
      • รองรับการบันทึกวีดีโอแบบ Slow Motion ที่ความละเอียด 720p@120fps
      • มี Beauty Mode
      • รองรับการถ่ายภาพแบบ Manual
      • รองรับไฟล์ RAW
      • กล้องหลัง
      • กล้องหน้า
    • Audio
      • ลำโพงด้านหน้าตัวเดียว
      • ไม่มีช่องหูฟัง 3.5mm แต่มีสายแปลง USB-C เป็น 3.5mm แถมมาให้
    • Battery
      • Li-ion ความจุ 2,600 mAh
      • รองรับการชาร์จแบบ TurboPower
      • ไม่รองรับ Wireless Charging ในตัว แต่สามารถซื้ออุปกรณ์เสริม (Moto Mods) ที่รองรับ Wireless Charging มาใช้งานได้
      • ถอดเปลี่ยนแบตในเครื่องไม่ได้
    • Sensor
      • Accelerometer
      • Gyroscope
      • Ambient Light
      • Magnetometer
      • Proximity
      • IR Gesture
      • Fingerprint Scanner
    • Weight : 136 กรัม
    • Dimension : 153.3×75.3×5.19 มม
    • Other
      • WiFi 802.11 a/b/g/n/ac 2.4 GHz + 5 GHz with MIMO
      • Bluetooth 4.1
      • รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริม Moto Mods
      • เชื่อมต่อสาย USB ผ่านช่อง USB-C
      • รองรับ OTG
      • มี NFC
      • มี GPS และ GLONASS
      • ไมโครโฟน 4 ตัว

 

Moto Mods อุปกรณ์เสริม เพิ่มนิยามใหม่ของสมาร์ทโฟน

จุดเด่นหลักของ Moto Z ก็คือตัวเครื่องสามารถต่อกับอุปกรณ์เสริมเฉพาะหรือที่เรียกว่า Moto Mods ได้ ซึ่งตัวเครื่องได้ออกแบบมาให้มีขั้วคอนแทคอยู่ด้านหลังตัวเครื่อง

โดย Moto Mods ก็จะถูกสร้างขึ้นจากผู้ผลิตเจ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Incipio, Pico, JBL, Hasselblad และเจ้าอื่นๆอีกในอนาคต (ถ้ามี) ที่จะมีผลิตอุปกรณ์เสริมสำหรับ Moto Z โดยขายแยกต่างหาก ซึ่งในตอนนี้ก็มี

    • Moto Style Shells : ฝาหลังสำหรับประกบกับตัวเครื่องที่สามารถเลือกลวดลายต่างๆได้ และเป็นเหมือนฝาปิดป้องกันขั้วคอนแทค
    • Moto Insta-Share Projector : โปรเจคเตอร์สำหรับฉายฝาผนังที่จะช่วยให้สามารถนำภาพหน้าจอบน Moto Z ไปฉายผ่านโปรเจคเตอร์ได้ทันที มีแบตในตัว สามารถปรับค่าต่างๆได้เช่น โฟกัส ความเอียง ความสว่าง
    • Incipo offGrid Power Pack : แบตเตอรีสำรองความจุ 2,220 mAh ที่ทำให้ Moto Z สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น และสามารถชาร์จผ่าน Wireless Charging ได้ด้วย
    • JBL SoundBoost | Speaker : ลำโพงเสริมที่จะช่วยให้ดูหนังฟังเพลงด้วยเสียงจากลำโพง Stereo ที่เต็มอรรถรส และมีแบตในตัวเองด้วย
    • Hasselblad True Zoom : อุปกรณ์เสริมที่จะเปลี่ยนให้ Moto Z กลายเป็นกล้องโปรสุดเทพด้วยชุดเซ็นเซอร์ภาพและเลนส์ในตัว รองรับ Optical Zoom 10 เท่า, มี Xenon Flash ในตัว, มีระบบกันสั่น OIS (ภาพนิ่ง) และ EIS (ภาพวีดีโอ) และปรับรูปแบบการถ่ายภาพได้แบบ Manual โดยที่ทั้งหมดนี้ยังทำงานอยู่บน Moto Z

Moto Mods แต่ละตัวก็แอบทำเอาผมอึ้งไปเหมือนกันนะ

 

และสำหรับ Moto Style Shells จะมีให้มาในกล่องแล้วหนึ่งชิ้น (สามารถซื้อเพิ่มเพื่อเปลี่ยนไปมาเพิ่มสีสันในชีวิตได้) เพราะว่า Moto Z เป็นมือถือที่บางมากสำหรีบใครหลายๆคน ดังนั้นบางคนอาจจะไม่ชอบเพราะว่าถือไม่ถนัด ซึ่งเจ้า Moto Style Shells นี่แหละที่จะมาแก้ไขปัญหานี้

 

เพราะมันเป็นแผ่นฝาหลังที่มีความหนาอยู่นิดหน่อยเพื่อให้ประกบกับ Moto Z แล้วตัวเครื่องมีความหนาที่ผู้ใช้สามารถถือได้ง่าย สะดวก และเหมาะมือ

 

และที่น่าประทับใจโคตรๆก็คือความหนาของฝาหลังจะมีขนาดพอดีกับความหนาของกล้องหลังเป๊ะๆเลยล่ะ เพราะงั้นหมดปัญหาเรื่องกล้องนูนแน่นอน แค่เพียงใช้ Moto Style Shells!!!

 

แต่ข้อเสียของ Moto Style Shells ก็คือตัววัสดุไม่ค่อยให้ความรู้สึกหรูหราหรือสวยงามซักเท่าไรนัก (ทั้งๆที่ราคาก็ไม่ได้ถูกมากนัก) ผิวเปื้อนรอยนิ้วมือได้ง่าย และดูไม่ค่อยสวยเวลาสะท้อนกับแสง

 

และได้ลองกับ Moto Insta-Share Projector ด้วย เรียกว่าเป็นอุปกรณ์เสริมที่สร้างความแปลกใหม่ได้ไม่น้อย (เพราะสมัย Samsung Galaxy Beam เมื่อก่อนมันไม่ค่อยว้าวซักเท่าไร…)

 

ตัวโปรเจคเตอร์มีแบตในตัว จึงไม่ต้องกังวลว่าแบตมือถือจะหมดเพราะฉายโปรเจคเตอร์ และสามารถเสียบใช้งานได้ทันที มีปุ่ม Power ในตัวรวมไปถึงตัวปรับโฟกัส ส่วนการปรับอย่างอื่นจะปรับจากแอพบนมือถือ (และมีพัดลมระบายความร้อนในตัวด้วย….)

ที่ผมชอบมากๆก็คือมันสามารถปิดหน้าจอมือถือในขณะที่ฉายภาพบนโปรเจคเตอร์ได้อยู่ด้วยล่ะ แต่ว่าตัวมันไม่มีลำโพงนะ ต้องใช้ลำโพงจากตัวมือถือแทน (ซึ่งต่อพร้อมกับลำโพงของ JBL ที่เป็น Moto Mods ก็ไม่ได้ด้วย)

Moto Mods จะติดกับตัวเครื่องด้วยแม่เหล็ก ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะหลุดง่าย เพราะจากที่ได้ลองแล้วบอกเลยว่าไม่ต้องห่วงครับ มันไม่หลุดแน่นอน เพราะถ้าจะถอดออกก็ต้องเอานิ้วแงะถึงจะออก

สำหรับ Moto Mods ขอเล่าคร่าวๆไว้เท่านี้ก่อนนะครับ ไว้เดี๋ยวผมจะเจาะลึกเรื่องนี้ในทีหลัง (ไม่งั้นรีวิวนี้จะยืดยาวเกินไป)

 

หน้าจอคล้ายแบบเดิม เพิ่มเติมคือกลับมาใช้ AMOLED อีกครั้ง

นับจากตระกูล X แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Moto X 1st หรือ 2nd Gen ก็ได้เลือกใช้หน้าจอแสดงผลเป็น AMOLED มาตลอด แต่ในรุ่น X Play และ X Style นั้นกลับเปลี่ยนไปใช้เป็น LCD แทน ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ตอนนี้ก็ได้กลับมาใช้เป็น AMOLED อีกครั้ง

 

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าหน้าจอ AMOLED นี่แหละเหมาะกับ Moto ที่สุดแล้ว หน้าจอ AMOLED เหมาะสมกับฟีเจอร์ Moto Display มากที่สุด เพราะกินแบตน้อยมากเมื่อหน้าจอแสดงผลสีดำ ซึ่งเป็นอะไรที่ผมชอบมากๆ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องหน้าจอเบิร์นไว (แต่ก็ประมาณ 1 ปี ขึ้นไปน่ะแหละ ขึ้นอยู่กับการใช้งานด้วย) และสีสันสดใสเกินไปสำหรับใครหลายๆคน

และเมื่อใช้หน้าจอ AMOLED จึงหายห่วงเรื่องการแสดงผลในที่ๆมีแดดแรงได้เลย ไม่ถึงกับสว่างสดใสหรอก แต่ก็สามารถเห็นภาพบนหน้าจอได้สบายๆ

 

และที่สำคัญคือสามารถแสดงผลในที่มืดได้โดยที่หน้าจอไม่สว่างจนเกินไป ในขณะที่หน้าจอส่วนใหญ่มองข้ามจุดนี้ไป

 

โดย Moto Z จะมาพร้อมกับหน้าจอกว้าง 5.5 นิ้ว ความละเอียด 2,560 x 1,440 พิกเซล (Quad HD) และใช้กระจกเป็น Corning Corilla Glass 4

 

 

และถ้าสังเกตดีๆก็จะพบว่าการแสดงผลของ Moto Z จะมีขนาดใหญ่กว่ารุ่นอื่นๆที่มีขนาดและความละเอียดหน้าจอที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเทียบกับ Moto X Style หรือ Samsung Galaxy Note 5 ก็ตาม จะสังเกตเห็นได้ว่าตัวหนังสือบน Moto Z จะใหญ่กว่าเครื่องอื่นๆเล็กน้อย

 

Geek Alert ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้พัฒนา Firmware ของ Moto Z กำหนดให้ตัวเครื่องมีค่า Density เท่ากับ XXXHDPI ในขณะที่รุ่นอื่นๆจะกำหนดเป็น 560DPI กัน ซึ่งผู้อ่านไม่ต้องไปเข้าใจมันหรอกครับ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือเวลาที่แอนดรอยด์มันมองเป็นหน่วย DP (หน้าจอเป็นหน่วย PX ก็จริง แต่นักพัฒนาแอพใช้หน่วย DP ในการออกแบบแอพ) จากปกติที่จะเป็น 731x411dp ก็จะกลายเป็น 640×360 dp แทน

ถ้าถามว่ามีข้อเสียมั้ย บอกเลยว่าไม่มีหรอกครับ จริงๆแล้วนักพัฒนาแฮปปี้ด้วยซ้ำ เพราะขนาด 640×360 dp คือขนาดหน้าจอของมือถือที่หน้าจอต่ำกว่า 5.5 ลงไปครับ ไม่ว่าจะเป็นพวก HD, FHD หรืออื่นๆ ทุกตัว ไม่ว่าจะกี่นิ้วก็ตาม ก็จะนั่นหมายความว่าแอพที่แสดงบนหน้าจอ Moto X ก็จะมีขนาดเท่ากับรุ่นอื่นๆไม่ว่าจะเป็น Nexus 5 หรือ Samsung Galaxy S6 ที่เป็นหน้าจอขนาดทั่วๆไป

ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ข้ามๆมันไปเถอะนะครับ…

ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นปัญหาหรือป่าว เพราะข้อดีของมันก็คือคนที่ชอบตัวหนังสือใหญ่ๆจะแฮปปี้มากๆ เห็นชัดเจนดี ส่วนคนที่รู้สึกว่าใหญ่ไปก็สามารถปรับให้เป็นตัวหนังสือขนาดเล็กได้โดยที่ไม่รู้สึกว่ามันเล็กจนเกินไป (Settings > Display > Font Size)

 

นอกจากนี้ขอบจอจะหนากว่า Moto X Style ซึ่งจะลดปัญหานิ้วไปแตะโดนขอบจอโดยไม่ได้ตั้งใจ (ขอบจอบางไปก็ไม่ดีหรอก…) และดูเหมือนว่าบน Moto Z จะช่วยกันไม่ให้เราเผลอแตะโดนขอบจอได้อีกด้วย

 

เร็ว แรง ไหลลื่นด้วยพลังของ Snapdragon 820

ด้วยประสิทธิภาพของ Snapdragon 820 บวกกับ Adreno 530 จึงมั่นใจได้เลยว่า Moto Z จะทำงานได้งานไหลลื่น ไม่ต้องกลัวสะดุดไม่ว่าจะเล่นเกมหรือดูหนังฟังเพลง

จากที่ผมทดลองใช้งานอยู่หนึ่งสัปดาห์เต็มๆบวกกับ Sync ข้อมูลทุกอย่างจากมือถืออีกเครื่องมาลงใน Moto Z ทั้งหมดเพื่อทดสอบการทำงาน ก็พบว่ายังคงทำงานได้ดีและไหลลื่นอยู่ตลอดเวลา (ถ้าไม่นับตอนที่ใช้แอพที่โหลดหนักๆพร้อมกันจริงๆ)

เกมที่ใช้ประสิทธิภาพสูงแค่ไหนก็คงไม่มีปัญหาเวลาเล่นบน Moto Z ถึงแม้ว่าช่วงนี้ผมจะเล่นเกมอยู่แค่ไม่กี่เกมเท่านั้น แต่หนึ่งในนั้นก็คือเกม Mobius Final Fantasy ที่มีกราฟฟิคสุดยอด (ปนโหดร้ายสำหรับหลายๆเครื่อง) ก็เล่นได้ไหลลื่นบน Moto Z ถึงแม้ว่าจะปรับเป็น High Quality แล้วก็ตาม

ลองดูภาพเต็มๆได้ที่ http://imgur.com/a/JujHl เลย

แต่เพื่อให้เป็นไปตามธรรมเนียมของการรีวิวมือถือ ผมก็เลยจัด Benchmark ด้วย AnTuTu, 3DMark, PCMark และ Geekbench ด้วย ซึ่งได้คะแนนออกมาดังนี้

    • AnTuTu Benchmark : รวม 145,118 คะแนน
      • 3D : 58,150 คะแนน
      • UX : 45,760 คะแนน
      • CPU : 30,420 คะแนน
      • RAM : 10,788 คะแนน

 

    • Geekbench
      • Single-Core : 1,694 คะแนน
      • Multi-Core : 4,000 คะแนน
      • RenderScript : 7,141 คะแนน

 

    • 3D Mark
      • Sling Shot using ES 3.1 : 2,481 คะแนน

 

    • PC Mark
      • 7,457 คะแนน

ส่วนเรื่องความร้อนก็ร้อนตามความแรงนั่นแหละครับ ฮาๆ จุดศูนย์กลางความร้อนจะอยู่ที่บริเวณช่วงขั้วต่อ Moto Mods ซึ่งเวลาตัวเครื่องร้อนก็ทำให้ความเร็วตกเป็นธรรมดาครับ แต่ถ้าอากาศไม่ร้อนก็ไม่มีปัญหา ใช้งานได้ปกติ แต่ถ้าไปกลางแจ้งก็จะร้อนและกระตุกเป็นบางครั้ง (แต่ก็ไม่หนักเท่า Moto X Style)

ซึ่งผมเคยใช้ทั้ง Note 5 และ Moto X Style มาก่อนและทั้งสองตัวนี้ก็ร้อนตอนใช้งานเป็นธรรมดา ผมจึงรู้สึกเฉยๆ แต่สำหรับผู้ใช้หลายๆคนน่าจะรู้สึกว่าร้อนได้ง่ายและร้อนเกินไปมากกว่า

 

Pure Android ดั้งเดิม เพิ่มเติมคือแอพของ Moto

สิ่งหนึ่งที่หลายๆคนชอบใน Moto ก็คงจะไม่พ้นความเป็น Pure Android ที่ให้ความรู้สึกไม่ต่างอะไรกับ Nexus เลย ขึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสาวก Nexus ที่ชื่อชอบใน Pure Android โดยที่ Moto Z จะมีเพิ่มเติมก็แค่แอพต่างๆเพื่อใช้งานกับตัวเครื่องโดยเฉพาะ เช่น Moto Display, Moto Assist, Moto Camera ซึ่งไม่ได้ไปแทนที่ตัว OS เหมือนเจ้าอื่นๆ แต่เป็นแค่เพียงแอพที่ติดตั้งไว้ในเครื่องเท่านั้น

 

และไม่ใช่แค่ว่าเป็น Pure Android ด้วยนะ แต่ความไวในการอัพเดทเวอร์ชันใหม่ๆก็เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ Moto เลยก็ว่าได้ ซึ่งล่าสุด Android 7.0 Nougat ก็ปล่อยให้ Nexus อัพเดทแล้ว คาดว่า Moto Z ก็คงจะได้อัพเดทตามกันไปอีกไม่นานนี้แน่นอน

 

แล้วแอพของ Moto อะไรบ้างล่ะ?

Moto Camera

แอพถ่ายภาพประจำ Moto ที่ล่าสุดได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ UI พอสมควร รองรับการถ่ายภาพแบบ Manual ได้แล้ว แต่ยังไม่มีให้เลือกถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW

 

Moto 

เป็นเสมือนแอพสำหรับกำหนดการทำงานของฟีเจอร์ต่างๆใน Moto Z ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Action หรือการสั่งงานด้วยเสียง รวมไปถึง Moto Display ด้วย

ซึ่ง Action เดิมๆอย่างการถือเครื่องแล้วบิดข้อมือซ้ายขวาสองครั้งเพื่อเปิดกล้อง หรือเขย่าด้านข้างเพื่อเปิดแฟลช ยังคงมีอยู่ครบถ้วน

และใน Moto Z ได้เพิ่มฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Shrink Screen เข้ามาด้วย สำหรับใช้งานมือเดียว โดยให้ปัดนิ้วจากแถบ Navigation Bar ขึ้นข้างบน หน้าจอก็จะถูกย่อลงมาประมาณ 70% ของหน้าจอ

การสั่งงานด้วยเสียงก็ยังคงเหมือนเดิมทั้งหมดไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจนหวือหวา สามารถกำหนด Launch Phrase ได้ตามใจชอบเหมือนเดิม คำสั่งต่างๆก็ถูกรวมเข้ากับการทำงานของ Google Now เรียบร้อยแล้ว

Play video

 

สำหรับ Moto Display ที่เป็นฟีเจอร์หลักของ Moto ในรุ่นหลังๆก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลเล็กน้อย แต่การใช้งานโดยรวมก็ยังคงเหมือนเดิม คือเมื่อตัวเครื่องตรวจจับได้ว่าเรามีการหยืบเครื่องหรือโบกมือผ่านหน้าจอก็จะแสดงหน้าจอสีขาวดำพร้อมข้อมูล Notification เบื้องต้น เพื่อให้เราดูได้ทันทีโดนไม่ต้องปลดล็อคหน้าจอหรือเปิดหน้าจอขึ้นมา (จริงๆหลักการมันก็คือเปิดหน้าจอแต่ใช้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีดำ)

 

ถึงแม้ว่าหลายๆยี่ห้อ หลายๆรุ่น เริ่มที่จะใส่ฟีเจอร์แบบนี้เข้ามาบ้างแล้ว แต่ Moto Display ก็ยังคงโดดเด่นกว่าตรงที่สามารถ Interact กับหน้าจอ Moto Display ได้ สามารถดูเนื้อหาของ Notification นั้นๆแบบง่ายๆได้เพียงแค่เอานิ้วแตะตรงไอคอน Notification ที่ต้องการ ถ้าอยากเปิดดูต่อก็ให้ลากนิ้วขึ้น แต่ถ้าดูเสร็จแล้วและอยากลบทิ้งก็ปัดนิ้วลง

 

Moto File Manager

แอพสำหรับเปิดดูข้อมูลในเครื่องนั้นเอง ซึ่งปกติเป็นแอพที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในรุ่นเก่าๆ ทำให้ผมต้องไปใช้ File Explorer เจ้าอื่นๆ แต่บน Moto Z นั้นจะมี Moto File Manager แอบซ่อนไว้อยู่ โดยมันจะ Disable ไว้ สามารถเข้าไปเปิด Enable แล้วใช้งานได้เลย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงซ่อนอยู่

จากการลองใช้งานก็พบว่าสามารถใช้ทดแทน File Explorer ได้พอสมควร เพราะมีฟีเจอร์พื้นฐานครบไม่ว่าจะเป็นการเปิดไฟล์ คัดลอก/ย้าย ลบ หรือ Compress ให้เป็นไฟล์ .zip

 

อื่นๆจิปาภะ

Moto Z นั้นรองรับการกดปุ่ม Power สองครั้งเพื่อเปิดแอพกล้องด้วยนะ แต่ไม่สะดวกเท่ากับการสะบัดตัวเครื่องเพื่อเปิดหรอก ก็เลยไม่น่าจะใช้งานกันซักเท่าไร และก็ยังคงปรับความสดของหน้าจอได้สองระดับด้วยกัน เผื่อใครรู้สึกว่าหน้าจอสดเกินไป

ก็นั่นล่ะครับ แอพของ Moto ที่พ่วงมากับเครื่องในตอนแรก เรียกได้ว่าแทบจะไม่กี่ตัวเองเนอะ เลยเป็นที่มาว่าทำไม Moto Z ถึงให้ประสบการณ์ของ Pure Android ได้อย่างเต็มที่ไม่แพ้ Nexus

 

สแกนลายนิ้วมือได้ซะที

หลังจากที่เปิดตัวตระกูล X ตัวล่าสุดไป จุดด้อยอย่างหนึ่งของรุ่นนั้นก็คือยังไม่มี Fingerprint Scanner ทั้งๆที่หลายๆเจ้าต่างพากันใส่มาให้หมดแล้ว ซึ่งล่าสุด Moto Z ก็ได้ใส่มาให้เสียที

แต่ก็น่าจะขัดใจหลายๆคนอยู่พอสมควรตรงที่ดันใส่ไว้ที่ข้างล่างของด้านหน้าตัวเครื่อง ซึ่งทำให้พื้นที่ข้างล่างของตัวเครื่องต้องขยายให้มีพื้นที่พอสำหรับใส่ Fingerprint Scanner ได้ ส่วนหนึ่งที่ต้องแปะไว้ตรงนั้นก็คงเพราะเรื่อง Moto Mods นั่นแหละ ที่ทำให้ไม่สามารถเอา Fingerprint Scanner ไปไว้ด้านหลังตัวเครื่องได้ ไม่งั้นจะโดน Mods ตัวอื่นๆปิดทับไป

ส่วนเรื่องความเร็วในการสแกนนั้นไม่ทำให้ผิดหวังครับ เพราะสแกนได้ไวมาก จากเดิมที่เคยใช้ Note 5 ก็รู้สึกว่า Note 5 ตอนนั้นเร็วมากพอแล้ว แต่พอมาลองบน Moto Z ก็พบว่ามันเร็วกว่าแฮะ

และเพื่อไม่ให้เสียเปล่า Moto Z จึงสามารถแตะที่ Fingerprint Scanner เพื่อปิด/เปิดหน้าจอได้เลย ถ้าหน้าจอปิดอยู่ก็จะเป็นการปลดล็อคหน้าจอแล้วเปิดขึ้นมาทันที และถ้าแตะในขณะที่เปิดหน้าจออยู่ก็จะเป็นการปิดหน้าจอทันที จึงทำให้แทบไม่ต้องแตะปุ่ม Power เลย

การปลดล็อคหน้าจอจะต้องใช้นิ้วที่เคยลงทะเบียนไว้กับตัวเครื่องเท่านั้น แต่ถ้าปิดหน้าจอสามารถใช้นิ้วอะไรก็ได้แตะ (แขนไปโดนมันก็ยังนับเลย เอ้า!)

 

รองรับ Spotlight Stories แล้ววววว

นอกเรื่องนิดหน่อย แต่ Moto Z รองรับแอพ Spotlight Stories ด้วยล่ะ ที่เดิมเคยมีปัญหากับ Moto X Style และ Nexus 5X ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งแอพที่ว่านี้เป็นต้นกำเนิดของ VR เลยก็ว่าได้ โดยมีใส่มาตั้งแต่สมัย Moto X 1st Gen ที่ภายหลังถูกแยกออกมาเป็นโปรเจคของ Google และกลายเป็นแอพตัวนี้ขึ้นมา (แต่ดูเหมือนว่าโปรเจคจะเงียบไปแล้วล่ะ)

 

เคลือบสารกันน้ำตามสไตล์ของ Moto

เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ Moto เลยก็ว่าได้ ถึงแม้ว่ารุ่นนี้จะไม่ได้ประกาศว่ากันน้ำกันฝุ่น แต่ว่าวงจรข้างในตัวเครื่องถูกเคลือบด้วยสารกันน้ำอยู่แล้ว เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายเวลาที่น้ำเข้าเครื่อง ซึ่งเป็นอะไรที่ผมชอบมาก

แต่ก็ต้องขอเตือนก่อนไว้ว่าการเคลือบสารกันน้ำไม่ได้หมายความว่าเอาเครื่องไปแช่น้ำเล่นได้นะครับ เพราะมันทำมาสำหรับน้ำที่กระเด็นโดนตัวเครื่องเท่านั้น ไม่ได้ถึงกับเอาไปแช่น้ำได้เลย

 

กล้องเค้าว่าเทพกว่าเดิมเยอะเลยล่ะ

สำหรับกล้องหลังความละเอียด 13MP เป็นอะไรที่กำลังพอดี ไฟล์ไม่ใหญ่เกินไป และขนาดภาพก็ไม่เล็กเกินไป จากเดิมที่ Moto X Style มาพร้อมกับกล้องหลัง 21MP จึงทำให้ Memory ในเครื่องทำงานหนักตอนที่เปิดแอพกล้อง ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ แอพที่เปิดก่อนหน้านจะถูกเคลียร์ Memory ไปอย่างง่ายๆ ดังนั้นสำหรับ Moto Z แล้ว 13MP บวกกับ RAM 4GB จึงเป็นอะไรที่ลงตัวมากๆในมุมมองของผม

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญก็คงจะเป็นกล้องที่ใส่ OIS (ระบบกันสั่น) กับ Laser Auto Focus เข้ามา และในที่สุดก็รองรับการภ่ายภาพแบบ Manual และไฟล์ RAW ซะที (เพราะ Moto X Style ทำไม่ได้) ซึ่งทำให้การถ่ายภาพบน Moto Z มีสีสันมากขึ้น

แอพกล้องที่มากับตัวเครื่องสามารถตั้งค่าการถ่ายภาพแบบ Manual ได้เลย แต่ไม่สามารถบันทึกภาพเป็นไฟล์ ​RAW ได้ ซึ่งต้องหาแอพถ่ายภาพตัวอื่นๆที่รองรับมาใช้งานแทน (ผมใช้ Manual Camera)

ถ้าให้เทียบกับรุ่นก่อนหน้าบอกเลยว่าลดความละเอียดจาก 21MP มากลายเป็น 13MP เป็นเรื่องดีมาก แถมความคมชัดและสีของภาพที่ได้นั้นออกมาดีกว่า Moto X Style เสียอีก (ก็ควรจะเป็นแบบนั้นเนอะ)

เรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่งในกล้องหลังของ Moto Z คือเปิดหน้ากล้องได้สูงสุดแค่ 0.6 วินาทีเท่านั้น (ลองเช็คจากตัวเครื่องโดยตรงแล้ว) จึงอดถ่ายภาพแบบ Light Trails ไปโดยปริยาย

การเปิดหน้ากล้องด้วยแอพ Camera ของ Moto นั้นจะเป็นการเปิดหน้ากล้องไว้ตลอดเวลาที่ Preview และเมื่อผู้ใช้แตะบนหน้าจอจะเป็นการถ่ายภาพทันทีโดยไม่ต้องรอ

Play video

แอพทุกตัวก็เป็นแบบนี้เช่นกัน (แอพที่ปรับระยะเวลาในการเปิดหน้ากล้องได้)

      ส่วนการบันทึกวีดีโอค่อนข้างสะดวกสบาย เพราะว่ามี OIS เข้ามาช่วยเรื่องภาพสั่นขณะถ่าย เวลาบันทึกวีดีโอบน Moto Z จึงได้ภาพวีดีโอที่ไม่สั่นไปมามากนัก และบันทึกวีดีโอความละเอียด 1080p ที่ 60fps ได้แล้ว

Play video

Play video

Play video

Play video

Play video

Play video

      สำหรับกล้องหน้าความละเอียด 5MP อันนี้ผมไม่ค่อยได้ลองอะไรมากนัก เพราะไม่ค่อยได้ถ่ายภาพด้วยกล้องหน้าซักเท่าไร แต่สำหรับ Moto Z ก็ยังเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ใส่ LED Flash ไว้ข้างหน้าด้วย เพื่อให้สามารถ Selfie กล้องหน้าพร้อมแสงแฟลชได้ รวมไปถึง Beauty Mode ที่เรียกได้ว่าเป็นฟีเจอร์สามัญสำหรับกล้องหน้าไปแล้วล่ะ (ฮาๆ)

และกล้องหน้าก็สามารถถ่ายเป็นไฟล์ RAW และปรับ Manual ได้ด้วยเช่นกัน แต่ปรับค่าได้ไม่เท่ากับกล้องหลัง ซึ่งผมแอบแปลกใจเล็กน้อยเพราะปกติแล้วส่วนมากกล้องหน้าไม่ได้ใส่ฟีเจอร์แบบนี้มาให้กันซักเท่าไร

สำหรับไฟล์ RAW จากตัวกล้อง Moto Z สามารถดาวน์โหลดได้จาก https://goo.gl/DWrJVT ครับ อาจจะมีอยู่ไม่กี่รูป แต่ผมจะทยอยถ่ายเพิ่มมาให้จนกว่าจะสาแก่ใจหรือเอาเครื่องคืน

 

แบตเตอรี Mixed Usage ได้ในหนึ่งวัน

ถึงแม้ว่าแบตเตอรีของ Moto Z จะลดเหลือ 2,600 mAh เนื่องมาจากตัวเครื่องที่บางเบา (เทียบกับ Moto X Style ที่แบตเตอรีความจุ 3,000 mAh) แต่พอได้ลองใช้งานจริงก็พบว่าสามารถใช้งานได้นานกว่าตอนใช้ Moto X Style อีก รู้สึกว่าใช้งานทั่วๆไปในหนึ่งวันได้โดยไม่ต้องห่วงว่าแบตจะมอดก่อน

จากการทดสอบด้วยการใช้ชีวิตประจำวัน ออกจากห้องไปทำงานตอน 11.30น. (ชีวิตประจำวันจริงๆนะ) ด้วยแบตเตอรีเต็ม 100% ระหว่างการเดินทางก็เปิด Facebook อัพเดทข่าวสาร เช็คเมลล์ อ่าน Medium และเปิดกล้องมาลองถ่ายรูปเป็นบางครั้ง ระหว่างทำงานก็มีการเปิดมือถือดูข่าวสารหรืองานเป็นระยะๆ พอพักเที่ยงก็แอบเล่นเกม Mobius Final Fantasy ซักหน่อย (พอดีแพทช์ Multiplayrer เข้ามาใหม่) บวกกับทดสอบกล้องด้วยการถ่ายภาพแถวๆที่ทำงาน และใช้งานเป็นบางครั้งบางคราวจนถึงตอนเย็นก็ยังไม่ได้กลับห้องในทันที แต่มีเรียนกับกินข้าวตอนดึก กว่าจะกลับถึงห้องก็ปาไปเที่ยงคืนกว่าๆด้วยแบตเตอรีที่เหลืออยู่ 34%

นี่คือการใช้งานแบบทั่วไปของผมครับ 12 ชั่วโมงครึ่งกับแบตเตอรีที่ลดลงไป 66% โดยที่ตัวเครื่องผมลงแอพทุกตัวที่ผมต้องใช้งานทั้งหมด ไม่ว่าจะ Facebook, Twitter, Line, Google Plus หรือ Slack (ตอน Setup เครอื่งก็แตะ NFC กับเครื่องที่ใช้ประจำอยู่นั่นเอง) ดังนั้นจึงหมดปัญหาว่าผมไม่ค่อยลงแอพหรือป่าว เลยทำให้แบตลดน้อยลงกว่าปกติ

ในกรณีที่ลองเล่นเกมระยะยาวก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถเล่นได้ต่อเนื่องราวๆ 3 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับเกมที่เล่นว่ากินแบตมากน้อยแค่ไหน)

ส่วนการชาร์จแบตเนื่องจากตัวเครื่องที่ได้เป็นเครื่องทดสอบจึงไม่ได้ Moto Turbo Charger มาใช้งาน เวลาชาร์จก็จะชาร์จกับอะแดปเตอร์ของ Aukey ที่สามารถจ่ายไฟสำหรับ Quick Charge ได้ โดยได้ทดสอบชาร์จแบตจาก 0% ไป 100% ก็พบว่าใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง 40 นาที หรือก็คือ 1 นาทีจะชาร์จได้ 1% นั่นเอง

 

Dual SIM หรือจะ SIM+microSD ก็เลือกเอาได้เลย

สำหรับ Dual SIM นั้นแอบประทับใจเล็กน้อยตรงที่ตัวเครื่องสามารถตั้งค่าการใช้งานแต่ละซิมได้สะดวกมาก อยากจะเลือกให้ซิมไหนเป็นซิมหลัก เวลาโทรจะให้เป็นซิมไหน จะส่ง SMS จะให้ส่งด้วยซิมไหน สามารถกำหนดได้หมดเลย

 

จะเข้าไปตั้งค่าผ่าน Quick Menu ในแถบ Notification ได้ และสามารถสลับได้เลยว่าจะใช้อินเตอร์เน็ตจากซิมตัวไหนดี

เวลาอยากจะรู้ว่าอินเตอร์เน็ตที่ใช้อยู่เป็นของซิมตัวไหนก็ให้ดูที่สัญลักษณ์ 3G/H/4G ตัวไหนที่ใช้งานอยู่จะเป็นสัญลักษณ์สีขาว

 

อื่นๆ

GPS นำทางได้ดีมาก โดยเฉพาะตอนเล่น Pokemon GO เพราะหายห่วงได้เลยเวลาจับโปเกมอนในขณะที่อยู่บนรถไฟฟ้า ถ้าอากาศโปร่งใสก็สามารถจับตำแหน่งได้ไวมาก

เดี๋ยวนี้วัดคุณภาพของ GPS ด้วยเกม Pokemon GO กันแล้วสินะ..

 

WiFi รองรับทั้ง 2.4GHz และ 5GHz จากที่ลองใช้งานยังไม่พบเจอปัญหาการเชื่อมต่อหรือสัญญาณเลยนะ

 

ตำแหน่งปุ่ม Volume เป็นอะไรที่ชวนขัดใจอยู่ไม่น้อย เพราะมือถือส่วนใหญ่จะเอาปุ่ม Volume ไว้ข้างล่างปุ่ม Power แต่สำหรับ Moto Z นั้นกลับเอาปุ่ม Volume ไปไว้อยู่เหนือ Power แทนจึงทำให้ไม่ค่อยชินซักเท่าไรนักกับตำแหน่งปุ่มแบบนี้

และมักจะมีปัญหาเวลาแคปหน้าจอ เพราะต้องกดปุ่ม Power + Volume Down พร้อมๆกัน ซึ่งทั้งสองปุ่มนั้นมันอยู่ใกล้กันมากๆจนรู้สึกว่ากดลำบากนิดหน่อย

 

ลำโพงหน้าที่ถูกตัดเหลือตัวเดียว เพราะอีกฝั่งต้องใส่ Fingerprint Scanner จึงทำให้รู้สึกว่า Moto Z ด้อยเรื่องเสียงลำโพงโดยทันที แต่ก็สามารถทดแทนได้ด้วย Moto Mods (เสียตังเพิ่ม) และรู้สึกว่าคุณภาพเสียงและความดังจะด้อยกว่าสมัย Moto X Style นะ (ถ้าผมไม่ได้มโนไปเอง)

 

ช่องหูฟัง 3.5mmที่ขาดหายไป เนื่องจากตัวเครื่องบางเกิน และเปลี่ยนไปใช้ USB-C จึงต้องใช้หัวแปลง USB-C ให้กลายเป็นช่องหูฟัง 3.5mm เอา การใช้หูฟังบลูทูธอาจจะดูเหมือนตอบโจทย์ แต่สายที่ใช้ชาร์จหูฟังบลูทูธส่วนใหญ่ก็ยังเป็น microUSB อยู่ ซึ่งกลายเป็นว่าต้องพกทั้งสาย USB-C กับ microUSB

 

ข้อดี

    • หน้าจอ AMOLED ช่วยประหยัดไฟในการแสดง Moto Display (ถ้าคุณชอบหน้าจอแบบ AMOLED)
    • มี Moto Mods อุปกรณ์เสริมสุดเจ๋ง
    • เร็วด้วย Snapdragon 820 และลื่นด้วย Pure Android
    • แบตเตอรีอยู่ได้นานครบวัน
    • เปลี่ยนฝาหลังได้ตามใจชอบ
    • เบาและบางมากกกก
    • มี LED Flash ข้างหน้า
    • RAM เยอะ เหลือใช้มากมาย
    • ความละเอียดของกล้องหลังลดลงแต่คุณภาพของภาพที่ได้นั้นดีขึ้น
    • มีระบบกันสั่น OIS
    • รองรับการถ่ายภาพแบบ Manual (Camera API v2) ทั้งกล้องหน้าและหลัง
    • รองรับไฟล์ RAW ทั้งกล้องหน้าและหลัง
    • ชาร์จไวทันใจด้วย TurboPower
    • รู้สึกปลอดภัยมากขึ้นด้วย Fingerprint Scanner
    • Moto Display เจ๋งสุดในใต้หล้า
    • ตัวเครื่องเคลือบสารกันน้ำ
    • GPS แม่นมาก
    • รองรับทุกเครือข่ายในบ้านเรา
    • รองรับ 2 SIM สามารถใช้ 3G/4G ได้ทั้งคู่

 

ข้อเสีย

    • หน้าจอสีสดเกินไป (ถ้าคุณไม่ชอบหน้าจอแบบ AMOLED)
    • เปลืองตังกับ Moto Mods
    • ตัวเครื่องร้อนง่าย
    • เชื่อมต่อผ่านช่อง USB-C ซึ่งตอนนี้สายยังแพงและหาได้ยาก
    • ลำโพงเหลือแค่ช่องเดียว
    • ไม่มีรูหูฟัง 3.5mm (แต่มีสายแปลงให้)
    • ถ้าไม่ใช้สายแปลงก็ต้องหาพวกหูฟังบลูทูธมาใช้แทน
    • ตำแหน่งปุ่ม Volume ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน
    • Fingerprint Scanner แตะโดนอย่างอื่นที่ไม่ใช่นิ้วง่ายเกิน (แล้วหน้าจอก็ปิด..)
    • ขั้วคอนแทคมีโอกาสเสื่อสภาพได้ถ้าไม่ดูแล
    • ผิวด้านหลังตัวเครื่องเป็นรอยได้ง่าย

 

สรุป

ต้องบอกเลยว่า Moto Z นั้นได้รับแรงบันดาลใจจากฝั่ง Lenovo มามากพอสมควร ขนาดเปิดตัวยังเปิดในงาน Lenovo Tech เลย นั่นจึงทำให้ Moto Z มีหน้าตาบางส่วนที่คล้ายคลึงกับของ Lenovo อยู่บ้าง (แต่โลโก้ก็ยังเป็น Moto อยู่นะเออ) ซึ่งสาวก Moto หลายๆคนอาจจะเศร้าโศกหรือเสียใจไปบ้างที่จุดเด่นบางอย่างได้หายไป แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอะไรหลายๆอย่างเพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มความสามารถให้กับ Moto Z ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเหล่าอุปกรณ์เสริม Moto Mods ที่น่าจะมาสูบกระเป๋าตังของเราไปไม่น้อย (ฮาๆ)

นี่คือสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่ยาวที่สุดในโลก…

      ตัวผมเองใช้ Moto X Style เป็นเครื่องประจำ แล้วได้มาลองสัมผัส Moto Z ก็ทำให้รู้สึกว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงจากของเดิมเป็นอย่างมาก อะไรหลายๆอย่างที่เคยขาดไปใน Moto X Style ก็ถูกนำมาเพิ่มเติมใน Moto Z จึงทำให้รู้สึกว่า Moto Z นั้นมีความสมบูรณ์สำหรับการใช้งานในปัจจุบันนี้แล้วล่ะ

และสำหรับประเทศไทยก็จะเปิดให้จองในงาน Thailand Mobile Expo ที่จะถึงนี้ด้วยราคา 23,900 (เห็นว่าเป็นรุ่น 64GB ไม่มีรุ่น 32GB) โดยจะแถม JBL Soundboost กับ Moto Style Shells ที่เป็นลาย Wooden อย่างละ 1 ชิ้นด้วย

ถ้าถามผมว่า Moto Z น่าสนใจแค่ไหน ผมก็คงรู้สึกเฉยๆมากกว่า และบอกแค่ว่า

“ผมขาย Moto X Style กำเงินไว้ในมือเรียบร้อยแล้วครับ…”

ส่วนใครอยากรู้ว่า Moto Mods ทั้งหลายมันสามารถทำอะไรได้บ้าง ไปอ่านต่อได้ที่ รีวิว Moto Mods