MSI Titan 18 HX เรียกได้ว่าคือที่สุดของโน้ตบุ๊กเกมมิ่งจากแบรนด์ MSI ณ ตอนนี้ ด้วยสเปคที่ให้มาอย่างจัดเต็ม ใช้ซีพียู การ์ดจอรุ่นท็อป และดีไซน์สุดล้ำ ทำให้เชื่อว่าหลายคนก็อยากรู้เหมือนกันว่าโน้ตบุ๊กเครื่องละเกือบ 2 แสนบาท นี้มีทีเด็ดอะไร วันนี้ทีมงานจะมาบอกเล่าประสบการณ์การใช้งานโน้ตบุ๊กเครื่องนี้กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง จะยิ่งใหญ่ อลังการขนาดไหน สมคำร่ำลือที่พูดต่อ ๆ กันมาหรือไม่

ดีไซน์เรียบหรู ดูดุดัน

งานออกแบบภายนอกของ MSI ตระกูล Titan ปีนี้อาจจะไม่ได้ดูหวือหวาเหมือนกับรุ่นที่ผ่านมา แต่ดีไซน์จะไปทางเรียบหรูดูแพงมากกว่า เพราะไฟ RGB ที่ให้มามีเพียงแค่บริเวณ โลโก้ด้านหลัง คีย์บอร์ด และทัชแพดเท่านั้น ต่างกับโน้ตบุ๊กในระดับราคานี้ที่จะมีไฟ Ambient light หรือ Light Bar ประดับมารอบ ๆ ตัวเครื่องด้วย

ด้านซ้ายมาพร้อมกับช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ ช่อง USB-A 3.2 Gen 2 จำนวน 2 ช่อง และ SD Card Reader ตัวเต็ม

ด้านขวามีช่องระบายความร้อนเหมือนด้านซ้าย และช่อง Thunderbolt 4 จำนวน 2 ช่อง โดยหนึ่งช่องจะมาพร้อมกับเทคโนโลยี PD3.1 ด้วย ช่อง USB-A 3.2 Gen 2 และช่องหูฟัง 3.5 แบบ Combo Jack

ด้านหลังเครื่อง มาพร้อมกับช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่บริเวณด้านซ้าย และด้านขวาของตัวเครื่อง ตรงกลางมีช่องต่อไฟเลี้ยง DC, HDMI 2.1 และช่อง LAN RJ45

ระยะห่างของพอร์ตอยู่ในระดับที่กว้างพอดี ที่จะเสียบ Flash Drive ขนาดใหญ่ได้พร้อมกันสองตัว แต่ส่วนตัวคิดว่าพอร์ตฝั่งซ้ายกับฝั่งขวาควรสลับกันมากกว่า เพราะพอร์ตที่เราไม่ค่อยได้ใช้งาน หรือพอร์ตความเร็วต่ำ ควรอยู่ฝั่งขวามากกว่า เพื่อไม่ให้เกะกะเวลาลากเมาส์

ภาพรวมให้พอร์ตมาครบครันดี แต่ก็รู้สึกว่าให้มาน้อยไปหน่อย เมื่อเทียบกับขนาดของตัวเครื่องที่ใหญ่โต หน้าจอ 18 นิ้ว แบบนี้

ด้านใต้ตัวเครื่อง มาพร้อมกับช่องดูดลมเย็นที่เจาะรูไว้จำนวนมาก กินพื้นที่กว่า 50% ของตัวเครื่อง ลวดลายที่ให้ความรู้สึกเหมือนหุ่นยนต์รบจากภาพยนตร์ดัง ๆ พร้อมข้อความ TITAN ตรงกลางเครื่อง ยางรองที่มีมาให้ด้านใต้เครื่องมีทั้งหมด 5 จุด ช่วยยกเครื่องให้สูงขึ้นจากพื้นโต๊ะพอสมควร

ลำโพง ให้มาแบบจัดเต็ม 6 ตัว แบ่งเป็นลำโพงปกติ 4 ตัว ด้านบน และซับวูฟเฟอร์ 2 ตัว ด้านล่าง ให้เสียงที่ดังมากตามขนาดของตัวเครื่อง แถมเวลาเร่งเสียงดัง ๆ ไม่มีอาการเสียงแตกพร่าอีกด้วย ส่วนคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ แต่ก็สไตล์ลำโพงบนโน้ตบุ๊ก เสียงต่ำ เสียงเบส ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เลยทำให้ภาพรวมดูเสียงฟังดูแห้ง ๆ ไม่ค่อยกระหึ่มแบบลำโพงแยก

ตัวอะแดปเตอร์จ่ายไฟ มีขนาดใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาแล้ว รองรับการจ่ายไฟ 400W เรียกได้ว่าจ่ายไฟให้เครื่องนี้ได้ฉ่ำ ๆ แน่นอน

วัสดุตัวเครื่องทำมาจากแมกนีเซียมอัลลอย ที่มีข้อดีคือช่วยให้มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงแข็งแรงไม่ต่างจากอะลูมิเนียม

หน้าจอเทพ 4K 120Hz Mini LED HDR 1000

MSI Titan 18 HX มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 18 นิ้ว สัดส่วน 16:10 ความละเอียด 4K+ (3840×2400) ใหญ่เต็มตา ภาพคมชัด โดยหากพูดถึงขนาดหน้าจอ 18 นิ้ว ในสมัยก่อนหลายคนอาจจะคิดว่าเครื่องต้องมีขนาดใหญ่ตามแน่ ๆ เลย แต่ด้วยการใช้หน้าจออัตราส่วน 16:10 ก็ทำให้ขนาดตัวเครื่องเหลือประมาณโน้ตบุ๊กหน้าจอ 17.3 นิ้ว ในสมัยก่อนได้

เรื่องของสีสันหน้าจอ ตัวนี้ใช้พาแนลแบบ Mini LED ความเที่ยงตรงสี DCI-P3 100% หลังจากที่ได้ใช้งานบอกเลยว่าสีสันทำได้สวยมาก มีมิติความดำที่ละเอียดกว่าหน้าจอ IPS ทั่วไปอยู่พอสมควร จะเอามาใช้เล่นเกมหรือทำงานก็ได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมากคือ หน้าจอแบบด้าน Anti-glare ช่วยลดแสงสะท้อน แต่ไม่ลดทอนสีสันที่แสดงผลออกมาก

แม้ Refresh Rate 120 Hz จะไม่ได้สูงมาก แต่ก็แลกมากับหน้าจอความละเอียดสูง 4K และพาแนล Mini LED ที่มีระดับสูงกว่าแทน ทำให้หน้าจอตัวนี้ผ่านการรับรองมาตรฐาน VESA Display HDR 1000 ด้วย เอาไปดูหนัง เล่นเกมสีสันฉูดฉาดสะใจแน่นอน

ตัวน้ำหนักแกนฝาพับทำออกมาได้ดีมาก สามารถเปิดมือเดียวได้ และมีความหนืดเพียงพอไม่ให้หน้าจอสั่นเกินไปเวลาเราขยับเครื่องด้วย ตัวแกนฝาพับจะมีด้วยกันสองแกนซ้ายขวา ขนาดใหญ่ดูแข็งแรงเหมาะสมกับตัวเครื่องดี หน้าจอกางได้สูงสุดประมาณ 150 องศา

ด้านบนหน้าจอให้กล้อง Webcam ความละเอียด FullHD พร้อมกล้อง IR และไมโครโฟนตัดเสียง 2 ตัว

คีย์บอร์ด และทัชแพด ให้สัมผัสต่างจากโน้ตบุ๊กรุ่นอื่นมาก

ตัวแป้นพิมพ์ของ MSI Titan 18 HX มาใน Layout 98% แบบที่มี Numpad เนื่องจากตัวเครื่องมีพื้นที่ค่อนข้างมาก ทำให้แม้ว่าจะใส่ Numpad มา แต่ก็ไม่ได้ไปเบียดที่ ทำให้ปุ่มอื่น ๆ เล็กลง ความพิเศษคือ ใช้คีย์บอร์ดจาก Steelseries และสวิตช์ Ultra-Low Profile จาก Cherry MX ด้วย

ด้านขวาบนมีปุ่ม Power พร้อมไฟแสดงสถานะ รวมในชุดแผงคีย์บอร์ดหลัก ทำให้บางทีอาจจะกดผิดกดถูกไปโดนบ้าง และแม้ว่าตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่พื้นที่เยอะ แต่ก็ไม่ได้มีการแยกปุ่มฟังก์ชัน เพิ่มเสียงลดเสียง ปรับโหมดการทำงานมาให้ ต้องใช้กดปุ่ม Fn ร่วมด้วยทุกครั้ง

ฟังก์ชันปุ่มลัดให้คำสั่งที่ใช้งานบ่อย เช่น การปรับไฟคีย์บอร์ด เปิดปิดทัชแพด และปรับความสว่างของหน้าจอ มีปุ่ม Delete และ Print Screen มาให้ด้วย สิ่งที่ขัดใจมีอย่างเดียวคือ ปุ่มลูกศรที่ไม่แยกออกมาจากคีย์บอร์ดหลัก คือเวลาเล่นเกมแล้วคลำไปจะกด มักจะกดผิดบ่อย ๆ

ไฟ RGB แบบ Per-Key ทุกปุ่มแบบไฟลอด โดยแสงที่ส่องออกมาจะออกมาบริเวณด้านบนปุ่มเป็นหลัก ทำให้อักษรภาษาไทยในแถวล่างไม่ค่อยสว่าง และการจัดวางฟอนต์ที่คีย์บอร์ดแถวบนอาจจะรู้สึกแปลกนิดนึง เพราะภาษาอังกฤษมีการสลับแถวบนล่าง ส่วน Effect ไฟ มีมาให้ปรับเยอะหลายแบบ แถมสามารถปรับแยกกันได้ทุกส่วนได้ด้วย

ความรู้สึกหลังได้ใช้งานพบว่าเป็นคีย์บอร์ดให้ความรู้สึก Tactile ที่หนึบหนับ แตกต่างจากคีย์บอร์ดรุ่นอื่น และมีเสียงตอนดีดกลับที่ดังกว่าคีย์บอร์ดบนโน้ตบุ๊กรุ่นทั่วไปด้วย ถ้านึกไม่ออกคล้าย ๆ กับความรู้สึกตอนที่ใช้ Blue Switch ครั้งแรกในชีวิตประมาณนั้น

ใช้พิมพ์งานบอกเลยว่ามันมาก ตัวปุ่มมีความลึกใช้ได้ เวลากระแทกแป้นพิมพ์แล้วไม่รู้สึกว่ามันสะท้านนิ้ว แต่ถ้าเอาไปใช้ในออฟฟิศจริงจัง อาจจะรบกวนคนอื่นที่อยู่ร่วมกันได้ เพราะเสียงตอนพิมพ์เร็ว ๆ ค่อนข้างดัง

ส่วนตอนเล่นเกม ก็อาจจะมีคลำปุ่มไม่เจอบ้าง (โดยเฉพาะตอนเล่น MOBA) ทั้งนี้เพราะคีย์บอร์ดบนโน้ตบุ๊กเป็นแบบ Chiclet แบน ๆ ด้วย แต่ก็มีการทำปุ่มนูนออกมาตรงตัว W ให้คลำหาง่าย ๆ ก็พอจะแก้ขัดได้บ้าง

ตัวทัชแพด บอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งในจุดเด่นของเครื่องนี้ เพราะมาพร้อมกับไฟ RGB และเป็นแบบปุ่มแบบ Haptic ด้วย คือไม่ใช่ปุ่มแบบ Physical แบบเดิมแต่ก่อนแล้ว จะใช้การสั่นเข้ามาทดแทนตอนที่เราออกแรงกด ข้อดีอีกอย่างคือเราสามารถกดบริเวณไหนก็ได้บนทัชแพด ไม่ต้องเลื่อนมือลงมากดแล้ว

พื้นผิวบริเวณด้านล่างแป้นพิมพ์ ใช้วัสดุเป็นกระจกยาวเต็มทั้งแผ่น ไม่มีการเว้าส่วนของทัชแพดลงไปแต่อย่างใด ทำให้ทัชแพดเรียบเนียนไปกับพื้นผิวของเครื่อง แต่บริเวณที่ใช้ทัชแพดได้จะมีอยู่แค่ตรงที่มีแสงไฟ RGB เท่านั้น ไม่ได้ใช้ได้ยาวเต็มแผ่นแต่อย่างใด หมายความว่าถ้าเราปิดไฟ RGB ก็จะไม่รู้เลยว่าทัชแพดอยู่บริเวณไหนของตัวเครื่อง แต่ยังใช้ได้ปกตินะ

สัมผัสที่ได้ทดลองใช้มาคือ ลื่นมาก และแม่นยำ ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกับทัชแพดในโน้ตบุ๊กเครื่องอื่น มีความใกล้เคียง MacBook มาก เป็นทัชแพดที่ดีมากรุ่นหนึ่งเลย

ความแรงระดับพระกาฬ

MSI Titan 18 HX มาพร้อมกับซีพียู Intel Core i9-14900HX ซีพียูรุ่นล่าสุดของปี 2024 จับคู่กับการ์ดจอ NVIDIA Geforce RTX 4090 (TGP 175W) ที่สามารถเรียกพลังงานรวมกันได้สูงสุดถึง 270W

แรม 64GB เมื่อดูจากสเปคแล้วจะพบว่าความแรงอยู่ในระดับสูงที่สุดในบรรดาโน้ตบุ๊กเกมมิ่งในตลาดก็ว่าได้

ทดสอบความแรงซีพียูด้วยโปรแกรม Cinebench R23 ได้คะแนนแบบ Multi Core ไป 25,288 คะแนน และแบบ Single Core ไป 1,957 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงมาก ๆ แต่เครื่องที่ทดสอบไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมความแรงของซีพียูที่ทดสอบกลับได้น้อยกว่าเครื่องที่ใช้ซีพียูรุ่นเดียวกันพอสมควร ปกติคะแนนจะอยู่ประมาณ 3 หมื่นคะแนน

แรมตัวเครื่องให้มาทั้งหมด 64GB DDR5 Bus 5600 MHz แบบ SO-DIMM ตัวเครื่องมี Slot ใส่แรมทั้งหมด 4 ช่อง สามารถอัปเกรดเพิ่มได้สูงสุด 192GB ซึ่งบอกเลยว่าเดิม ๆ ที่ให้มาก็เหลือเฟือสำหรับทุกการใช้งานแล้ว

การ์ดจอ NVIDIA Geforce RTX 4090 รุ่นท็อปที่สุดของบรรดาการ์ดจอที่อยู่บนโน้ตบุ๊ก มาพร้อมกับค่า TGP ที่ Boost สูงถึง 175W บอกเลยว่าเอาไปใช้เล่นเกมความละเอียด 4K ได้ลื่นทุกเกม ทำเฟรมเรทออกมาเกิน 60 FPS แบบไม่ต้องเปิด DLSS หรือ Frame Generation ช่วยเลย

จะเล่นเกมไหนก็ได้หมด 4K 60 FPS นิ่ง ๆ

  • Cyberpunk 2077 (Ray Tracing Ultra, DLSS : Auto + Frame Gen) ได้ไป 71 FPS
  • PUBG (Ultra) อยู่ในช่วง 70 FPS
  • DOTA 2 (Best looking) อยู่ในช่วง 120-200 FPS
  • Valorant (High) ประมาณ 300-400 FPS
  • Need For Speed Unbround (Ultra + DLSS Auto + Frame Gen) 110 FPS
  • Forza Horizon 5 (Extreme, DLSS : Auto + Frame Gen) ได้ไป 138 FPS
  • Red Dead Redemption 2 (Ultra) ได้ไป 78 FPS
  • 3DMark Time Spy Extreme 9,390 คะแนน
  • 3DMark Steel Nomad 4,652 คะแนน

SSD ที่ให้มาความจุ 2 TB แบบ NVME PCIe 5.0 สามารถอัปเกรดเพิ่มได้อีก 2 ช่อง แบบ 4.0 ทดสอบด้วยโปรแกรม Crystal Disk Mark 8 มีความเร็วอ่านประมาณ 7000 MB/s และเขียนที่ 5200 MB/s ความเร็วที่ได้บอกเลยว่าสูงมาก แถมได้ SSD รุ่นล่าสุด PCIe 5.0 มาด้วย เพียงพอกับการใช้งานทั่วไป และเล่นเกมแน่นอน

ความร้อนของตัวเครื่อง อุณหภูมิซีพียูร้อนสุดชนเพดาน 100 องศาเซลเซียส ส่วนการ์ดจอร้อนสุด 74 องศาเซลเซียส ทดสอบในห้องแอร์ 26 องศาเซลเซียส คือบอกเลยว่าด้วยสเปคระดับนี้ความร้อนที่ปล่อยออกมาก็อยู่ในระดับแตะ 100 องศาเซลเซียสอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่ใช้งานก็ไม่เคยมีปัญหาความเร็วตก เฟรมเรทดรอปแต่อย่างใด เอาอยู่สบาย ๆ

ส่วนความร้อนที่แผ่ออกมาที่ตัวเครื่องด้านนอก ก็ตามคาดคือร้อนมาก แต่ตัวเครื่องก็ได้มีการจัดสรรพื้นที่ให้เราวางนิ้วเวลาเล่นเกมแล้วไม่มีความร้อนไปรบกวนได้ดี แค่ต้องระวังไม่ให้มือลั่นไปโดนขอบเครื่องแค่นั้น ส่วนเรื่องเสียงพัดลมบอกเลยว่าดังกระหึ่มตามขนาด ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของโน้ตบุ๊กสไตล์นี้อยู่แล้ว

การเชื่อมต่อแบบไร้สาย ได้รุ่นใหม่ล่าสุด อย่าง Wi-Fi 7 มาเลยแถมเป็นตัว Killer ด้วย บอกเลยว่าจับสัญญาณ Wi-Fi ได้ดีมาก รองรับคลื่น 6 GHz ความถี่ใหม่ไร้คลื่นรบกวนด้วย ถ้าใครจะเล่นเกมผ่าน Wi-Fi ก็แนะนำให้ใช้คลื่น 6 GHz ได้เลย เพราะแทบจะไม่มีอาการ Ping พุ่งเลย

ตัวใหญ่แบตก็ใหญ่ แต่…

แบตเตอรี่ใส่มาให้ในความจุ 99.9 Whr ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะใส่ในโน้ตบุ๊กแล้ว สามารถถือขึ้นเครื่องบินได้ ทีมงานได้ทดสอบดู YouTube ผ่าน Microsoft Edge เป็นเวลา 1 ชม. ปิดไฟคีย์บอร์ด เปิดความสว่าง และเสียงลำโพง 30% เปิดโหมดประหยัดพลังงาน

พบว่าสามารถใช้ได้ประมาณ 4 ชม. 10 นาที ก็ถือว่าไม่ได้อึดมากมายอะไร เพราะถ้ามองว่าสเปคที่ให้มาอยู่ในระดับตัวท็อป ที่พร้อมจะสูบพลังงานอันมหาศาลแล้ว ทำได้ประมาณนี้ก็จัดว่าโอเคเลย

MSI Center พร้อมรับจบทุกเรื่องของเครื่องนี้

MSI Titan 18 HX มาพร้อมกับโปรแกรมควบคุมตัวเครื่องหลัก ๆ แล้วมีทั้งหมด 4 โปรแกรม ด้วยกัน คือ MSI Center, Nahimic, Steelseries Engine และ MSI True Color

MSI Center จะเอาไว้อัปเดตไดรเวอร์ ปรับโหมดการทำงาน และตรวจสอบสถานะเครื่องเป็นหลัก โดยโหมดการทำงานหลัก ๆ จะมี 5 โหมด ด้วยกัน คือ AI Engine, Extreme Performance, Balance, Silent และ Super Battery นอกจากนี้ ยังเป็นที่เปิดปิดตัว MUX Switch สำหรับสลับโหมดการทำงานของการ์ดจอในเครื่องด้วย

ส่วนโปรแกรมอื่น ๆ อย่าง Nahimic เอาไว้ปรับแต่งเสียง ปรับ EQ ปรับโหมดของลำโพง Steelseries Engine หลัก ๆ แล้วจะเอาไว้ใช้ปรับสีไฟ RGB และตั้ง Macro ของทั้งเครื่อง และ MSI True Color เอาไว้ปรับสีหน้าจอ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถตั้งค่าได้ผ่านโปรแกรม MSI Center ได้เหมือนกัน แต่ฟีเจอร์อาจจะไม่ครบเท่า

สรุปยิ่งใหญ่ สมคำร่ำลือหรือไม่

MSI Titan 18 HX เป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ทำประสิทธิภาพได้ทรงพลังมาก เป็นที่สุดของโน้ตบุ๊กเกมมิ่งแห่งปี 2024 เลยก็ว่าได้ สามารถเล่นเกมแบบ 4K 60 FPS ได้ทุกเกมบนโลกนี้

สเปคที่ให้มาก็เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นซีพียูตัวท็อป อย่าง Intel Core i9-14900HX จับคู่กับการ์ดจอรุ่นท็อป RTX 4090 มีสเปคส่วนไหนที่ไม่ท็อปบ้าง ให้เอาปากกามาวงได้เลย

งานประกอบ วัสดุ สัมผัสภายนอก แข็งแรงแน่นหนา จับไปแล้วรู้สึกพรีเมียม สิ่งที่ชอบมากของเครื่องนี้ คือทัชแพดที่เป็นแบบ Haptic ให้สัมผัสการกดไม่เหมือนกับเครื่องอื่นเลย คือมันลื่น และแม่นยำมาก แถมกดตรงไหนก็ได้ด้วย เป็นทัชแพดที่ดีที่สุดตั้งแต่ใช้โน้ตบุ๊กบน Windows มาเลย

ส่วนคีย์บอร์ดก็ให้สัมผัสที่ไม่เหมือนกับเครื่องอื่นเช่นกัน เอามาใช้พิมพ์งานเล่นเกมได้มันมือมาก แต่ก็อาจจะมีเสียงรบกวนที่มากกว่าปกตินิดหน่อย เวลาใช้ในที่สาธารณะก็อย่าพิมพ์จนไฟแลบมากนักจะเป็นการดี

พอร์ตการเชื่อมต่อ ก็ให้มาเป็นพอร์ตรุ่นใหม่ล่าสุด อย่าง HDMI 2.1 และ Thunderbolt 4 ถึง 2 ช่อง รองรับการต่อหน้าจอแยกได้ถึง 3 หน้าจอพร้อมกัน

หน้าจอ Mini LED ตัวนี้บอกเลยว่าอาจจะไม่ได้ถูกใจเกมเมอร์สาย FPS เท่ากับจอที่มี Hz สูงกว่านี้ แต่สำหรับเกมเมอร์ทั่วไปที่เน้นเสพภาพสวย ๆ กราฟิกแบบ Ultra น่าจะถูกใจสีสันของจอตัวนี้มากกว่า เพราะเวลาที่แสดงสีดำในฉากที่มืด ๆ ก็ทำได้มีมิติกว่าหน้าจอ IPS อยู่ระดับหนึ่งเลย

ส่วนข้อสังเกต คงเป็นเรื่องของน้ำหนักที่เยอะกว่าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งทั่วไปอยู่พอสมควร แค่ตัวเครื่องก็ปาเข้าไป 3.6 กิโลกรัมแล้ว รวมอะแดปเตอร์ 1.1 กิโลกรัม สิริรวมเกือบ 5 กิโลกรัม บอกเลยว่าการที่จะพกพาไปนอกสถานที่ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ ต้องใช้กระเป๋าขนาดที่ใหญ่พิเศษ ที่มีการออกแบบมาให้แบกของหนักได้ด้วย เพื่อความปลอดภัยในการขนย้าย

ลำโพงที่ให้มาแม้ว่าเสียงดังเต็มห้องขนาดไหน แต่คุณภาพเสียงที่ได้ก็ยังอยู่ในระดับโน้ตบุ๊กอยู่ดี ที่เสียงจะแบน ๆ ขาดเบส ฟังแล้วยังรู้สึกแห้ง ๆ ไปหน่อย และแน่นอนว่าเครื่องที่แรงย่อมมากับความร้อนที่มาก เสียงพัดลมที่ดังกระหึ่ม เพื่อกดอุณหภูมิตัวเครื่องที่มีสเปคแรงระดับนี้ให้อยู่หมัด เรื่องนี้อาจจะต้องเตรียมใจยอมรับนิดนึง

แต่ถ้ารับได้ก็บอกเลยว่าใครที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊กรุ่นที่จัดเต็มที่สุด ท็อปที่สุด ก็ไม่มีโน้ตบุ๊กเครื่องไหนที่จะเหมาะสมไปกว่า MSI Titan 18 HX เครื่องนี้แล้ว

ข้อดี

  • หน้าจอเทพ Mini LED 4K 120Hz HDR 1000
  • ขนาดเครื่องเล็กกว่าโน้ตบุ๊ก 18 นิ้ว ทั่วไป
  • งานประกอบแน่น
  • ทัชแพดแบบ Haptic ใช้ดีมาก
  • คีย์บอร์ดพิมพ์มันมาก
  • คุมความร้อนอยู่ ใช้ในห้องร้อนๆ ความแรงไม่ตก
  • สเปคแรง i9 + RTX 4090 เล่นบนจอ 4K ลื่นทุกเกม
  • พอร์ตการเชื่อมต่อเยอะ

ข้อสังเกต

  • น้ำหนักตัวเครื่องรวมอะแดปเตอร์เกือบ 5 กิโลกรัม หนักมาก และใหญ่มาก
  • พัดลมระบายความร้อนทำงานเสียงดัง
  • ตอนใช้งานเครื่องเต็มกำลังเครื่องร้อนมาก
  • หน้าจอกางได้ประมาณ 150 องศา
  • ลำโพงน่าจะคุณภาพเสียงดีกว่านี้
  • ไม่มีปุ่มปรับโหมดการทำงานเครื่อง และปุ่มเพิ่มลดเสียงแยก
  • Webcam 1080p 30 fps
  • คีย์บอร์ดตอนพิมพ์เสียงค่อนข้างดัง

สเปค MSI Titan 18 HX

  • ชื่อรุ่น MSI Titan 18 HX A14VIG-031TH
  • CPU : Intel Core i9 – 14900HX
    • 24 Core (8 P-Core 16 E-Core) 32 Threads
    • Turbo Boost 5.8 GHz
    • Cache 36M
    • Max TDP 65W PL2 175W
  • GPU : NVIDIA Geforce RTX 4090 Laptop
    • VRAM 16GB GDDR6
    • TGP 175W With Dynamic Boost
    • MUX Switch + NVIDIA Advanced Optimus
  • RAM : 64GB (32GBx2) DDR5 Bus 5600 MHz
  • SSD : 2TB M.2 NVME PCIe 5.0
  • หน้าจอ : 18 นิ้ว
    • ความละเอียด 4K+ (3840 x 2400, UHD+)
    • อัตราส่วน 16:10
    • Refresh Rate 120Hz
    • ขอบเขตสี DCI-P3 100%
    • ผ่านมาตรฐาน VESA DisplayHDR 1000
    • ประเภท : Mini LED แบบด้าน Anti-glare
  • Wi-Fi 7 (802.11be) , Bluetooth 5.4
  • Battery : 99Whr
  • น้ำหนักตัวเครื่อง : 3.6 กิโลกรัม
  • OS : Windows 11 Home
  • ประกัน : 3 ปี + Global warranty 1 ปีแรก
  • ราคา : 189,990 บาท