ก่อนหน้านี้ผมเองได้เขียนบทความเปรียบเทียบ OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro ไปว่าราคาต่างกันเกือบหมื่น จะเลือกซื้อรุ่นไหนดี ซึ่งตอนนั้นคือการเปรียบเทียบสเปคกระดาษ ยังไม่ได้ใช้งานจริง แต่ในบทความนี้ ผมได้ลองใช้มือถือตัวแรงสองรุ่นนี้มาราวๆ เกือบสองสัปดาห์แล้วครับ จะมาเล่าให้การใช้งานทั่วไปเป็นยังไง 7T ยังคุ้มค่ากับราคากว่าหรือไม่หรือตัดใจไปสอยรุ่น 7T Pro เลยจะครบกว่า
แกะกล่อง OnePlus 7T
ก่อนจะรีวิว เรามาแกะกล่องเช็คของกันก่อนเลยดีกว่า ทั้ง OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro ใส่ของแถมมาให้ในกล่องแบบเดียวกันเป๊ะๆ เลย ทั้งตัวเครื่องโทรศัพท์ (อันนี้ต่างกันนะ ฮ่าๆ), หม้อแปลงที่รองรับการชาร์จไว 30 วัตต์ แถมมาให้ไม่ต้องซื้อแยก, สาย USB Type-C และสุดท้ายคือเคสใส โดยทั้งสองรุ่นไม่แถมหูฟังมาให้เหมือนเคยตามแบบฉบับ OnePlus อีกทั้งยังไม่แถมตัวแปลง Type C to 3.5 มม. อีกด้วย ต้องซื้อแยกเพิ่มเอานะแบบนี้
ดีไซน์ตัวเครื่อง
มาเริ่มกันที่รุ่นเล็ก OnePlus 7T กันก่อนเลยดีกว่า เครื่องที่ผมได้มารีวิวรอบนี้เป็นสีเทา Frosted Silver ขณะที่ OnePlus 7T Pro ได้มาเป็นสีฟ้า Haze Blue โดยทั้งสัมผัสของทั้งสองรุ่นจะเป็นแบบ matted glass กระจกด้าน อาจจะติดรอยนิ้วมืออยู่บ้าง แต่เช็ดออกง่าย การจับถือบอกเลยว่าให้ความรู้สึกพรีเมียมทั้งคู่เลย งานประกอบก็ทำออกมาได้ดีตามชื่อยี่ห้อ OnePlus แต่ข้อสังเกตคือตัว Pro มีน้กหนักมากกว่าพอสมควร
หน้าจอ Fluid Display แบบ AMOLED ค่ารีเฟรชเรท 90Hz นั้นช่วยเพิ่มความรู้สึกในการใช้งานทั้งการตอบสนองต่างๆ เห็นได้ชัดขึ้น ส่วนตัวผมว่ามันลื่นไหลมาก เนียนตาสุดๆ ขนาดหน้าจอของ OnePlus 7T จะเล็กกว่าเพียงเล็กน้อยที่ 6.55 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ มีติ่งหยดน้ำเล็กๆ ขณะที่ OnePlus 7T Pro มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 6.67 นิ้ว ความละเอียดก็สูงกว่าด้วยเช่นกันที่ Quad HD+ หรือ 2K นั่นเอง รุ่นนี้ไม่มีขอบจอหรือติ่งเลยนะ เพราะเลือกใช้หน้าจอแบบโค้ง และกล้องหน้าป๊อปอัพ
ด้านซ้ายมือของทั้ง OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro จะเจอกับปุ่มเพิ่มเสียงลดเสียง โดยตำแหน่งการจัดวาง รุ่น Pro จะอยู่สูงกว่าเพียงเล็กน้อย ซึ่งผมคิดว่ามันอยู่ค่อนข้างสูงเกินไป ต้องเอื้อมมือเวลาจะกดแต่ละที ขนาดผมเป็นคนนิ้วยาวแล้วด้วยนะ
สำหรับด้านขวาก็จะพบกับปุ่มพาวเวอร์และ Alert Slider ที่เป็นมือถือหนึ่งเดียวจาก Android เท่านั้นที่มีปุ่มนี้ เอาไว้ปรับว่าโทรศัพท์จะอยู่ในโหมดไหน สั่น, ไม่สั่นไม่เสียง หรือว่ามีเสียงปกติ รอบนี้การจัดวางตำแหน่งอยู่ที่เดียวกันเป๊ะๆ
มาดูกันที่ด้านล่างของตัวเครื่องกันบ้าง ทั้งคู่จะมาพร้อมกับถาดใส่ซิม, ไมค์ (รุ่น Pro มีสองตัว), พอร์ต USB-Type C และลำโพงครับ รอบนี้ใส่มาให้เป็นแบบสเตอริโอคู่เช่นเคย อีกตัวจะอยู่บริเวณด้านบนของหน้าจอ เสียงถือว่าโอเคเลยนะ ดังใช้ได้ น่าเสียดายที่นับตั้งแต่ตัดไปในรุ่น OnePlus 6T เจ้ารูหูฟังก็ไม่เคยปรากฎตัวในมือถือ OnePlus อีกเลย
มาสำรวจถาดซิมกันบ้าง ทั้งคู่จะมียางขนาดเล็กๆ มัดไว้อยู่นะ ยางตรงนี้มีประโยชน์ต้องที่สามารถกันน้ำเข้าเครื่องได้ดีในระดับหนึ่งเลย สามารถพบเห็นยางแบบนี้ได้ในมือถือที่มีมาตรฐานการกันน้ำกันฝุ่นอะไรแบบนี้ แต่บอกก่อนเลยว่าทั้งสองรุ่นนี้ไม่มีมาตรฐานกันน้ำนะ ทว่าหากโดนฝนนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะส่วนตัวผมเองก็พาไปตากฝนอยู่เป็นประจำ ยังใช้งานได้ปกติดี มีแต่คนนี่แหละที่ไม่สบาย T T
บริเวณด้านบนตัวเครื่องของ OnePlus 7T จะมีลักษณะโล่งๆ มีเพียงแค่ไมค์ 1 ตัวสำหรับตัดเสียงรบกวนภายนอกเท่านั้น ขณะที่ OnePlus 7T Pro นั้นก็มาในลักษณะเดียวกัน ไมค์ 1 ตัว แต่จะมีกล้องหน้าแบบป๊อปอัพที่ซ่อนไว้ในเครื่องเพิ่มมาด้วย เบื้องต้น ลองแกล้งทำตกดูแล้ว กล้องหน้ามันหดเองอัตโนมัติให้ สบายใจไปได้ไม่ต้องกลัวจะพัง แต่ถ้าให้ดีคือพยายามอย่าทำตก จะดีที่สุด
UI และการใช้งาน
OxygenOS ผมกล้ารับประกันได้เลยว่าลื่นสุดๆ แทบจะเป็นหนึ่งใน UI ที่ใกล้เคียงกับ Stock Android สุดๆ แถมการใช้งานก็ง่าย ไม่มีอะไรยากซับซ้อนเลย แต่ใช่ว่าจะอวยอย่างเดียว ไม่มีข้อเสีย เพราะ Launcher ของทาง OnePlus เขาไม่อนุญาตให้เราปรับเลื่อนไอคอนแอปได้ ทุกอย่างต้องเรียงตามตัวอักษรทั้งหมด ตรงนี้กวนใจผมมากๆ แต่ทางแก้ก็คือย้ายแอปพวกนั้นไปอยู่หน้า Home แทน หรือไม่ก็ดาวน์โหลด Launcher ใหม่ใน Play Store เอาซะเลย มีให้เลือกหลายแบบหลายสไตล์
เรื่อง Multi-Task ทั้ง OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro ที่มาพร้อมกับ RAM 8GB ด้วยกันทั้งคู่ บอกเลยว่าเหลือๆ เปิดแอปทิ้งไว้เบื้องหลัง 10 – 20 แอป การใช้งานก็ยังคงเหมือนเดิมกับตอนเปิดเครื่องแรกๆ ไม่มีอาการค้าง ทุกอย่างยังคงลื่นหัวแตกแบบเดิม
ด้วยความที่มาพร้อมกับหน้าจอขนาดเกิน 6 นิ้วด้วยกันทั้งคู่ ทำให้หลายคนอาจจะถือโอกาสใช้งานสองจอซะเลย เพื่อจะได้ใช้พื้นที่จอให้คุ้มๆ สองรุ่นนี้ก็ทำได้นะ เพียงเปิด recent apps > ปุ่ม 3 จุด > Split Screen > จากนั้นก็เลือกแอปได้ตามใจชอบเลย
เรื่องการเชื่อมต่อ Wi-Fi อันนี้ก็ยืนหนึ่งเลย จับสัญญาณดีมากๆ แถมรองรับทั้งย่านความถี่ 2.4GHz และ 5GHz
ทั้ง OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro รองรับ Widevine อยู่ในระดับ L1 ด้วยกันทั้งคู่ สามารถดู Netflix ได้แบบ HD และยังรองรับการแสดงผลแบบ HDR ด้วย
ฟีเจอร์สามัญประจำเครื่องโทรศัพท์อย่างฟีเจอร์ตัดแสงสีฟ้าซึ่งทาง OnePlus ตั้งชื่อว่า Night Mode ก็มีมากับเขาเหมือนกัน สามารถตั้งเวลาเปิดปิดได้ด้วยนะ สำหรับใครที่ชอบเล่นมือถือในที่แสงน้อยๆ แนะนำเลยว่าเปิดเถอะ เพราะมันสบายตาและช่วยถนอมสายตากว่าโหมดปกติมากๆ แต่ถ้ายังไม่พอ ยังมี Reading Mode มาให้เลือกอีก ลดแสงสีฟ้าลง สบายตาขึ้นแต่จะอมเหลืองนิดๆ และมีให้เลือก 2 แบบคือ Chromatic Effect (สีจางๆ) และ Mono Effect (สีขาวดำ)
Dark Mode ก็ใส่มาไว้ให้ใน OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro เหมือนกัน พอเปิดใช้งานแล้ว แอป 3rd parties ต่างๆ อย่าง LINE, IG หรือ Reddit อะไรนี่ก็ปรับตามนะ จะมีแต่ Facebook นี่แหละที่ยังขาวสว่างอยู่ ซึ่งอาจจะต้องรอให้แอปนั้นๆ เปิดรองรับแบบ offiicial
GPS และการนำทาง
การใช้งาน GPS บนแอป Google Maps ก็ทำผลงานออกมาได้ดีตามสเปคระดับเรือธงครับ เซนเซอร์อะไรต่างๆ ที่จำเป็นกับการใช้งานแผนที่ถือว่าใส่มาให้ครบในทั้งสองรุ่น
การสแกนลายนิ้วมือ
OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro มาพร้อมกับเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอแบบ Optical ซึ่งการใช้งานจริงถือว่าเร็วเอาเรื่องอยู่ แตะปุ๊ป ปลดล็อคหน้าจอปั๊ป แต่ก็ต้องกดค้างไปที่เซนเซอร์สักประมาณ 0.5 วินาทีนะ (เวลาที่ระบบมันสแกนก็จะเร็วกว่านั้นมาก)
นอกจากเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ยังมีฟีเจอร์ Face Unlock ใส่ให้มาอีกด้วย ตรงนี้จากที่ลองใช้มา ผมว่ามันไวกว่าเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือนิดนึง ยกมือถือขึ้นมาหน้าก็สแกนติดแล้ว (แต่รุ่น Pro จะทำงานช้ากว่าเล็กน้อย เบื้องต้นน่าจะมาจากกล้องต้องคอยขึ้นๆ ลงๆ) แต่เรื่องความปลอดภัยยังไงก็สู้สแกนนิ้วไม่ได้นะ
กล้องถ่ายภาพ
มาครั้งนี้ OnePlus 7T ถือว่ามีสเปคกล้องที่อัพเกรดขึ้นจาก OnePlus 7 อยู่มากพอสมควร ใส่กล้องมาให้ 3 ตัวแบบ OnePlus 7T Pro แล้ว เซนเซอร์หลัก 48 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/1.6 มีระบบกันสั่น OIS, กล้อง Ultra Wide 16 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/2.2 มุมกว้าง 117 องศา และสุดท้ายเป็นกล้อง Telephoto ตรงนี้แหละที่สเปคต่างกัน โดยใน 7T จะมีความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ซูม Optical ได้ 2x แต่ 7T Pro จะเป็นตัว 8 ล้านพิกเซล ซูม Optical ได้ 3x สเปคในเรื่องของรูรับแสงจะมีค่าเท่ากันที่ f/2.4 มีระบบกันสั่นแบบ OIS ด้วยกันทั้งคู่ มี NightScape 2.0 สำหรับถ่ายภาพกลางคืน และ Macro Mode ที่ถ่ายได้ใกล้สุดที่ระยะ 2.5 เซนติเมตร
สำหรับสเปคของกล้องหน้า ทั้งคู่มาพร้อมกับเซนเซอร์ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล มีโหมด Beauty ช่วยเกลี่ยริ้วรอยให้ใบหน้าใสกิ๊ง
ตัวอย่างรูป (ซ้าย OnePlus 7T vs OnePlus 7T Pro ขวา)
ตัวอย่างรูป Ultra Wide (ซ้าย OnePlus 7T vs OnePlus 7T Pro ขวา)
ตัวอย่างรูป Night Mode (ซ้าย OnePlus 7T ปิด-เปิด vs OnePlus 7T Pro ขวา ปิด-เปิด)
ตัวอย่างรูป Selfie (ซ้าย OnePlus 7T vs OnePlus 7T Pro ขวา)
ตัวอย่างรูป Macro Mode
ประสิทธิภาพการเล่นเกม
ชิปเซ็ตตัวแรงอย่าง Snapdragon 855+ แทบไม่ต้องบรรยายอะไรมากเลย การใช้งานทั่วไปหรือการเล่นเกมบอกเลยว่าเหลือสุดๆ เรียกได้ว่าสองรุ่นนี้ถือว่าเป็นตัวท็อปจากฝั่ง Android เลย หากใครยังไม่เชื่อ ก็ไปดูคะแนน AnTuTu Benchmark กันได้เลย OnePlus 7T ได้คะแนน 475,550 คะแนน และ OnePlus 7T Pro อยู่ที่ 477,586 คะแนน เรียกได้ว่าคะแนนห่างกันเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ใช้งานจริงแทบจะไม่แตกต่าง เครื่องนี้แรงยังไง อีกเครื่องก็แรงแบบนั้น
ส่วนเรื่องความไวในการเขียนอ่านไฟล์ทั้ง OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro ก็ทำออกมาได้ดีมากๆ เพราะเลือกใช้หน่วยความจำแบบ UFS 3.0 ได้คะแนนการเขียนไป 1,447.76 MB ต่อวินาที และ 1,389.66 MB ต่อวินาที ขณะที่การอ่านได้ที่ 397.35 MB ต่อวินาที และ 219.12 MB ต่อวินาที ตามลำดับ ซึ่งจุดนี้เป็นอีกความแตกต่างเพราะ OnePlus 7T Pro นั้นใช้ UFS 3.0 แบบ 2 Lane
ชิปเซ็ตตัวท็อปขนาดนี้ เข้าเล่นเกมยอดฮิตอย่าง RoV ทั้ง OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro ก็ปรับได้สุดทุกอย่างเลย
พอเอาไปเล่นจริง ก็เฟรมเรทนิ่งมากๆ 59 – 60 fps ไม่มีตก
PUBG ก็ปรับกราฟฟิคได้สูงสุดตามท้องเรื่องจ้า
เข้าไปปรับเพิ่มเติมข้างใน ก็ปรับได้สุดทุกอย่าง เฟรมเรตที่โหดสุดๆ คือ Extreme
มาถีงเกมน้องใหม่ที่ส่วนตัวผมติดงอมแงมมากๆ อย่าง Call of Duty ก็ปรับกราฟฟิคทุกอย่างได้สูงสุดเช่นเดียวกัน
สรุปก็คือเรื่องเกมทั้ง OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro บอกเลยว่าแทบจะยื่นหนึ่งเลย ปรับทุกอย่างได้สุดหมด เข้าไปเล่นก็ไม่เจอปัญหากระตุกหรือว่าค้างอะไร เฟรมเรทลื่นๆ ไม่มีตก แต่จะมีติหน่อยก็ตัว OnePlus 7T ที่พอเล่นติดต่อกันไปสักพัก เครื่องจะเริ่มอุ่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย ทั้งนี้น่าจะมาจากที่รุ่นนี้ไม่ได้ใส่ Heat Pipe เข้ามาช่วยระบายความร้อนนั่นเอง
แบตเตอรี่และการชาร์จ
เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างทั้งสองรุ่น โดย OnePlus 7T มาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 3,800 มิลลิแอมป์ และ OnePlus 7T Pro ใส่แบตมาให้เยอะกว่าเล็กน้อยที่ 4,085 มิลลิแอมป์ ทั้งคู่รองรับการชาร์จไว Warp Charge 30T ซึ่ง OnePlus เคลมว่าชาร์จไวกว่าระบบเดิม 23% ชาร์จทิ้งไว้ 15 – 20 นาที ก็ได้แบตมาใช้เกือบๆ 50% แล้ว
เริ่มกันที่ OnePlus 7T กันก่อนดีกว่า ผมลองเอามาใช้งาน เล่นเกมแบบจัดหนักจัดเต็มเลย (บอกแล้วว่าติด Call of Duty จริง) พบว่าได้ Screen On Time ไปประมาณ 4 ชั่วโมง 40 นาที พร้อมกับแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่เพียงแค่ 9% เท่านั้น
มาถึง OnePlus 7T Pro กันบ้าง ที่ให้แบตเตอรี่มามากกว่าตัวธรรมดาอยู่ 285 มิลลิแอมป์ พบว่าได้ Screen On Time ที่ 4 ชั่วโมง 37 นาที น้อยกว่ารุ่นธรรมดาเล็กน้อย แบตเหลือ 9% เท่ากัน ทั้งนี้ทั้งนั้นคาดว่าที่ได้ SoT น้อยกว่า น่าจะมาจากหน้าจอความละเอียด Quad HD+ นั่นเอง
จะเห็นว่าทั้งคู่ แม้จะเป็นมือถือที่แรง การใช้งานลื่นไหล เล่นเกมได้แบบจัดเต็มจัดหนัก แต่เรื่องแบตเตอรี่ดูเหมือนว่ายังเป็นจุดด้อยอยู่ สำหรับใครที่ต้องการจะประหยัดแบตให้ใช้ได้นานๆ ผมแนะนำให้ปรับความละเอียดลงเหลือแค่ Full HD นะครับสำหรับ OnePlus 7T Pro (ถ้าอยากเพิ่มอายุการใช้งานไปอีก ก็ลองปรับลดรีเฟรชเหลือ 60Hz)
สรุปเลือก OnePlus 7T หรือ OnePlus 7T Pro
ในแง่ประสิทธิภาพ ผมว่าทั้ง OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro ทำออกมาได้ดีเท่าๆ กัน แทบไม่มีความแตกต่างอะไรเลย จะต่างกันก็เรื่องอุณหภูมิของเครื่องเวลาใช้งานหรือเล่นเกมติดต่อกันนานๆ ที่ OnePlus 7T จะอุ่นๆ ขึ้นมานิดหน่อย สำหรับความแตกต่างในส่วนอื่นๆ ก็จะมี
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของ OnePlus 7T และ OnePlus 7T Pro
OnePlus 7T | OnePlus 7T Pro | |
หน้าจอ | มีติ่งหยดน้ำ | ไม่มีติ่ง |
ไม่โค้ง | โค้ง | |
ขนาด 6.55 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ | ขนาด 6.67 นิ้ว ความละเอียด Quad HD+ | |
ความจุ | 128GB (UFS 3.0) เพิ่มเมมไม่ได้ | 256GB (UFS 3.0 2-Lane) เพิ่มเมมไม่ได้ |
กล้องหลัง | 3 ตัว 48MP + 16MP + 12MP Optical Zoom 2x | 3 ตัว 48MP + 16MP + 8MP Optical Zoom 3x |
แบตเตอรี่ | 3,800 มิลลิแอมป์ รองรับชาร์จไว Warp Charge 30T | 4,085 มิลลิแอมป์ รองรับชาร์จไว Warp Charge 30T |
ระบบระบายความร้อน | มีเทอร์มอลเจล | มีเทอร์มอลเจล + ฮีทไปป์ + เวเปอร์ |
ราคา | 17,900 บาท | 26,990 บาท |
โดยรวมถ้าซื้อมาใช้งานทั่วไป ยังไง OnePlus 7T ก็มีภาษีดีกว่า ด้วยราคาเปิดตัวมา 17,990 บาท แถมสเปคอะไรต่างๆ ก็ได้มาครบเครื่องเหมือนกันแทบจะทุกอย่าง แต่สำหรับสายเกมมิ่งที่เล่นเกมทั้งวัน อันนี้ผมมองว่าตัว OnePlus 7T Pro เหมาะกว่า เพราะมาพร้อมกับระบบระบายความร้อนด้วย เล่นนานแค่ไหน เครื่องก็ไม่ร้อนมาก บวกกับดีไซน์เครื่องที่ทั้ง OnePlus ออกแบบให้ทั้งคู่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดอีก เอาเป็นว่าถ้าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา ก็จัดตัวที่มองว่าดีไซน์โอเคเลยครับ
Oneplus มี app ที่เหมือน Secure Folder ใน Samsung ไม๊ครับ
มีครับ เปิด app drawer ขึ้นมา แล้วเลื่อนขวาบริเวณขอบหน้าจอฝั่งซ้ายครับ เป็นชื่อ Hidden Space แทน
นึกภาพไม่ออกมีเป็นวีดีโอ ให้ดุไหมครับ
https://youtu.be/w0jIV2VBBS4 จัดไป
ตกลงสรุปก้อคือสรุป
สรุปเห็นภาพดีครับ 🙂 🙂
wireless charger มีมั้ยครับ
ยังไม่รองรับทั้งคู่ครับ
ตัว 7t ทัชสกรีนเป็นไงบ้างครับ สู้ iphone 11 ได้มั้ย พอดีติด codm เช่นกันเลยซีเรียสเรื่องทัชสกรีนมากครับ
ช่วงนั้นผมติดเกมนั้นแบบติดมากจริงๆ แต่จำได้ว่าไม่เคยหัวร้อนเรื่องทัชเพี้ยน ทัชมั่วอะไรแบบนี้เลยนะครับ