เราได้เห็นการแกะกล่อง พรีวิว ของ OPPO F1 แบบคร่าวๆ กันไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยตอนนั้นเป็นแค่การดูอุปกรณ์ภายในกล่อง และดูรอบๆ เครื่องเท่านั้น พร้อมกับรูปถ่ายจากกล้องหลังเป็นน้ำจิ้มไปนิดหน่อย ครั้งนี้เรามาดูรีวิวของเจ้า OPPO F1 “Selfie Expert” กันบ้างดีกว่า โดยจะพูดถึงการใช้ดีไซน์ของตัวเครื่อง การใช้งานจริงและคุณภาพกล้อง รวมไปถึงซอฟ์ทแวร์ ColorOS และตบท้ายด้วยข้อดี ข้อเสีย ของเจ้า OPPO F1 สมาร์ทโฟนราคา 8,990 บาท มาดูกันเลยครับ

กล้อง

พูดถึงสมาร์ทโฟนฉายา “Selfie Expert” ก็มาเริ่มกันที่เรื่องของกล้องหน้าก่อนเลยละกัน กล้องหน้าของ OPPO F1 มีความละเอียด 8 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.0 และใช้เซนเซอร์ขนาด 1/4″ ส่วนรูปที่ได้จากการปรับโหมด Beautify ทั้ง 4 ระดับก็ออกมาเป็นแบบนี้

รูปจากกล้องหน้า

ภาพที่ได้จากกล้องหน้านั้นถือว่าเป็นจุดแข็งของ OPPO F1 ก็ว่าได้ ซึ่งเชื่อว่าสาวๆ จะชอบแน่ เพราะเมื่อเปิดใช้งาน Beautify สามารถเกลี่ยหน้าให้เนียนได้ค่อนข้างดี หน้าฟรุ้งฟริ้ง แต่ว่าเลนส์กล้องหน้าค่อนข้างแคบไปหน่อย และอีกอย่างที่ขาดหายไปคือแฟลชกล้องหน้า แต่ถ้าเทียบคุณภาพกับราคาก็ถือว่าผ่านครับ

ส่วนกล้องหลังของ OPPO F1 มีความละเอียด 13 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.2 ที่มาพร้อมกับ Phase Detection Auto Focus (PDAF) และไฟแฟลช LED หนึ่งดวง

ซอฟต์แวร์กล้องของ OPPO F1 นั้นถือว่าเรียบง่าย แต่การตั้งค่านั้นอาจจะต้องกดเข้าไปหลายสเต็ปอยู่ ส่วนฟังก์ชั่นต่างๆ ก็มีให้เลือกใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโหมด Beautify, HDR และ GIF แถมยังมีโหมด Ultra HD ที่เป็นการถ่ายภาพขนาด 13 ล้านพิกเซล 4 ครั้ง รวมจับมารวมกันเป็นภาพขนาด 50 ล้านพิกเซล

แถมเรายังสามารถที่จะดาวน์โหลดฟังก์ชั่นอื่นๆ มาใส่เพิ่มก็ได้เช่นกัน อย่างเช่น Expert Mode, RAW, Super Macro และ Double Exposure

โดยในส่วนของ Expert Mode เราสามารถที่จะปรับ white balance, shutter speed, ISO, exposure และ manual focus ได้

รูปจากกล้องหลัง

จากที่ลองถ่ายๆ ดูก็รู้สึกว่ากล้องของ OPPO F1 นั้นมีชัตเตอร์ที่เร็ว เซฟภาพได้ไว สีสันสวยงาม แต่ถ้าปรับโหมดไปถ่ายเป็น HDR หรือ Ultra HD จะใช้เวลาในการถ่ายประมาณ 2-3 วินาที ถ้ามือไม่นิ่งก็อาจจะทำให้ภาพเคลื่อนได้ ภาพที่ได้ถือว่าเหมาะสมกับราคาของตัวเครื่อง ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ส่วนการโฟกัสถือว่าทำได้เร็ว และแม่นยำ อาจมีหลุดโฟกัสบ้างเมื่อวัตถุอยู่ใกล้ หากแสงมากหรือน้อยเกินไปก็ยังสามารถปรับ exposure ในตอนโฟกัสได้ทันที

ตัวเครื่อง

หน้าจอของ OPPO F1 นั้นมีขนาด 5 นิ้ว ใช้เทคโนโลยี IPS LCD ซึ่งให้สีสันที่สวยงาม แต่รู้สึกว่ายังสู้แสงได้ไม่ค่อยดีนัก เวลาออกมาเจอกับที่แสงจ้าๆ จะมองไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ และเมื่ออยู่ในที่มืดก็จะสว่างเกินไป ถึงแม้ว่าจะปรับความสว่างลงมาต่ำสุด แต่ก็ยังรู้สึกว่าสว่างเกินอยู่ดี 

ลำโพงสนทนาเสียงดังดีมาก ได้ยินชัดเจน บางทีดังมากจนต้องลดเสียงลงเลยทีเดียว

ปุ่ม navigation นั้นใช้เป็นปุ่ม capacitive แบบไม่มีไฟ ซึ่งก็หมายความว่าเวลามืดๆ ก็ต้องเดากันเอาเอง แต่สิ่งที่ผมไม่ชอบคือปุ่มเมนู (ความคิดเห็นส่วนตัว) เพราะรู้สึกว่ามันล้าสมัยเกินไปแล้วที่จะใช้ปุ่มเมนู แถมตอนที่จะกดสลับแอพก็จะแสดงเมนูของแอพนั้นๆ ก่อน ที่จะเข้าหน้า recent apps ครับ

ขนาดของ OPPO F1 นั้นอยู่ในขนาดที่กำลังพอดีมือ วัสดุที่ใช้นั้นเป็นโลหะ โดยมุมทั้ง 4 มุมนั้นมีความโค้งมนทำให้ไม่จิกเข้าไปในมือ และด้วยน้ำหนักที่ค่อนข้างเบา เวลาถือนานๆ จึงไม่รู้สึกเมื่อย

ปุ่มพาวเวอร์และปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงถือว่าทำออกมาได้ดี วางในตำแหน่งที่กำลังดีไม่สูงไม่ต่ำจนเกินไป 

ถาดใส่ซิมนั้นเป็นแบบ hybrid คือ ต้องเลือกว่าจะใช้งานแบบ 2 ซิม หรือว่าจะใช้งานซิมเดียว แล้วใส่ microSD การ์ดเพิ่ม ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน

ลำโพงด้านหลังด้านหลังถือว่ามีเสียงที่ดังฟังชัด แต่จะมีปัญหาตรงที่ว่า ถ้าวางหงายหน้าไว้ เสียงจะถูกดร็อปลงไปอย่างมาก บางทีนึกว่ากำลังปิดเสียงอยู่เลยทีเดียว ซึ่งรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง R7 Lite นั้นมีตุ่มที่ทำให้ตัวเครื่องยกขึ้นมาเล็กน้อย ทำให้ลำโพงไม่ถูกปิด แต่ว่า OPPO F1 นั้นไม่มีครับ แต่คุณภาพเสียงอยู่ในระดับที่โอเคเลย

ประสิทธิภาพ

OPPO F1 ใช้ชิป Qualcomm Snapdragon 616 Octa-core 1.7GHz ซึ่งเป็นชิปสำหรับสมาร์ทโฟนระดับกลางตัวใหม่จากทางด้าน Qualcomm มาพร้อมกับ RAM 3GB ส่วนผล benchmark จะเป็นอย่างไร ก็สามารถดูได้ตามนี้เลยครับ

การใช้งานทั่วไปนับว่าผ่าน เปิดโปรแกรมได้อย่างรวดเร็ว เท่าที่ลองใช้ดูก็ยังไม่ค่อยมีอาการอะไรที่ผิดปกติให้เห็น แต่ก็แอบมีหน่วงบ้างในบางจังหวะ แต่ไม่ได้ทำให้เสียอารมณ์เวลาใช้งาน 

เมื่อเปิดเครื่องมาเราจะเหลือหน่วยความจำภายในให้สามารถใช้งานได้ 9.27GB จาก 16GB และมี RAM เหลือใช้ 2.07GB

ซอฟต์แวร์

ถ้าหากว่าใครได้เห็นรีวิวของสมาร์ทโฟน OPPO ตระกูล R7 ก็บอกได้เลยว่า OPPO F1 มีซอฟต์แวร์ที่ไม่แตกต่างกัน เพราะว่าใช้ Android 5.1.1 และถูกคลุมด้วย ColorOS 2.1 เช่นเดียวกัน แต่ถ้าใครยังไม่เคยผ่านตามาก่อนก็ดูกันต่อนะครับ

Launcher

OPPO F1 นั้นใช้ launcher ที่มีชื่อว่า ColorOS launcher ซึ่งเป็น launcher ที่ไม่มี app drawer ก็คือทุกแอพที่เราดาวน์โหลดจะมาโผล่อยู่บนหน้า homescreen ของเรา โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เพราะรู้สึกว่ามันดูรกเกินไป ถึงแม้ว่าเราจะสามารถจัดแอพต่างๆ ให้อยู่ในโฟลเดอร์ได้ก็ตาม ถ้าหากว่าเราเลื่อนมาทางด้านซ้ายสุดจะเจอกับหน้า media control ที่เอาไว้สำหรับควบคุมเพลง

Theme

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ ColoOS launcher นั้นดูมีชีวิตชีวาและน่าสนใจได้ก็คือการที่เราสามารถดาวน์โหลดธีมมาใส่ได้ โดยธีมก็มีให้เลือกหลายรูป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการเปลี่ยน wallpaper และรูปไอคอน

นอกจากนี้ก็ยังสามารถที่จะเปลี่ยนธีมของหน้า lockscreen ได้ด้วย

Notification

แถบการแจ้งเตือนของ OPPO F1 นั้นดูเรียบง่าย ด้านบนมีปุ่ม quick settings และที่ปรับความสว่าง ด้านล่างจะเป็นการแจ้งเตือนต่างๆ แต่ว่าบางครั้งมีการแสดงข้อความเป็นสีดำ ทำให้มองไม่เห็นข้อความนั้นๆ เนื่องจากว่าพื้นหลังก็มีสีที่ออกดำอยู่แล้ว

เมื่อลากลงมาอีกหนึ่งครั้งก็จะมีตัวเลือกของ quick settings เพิ่มขึ้นมาให้เลือกใช้ แต่ว่าเราไม่สามารถที่เปลี่ยนตำแหน่งของปุ่มเหล่านั้นได้

อีกอย่างหนึ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับแถบการแจ้งเตือนของ OPPO F1 คือ เมื่อเราหมุนเครื่องมาเป็นแนวนอน เจ้าแถบแจ้งเตือนจะทำการแบ่งออกเป็น 2 ข้าง ทำให้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น

Screen-off gestures

ฟีเจอร์ที่ทำให้เราสามารถใช้ท่าทางต่างๆ ในขณะที่หน้าจอปิดอยู่

  • Double tap to wake up: เคาะจอ 2 ครั้งเพื่อให้หน้าจอตื่น

  • Draw O to start camera: วาดรูปตัว O เพื่อเปิดกล้อง

  • Music control: ควบคุมเพลงด้วยการใช้ท่าทาง

  • Draw a V to turn on the flashlight: เปิดไฟแฟลชด้วยการวาดรูปตัว V

Screen-on gestures

นอกจากที่จะมีฟีเจอร์ท่าทางสำหรับหน้าจอปิดแล้ว OPPO F1 ก็ยังฟีเจอร์ท่าทางเมื่อหน้าเปิดอยู่เหมือนกัน

  • Activate the camera with multi-finger: ลาก 3 นิ้วเข้าหากันเพื่อเปิดกล้อง

  • Double tap to lock the screen: เคาะจอ 2 ครั้งเพื่อล็อคหน้าจอ

  • Gesture screenshot: ลาก 3 นิ้วลงแล้วขึ้นเพื่อแค็ปหน้าจอ

  • Adjust volume with two fingers: ปรับระดับเสียงด้วยการลาก 2 นิ้วขึ้นลง

  • Single-handed Operation: ลากจากมุมล่างซ้ายหรือมุมล่างขวา เพื่อเปิดการใช้งานมือเดียว

แบตเตอรี่

OPPO F1 นั้นมาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 2,500 mAh ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้เยอะมาก การใช้งานก็สามารถใช้งานได้ตั้งแต่เช้ายันเย็น แต่ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน โดยจากการใช้งานทั่วๆ ไป อย่างเช่นเล่น Facebook, Messenger, LINE, อ่านข่าว และฟังเพลง พบว่าสามารถอยู่ได้ประมาณ 13-14 ชั่วโมง ส่วน screen-on time อยู่ที่ประมาณ 3 ชั่วโมง แถมยังเหลือแบตอีก 24% นับว่าอยู่ในระดับที่ปานกลาง

แต่สิ่งที่คาดหายไปก็คือไม่มีระบบ VOOC ชาร์จ ที่เป็นระบบ fast charge ของ OPPO ทำให้ OPPO F1 นั้นใช้เวลาในการชาร์จจาก 20%-100% เป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าช้ามากเมื่อเทียบกับขนาดของแบเตอรี่ แต่ในราคาแบบนี้ก็พอเข้าใจได้อยู่ว่าทำไม OPPO ถึงไม่ใส่เข้ามา

สรุป

โดยรวมแล้วนับว่า OPPO F1 เป็นสมาร์ทโฟนที่เหมาะสมในราคา 8,990 บาท ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ที่เป็นโลหะ กระจกหน้าจอ 2.5D และกล้องหน้าก็เป็นจุดแข็งที่ทำออกมาได้ไม่น้อยหน้ารุ่นอื่นๆ ในราคาใกล้เคียงกัน ส่วนกล้องหลังนั้นพอใช้ได้ RAM 3GB ก็ถือว่าเหลือเฟือ เสียงลำโพงสนทนาดังฟังชัดมาก ผิดกับลำโพงหลังที่เมื่อวางหงายจะเบามาก ส่วนข้อดี ข้อด้อย ของเจ้า OPP F1 ก็มีดังนี้

ข้อดี

  • กล้องหน้าและกล้องหลังเหมาะสมกับราคา
  • วัสดุโลหะ งานประกอบดี ขนาดพอดีมือ

  • ลำโพงสนทนาเสียงดังมาก

  • RAM 3GB

  • ประสิทธิภาพการใช้งานลื่นไหล

ข้อด้อย

  • ลำโพงด้านหลังเสียงเบาเมื่อโดนบัง

  • หน้าจอปรับความสว่างยังไม่ดี

  • ไม่มี VOOC ชาร์จ

ในตอนนี้ OPPO F1 ก็เริ่มวางจำหน่ายแล้วในราคา 8,990 บาท หากใครสนใจอยากจะไปลองเซลฟี่ ก็สามารถไปลองเล่นดูก่อนตัดสินใจนะครับ