OPPO (ออปโป้) ค่ายมือถือสายเลือดมังกรที่ชอบประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ๆ และพยายามนำเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาใส่ในสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นของตัวเองอยู่เรื่อยๆ และล่าสุด OPPO N3 สมาร์ทโฟนกล้องหมุนได้ที่ไม่ได้มีดีแค่การหมุน แต่ยังมาพร้อมกับมอเตอร์ภายในที่สามารถหมุนได้เอง หรือให้เราควบคุมการหมุนผ่านหน้าจอหรือ O-Click กล้องความละเอียด 16MP จาก OmniVision ผู้ผลิต CMOS เซนเซอร์ชั้นนำรายหนึ่งของโลก เลนส์จาก Schneider Kreuznach ผู้ผลิตเลนส์อันดับต้นๆ ของเยอรมัน

เอ.. ทำไมเขียนไปเขียนมามีแต่เรื่องกล้อง เอาเหอะ ก็มันเป็นสมาร์ทโฟนที่เน้นกล้องนี่นา งั้นเราลองมาตามอ่านและรับชม รีวิว OPPO N3 กันดีกว่าว่าเน้นกล้องแล้วกล้องดีจริงไหม นอกจากกล้องแล้ว ยังมีอะไรดีอีกหรือเปล่า  :bigsmile:

เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะไปจับจองเป็นเจ้าของ OPPO N3 กันมาได้สักพักแล้วตั้งแต่วางขายใหม่ๆ แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายๆ คนที่ยังคงเก็บตังค์รอสอยในงานมือถือ เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกก้ขออนุญาตแกะกล่อง เช็คของกันนิดนึง เผื่อใครไปซื้อจะได้รู้ว่าในกล่องมันมีอะไรมาให้บ้าง

แถมช่วงนี้ยังมีข่าวเรื่อง เครื่องปลอม OPPO เริ่มระบาดในมาเลเซีย เห็นว่าโดนกันไปหลายร้อยเครื่อง ใครที่จะซื้อยังไงต้องเช็คเครื่องดีๆ ก่อน รวมถึงพวกอุปกรณ์ต่างๆ ในกล่อง สำหรับวิธีการตรวจสอบเครื่องหรือเช็คลำโพงหน้าจอกล้องนั้น ของ OPPO N3 ให้กด *#808# แล้วก็จะเข้าสู่หน้า test mode คราวนี้ก็ทดลองให้ครบทุกอย่างเลยครับ

กล่องชั้นแรก มีตัวเครื่อง OPPO N3

ชั้นที่สอง มีเข็มจิ้มถาดซิม, คู่มือและเอกสารต่างๆ, หูฟัง smalltalk แบบ in-ear, หม้อแปลง VOOC mini

ชั้นที่สาม มีสาย micro USB สำหรับ VOOC สังเกตุได้ง่ายๆ ที่ปลายหัวจะเป็นสีเขียวๆ และก็ O-Click 2.0 พร้อมถ่านกระดุม 1 ก้อน

หม้อแปลง VOOC mini นั้นดูดีงามมาก ใครที่ใช้ Find 7 / 7A อยู่น่าจะอยากได้กัน เพราะ หม้อแปลง VOOC รุ่นแรกนั้นทั้งใหญ่ทั้งหนัก มารุ่นนี้ขนาดลดลงเกือบครึ่ง โดยการทำงานของ VOOC Charger นั่นจะมีการจ่ายไฟ 2 แบบ นั่นก็คือ

  • การจ่ายไฟแบบที่ 1 5V — 2A
  • การจ่ายไฟแบบที่ 2 5V — 5A
ด้วยแผงวงจรที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ทำให้ OPPO N3 นั้นสามารถรับแรงกระแสไฟได้ถึง 5A โดยแทบไม่มีความร้อนในระหว่างการชาร์จแบตเลย (คืองง ไม่รู้ทำยังไง) เส้นกราฟสีม่วงนั่นแสดงถึงการชาร์จด้วยระบบ VOOC ที่ 5A สีเขียวคือหม้อแปลง 2A และสีเหลืองคือหม้อแปลงที่จ่ายไฟ 1A
แต่ถ้าเราไม่ได้พกที่ชาร์จติดตัว ก็สามารถใช้สายชาร์จของยี่ห้อไหนก็ได้ครับ ชาร์จได้เหมือนกัน ขอให้เป็นหัว micro USB นั่นแหละ แต่ก็จะกลายเป็นการชาร์จแบบปกติ ซึ่งการชาร์จแบบนี้เครื่องจะอุ่นๆ บ้าง
แล้ว VOOC Charger เอาไปใช้กับรุ่นอื่นๆ ได้ไหม ได้ครับ แต่มันก็จะจ่ายไฟออกมาแค่ 2A เท่านั้น เพราะฉะนั้นก็จะไม่ได้เร็วขึ้นเหมือนรุ่นที่รองรับเท่านั้นเอง
ทางเวปเคยมีการทดสอบเอาไว้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ ทดสอบเวลาในการชาร์จด้วย VOOC เทียบกับยี่ห้ออื่นๆ

แกะกล่องแล้วก็มาลุยเครื่องกันต่อ หยิบจับขึ้นมาแล้ว ก็ขอไล่สเปคทวนความจำกันหน่อย

สเปค OPPO N3

  • Android 4.4 KitKat พร้อม ColorOS 2.0.1
  • หน้าจอ 5.5 นิ้ว 1080p IPS กระจกกันรอย Gorilla Glass 3
  • หน่วยประมวลผล Snapdragon 801
  • 2GB RAM
  • 32GB หน่วยความจำภายใน
  • รองรับ MicroSD
  • กล้อง 16MP เซนเซอร์ขนาด 1/2.3 นิ้ว OmniVision OV16825 CMOS sensor, เลนส์ Schneider 5 ชิ้น F2.2, พร้อมมอเตอร์หมุนได้ 206 องศา
  • เครื่องสแกนลายนิ้วมือ
  • แบตเตอรี่ 3,000mAh พร้อม VOOC rapid charging
  • รองรับการใช้งาน 2 ซิม
  • รองรับ 3G ทุกเครือข่าย / รองรับ 4G บนคลื่น 2100
  • ราคาเปิดตัว 19,990 บาท

พอหยิบเครื่อง OPPO N3 ขึ้นมาอยู่ในมือแล้ว ความรู้สึกแรกที่บอกได้เลยว่ามันคือ OPPO นั่นก็คือน้ำหนักครับ ในบรรดาสมาร์ทโฟนเรือธงนี่ OPPO เป็นค่ายนึงที่ทำเครื่องออกมาค่อนข้างหนักหากเทียบกับ iPhone หรือค่ายเกาหลีอย่าง Samsung หรือ LG พวกนั้นจะเบาๆ ส่วน OPPO นี่ออกมาแนว Motorola, HTC คือจะหนักๆ มือหน่อย

บริเวณด้านบนแถวๆ ลำโพงสนทนาที่เห็นเป็นช่องดำๆ นั่นไม่ใช่กล้องนะครับ ในนั้นเป็น Proximity และ Light sensor เอาไว้วัดระยะกับวัดแสง

เรื่องความแข็งแกร่งทนทานของตัวเครื่องนั้นไว้ใจได้ เพราะแกนกลางนั้นเป็นโลหะทั้งชิ้น แล้วเอาสีขาวมาทาทับลงไป แต่ส่วนฝาหน้าและฝาหลังเป็นพลาสติกโพลีคาบอร์เนต งานประกอบแน่นหนาแข็งปั๋งมากเลยทีเดียว ทางด้านขวาตามภาพก็เป็นช่องปรับเสียง volumne rokr ส่วนถัดขึ้นไปเป็นช่องหูฟัง 3.5 ซึ่งตำแหน่งด้านข้างนี่ผมว่ามันไม่ค่อยสะดวก เพราะหัวปลั๊กมันจะยื่นออกมา

หูฟังที่ OPPO แถมมากับ N3 มันเป็นแจ็ครูปตัว L เวลาเสียบใช้งานมันก็ไม่ยื่นเท่าไหร่ครับ แต่ใครที่มีหูฟังที่ชอบ แล้วมันไม่ได้เป็นตัว L นี่สิ เวลาใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกางเกงมันจะติดๆ ขัดๆ นิดหน่อย

อีกด้านของตัวเครื่องก็มีปุ่ม power เปิดปิดหน้าจอ ถัดขึ้นไปด้านบนเป็นช่องถาดซิม ที่ต้องเอาเข็มมาจิ้มแหย่รู  😀

ถาดซิมที่ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมกันสุดๆ ใช้กันหลากหลายยี่ห้อมาก นั่นก็คือถาดซิมไฮบริด (ไม่รู้ใครตั้งชื่อให้ แต่มันตรงดีเลยขอยืมมาใช้) ที่เรียกว่าไฮบริดเพราะว่าช่องที่ 2 ของมัน สามารถเลือกใส่ ซิม หรือ Micro SD ก็ได้

หากเราต้องการจะใช้ OPPO N3 เป็นระบบ 2 ซิม เราก็ต้องมี Micro SIM ใส่ในช่องที่ 1 และ Nano SIM ใส่ในช่องที่ 2 ซึ่งนั่นแปลว่าเราจะใส่ Micro SD เพิ่มไม่ได้แล้ว เพราะช่องซิมที่ 2 นั้นออกแบบมาให้เราเลือกว่าจะใส่ Nano SIM หรือ Micro SD อย่างใดอย่างนึงเท่านั้น

ด้านล่างตัวเครื่อง จะเห็นว่ามีรูจากแกนเครื่องที่โค้งออกมา อันนี้ไม่ใช่ว่ามันโก่งนะครับ แต่มันเป็นดีไซน์ โดยแถบเรืองแสง Skyline นั้นจะเรืองแสงมาจากบริเวณนี้ และถายในช่องนี้ก้มีลำโพง และไมโครโฟนอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้มือเราไปบังหรือเกิดการบล็อคของเสียงลำโพงนั่นเอง

ฝาหลังสีขาวผิวสัมผัสมันๆ นิดหน่อย ไม่ได้เป็นผิวด้านแบบ N1 ตัวนั้นเปือนดำง่ายมาก ของ OPPO N3 จะผิวลื่นๆ หน่อย มีคราบมีรอยดำเช็ดๆ ถูๆ หน่อยก็ออกละ ตรงกลางฝาหลังเป็นจุดสแกนลายนิ้วมือโดยการแตะ แบบเดียวกับ Touch ID ของ iPhone นั่นแหละ แค่แตะแล้วกดลงไป ใช้งานง่ายและสะดวกกว่าแบบลากนิ้ว

นอกจากใช้งานเป็นเครื่องสแกนลายนิ้วมือแล้ว ยังใช้กดเพื่อเป็นปุ่มชัตเตอร์กล้อง หรือถูขึ้นลงเพื่อควบคุมการหมุนกล้องได้ด้วย (ดูในคลิปรีวิวด้านล่างประกอบได้)

มาถึงไฮไลท์พระเอกของงาน กล้องความละเอียด 16MP ด้วยเซนเซอร์ขนาด 1/2.3″ จาก OV16825 จาก OmniVision ที่สเปคแจ่มไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าตระกูล Sony IMX เลยก็ว่าได้

สเปค OV16825 16MP CMOS Sensor

  • เซนเซอร์ขนาด 1/2.3″  1.34 ไมครอน
  • เก็บแสงได้มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยี OmniBSI-2™
  • รองรับภาพถ่ายความละเอียดสูงสุดที่ 4608 x 3456 (16-megapixel)
  • รองรับการุถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 16MP ที่ 30 เฟรมต่อวินาที
  • รองรับการถ่ายวิดีโอ 4K2K (3840×2160) ที่ 60 เฟรมต่อวินาที
  • รองรับการถ่ายภาพ RAW แบบ 10-/12-bit RAW RGB และ DPCM 10-8 compression

หลายๆ คนอาจจะคิดว่ากล้อง 8 ล้านทั่วไป ก็น่าจะถ่ายวิดีโอ 4K ได้หมด ซึ่งอันนี้ผิดนะครับ ตัวเซนเซอร์ต้องรองรับการถ่ายวิดีโอ 4K ด้วย เพราะต้องรองรับการส่งข้อมูลที่มหาศาลมากๆ มาเข้าที่ตัวเครื่อง

ส่วน OPPO N3 ถ่ายวิดีโอ 4K ได้มั้ย?.. ตัวเซนเซอร์นั้นรองรับครับ แต่ยังใช้ไม่ได้เพราะในโหมดกล้องยังไม่มีให้เลือก

ROM ในตัวเครื่องมีมาให้ 32GB เปิดเครื่องมาสดๆ ยังไม่ลงแอปอะไร จะมีเนื้อที่เหลือให้ใช้งานราวๆ 25GB เพราะส่วนของ OS หรือระบบของเครื่องนั้นจะกินพื้นที่ราวๆ 6.27GB ที่เห็นในภาพนั้นผมเองก็ลงแอปไปเยอะแล้ว ราวๆ 9 GB

ส่วนของหน้าตาและความลื่นไหลของ Color OS 2.0.1i การใช้งานตัวเครื่อง การหมุนกล้องด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการตั้งค่าลายนิ้วมือ ให้ลองดูในคลิปได้เลยครับ

Video Review : OPPO N3

Play video

โหมดกล้องถ่ายภาพของ OPPO N3 นั้นเปิดมาตอนแรกๆ จะมีให้แค่ 3-4 โหมดเท่านั้น ซึ่งมันไม่ได้หายไปไหน แต่ทาง OPPO เลือกที่โหลดมาให้ก่อนแค่ไม่กี่โหมด จะได้ไม่เกิดการสับสน คือเปิดมาไม่รู้อะไรเยอะแยะไปหมด เลยใส่มาแค่นิดๆ หน่อยๆ แล้วค่อยไปเลือกโหลดจากในแอปกล้องมาติดตั้งเพิ่ม

หน้าของแอปกล้องนั้นก้มีโหมดให้เลือกถึง 13 โหมดด้วยกัน ตั้งแต่

  • Ultra HD เพิ่มความละเอียดของภาพเป็น 60MP
  • Colorful Night ถ่ายภาพกลางคืนให้มีแสงสวยงาม
  • Auto Panorama ถ่ายภาพพาโนรามาอัตโนมัติด้วยมอเตอร์
  • Expert Mode โหมดสำหรับตั้งค่าเอง หรือ Manual Mode
  • Beautify โหมดหน้าสวยเด้งเช้งวับ
  • HDR สำหรับถ่ายภาพในสภาพแสงที่ต่างกันมาก เช่นย้อนแสง
  • Panorama ถ่ายภาพแนวกว้างพาโนรามา
  • Audio Photo ถ่ายภาพพร้อมอัดเสียงสั้นๆ
  • GIF ถ่ายภาพเคลื่อนไหวแบบ GIF
  • Double Exposure ถ่าย 2 ภาพแล้วนำมาซ้อนเข้าด้วยกัน
  • RAW ถ่ายภาพ RAW
  • Super Macro ถ่ายภาพมาโครในระยะใกล้เหมือนมีเลนส์มาโครโดยเฉพาะ
  • After Focus ถ่ายภาพเลือกจุดชัดและจุดเบลอ

 

ตัวอย่างภาพถ่ายจาก OPPO N3