หูฟังบลูทูธ Redmi AirDots เปิดตัวและวางจำหน่ายในประเทศจีนมาได้ซักพักแล้ว ซึ่งตอนนั้นก็ได้รับเสียงฮือฮาไปพอสมควร ด้วยรูปร่างหน้าตาที่ดูดี, เป็นหูฟังแบบ True Wireless แถมยังใช้ Bluetooth 5.0 แต่ราคาเปิดตัวมาแค่ 99 หยวนหรือแค่ราวๆ 470 บาท เท่านั้น ส่วนการใช้งานต่างๆ รวมถึงคุณภาพเสียงของหูฟังราคาสุดคุ้มตัวนี้จะเป็นยังไงบ้าง.. มาดูกันเล้ย

แกะกล่อง Redmi AirDots

ได้ฤกษ์ลองซื้อหูฟังไร้สายรุ่นนี้มาลองกันซักที หลังจากที่ช่วงแรกๆ การสั่งซื้อ Redmi AirDots ในบ้านเราจะโดนบวกราคาเข้าไปแทบจะเท่าตัว ฝากหิ้วมาจากประเทศจีนก็ของขาดตลาด แต่ตอนนี้ราคาได้ลดลงมาแบบสมเหตุสมผลแล้ว โดยผมได้สั่งหูฟังนี้จากร้านค้าออนไลน์เจ้าดังเจ้าหนึ่งในบ้านเรา ด้วยราคาแค่ราวๆ 520 บาท เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีนก็เลยใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ กว่าที่สินค้าจะเดินทางมาถึง พอแกะกล่องกระดาษออกมาก็จะเจอกับกล่องเก็บหูฟังซึ่งเป็นที่ชาร์จแบตเตอรี่ในตัว, จุกหูฟังอีก 2 ขนาด และคู่มือ

ตัวหูฟังทั้ง 2 ข้าง ชาร์จแบตเตอรี่มาในระดับนึงแล้ว ก็สามารถใช้งานได้เลยตั้งแต่แกะกล่อง

วัสดุและดีไซน์

ทั้งตัวหูฟังและกล่องชาร์จของ Redmi AirDots เป็นพลาสติกแบบด้าน และมีงานประกอบที่เรียกว่าพอได้ วัสดุอาจจะก๊องแก๊งหน่อย โดยฝาปิดของกล่องจะใช้เป็นแม่เหล็กดูดเอา ไม่ได้ใช้เป็นสลักล็อค

ใส่หูแล้วแน่นดีรึเปล่า?

ถึงแม้ว่า Redmi AirDots จะไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นหูฟังสไตล์สปอร์ต ให้สามารถใส่ออกกำลังได้ (เพราะมันไม่กันน้ำกันเหงื่อ) แต่จากที่ทดสอบใส่หูวิ่งไปวิ่งมา หรือปั่นจักรยาน ก็พบว่าแน่นหนาดี ไม่มีการหลุดลื่นออกจากรูหูแต่อย่างใด แถมยังใส่ได้ง่ายๆ แค่ยัดเข้าไปในรูหูเท่านั้นแหละ ไม่ต้องคอยหมุน คอยบิด หามุมให้มันล็อคกับกระดูกหูเหมือนบางรุ่น

วิธีเชื่อมต่อ

วิธีเชื่อมต่อก็ง่ายสุดๆ แค่กดปุ่มบนหูฟังด้านขวาค้างเอาไว้ประมาณ 3 – 4 วินาที จนมีไฟกระพริบขึ้นมา จากนั้นก็เลือกดูรายชื่อ อุปกรณ์ Bluetooth บนหน้าจอมือถือของเรา ถ้าเจอ Redmi AirDots_R ก็กดเชื่อมต่อได้เลย แล้วหูฟังทั้ง 2 ข้าง ก็จะพร้อมใช้งานแล้วล่ะ

ปกติการเชื่อมต่อ AirDots ทั้ง 2 ข้างเข้ากับมือถือ จะกดปุ่มจากหูฟังข้างขวา แล้วมันก็จะเชื่อมให้อัตโนมัติเองทั้ง 2 ข้าง แต่ถ้าใครอยากจะใช้หูฟังข้างซ้ายแยกอีกเครื่อง ก็ให้กดปุ่มที่หูฟังข้างซ้ายค้างไว้จนมีไฟกระพริบขึ้นมาแล้วกดเชื่อมต่อกับ Redmi AirDots_L เท่านี้ก็สามารถใช้หูฟังกันคนละข้างได้ ซึ่งหากเชื่อมต่อกับข้างซ้าย มันจะไม่พ่วงข้างขวาให้นะครับ

การใช้งาน

Redmi AirDots แต่ละข้างจะมีปุ่มแค่ปุ่มเดียวเท่านั้น โดยการกด 1 ครั้ง คือการเล่นเพลง – หยุดเพลง ส่วนการกด 2 ครั้งติดต่อกัน คือการเรียก Google Assistant หรือ Siri ขึ้นมาเพื่อสั่งงาน.. ใช่แล้ว มันไม่มีปุ่มสำหรับปรับเสียง และปุ่มเลื่อนเพลงมาให้ด้วย เพราะฉะนั้นต้องกดเอาจากมือถือเท่านั้นนะจ๊ะ

สัญญาณเชื่อมต่อ

จากการทดลองใช้ฟังเพลงผ่าน Spotify กับมือถือ Galaxy Note 8 ซึ่งมีการเชื่อมต่อแบบ Bluetooth 5.0 (AirDots ก็เป็น Bluetooth 5.0 เช่นกัน) พบว่าสัญญาณคมชัดไม่มีขาดหาย แม้จะเอามือถือใส่กระเป๋ากางเกงไว้ แล้วเดินไปตามถนนก็ไม่พบอาการโดนคลื่นรบกวนหรืออะไรเลย

แต่จากการทดลองกับมือถือรุ่นอื่นๆ ที่ยังเป็น Bluetooth 4.x นั้นกลายเป็นว่าเจอปัญหาสัญญาณกวนได้ง่าย บางทีแค่หันหน้าเร็วๆ ก็มีสัญญาณวืดแล้ว และในบางพื้นที่ที่เจอคลื่น Bluetooth รบกวนมากๆ จน AirDots สัญญาณหายและหยุดเล่นเพลงไปเลยก็มีเหมือนกัน

ความหน่วงของสัญญาณ

ถึงแม้ว่า AirDots จะเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth 5.0 แต่ความหน่วงระหว่างเสียงกับภาพก็ยังมีให้เห็นอยู่ จากการทดสอบดูหนังแล้วก็พบว่าเสียงจะช้ากว่าภาพไม่น่าเกิน 1 วินาที คือใช้ดูหนังธรรมดาได้แบบไม่หงุดหงิดรำคาญใจ แต่ถ้าดูแบบตั้งใจหน่อยก็จะพอเห็นได้ว่าปากมันจะขยับเร็วกว่านิดๆ

ใช้ดูหนังได้สบาย

แต่ถ้าใช้เล่นเกมจำพวกดนตรีที่ต้องกดให้ถูกจังหวะ ก็ต้องบอกเลยว่าคราวนี้เห็นความชัดเจนของจังหวะหน่วงระหว่างเสียง – ภาพได้ชัดเจน คะแนนจะเละเทะมาก

ใช้เล่นเกมจังหวะดนตรี…ตายอนาถ

แบตเตอรี่

ทาง Xiaomi เคลมว่า AirDots สามารถฟังเพลงต่อเนื่องได้ 4 ชม. ติดต่อกัน และจากที่ทดสอบแล้วก็พบว่ามันทำได้จริงๆ โดยชาร์จไฟที่หูฟังจนเต็ม 100% แล้ว ฟังไปเรื่อยๆ ได้ที่ราวๆ 4 ชม. กับอีกไม่ถึง 10 นาที (ซึ่งในช่วงระหว่าง 10 – 20 นาที ก่อนแบตหมด จะมีเสียงแจ้งเตือนอยู่เรื่อยๆ ว่าแบตใกล้หมดแล้ว) และจากนั้นหูฟังก็จะดับไปเอง

ส่วนการชาร์จไฟ ก็แค่เอาหูฟังใส่กล่องของมันแล้วทิ้งไว้จนกว่าไฟสีแดงจะดับ โดยในระหว่างนั้นไม่จำเป็นต้องปิดกล่องก็ได้นะ และจากที่ลองจับเวลาแล้วก็พบว่ามันใช้ราวๆ 1 ชม. กับอีก 15 นาที ก็เต็มแล้ว แต่กล่องชาร์จจะไม่มีไฟแจ้งเตือนอะไรเลย ว่าชาร์จแบตเต็มแล้วรึยัง (เวลาชาร์จหูฟังก็ต้องคอยเปิดฝากล่องดูว่าชาร์จเสร็จรึยัง)

ถ้าไฟดับแสดงว่าชาร์จเต็มแล้ว

เสียง

ส่วนเรื่องสำคัญสุดๆ ของหูฟัง แน่นอนก็คือคุณภาพเสียงของมันนี่แหละ.. แล้วก็ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่คนหูทอง แยกเสียงหูฟังได้เป็นข้อๆ แบบที่เซียนหูฟังเค้ามักจะวิจารณ์กันขนาดนั้น แต่ถ้าให้วิจารณ์กันแบบบ้านๆ ก็บอกได้ว่าใช้ Redmi AirDot กับ Spotify แล้วได้เสียงที่เรียกว่าโอเคกับราคา มีเบสให้ได้ตึ้บๆ แต่จะบวมๆ หน่อย โยกหัวไปกับเพลง Rock, Pop หรือเพลงแนว EDM ได้สนุกๆ ไม่ปวดหู เสียงกลางค่อนข้างเด่น แต่รวมๆ เสียงอาจจะไม่ได้ใสเท่าไหร่ และมิติก็ค่อนข้างแคบ

การใช้งานโทรศัพท์

การใช้ Redmi AirDots เพื่อรับสายหรือโทรออก สามารถใช้ได้ทั้ง 2 ข้าง เพราะมันมีไมค์ให้ทั้ง 2 ข้างนั่นเอง ซึ่งเวลาใช้งานในบ้าน หรือที่เงียบๆ ก็พบว่ามันให้เสียงพูดคุยที่ชัดเจนดี ทางปลายสายก็ฟังออก แต่ถ้าใช้ในที่พลุดพล่านอย่างข้างถนน หรือในห้าง เสียงพูดของทางเราก็จะเริ่มไม่ชัดเนื่องจากเสียงรบกวนรอบข้าง

Play video

สรุปผลการใช้งาน Redmi AirDots

สิ่งที่ชอบ

  • ราคาไม่แพง ถ้าหาซื้อได้ในช่วงราคา 500 บาท
  • เสียงพอใช้ได้
  • สัญญาณไม่ขาดหาย และค่อนข้างเสถียรหากเชื่อมต่อกับ Bluetooth 5.0 ด้วยกัน
  • น้ำหนักเบามาก
  • เรียก Assistant และสั่งงานได้จากหูฟังเลย
  • ซื้อมาคู่นึงแล้วแยกใช้งาน กับมือถือเครื่องละข้างได้

สิ่งที่ไม่ชอบ

  • ไม่มีปุ่มปรับเสียง และปุ่มเลื่อนเพลง (ต้องสั่งผ่าน Assistant ให้เปลี่ยนเพลง หรือปรับระดับเสียงให้)
  • สัญญาณโดนกวนง่ายตอนที่ทดสอบกับอุปกรณ์ Bluetooh 4.x
  • กล่องชาร์จไม่มีไฟแจ้งเตือนว่าหูฟังแบตเต็มรึยัง
  • ยังต้องชาร์จผ่านพอร์ท MicroUSB
  • ไม่กันน้ำ

ส่วนตัวแล้วคิดว่า Redmi AirDots เป็นหูฟังไร้สายแบบ True Wireless ที่คุ้มค่าคุ้มราคา ถ้าใครสนใจจะลองซื้อมาใช้บ้างก็แนะนำว่าควรหาให้ได้ในช่วงราคา 500 กว่าบาทหรือต่ำกว่านี้จะคุ้มค่าที่สุด.. เพราะช่วงแรกๆ ที่เปิดตัวก็มีหลายร้านที่รับหิ้วแล้วบวกราคากันกระจายตั้งแต่ 800 ถึง 1,000 บาทต้นๆ ซึ่งแพงเกินไป (ที่ราคาแตะพันเราสามารถหาหูฟัง True Wireless ที่เสียงดีกว่า AirDots ได้แล้ว) ก็เลยต้องรอให้กระแสซาลงซักพักจนราคาลงมาอยู่ที่เกือบๆ จะเป็นราคาในจีนแล้วถึงค่อยซื้อมาลองใช้ดู ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวแล้วขอบอกว่าค่อนข้างชอบและไม่เสียดายเงินนะ