เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้เคยเขียนข่าวการเปิดตัว Sony Android TV รุ่นใหม่ของปี 2016 กันไปแล้ว ซึ่งในรุ่นนี้ก็จะมีจุดขายที่ถูกชูขึ้นมาคือหน้าจอ 4K HDR ที่จะแสดงผลภาพได้สวยงาม มีสีสันและคอนทราสที่จัดและสมจริงมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ทดสอบ ลองเล่นอีกหลายๆส่วน และในที่สุดเราก็ได้มันมาลองเล่นลองแงะกันแบบเต็มๆซะที 😀 มาดูกันดีกว่าว่าภาคต่อของ Android TV จาก Sony จะเป็นอย่างไรครับ

ก่อนอื่น ขอลากพาไปดูสเปคของมันกันก่อน

สเปคของ Sony BRAVIA รุ่น X85D (Model : KD-65X8500D)

Device Type : Android TV

Android Version : 5.1.1 (32-bit)

CPU : SoC MediaTek MT5890

GPU : Mali-T624 (OpenGL ES 3.1 Supported)

RAM : 1.5GB

Storage : 8.363GB

Display :

  • Screen Size : 65”

  • Resolution : UHD 3840 × 2160

  • Density : ~67.78 PPI

Connections

  • USB OTG

  • WiFi Direct

  • Bluetooth (BLE Supported)

  • Microphone

  • Ethernet

  • WiFi

  • Miracast (Screen Mirroring)

  • Google Cast (Cast Screen)

 

ถ้าใครจำได้ จะเห็นว่า Chipset ของ BRAVIA ตัวใหม่นี้จะเป็นชิปเซตตัวเดิมที่ใช้ในปีที่แล้ว แถมหนำซ้ำ RAM ยังให้มาน้อยลงกว่าเดิม จาก 2GB เหลือ 1.5GB เท่านั้น แต่…..อย่าเพิ่งรีบตำหนิ เพราะกลับกลายเป็นว่าภาพรวมใช้งานได้ลื่นขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังต่อไปนะครับ

ดีไซน์ + ขนาดและน้ำหนัก

  • ไม่รวมแท่นตั้งโต๊ะ
    • 57.24 x 33.15 x 1.73 นิ้ว (145.4 x 84.2 x 4.4 ซม.)
    • 20.3 กก.
  • รวมแท่นตั้งโต๊ะ
    • 57.24 x 35.2 x 10.98 นิ้ว (145.4 x 89.4 x 27.9 ซม.)
    • 23.9 กก.

ดีไซน์ของ Sony BRAVIA ตัวนี้ก็มีการปรับบริเวณขาตั้งเล็กน้อย จากเป็นโครงเหล็กดู minimal ก็ทำมาให้เป็นแผ่นเหล็กดูแข็งแรงขึ้น (แต่แผ่นครอบด้านบนเป็นพลาสติกนะครับ) ด้านหลังก็มีการทำปรับเพิ่มเติมให้ผู้ใช้สามารถรวบเก็บสายได้ได้เรียบร้อย สะดวก และดูสวยงามขึ้น แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องสายที่ถ้ายาวไม่พอก็จะเอาไปลากอ้อมลงด้านล่างไม่ได้อยู่นะ

ส่วนน้ำหนักของเจ้าอุปกรณ์ความบันเทิงประจำห้องนั่งเล่นนี้ ถ้าดูเป็นตัวเลขก็อาจจะไม่หนักมาก แต่พอยกจริงๆเท่านั้นแหละ คนเดียวนี่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องด้วยขนาดของมันที่ค่อยข้างใหญ่ การกระจายแรงไปยังมือแค่สองข้างจากคนเดียวก็ค่อนข้างยาก จึงต้องใช้คนไม่น้อยกว่า 2 มาช่วยกันขนย้ายนั่นเอง

แต่สิ่งที่ทำให้พวกเราประทับใจกับเจ้า Sony BRAVIA ตัวนี้มากๆก็จะเป็นที่ความบางของมันที่หนากว่า ดินสอปากกานิดเดียวเท่านั้น จับแขวนขึ้นผนังแล้วทำให้ห้องนั้นๆดูดีมีชาติตระกูลขึ้นอีกมากเลยทีเดียว 555

 

มาดู Interface เชื่อมต่อในเครื่อง Sony Android TV (KD-65X8500D)

  • HDMI x4 (ข้าง x3 + หลัง x1)

  • HDMI Audio In x1

  • Input Composite VDO VIDEO  x2 (ด้านข้าง 1 แปลงสัญญาณอนาล็อก/ด้านหลัง 1 ไฮบริดพร้อม Component)

  • Component In x1

  • Input RF Connection

  • LAN x1

  • USB 2.0 (5V500mA) x2, USB 3.0 x1

  • Audio Out x1

  • Digital Audio Out x1

  • Cable / Antenna (ต่อ digital TV) x1

  • รองรับ TV Digital แต่ต้องไปซื้อเสาสัญญานมาต่อเพิ่มเอง

เรียกว่าให้มาครบครันดี น่าจะสะใจเหล่าคนเล่น AV นะครับ

 

มาทดสอบการใช้งานกันต่อ ผมขอเขียนเป็นสองส่วนคือเรื่องของ คุณภาพของภาพที่ตัวทีวีแสดงผลออกมาและการใช้งาน Android TV ว่าออกมาเป็นอย่างไรนะครับ

 

คุณภาพของภาพ

4K HDR upscaling from 4K X-reality PRO, Triluminos, Dynamic Contrast Enhancer

ออกตัวก่อนว่าอาจจะไม่ได้เป็นคอ AV ที่จะมาวิเคราะห์วิแคระอะไรได้ละเอียดมากมาน แต่จะขอแชร์ตามที่เห็นและได้ลองเปรียบเทียบกับทีวีอีกยี่ห้อซึ่งเป็นตัวท็อปของปีที่แล้ว แบบคร่าวๆมาให้ได้ทราบกันนะครับ

 

4K HDR คืออะไร มันดียังไง?

ก่อนที่จะไปต่อมาขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่อง 4K HDR ก่อนนะครับ เพราะนี่เป็นฟีเจอร์หลักและจุดเด่นของเจ้า Sony BRAVIA เครื่องนี้ที่หลายๆคนให้ความสนใจเลย

สำหรับ 4K นี่หลายๆคนคงจะทราบอยู่แล้วว่ามันคือตัวเลขของความละเอียดหน้าจอนั่นเอง ที่จะสูงถึง 3840 x 2160 ละเอียดแบบเห็นริ้วรอยทุกส่วนบนใบหน้าก็ว่าได้ แต่ที่เพิ่มขึ้นมาและคนจะยังไม่ค่อยทราบกันก็คือ  HDR ซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นแค่เพียงบนกล้องเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ HDR กำลังจะมาเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับ หน้าจอทีวีด้วย ซึ่ง Sony ได้เริ่มทำเป็นเจ้าแรกๆ และเหล่าผู้ผลิตหลักเจ้าอื่นๆก็เตรียมผลิตออกมาวางจำหน่ายตามมาเร็วๆนี้ครับ

คลิปอธิบายให้เห็นภาพจากทาง Sony

Play video

เพื่อให้เห็นภาพได้มากขึ้น ลองนึกว่าสีที่มีทั้งหมดในโลกนี้คือกรอบสีใหญ่สุด ส่วน TV ทั่วไปจะสามารถแสดงสีได้เป็นสามเหลี่ยมกรอบเล็กๆเท่านั้น แต่ HDR TV จะช่วยขยายขนาดของสามเหลี่ยมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้นั่นเองครับ

HDR ย่อมาจาก High Dynamic Range ซึ่งถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ ก็คือการแสดงผลภาพที่จะทำให้เราเห็นแสงสีได้เต็มอิ่มมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง สีสันที่อาจจะไม่สดสมจริงก็จะดูใกล้เคียงจนเกือบเหมือนของจริง หรือแสงสีขาวก็จะสว่างได้จนจ้า หรือถ้ามืดก็จะดำลึกลงไปได้เต็มที่ แต่การที่จะทำให้ทีวีของเราสามารถแสดงผลเป็น HDR ได้นั้นต้องมีการรองรับจากสองส่วนคือ สัญญานภาพที่มาต้องเป็น HDR และตัวโทรทัศน์ก็ต้องรองรับการแสดงผล HDR ด้วย ซึ่งในปัจจุบันจะเริ่มมีเนื้อหาที่ผลิตออกมาเป็น HDR มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น หนังอย่าง Mad Max หรือ Life of Pi ก็จะมีทำเป็นแผ่น Blu-ray ออกมาขายบ้างแล้ว ส่วนบริการ Streaming ก็เห็นว่า Netflix จะทำให้รองรับอยู่ ซึ่งการจะ Streaming ดูเนื้อหา HDR นี้เราจะต้องใช้ Bandwidth ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 2.5Mbps จากที่ปกติเนื้อหา 4K ปกติจะต้องการความเร็ว ประมาณ 25 Mbps ครับ

ตัวอย่างการถ่ายภาพ HDR

ปกติการถ่ายภาพที่แสงน้อยหรือมากกว่าปกติ จะได้รายละเอียดที่ต่างกันออกไป การถ่ายภาพ HDR ก็จะเอารายละเอียดที่ได้จากสภาพแสงต่างๆนั้นมารวมกัน จนกลายเป็นภาพที่ได้รายละเอียดครบทั้งที่มืดและที่สว่างนั่นเอง และบางครั้งได้รายละเอียดเยอะกว่าที่ตาของเราจะมองเห็นได้เสียด้วยซ้ำไป 😀

(ภาพประกอบจาก Wikipedia: High-dynamic-range imaging)

 

เมื่อเรารู้จักว่า 4K HDR มันดียังไงแล้ว ก็มาดูกันว่าเมื่อใช้จริงจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไรกันครับ

การดู Digital TV

  • ดูช่อง HD ภาพชัดสุดๆ เห็นแล้วถึงกับปลงในสังขาร รูขุมขน รอยตีนกา รองพื้นแตก ฯลฯ มาเต็ม

    ภาพถ่ายจากหน้าจอทีวี

  • ช่อง SD ภาพไม่ชัดเท่า เพราะคุณภาพสัญญานมาได้แค่นี้ แต่ก็สเกลขึ้นมาได้ดูโอเคในระดับนึง
    ภาพถ่ายจากหน้าจอทีวี

  • บริเวณที่ภาพมีการขยับไปมา สังเกตว่า ไม่เป็นวุ้นเหมือนบางรุ่น ที่ดูแล้วน่าหงุดหงิด หรือเคลื่อนไหวเร็วๆก็ยังไม่มีภาพค้างหลอกๆ

  • มี TV Guide ให้ดูแผนผังรายการที่กำลังจะออกอากาศได้ พร้อมตั้งเตือนเปิดเมื่อรายการมา แต่ว่าไม่สามารถตั้งเวลาให้แจ้งเตือนทุกอาทิตย์ได้นะ ต้องตั้งทีละครั้งเท่านั้น

  • ถ้าดูหนังต่างชาติอยู่ จะสามารถเลือกได้ว่าต้องการเล่นเป็นเสียง Soundtrack หรือเสียงพากย์ไทยได้

 

การเล่นเกม หรือเนื้อหาจากแหล่งอื่นๆ

  • ลองเล่นเกม Metal Gear Solid 5 โดยต่อจาก PC สุดแรงเล่นในความละเอียด 4K 60FPS ตัวจอ Sony BRAVIA ก็สามารถแสดงผลได้สมบูรณ์แบบ ได้สีสดสวยสะใจ ไม่มีอาการวุ้น หรือจอโกสแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากจอของอีกรุ่น อีกยี่ห้อ ที่เอามาลองตั้งคู่กันแล้วจอนั้นมันไม่สามารถแสดงภาพที่ 4K 60FPS ได้ แถมมีอาการวุ้นๆอีกต่างหาก

    ภาพถ่ายจากหน้าจอทีวีมา

  • ทำการ Streaming หนัง HD (High Definition ที่ไม่ได้ระบุว่าความละเอียดเท่าไหร่กันแน่) จาก Google Play Movies มาก็ได้ภาพชัดแบบละเอียดเต็มตามากกกกกกกกก

 

การใช้งาน Android TV ทั่วไป

Sony BRAVIA เครื่องนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น Android TV แน่นอนว่า UI/UX ทั้งหมดถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายสำหรับการกดด้วย Remote Control

  • ผู้ใช้ทั่วไป หรือคนที่มีอายุเยอะก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากอะไร กดปุ่มเดียวก็ไปดูทีวีได้เลย เลือกช่องอะไรได้ไม่ต่างกับการใช้งานทีวีทั่วไปเลย

    กดทีเดียวก็เข้าไปดูทีวีได้เลย แถมมีการจัดเรียงช่องเป็น 3 5 7 9 ให้ดูง่ายๆขึ้นด้วย

  • ส่วน Power User อันนี้ก็สามารถเลือกใช้งานแบบ Advanced ขึ้นได้เช่นกัน เช่น ค้นหาคลิปด้วยเสียง, ควบคุมผ่านแอปบนโทรศัพท์มือถือ, สั่งเปิดคลิป YouTube จากบนคอมหรือมือถือได้ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเดี๋ยวจะมาบอกให้ได้รู้กันว่าทำยังไงครับ

  

แอพสำหรับควบคุมแทน Remote Control

แนะนำฟีเจอร์และวิธีใช้

Voice Search (with remote) ค้นหาคลิปและรายการได้ด้วยเสียง

ฟีเจอร์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เราเห็นความสามารถนี้มาจากใน Android บนมือถือแล้ว แต่ว่าความแตกต่างอยู่ที่ว่า Android TV มันจะทำหน้าที่ค้นหาเป็นหลัก ไม่สามารถใช้งานเป็น Voice Command ได้ (เช่น สั่งเปิดปิด WiFi, เปิดทีวี, ส่งข้อความ) เพราะมันไม่ใช่ Google Now นั่นเอง

การค้นหาด้วยเสียงภาษาไทยทำได้แม่นยำดีเลย ค้นหาหนังหรือเพลงไทยได้โดยไม่ต้องพิมพ์เองเลย

เราสามารถเรียกใช้ Voice Search ได้ง่ายๆจากการกดปุ่มบนรีโมทได้เลย

กดปุ่ม Voice Search ปุ๊บก็จะมีหน้านี้ขึ้นมาเพื่อบอกว่าพร้อมรับคำสั่งแล้ว

ถ้าใครได้เครื่องมาแล้ว แนะนำว่าให้ไปตั้งค่าให้ระบบรองรับเสียงภาษาไทยเป็นหลักนะ ระบบจะได้ฟังได้เข้าใจและสะกดถูกต้องขึ้นกว่าเดิม โดยให้เข้าไปที่

Settings > System Preferences > Speech > Language เลือกให้เป็นภาษาไทยแทน

 

เพื่อทดสอบประสิทธิภาพว่าเจ้า Voice Search มันรับฟังเสียงภาษาไทยได้ดีขนาดไหน นาย Akexorcist จึงได้สร้างแอพขึ้นมาเฉพาะเพื่อเดโมให้ได้ดูกัน…(มันจริงจังมาก คือเขียนแอพสดๆจากศูนย์ แล้วก็ยิงขึ้นทดสอบเลยเว้ยเฮ้ย!!) ขอเชิญติดตามจากคลิป

 

เจ้า Voice Search จริงๆสามารถสั่งเปิดแอพได้ แต่ต้องสั่งงานเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นนะ

ถ้าเกิดว่ามันใช้งานเป็น Google Now ดึงข้อมูลต่างๆมาแสดง ควบคุมให้กลายเป็นน้องๆ Google Home ได้ Android TV ก็จะดูล้ำขึ้นไปได้อีกหลายเท่าเลยนะ 😛

Play video

 

YouTube ดูเพลินๆแทนรายการทีวีได้สบายๆ

เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่ปัจจุบันสิงสถิตย์อยู่บน YouTube แทนที่จะเป็นบนทีวี และแน่นอนว่าทั้ง Android และ YouTube ที่มีเจ้าของเดียวกัน คือ Google นี้ก็ต้องทำมาให้มันรองรับกันได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งปัจจุบันรายการต่างๆบน YouTube ก็มีมากมายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และมากพอที่จะเปิดดูได้เรื่อยๆเป็นปีเลยซะด้วยซ้ำไป และความสามารถของ YouTube บน Android ทีวีนี้ก็มีจุดเด่นๆที่น่าสนใจคือ

 

  • ค้นหารายการด้วยเสียงผ่านรีโมท : หารายการ หรือเพลง ด้วยเสียงได้ทันที มีละครหลังข่าว และรายการต่างๆให้เลือกดูมากมาย

  • เลือกความละเอียดได้ : สามารถเลือกเล่นได้ที่ความละเอียดสูงสุด 4K ภาพอลังการงานสร้างมาก ละเอียดคมกริบ ดูแล้วจะภูมิใจที่มีความละเอียด 4K เลยล่ะ แต่ต้องบอกนิดนึงก่อนว่า คลิปที่ความละเอียดระดับนี้ จริงๆก็ยังไม่ได้มีมากมายนัก และที่สำคัญคือถ้าคิดจะเล่น Streaming ผ่าน YouTube แล้ว ให้เตรียมเน็ตความเร็วขึ้นต่ำ 30Mbps เพื่อเอาไว้ให้ดูแบบลื่นๆด้วยล่ะ 555

  • ปิดจอฟังเพลงอย่างเดียวได้ : YouTube กลายเป็นคลังเพลงของใครหลายๆคน เปิดทิ้งยาวๆ แบบไม่ต้องง้อคลื่นวิทยุอีกต่อไป ไม่ต้องฟังเสียงดีเจให้ต้องรำคาญใจ ซึ่ง Sony BRAVIA นี้ก็มีฟีเจอร์ปิดหน้าจอให้เหลือแต่เสียงได้ด้วย ประหยัดไฟลงไปได้อีกเพียบ 😀
    (กดปุ่ม Action Menu บนรีโมททีวีเพื่อเรียกใช้ฟังก์ชั่นนี้นะ)

ความสามารถที่ว่านั้นจริงๆก็ไม่ต้องทำบน YouTube for Android TV ก็ได้นะ 5555 โดยเฉพาะถ้าคุณรู้ว่าจริงๆแล้วเราสั่งควบคุมผ่านมือถือด้วย Google Cast ได้แล้ว ก็แทบจะลืมตัวที่อยู่บน Android TV ไปได้เลยล่ะ

Google Cast สั่งแสดงหน้าจอจากแอพบนมือถือขึ้นทีวีได้ทันที

ฟีเจอร์นี้น่าจะเป็นฟีเจอร์ที่ใช้งานบ่อยที่สุดละ ด้วยความที่มันใช้งานได้สะดวกมากๆนั่นเอง แค่กดเปิดจากบนมือถือ แล้วจิ้มแค่ทีเดียวก็วิ่งขึ้นหน้าจอได้เลยทันที และที่สำคัญคือเราสามารถสลับหน้าจอบนมือถือไปใช้งานอย่างอื่นได้เลย เพราะว่าการทำงานของ Google Cast คือไปรับข้อมูลที่เราต้องการ streaming ไปเล่นต่อให้เองได้เลย ไม่ต้องเปลืองแรงเปลืองแบตมือถือเลยแม้แต่นิดเดียว และสามารถใช้มือถือเป็นตัว Controller ควบคุม Play, Pause, Forward, Reverse ได้หมดเลยครับ (แต่ขึ้นกับแอพด้วยนะนะ)

ไอคอนนี้เจอในแอพไหนสามารถสั่งกดขึ้นไป Cast บนหน้าจอ Android TV ได้ทันที

แนะนำแอพที่น่าเอามาแคสขึ้น Android TV

นอกเหนือจาก YouTube แล้ว ใน Play Store ยังมีแอพ Video Streaming ที่จะนำพาหนังโรงมาให้เราเลือกดูได้อีกเพียบ มีให้เลือกทั้งหนังใหม่และเก่าเต็มไปหมดเลย โดยแอพทีเราแนะนำจะมีดังนี้ครับ

iflix

Google Play Movies

ส่วนตัวผู้เขียนจะใช้แอพแค่เพียง 2 ตัวนี้เป็นหลัก แต่ที่เห็นใช้กันเพิ่มเติมก็จะมี Primetime, Netflix, HOOQ ด้วยนะ แต่ว่า Primetime เพิ่งเลิกรองรับการ Cast จาก Android ไป เข้าใจว่าไปได้ดีลกับแบรนด์ทีวีเจ้านึงเอาไว้ ทำให้ต้องไปสั่งจากบน iOS เท่านั้น ส่วนหนังที่โหลดบิทหรืออะไรมา อันนี้ทางเราไม่ขอยุ่งนะครับ เพราะมันผิดลิขสิทธิ์น่ะ แต่ถ้ามีหนังที่โหลดมาแบบถูกต้องอยู่แล้ว ตัว Sony BRAVIA X85D นี่ก็สามารถไปดึงไฟล์จากคอมมาเล่นได้เลยนะ

Primetime ปัจจุบันถ้าต้องการใช้ Google Cast ใช้ได้เพียงจากบน iOS เท่านั้น โดยกดที่ปุ่มล่างขวา

 

Google Play Store มีแอพอะไรให้เล่นบ้าง

Android TV เปิดตัวมาตั้งแต่กลางปี 2014 จนถึงตอนนี้ก็จะมีแอพที่รองรับอยู่ในระดับนึง ซึ่งที่ได้รับความนิยมหน่อยก็เหล่าแอพสตรีมมิ่งต่างๆ ที่ได้แนะนำไปข้างต้นแล้ว แต่นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเหล่าเกมอีกมากมายที่รอให้โหลดมาเล่นอยู่ไม่น้อยเลย

แอพแนะนำให้ลองโหลดไปลองใช้งานกัน

  • Beach Buggy : เกมแข่งรถเล่นแบบ Multiplayer ได้

  • Bomb Squad

  • Final Fantasy Series

 

ลำโพงดีงาม ให้เสียงดีแบบไม่ต้องซื้อลำโพงเพิ่มก็ยังพอได้

ฟีเจอร์ด้านเสียง S-Force Front Surround, ClearAudio+,DSEE

ส่วนตัวจะไม่ใช่คนหูทองอะไรมาก พอแยกแยะออกแค่ว่าลำโพงไหนดีไม่ดีในระดับนึง ซึ่งก็น่าจะเหมือนกับอีกหลายๆคนในที่นี้ ความรู้สึกหลังจากที่ได้ลองฟังเสียงจาก Sony BRAVIA เครื่องนี้แล้วก็ค่อนข้างพอใจนะ เสียงออกมาค่อนข้างโอเค Bass และ Treble ออกมาได้ค่อนข้างครบดี ฟังเพลงหรือเปิดหนังอะไรก็ได้อรรถรสครบแบบที่ไม่ต้องมาวุ่นวายเปิดชุดเครื่องเสียงอะไรเพิ่มอีกได้

 

สรุปการใช้งาน Sony BRAVIA X85D

จากที่ได้ลองมาตลอดสัปดาห์กว่าๆ ก็ต้องบอกว่าเจ้า Android TV เครื่องนี้ มีพัฒนาการขึ้นจากก่อนหน้าที่เคยได้ลองใช้ของค่ายนี้มาพอสมควร ซึ่งแม้ว่าสเปคในด้านการประมวลผลของ OS จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง และบางส่วนก็น้อยลงไปนิดนึงอีกต่างหาก แต่ประสบการณ์โดยรวมกลับดีขึ้นอย่างน่าประหลาด UI ต่างๆยังคงออกอาการหน่วงๆ หรือตอบสนองช้าอยู่ แต่ก็ไม่ถึงกับค้างหรือใช้งานไม่ได้ เรื่องภาพและสีสัน มีความคมชัดดี และเสียงก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ปิดท้ายที่เรื่องดีไซน์ก็ดีงาม บางเฉียบดูหรูเหมาะกับฝาผนังบ้านของคุณๆที่คู่ควรเลยล่ะครัช!

 

สำหรับผู้ที่สนใจเจ้า Android TV จาก Sony ตัวนี้แล้วล่ะก็ สนนราคาค่าตัวของรุ่น X85D จะอยู่ที่ 85,990 บาท กำเงินเดินไปลองจับตัวจริงกันดูเองได้ตามร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำทั่วไปนะ ถ้าได้ลองหรือซื้อแล้วได้ความว่ายังไงมาเล่าสู่กันฟังได้นะครับ ^^