Technics แบรนด์เครื่องเสียงระดับไฮเอนด์เก่าแก่สุดคลาสสิกภายในเครือ Panasonic ลงมาลุยตลาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเดิมด้วยคู่ฝาแฝด EAH-AZ40 และ EAH-AZ60 ที่โดดเด่นทั้งด้านระบบตัดเสียงรบกวนและไมโครโฟน ฟังก์ชันการใช้งานจัดมาให้ครบครัน ฟังเพลงสูงสุดได้ที่ระดับ Hi-Res ด้วยเทคโนโลยี LDAC ผ่าน Bluetooth 5.2 และมีคุณสมบัติทนน้ำตามมาตรฐาน IPX4 ถือเป็นหูฟังไร้สายหน้าใหม่ที่น่าสนใจมาก ๆ ในราคา 6,990 และ 8,990 บาท

วัสดุและดีไซน์

EAH-AZ40 และ EAH-AZ60 เป็นหูฟังอินเอียร์ ดีไซน์ทรงหยดน้ำ แผงควบคุมตัดแบน เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความพรีเมียม หน้าตาคล้ายกันจนแยกแทบไม่ออก วัสดุเป็นพลาสติกผิวด้าน ผมชอบตรงส่วนนี้ เพราะไม่เปรอะรอยนิ้วมือ ดูแลความสะอาดง่าย และมีโอกาสเกิดรอยขนแมวยาก ทำให้ดูเหมือนของใหม่ตลอดเวลา

จุดแตกต่างหลัก ๆ ที่เห็นได้ชัดจากภายนอกมีเพียงแค่สองข้อ ข้อแรกคือ “ขนาด” โดย EAH-AZ60 นั้นใหญ่กว่าทั้งหูฟังและเคสชาร์จ แต่ถือเป็นขนาดที่เล็กมากอยู่ดีหากเทียบกับหูฟังที่มีฟังก์ชัน ANC หลาย ๆ ตัว ส่วน EAH-AZ40 นี่มาแบบจิ๋ว ๆ เลย และข้อถัดมาคือ “โลโก้ Technics” บนเคสชาร์จ EAH-AZ60 มีการเพิ่มสีขาวลงไป

พอร์ตชาร์จของเคสอยู่บริเวณด้านหลัง เป็น USB Type-C ตามสมัยนิยม ด้านหน้าเป็นที่อยู่ของไฟแสดงสถานะ บานพับออกแบบได้แข็งแรง ไม่มีอาการคลอนหรือโยก เรื่องที่ต้องชมเพิ่มเติมคือ ช่องเก็บหูฟังอยู่ในตำแหน่งที่ดี ประกอบกับฝาบนค่อนข้างสั้น ทำให้เปิดเคสออกมาแล้วขยับนิ้วลงมาคีบได้พอดีเป๊ะ ลงตัวอย่างคาดไม่ถึง

การสวมใส่

Technics ให้จุกยางมาในกล่อง EAH-AZ60 แบบจัดเต็มมาก ตอนแรกนึกว่ามีแค่ 4 คู่ แต่จริง ๆ แล้วกล่องมี 2 ชั้น ซ่อนอยู่ข้างล่างอีก 2 คู่ รวมกับที่ใส่มากับหูฟังอยู่แล้วเป็นทั้งหมด 7 คู่ ไล่ตั้งแต่เล็กสุดที่ XS2 ไปจนถึงใหญ่สุดที่ XL ให้มาเยอะขนาดนี้มันต้องใส่พอดีสักอันแหละน่า ส่วน EAH-AZ40 นี่มี 4 คู่แบบมาตรฐาน XS, S, M และ L

EAH-AZ40 มีน้ำหนักข้างละ 5 กรัม EAH-AZ60 ขยับขึ้นมาเป็น 7 กรัม สวมง่าย ไม่ต้องใช้ความเคยชินอะไร แค่ใส่เข้าไปแล้วบิด ๆ ให้รับเข้ากับใบหู เท่านี้เป็นอันจบ แถมยังใส่ได้กระชับและสบายสุด ๆ ปกติผมเป็นคนที่ใส่หูฟังอินเอียร์ไม่ได้นาน สักพักจะรู้สึกตึง ๆ อึดอัดหู แต่กับคู่นี้ไม่มีอาการอะไรเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการกระจายน้ำหนักที่ทำได้ดี ข้อนี้ผ่านฉลุย แฮปปี้มากจริง ๆ

การควบคุม

EAH-AZ40 และ EAH-AZ60 รองรับการควบคุมโดยการสัมผัส การตั้งค่าต้องทำผ่านแอป Audio Connect มีให้ดาวน์โหลดทั้ง Android และ iOS

ผู้ใช้งานสามารถกำหนดได้สูงสุด 8 ชุดคำสั่ง แยกกันข้างละ 4 คำสั่ง การแตะที่ 1 – 3 ครั้งตั้งค่าสลับกันได้อย่างอิสระทุกอย่าง แต่การแตะค้างถูกจำกัดให้ตั้งค่าได้เฉพาะการเรียกผู้ช่วยอัจฉริยะ การสลับโหมดการใช้งาน และปิดการทำงานหูฟัง ซึ่งน่าเสียดายนิดหน่อย ไม่ทราบเหมือนกันว่า Technics ล็อกเอาไว้ทำไม เพราะส่วนตัวผมรู้สึกว่า การแตะค้างเข้าถึงได้ง่ายกว่าการแตะ 2 หรือ 3 ครั้ง และคำสั่งที่เปิดให้กำหนดได้มันไม่ใช่ฟังก์ชันที่ใช้งานบ่อยขนาดนั้น

ขณะใช้งานทั่วไป

  • แตะ 1 ครั้ง : เล่นหรือหยุดเพลง ; รับสาย
  • แตะ 2 ครั้ง :
    – ข้างซ้าย : ลดเสียง
    – ข้างขวา : เพลงถัดไป
  • แตะ 3 ครั้ง :
    – ข้างซ้าย : เพิ่มเสียง
    – ข้างขวา : เพลงก่อนหน้า
  • แตะค้าง : ปฏิเสธสาย
    – ข้างซ้าย : เรียกผู้ช่วยอัจฉริยะ
    – ข้างขวา : สลับโหมดการใช้งาน ระหว่าง Ambient Sound และ Noise Cancelling

ขณะคุยโทรศัพท์

  • แตะ 1 ครั้ง :
    – ข้างซ้าย : ลดเสียง
    – ข้างขวา : ปิดเสียง
  • แตะ 2 ครั้ง :
    – ข้างซ้าย : เพิ่มเสียง
    – ข้างขวา : สลับระดับการตัดเสียงรบกวน ระหว่าง Normal และ Strong
  • แตะค้าง : วางสาย

ฟีเจอร์และโหมดการใช้งาน

EAH-AZ40 สลับได้ระหว่างโหมดปกติกับโหมด Ambient Sound เพื่อเปิดรับเสียงภายนอก ซึ่งแบ่งออกไปอีกเป็น 2 โหมดย่อย คือ Transparent และ Attention

  • Transparent : เปิดรับเสียงภายนอกทั้งหมด
  • Attention : เปิดรับเสียงภายนอกโดยเน้นไปที่เสียงพูด

สำหรับ EAH-AZ60 ที่เป็นรุ่นสูงกว่า รองรับระบบตัดเสียงรบกวนแบบไฮบริด ผสมผสานระหว่างภาคอะนาล็อกและดิจิทัล ทำให้มีโหมด Noise Cancelling เพิ่มเข้ามา ปรับได้ละเอียด 100 ระดับ รวมถึงในโหมด Ambient Sound ด้วย ในขณะที่ EAH-AZ40 เลือกได้แค่เปิดหรือปิด

เมื่อเชื่อมต่อหูฟังเป็นครั้งแรกและเข้าใช้งานแอป Audio Connect จะแจ้งเตือนให้เราเลือกขนาดจุกยางให้พอดีกับรูหู และปรับระดับนอยส์เพื่อให้ฟังก์ชันตัดเสียงรบกวนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังผ่านมาตรฐาน IPX4 ตัวหูฟังทนทานต่อน้ำได้ระดับหนึ่ง (ไม่รวมเคสชาร์จ) สามารถใช้ได้แม้มีฝนตกเบา ๆ รวมทั้งขณะออกกำลังกายเบา ๆ

ประสิทธิภาพการตัดเสียงรบกวน

นอกเหนือจากคุณภาพเสียงแล้ว Technics ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสนทนาเป็นพิเศษ ด้วยเทคโนโลยี JustMyVoice ที่ถูกนำมาใช้งานเป็นครั้งแรกใน 2 รุ่นนี้ ทำให้ตัดเสียงรบกวนได้อย่างโดดเด่นทั้งการฟังเพลงและการคุยโทรศัพท์ เป็นอะไรที่ตอบโจทย์อย่างมากสำหรับวิถีชีวิตยุคใหม่ที่ผู้คนเรียนหรือทำงานทางออนไลน์กันมากขึ้น วิดีโอคอลได้ชัดแจ๋ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ EAH-AZ60 ที่มีคุณสมบัติตัดเสียงรบกวนแบบแอกทีฟ เฉียบขาดถึงขนาดที่หากเปิดเพลงไปด้วยแล้วผมไม่ได้ยินเสียงประกาศบนรถไฟฟ้าเลย เคยเปิดน้ำทิ้งไว้แล้วลืมเพราะไม่ได้ยินเสียงอีกต่างหาก (ฮา) ส่วน EAH-AZ40 เป็นแบบแพสซีฟ แต่ถือว่าทำได้ดีเช่นกัน

แบตเตอรี่และอายุการใช้งาน

บริษัทฯ เคลมว่า EAH-AZ40 และ EAH-AZ60 ใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 7.5 ชั่วโมงในกรณีที่ปิดพวกฟีเจอร์เสริมอย่างอื่น แต่เอาเข้าจริงแล้ว ถึงต่อให้เปิดไว้ผมยังไม่เคยใช้จนแบตหมดเลย อยู่ได้ทั้งวันสบายบรื๋อ เพราะจังหวะที่เก็บเข้าเคสมันก็ชาร์จของมันไป โดยสามารถได้อีกเต็ม ๆ 2 รอบกว่า ๆ รวมแล้วใช้งานได้สูงสุด 24 – 25 ชม. ยกเว้นในกรณีของ EAH-AZ60 หากเลือกเชื่อมต่อแบบ LDAC อันนี้สูบแบตพอสมควร เป็นเรื่องปกติ ลองเปิดทิ้งไว้เกือบ 4 ชั่วโมงแบตเริ่มปริ่ม ๆ แล้ว

EAH-AZ40 กับ EAH-AZ60 แตกต่างกันยังไง ซื้อรุ่นไหนดี

EAH-AZ40 มากับไดรเวอร์ขนาด 6 มม. มีไมโครโฟนข้างละ 3 ตัว EAH-AZ60 อัปเกรดขึ้นมาใช้ไดรเวอร์ขนาด 8 มม. พร้อมเพิ่มไมโครโฟนเป็นข้างละ 4 ตัว อีกทั้งยังรองรับ LDAC แน่นอน ประสิทธิภาพ EAH-AZ60 ย่อมดีกว่าทั้งคุณภาพเสียงและฟังก์ชันตัดเสียงรบกวน ANC แต่ทั้งนี้ต้องบอกเพื่อความชัดเจนว่า EAH-AZ40 นั้นไม่ได้แย่แต่อย่างใด อย่าเข้าใจผิดไป

แม้ EAH-AZ40 จะมีฟีเจอร์น้อยกว่า แต่ยังมีข้อได้เปรียบตรงขนาดที่เล็กจิ๋วและน้ำหนักที่เบาหวิวสุด ๆ พกพาง่ายและคล่องตัวกว่าพอสมควร นอกจากนี้แบตยังอึดกว่า EAH-AZ60 นิดหน่อยเมื่อเทียบด้วยโหมดการใช้งานเดียวกัน สรุปแล้วจึงมีข้อดีไปคนละแบบ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทั้งคู่ในช่วงราคา 6,990 และ 8,990 บาทตามลำดับ

ข้อดี

  • เสียงดี สมดุลทุกย่าน โปร่งใส คมชัด และสะอาด
  • ระบบตัดเสียงรบกวนมีประสิทธิภาพ
  • สวมใส่สบายและกระชับ
  • กระจายน้ำหนักดี ใช้งานได้นานโดยแทบไม่ล้าหูหรือเกิดอาการตึง
  • วัสดุเป็นพลาสติกผิวด้าน ไม่เลอะรอยนิ้วมือ
  • กำหนดฟังก์ชันการควบคุมเองได้ และตั้งค่าแยกกันได้ระหว่างการใช้งานปกติกับการคุยโทรศัพท์

ข้อสังเกต

  • งานประกอบของเคสชาร์จยังมีจุดที่คม ๆ บาดมืออยู่บ้างเล็กน้อย
  • การเปลี่ยนการตั้งค่าบางอย่างหูฟังจำเป็นต้องตัดการทำงานและเชื่อมต่อใหม่ จึงเกิดความรู้สึกไม่ต่อเนื่อง แต่ยังดีที่ไม่ได้เกิดกับการตั้งค่าทั่ว ๆ ไปที่มีการใช้งานบ่อย
  • ค่าตัวค่อนข้างแพง