เมื่อปลายปีที่แล้วทาง Google ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ในตระกูล Pixel นั่นก็คือ Pixel C ที่เป็น Android Tablet ที่จะมารับช่วงต่อและอยู่ควบคู่ไปกับ Chromebook Pixel ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เน้นคุณภาพและวัสดุในระดับที่สูงกว่าทั่วไป

ซึ่งหลังจากที่เปิดตัวไปแล้วก็ต้องบอกเลยว่า Pixel C นี่ไม่ใช่เล่นๆเลยครับ เพราะไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน ขนาดตัวผมเองยังลืมไปเลยว่าเคยมีสิ่งนี้อยู่บนโลกนี้ด้วย (แป่ว) แต่อยู่ดีๆมันก็พุ่งเข้ามาอยู่ในมือผมครับ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสอันดีงามที่นานๆทีจะได้มีโอกาสสัมผัส จึงขอจับมาทำรีวิวซะเลย

ต้องบอกก่อนเลยว่ารีวิวนี้ไม่ได้ถึงกับเก็บทุกรายละเอียดนะครับ เนื่องจากตัวนี้ไม่ค่อยมีอะไรหวือหวาและแปลกใหม่มากนัก ดังนั้นขอทำเป็นรีวิวเล็กๆน้อยๆแทน

 

แกะกล่อง ยลตัวเครื่อง

ตัวกล่องมาในรูปแบบที่คลี๊นคลีน สีขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีลวดลายนิดเดียวแค่ด้านบนกล่องที่เป็นเส้นโดยใช้ 4 สีตามแบบฉบับของ Pixel (สี Google นั่นเอง) แล้วด้านหน้ากล่องมีคำว่า Pixel C

 

เมื่อเปิดฝากล่องออกก็จะเจอกับตัวเครื่องนอนรออยู่ ซึ่งมาพร้อมกับอะแดปเตอร์จ่ายไฟเพียงอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นให้เลย  อ้อ! แล้วก็มีคู่มือหนึ่งฉบับด้วย

 

คุณสมบัติ

    • OS : Android 6.0 Marshmallow สามารถอัปเดตเป็น Android 7.0 Nugat ได้
    • Codename : Dragon
    • Chip : NVIDIA Tegra X1
    • CPU : Octa-core 1.9 GHz 64-bit
    • GPU : Maxwell 256 Core 1.0Ghz รองรับ OpenGL ES 3.2 และ Vulkan
    • Memory : LPDDR4 3GB (1.5GB x 2)
    • Storage : 32GB / 64GB
    • Display : หน้าจอ LTPS LCD ขนาด 10.2 นิ้ว อัตราส่วน 1:√2 ความละเอียด 2,560 x 1,800 pixel (~308 DPI) รองรับ Multitouch 10 จุด
    • Camera : กล้องหลังความละเอียด 8.1MP (3,280 x 2,460 pixel) กล้องหน้าความละเอียด 2.1MP (1,920 x 1,080 pixel) รองรับการถ่ายวีดีโอ 1080p ทั้งกล้องหน้าและหลัง
    • Dimension : 24.2 x 17.9 x 0.7 เซนติเมตร
    • Weight : 517 กรัม
    • Battery : Li-Po 9,000 mAh
    • Sensor 
      • Accelerometer
      • Gyroscope
      • Ambient Light
      • Compass
      • Proxymity
    • อื่นๆ
      • Bluetooth 4.1 + HS
      • WiFi 802.11 b/g/n/ac + MIMO + Dual Band
      • USB Type-C 3.1
      • ลำโพง Stereo ด้านข้าง
      • Microphone x 4
      • ช่องเสียบหูฟัง 3.5mm
      • มี GPS
      • ไม่มี NFC

 

สำรวจตัวเครื่อง

ตัวเครื่องต้องชมเลยว่าใช้วัสดุได้ดีมาก เป็นอะลูมิเนียมแบบเดียวกับ Chromebook Pixel เลย ถ้านึกไม่ออกก็ให้นึกถึง Macbook ละกัน มั่นใจในความแข็งแรงทนทานได้เลย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำหนักที่เยอะกว่า Tablet ตัวอื่นๆ และด้านหลังเครื่องก็ทำให้ขอบมีความโค้งมนเล็กน้อยเพื่อให้จับได้ง่าย

 

หน้าจอเป็นแบบ Low Temperature Poly-Silicon (LTPS) LCD ครับ ความกว้าง 10.2 นิ้วมีสว่างสู้แสงได้ดี สีสดไม่เวอร์ และมีความคมชัดสูง เพราะอัดแน่นไปด้วย 2,560 x 1,800 Pixel นั่นเอง ซึ่งให้ความรู้สึกแปลกนิดหน่อย เพราะอัตราส่วนของหน้าจอมันคือ 1:√2 ครับ เกิดมาก็พึ่งเคยเห็นหน้าจออัตราส่วนนี้ เพราะปกติแล้วมันคืออัตราส่วนของกระดาษ​ A4

 

ด้านซ้ายของตัวเครื่องจะเป็นปุ่ม Volume, ลำโพงข้างซ้าย และช่อง USB Type-C

 

ส่วนด้านขวาจะเป็นลำโพงขวาและช่องเสียบหูฟัง 3.5mm

 

ด้านบนจะเป็นปุ่ม Power และรูไมค์ ซึ่งความเวอร์วังอลังการอย่างหนึ่งของ Pixel C ตัวนี้ก็คือมันมีไมค์ 4 ตัว อยู่ด้านบน  ซึ่งทาง Google เค้าบอกไว้ว่า เวลาตะโกนเรียก OK, Google ไม่ว่าจะอยู่ห้องไหนในบ้าน ตัวเครื่องก็จะได้ยินเสมอ (เวอร์เชียว)

 

ซึ่งปุ่ม Power และปุ่ม Volume จะอยู่ใกล้ๆกันตรงมุมซ้ายบนของตัวเครื่องนั่นเอง

 

และช่องหูฟังจะอยู่ข้างขวามุมบนของตัวเครื่อง

 

ด้านหลังตัวเครื่องจะมีแค่กล้องหลังเลนส์กว้างความละเอียด 8.1MP และ LED สุดกระชากใจสาวก Pixel

 

เพราะว่าไฟดังกล่าวเหมือนกับ Chromebook Pixel เป๊ะๆเลย ตรงที่สามารถแสดงเป็น 4 สีตามแบบฉบับของ Google ได้ อีกทั้งยังสามารถบอกระดับแบตเตอรีในเครื่องได้ เพียงแค่หยิบเครื่องขึ้นมา

 

ส่วนด้านหน้าก็จะมีกล้องหน้าความละเอียด 2.1MP, Ambient Light Sensor และ Proximity Sensor

 

ขนาดตัวเครื่องนั้นเมื่อเทียบกับ Nexus 9 ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า Pixel C นี่มันใหญ่จริงๆ จะบอกว่าจอใหญ่กว่าเพราะเน้นใช้ทำงานด้วยก็คงจะไม่ใช่ เพราะตอนสมัย Nexus 9 ออกมาก็บอกว่าเน้นทำงานเหมือนกัน (สงสัย 9 นิ้วคงไม่จะพอ)

 

ส่วนอะแดปเตอร์ที่ให้มานั้นเป็นหัว USB Type-C และตัวอะแดปเตอร์สามารถจ่ายไฟได้ถึง 5V 3A เลยทีเดียว แต่ก็อย่าลืมว่า Pixel C มีแบตเตอรีตั้ง 9,000 mAh เลยนะ

 

Pixel C ที่ไม่มี Keyboard ยังไงก็ไม่ใช่ Pixel C!

สำหรับ Keyboard ที่ใช้กับ Pixel C นั้นมีสองแบบด้วยกัน คือแบบ Keyboard ปกติ และ Folio Keyboard (เป็นเสมือนเคสด้วย) ซึ่งที่ผมได้มาลองเล่นจะเป็นแบบ Keyboard ปกติ

 

แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็ต้องเสียตังซื้ออยู่ดีน่ะแหละ ราคา $149 ทั้งสองแบบเลย

แบบที่ผมลองเล่นนั้นตัว Keyboard จะมีแผงช่วงบนที่เป็นแม่เหล็ก เพื่อดูดให้ตัวเครื่องติดกับ Keyboard ซึ่งแผงดังกล่าวสามารถงัดขึ้นมาแล้วปรับให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ มีความแข็งแรงมาก มากพอที่จะรองรับตัวเครื่อง Pixel C ให้ไม่หลุดได้ง่ายๆ

 

จุดที่น่าสนใจของ Pixel C + Keyboard ก็คือเราไม่ต้องมาคอยนั่งชาร์จไฟให้ Keyboard ครับ เพราะที่ด้านหลังของตัวเครื่อง Pixel ข้างในจะเป็นขดลวดเหนี่ยวนำซึ่งจะจ่ายไฟเพื่อให้ Keyboard ชาร์จแบบไร้สาย หลักการเดียวกับ Wireless Charging นั่นแหละ

 

สรุปง่ายๆก็คือ Keyboard จะชาร์จไฟแบบไร้สายจาก Pixel C ผ่านแผงแม่เหล็กของ Keyboard และเมื่อ Keyboard ทำงานก็จะเชื่อมต่อกับ Pixel C ผ่าน Bluetooth ทันที โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องไปนั่งกดเชื่อมต่อ ถ้าใช้งานเป็นครั้งแรกก็แค่รอใส่รหัสยืนยันการเชื่อมต่อแค่นั้นก็พอ (ถ้าไม่ได้เปิด Bluetooth มันก็จะแจ้งถามเพื่อให้เปิด)

 

สามารถปรับระดับได้เกือบตั้งฉาก

 

ข้อพับต้องบอกเลยว่าแข็งแรงมาก ถึงแม้จะโยกนิดหน่อยเวลาแตะหน้าจอก็เถอะ แต่ก็ยังแข็งแรงกว่าพวก Notebook ที่เป็นหน้าจอ Touchscreen อยู่ดีน่ะแหละ

 

และเวลาไม่ได้ใช้งานแล้วก็สามารถประกบกันเพื่อเก็บได้ทันที ซึ่งตอนพับเก็บอยู่แบบนี้ก็จะยังชาร์จไฟให้แบตเตอรีของ Keyboard นะเออ

ส่วนการถอดออกต้องบอกเลยว่าใช้วิธีดึงโดยตรงไม่ได้ แม่เหล็กดูดติดแน่นมาก ต้องพับกลับเข้าไปก่อน แล้วดันด้านบนของเครื่องลงเพื่อให้ส่วนที่ติดอยู่กับแม่เหล็กหลุดออกมา (หรือเรียกง่ายๆก็คือต้องงัดน่ะแหละ) หรืออีกวิธีก็คือดันตัวเครื่องออกด้านข้าง ซึ่งก็ต้องพับแท่นแม่เหล็กของ Keyboard ก่อนอยู่ดี

พอลองเทียบขนาด Pixel C + Keyboard กับ Macbook Pro ดู ก็เกือบจะเท่าๆกันละ.. ถ้าเทียบกับ Macbook Air คงจะหนากว่าแหละ

 

เวลาใช้ทำงานจริงๆ ตำแหน่งรูชาร์จก็อยู่มุมล่างพอดี ไม่ต้องกลัวว่าสาย USB จะเสียบลอยๆจนน่าเกลียด (เพราะ Nexus 9 เป็นแบบนั้นอยู่ครับ)

 

จุดที่ไม่ชอบของ Keyboard ตัวนี้ก็จะเป็นเรื่องตำแหน่งของปุ่มเพราะว่าปุ่มบริเวณริมๆจะแคบกว่าปกติ ถึงแม้ว่า Layout จะคล้ายกับของ Macbook ก็ตาม แต่พอริมฝั่งซ้ายมือโดยบีบให้แคบลงจนเหมือนหายไปแถวนึง ทำให้ผมพิมพ์ไม่ค่อยถนัด เพราะปกติจะใช้ระยะของปุ่ม Tab ในการจดจำตำแหน่งตัวอักษรต่างๆที่อยู่ฝั่งซ้าย จึงทำให้ผมพิมพ์ตัว A แล้วไปกดโดน S บ่อยๆ นี่ยังไม่ร่วมไปถึงปุ่ม ” ที่โดนบีบจนหดเหลือนิดเดียว

 

ทดลองใช้งาน

การใช้งาน Pixel ก็คงจะไม่พ้นในเรื่องใช้ทำงาน + ความบันเทิง ซึ่งจากการลองทำงานแล้วก็พบว่าให้ความรู้สึกคล้ายๆกับ Chromebook อยู่นะ แต่จะได้เปรียบตรงที่มีแอปฯที่ใช้ทำงานเยอะกว่าหลากหลายกว่า ดังนั้นถ้าคุณทำงานเกี่ยวกับเอกสาร เข้าเว็ป และใช้แอปฯบางตัวเป็นหลักละก็โอเคเลยนะ

 

ส่วนการดูหนังฟังเพลงเล่นเกมก็ทำได้ดีครับ ด้วยลำโพงคู่ที่อยู่ด้านข้าง ถึงแม้จะไม่สะใจเท่าลำโพงคู่หน้าแบบ Nexus 9 แต่ก็เพียงพอต่อการเสพย์อรรถรสแล้วล่ะ ส่วนเรื่องความลื่นไหลไม่ต้องพูดถึงครับ ลื่นทุกเกม ด้วยพลังของ Tegra X1 ซึ่งเป็น CPU ที่มีความแรงอันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ ก็เป็นครั้งแรกนี่แหละที่มาอยู่บน Tablet แบบนี้

หรือจะเอาไว้อ่านการ์ตูนอ่านหนังสือก็เหมือนคุณยืนถือหนังสือหนักครึ่งกิโลที่ขนาดใหญ่กว่ากระดาษ A4 นิดหน่อย ฮาๆ

 

แต่ตอนที่ผมใช้อ่านการ์ตูนผมแอบสังเกตเห็นเล็กน้อยว่าเวลาผมเลื่อนหน้าจอขึ้นหรือลง เส้นสีดำๆในการ์ตูนจะมีสีชมพูม่วงๆโผล่ออกมาให้เห็นเวลาเลื่อนหน้าจอ ซึ่งตอนแรกนึกว่าเป็นที่สายตาตัวเอง แต่พอลองใช้กล้องถ่ายวีดีโอไว้ ก็พบว่าเห็นได้ชัดเจนเหมือนกัน เลยเดาว่าน่าจะเป็นที่จอของ Pixel C แล้วล่ะ

Play video

 

และเวลาดูหนังจะขัดใจเล็กน้อยเรื่องขอบสีดำ เพราะเจอปัญหาภาพไม่เต็มจอ แต่ถ้าคุณยอมรับได้ก็ข้ามๆมันไปเถอะ เวลาดูบนหน้าจอ 4:3 จะยิ่งกว่านี้อีก

 

แต่ถ้าใช้งานแบบฉบับโปรแกรมเมอร์ บอกเลยว่าไม่เหมาะอย่างแรง อย่างน้อยก็สามารถลงแอปฯพวก Terminal แล้วเข้า SSH ไปควบคุม Server ได้อยู่นะ แต่ถ้าจะเขียนโปรแกรมบน Pixel C บอกเลยว่าไม่เหมาะแน่นอน!

เพราะว่าคีย์บอร์ดของ Pixel C ไม่มีปีกกา {} ครับ (เว้นแต่ว่าคุณเขียนภาษา Python ฮาๆ) และหลายๆปุ่มที่โปรแกรมเมอร์ใช้กันบ่อยๆก็ถูกบีบจะเล็กนิดเดียวเลย อย่างเช่นปุ่ม Tab เป็นต้น

และถ้าจะใช้พิมพ์ภาษาไทยอาจจะลำบากหน่อย เพราะตัวคีย์บอร์ดไม่มีภาษาไทยให้ดู และตัว Android ก็ยังไม่รองรับ Hardware Keyboard ภาษาไทย (รองรับแค่บน On-screen Keyboard) ดังนั้นถ้าอยากจะพิมพ์ภาษาไทยผ่าน Keyboard ได้ ก็ต้องไปหาแอปฯจำพวก 3rd Party Keyboard มาใช้แทนครับ

ซึ่งเมื่อหลายวันก่อนผมก็เห็นคนต่างประเทศเค้าใช้ Pixel C พิมพ์งานอยู่นะ เลยเดาว่าถ้าไม่มีเรื่องภาษาไทยเข้ามาให้ปวดหัว การพิมพ์แต่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวตอนทำงานก็น่าจะสะดวกดีเหมือนกันนะ

 

Benchmark ตามธรรมเนียม

ถ้าไม่มีผล Benchmark ประกอบการรีวิว ผมอาจจะโดนด่าก็เป็นได้ ดังนั้นจึงไม่พลาดที่จะลง AnTuTu กับ 3DMark แล้วทำการทดสอบดูครับ

 

AnTuTu ได้คะแนนถึง 124,164 คะแนน อาจจะดูว่าคะแนนเยอะแหละ แต่เมื่อเทียบกับในตารางแล้วก็พบว่าอยู่แค่อันดับ 12 เท่านั้น (แต่ก็อย่าลืมว่าบางรุ่นแอบ Clock เพื่อปั่นคะแนนด้วย)

3DMark ผมทดสอบแค่ Slingshot เท่านั้นนะ เพราะต่ำกว่านั้นก็คงได้ Maxed Out ไปแล้ว โดย ES 3.0 ได้ 3,238 คะแนน ส่วน ES 3.1 ได้ 2,768 คะแนน ซึ่งถ้าลองวัดอันดับจากอุปกรณ์แอนดรอยด์ทั้งหมดแล้ว (โดยอิงอันดับจาก Slingshot ES 3.1) Pixel C ก็ได้อันดับ 2 ไปอย่างสบายๆ เป็นรอง NVIDIA Shield Android TV ไป

 

PCMark ก็ทดสอบ Performance ดู ก็ได้คะแนนไป 6,828 คะแนน พอจัดอันดับทั้งหมดแล้วก็อยู่ที่อันดับ 3 ซึ่งคะแนนจะไล่เลี่ยกันพอสมควร

 

กล้อง…เอ่อ..ข้ามเรื่องนี้ไปเลยได้ป่ะ?

ส่วนใหญ่น่าจะรู้กันอยู่แล้วว่า Tablet ส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เน้นกล้อง เพราะตัวเครื่องไม่ได้ออกแบบมาให้ถือถ่ายรูปอยู่แล้ว ดังนั้นกล้องส่วนใหญ่ที่ติดมากับ Tablet นั้นจะพอใช้งานได้ ซึ่งกล้องบน Pixel C ก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะถ่ายได้ 8.1MP ก็ตาม แต่คุณภาพของภาพที่ได้ก็อยู่ในระดับแค่ “พอถ่ายได้”

 

แต่ในใจจริงผมก็อยากให้ทีม Pixel ทำเป็นรุ่นที่กล้องเทพๆไปเลยนะ เพื่อยกระดับให้รู้สึก Premium ขึ้นไปอีก เพราะโดยรวมของ Pixel C นั้นโอเคเกือบทั้งหมด ยกเว้นเรื่องกล้องนี่แหละ ที่รู้สึกว่าโคตรไม่สมราคาเลย… และบอกเลยว่ากล้องของ Nexus 9 ว่าเฉยๆแล้ว แต่ก็ยังถ่ายได้ดีกว่า Pixel C เยอะเลย

 

เจอปัญหา Random Reboot ระหว่างทดลองใช้งานในช่วงแรกๆ

Pixel C จะมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ หลังจากที่อัปเดต Patch ตัวหนึ่งของเวอร์ชัน Lollipop ไป ก็ได้เกิดปัญหา Random Reboot ขึ้น โดยจะเกิดขึ้นตอนที่ปิดหน้าจอไว้แล้วไม่ได้เสียบชาร์จ ทำให้ตัวเครื่องมีโอกาส Reboot ตัวเอง (ถ้าปล่อยทิ้งไว้มันก็จะ Reboot ตัวเองเป็นระยะๆนั่นเอง) ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นกับผู้ใช้บางคนเท่านั้น (เสือกเป็นเครื่องที่ผมเอามารีวิวด้วยไง) และผมก็ยังคงเจอปัญหานี้ต่อไปถึงแม้ว่าจะอัปเดตเป็น Android N Developer Preview แล้วก็ตาม

แต่หลังจากที่ตัว Developer Preview 5 ได้ปล่อยออกมา ก็กดอัปเดตโดยไม่ได้คิดอะไร รู้ตัวอีกทีก็ตอนสังเกตว่าเครื่องมันไม่มีปัญหา Random Reboot แล้ว เรียกได้ว่าประจวบเหมาะมากๆ เพราะมาก่อนหน้าผมจะเขียนรีวิวตัวนี้แค่สองวันเอง ดังนั้นถ้าใครใช้ Pixel C แล้วเจอปัญหานี้อยู่ให้ลองอัปเดตเป็นตัวทดสอบล่าสุดแก้ขัดก่อนได้นะครับ หรือจะย้อนกลับไปเวอร์ชันก่อนที่จะมีปัญหาก็ได้

 

อื่นๆที่อยากจะเอ่ยกล่าวเล่าให้ฟัง

ระหว่างที่ทดลองใช้ Pixel C อยู่ ก็ได้จับอัปเดตเป็น Android N Preview Developer 5 ตัวล่าสุดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำงานได้เสถียรพอสมควรเลยล่ะ แถมได้เล่นน้องแมวที่เป็น Easter Egg ด้วย (ไม่เกี่ยวกัน)

 

Multitouch ได้ 10 จุด ซึ่งไม่รู้จะทดสอบทำไม เพราะเดี๋ยวนี้มันก็ 10 จุดแทบจะทุกรุ่นแล้ว และผมก็ไม่เคยเห็นใครใช้ Multitouch เยอะขนาดนั้นนะ แค่ 5 นิ้วพร้อมๆกันยังไม่ค่อยจะเจอเลย (เว้นแต่ว่าจะเล่น Flappy Droid กัน 5 คนพร้อมๆกัน)

 

Memory หรือ RAM มีให้ใช้งานจริง 2.7GB ซึ่งก็มากพอสำหรับใช้งานแล้ว และจะเหลือเฟือมากขึ้นไปอีกถ้าคุณไม่ได้ลงแอพ Facebook หรือ Line ฮ่าๆ

 

เนื่องจากอัปเดตเป็น Android N Developer Preview จึงทำให้ใช้ Multi Window ได้ ซึ่งบอกเลยว่าหน้าจอ 10.2 นิ้วแบบนี้เนี่ย เหมาะแก่การใช้งาน Multi Windows มาก เพราะหน้าจอมันกว้างมากจนบางทีก็รู้สึกเสียดายพื้นที่โดยใช่เหตุถ้าไม่ใช้ Multi Window

 

และไปสังเกตุเห็นว่ามีแอปฯ Files สำหรับเปิดดูไฟล์ภายในเครื่องได้ด้วย ซึ่งปกติจะไม่มีใน Pure Android นอกเหนือจากจะเข้าไปดูใน Settings > Storage เอง ซึ่งไปลองเช็คเครื่องอื่นๆที่อัปเดต Android N Developer Preview ตัวล่าสุดก็ไม่มีแอปฯตัวนี้นะ สงสัยจะมีเฉพาะบน Pixel C


GPS ทำงานได้ดีไม่มีปัญหาอะไร เอาเข้าจริง Tablet ดีๆสมัยนี้ไม่ต้องกังวลเรื่อง GPS แล้วด้วยซ้ำ เหมาะแก่การถือแล้วเดินไปมาเพื่อเล่น Pokemon GO เลยก็ว่าได้ เพราะแบตเตอรีก็เยอะ (มือถือเอาไปปล่อย Hotspot แทนละกันเนอะ)

และนานๆทีจะได้เจอเครื่องที่มีแบตเตอรีเยอะถึง 9,000 mAh ซักที นับจากที่เคยใช้ Nexus 10 เพราะว่ามันสามารถใช้งานได้นานหลายชั่วโมงมาก ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ทดสอบแบบจริงๆจังๆใน Pixel C ก็ตาม แต่จากการใช้งานระหว่างรีวิวก็บอกได้เลยว่าไม่ต้องห่วงครับ แบตเตอรีเยอะแบบนี้ใช้งานได้นานมากพอเลยล่ะ (และก็ชาร์จหลายชั่วโมงด้วยเช่นกัน)

ส่วนเรื่อง USB Type-C ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ติดแค่ว่าตัวเครื่องไม่ได้แถมสายแบบโอนข้อมูลมาให้ มีแต่อะแดปเตอร์เพียงอย่างเดียว เลยทำให้ผมไม่สะดวกเวลาจะลองอะไรแผลงๆกับตัวเครื่อง (เครื่องนี้ก็เลยรอดไป) แต่เอาเข้าจริงระหว่างการใช้งานผมก็ไม่ได้มีปัญหากับ USB Type-C เลยนะ

 

สรุป 

Pixel C นั้นถือเป็น Android Tablet ที่ทาง Google ตั้งใจให้อยู่ในระดับ Premium ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบและวัสดุที่ใช้ ซึ่งบ่งบอกถึงคุณภาพของตัว Pixel C ได้เลย รวมไปถึงการออกแบบเพื่อตอบโจทย์การใช้ทำงานจริงๆที่น่าจะคิดมาเยอะพอสมควรอย่างเช่นเรื่องของ Keyboard หรือสัดส่วนหน้าจอ จนทำให้รู้สึกว่า Pixel C เป็น Tablet ที่เหมาะแก่การใช้ทำงานเป็นหลักและเน้นความบันเทิงเป็นรอง และที่สำคัญคือยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของ Pixel ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะไฟ 4 สีที่ด้านหลังตัวเครื่องที่เป็นอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามันเท่และอยากได้มาใช้จริงๆเลยนะ (เพราะแค่ไฟ LED 4 ดวงตรงหลังเครื่องนั่นแหละ)

Keyboard นั้นออกแบบมาได้ดีมาก แก้ปัญหาเดิมๆของ Keyboard ตัวเก่าใน Nexus 9 ไปเลย โดยเฉพาะเรื่องการชาร์จของ Pixel C เนี่ย ชอบไอเดียมากๆ

แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างแรงเหลือเกิน (รุ่น 32GB ราคา $499 ส่วนรุ่น 64GB ราคา $599) จึงทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแฮปปี้มากนักและเปลี่ยนไปมองหาทางเลือกอื่นแทน รวมไปถึงกล้องที่คุณภาพต่ำจนรู้สึกว่าราคาระดับนี้น่าจะได้กล้องคุณภาพดีกว่านี้นะ แล้วก็อยากให้ใส่ NFC มาด้วย เพราะโดยส่วนตัวแล้วผมใช้ NFC ค่อนข้างบ่อยเวลาอยากจะส่ง URL บางอย่างจากมือถือไปเปิดบน Tablet เป็นต้น

ถ้าให้ผมเลือกระหว่าง Pixel C กับ Nexus 9 ที่ใช้อยู่ ผมก็ต้องจำใจบอกว่าเลือก Nexus 9 น่ะแหละ (ฮือออ ลาก่อนไฟ 4 สีของผม) ด้วยเหตุผลเรื่องขนาดหน้าจอ น้ำหนัก และการใช้งานที่ตอบโจทย์กับผมมากกว่า เพราะการทำงานของผมส่วนใหญ่อยู่ที่ Macbook เป็นหลัก ส่วนมือถือกับ Tablet นั้นเน้นเรื่องความบันเทิงมากกว่า

 

แต่ถ้ามีคนให้ Pixel C ฟรีๆ ผมก็เอานะ 😀