แม้ตลาดมือถือทั่วโลกจะเข้าสู่สภาวะซบเซา แต่เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่าง ๆ อย่างก้าวขวาง โดยสองสิ่งที่เห็นได้คือ ผู้ผลิตมือถือทยอยเปิดตัวโมเดล AI ของตนเอง ในขณะที่ผู้ผลิตชิปเซตต้องยกระดับหน่วยประมวลผล AI ให้แรงกว่าเดิมมากๆ เพื่อให้สอดรับกัน และนี่คงเป็นสมรภูมิใหม่ในวงการมือถือนอกเหนือจากการแข่งขันด้านฮาร์ดแวร์และราคาแบบเดิม ๆ เริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
เข้าสู่ยุคสงคราม AI เต็มรูปแบบ
เราได้เห็นกันมาตลอดทั้งปีแล้วว่า AI คือเทรนด์ที่มาแรงที่สุดในแวดวงไอทีในปีนี้ การเกิดขึ้นของแช็ตบอตตอบโต้ได้เหมือนมนุษย์และเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ที่ชาญฉลาด เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงกว้าง และเปลี่ยนวิถีการทำงานของคนบางกลุ่มไปอย่างสิ้นเชิง
เมื่อมีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นมาบนโลก ผู้ที่ขยับตัวเร็วกว่ามักได้เปรียบเสมอ และ Google กับ Samsung ต่างไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอย ทั้งคู่ได้เปิดตัวโมเดลปัญญาประดิษฐ์ของตนคือ Gemini และ Samsung Gauss ตามลำดับ
ตอนนี้ Google อาจนำหน้า Samsung อยู่ครึ่งหรือหนึ่งก้าว เพราะ Google ปล่อยอัปเดตยัด Gemini ลง Pixel 8 Pro ทันทีหลังเปิดตัว พร้อมปล่อยวิดีโอนำเสนอความสามารถของ Gemini ให้ดูพอเป็นน้ำจิ้มแล้ว อีกทั้งยังประกาศว่า Gemini จะรวมร่างกับ Assistant กลายเป็น Assistant with Bard ในปีหน้า ภาพรวมของ Google จึงดูเป็นรูปเป็นร่างและมีความชัดเจนมากกว่า
ในขณะที่ Samsung มีการเปิดตัว Galaxy AI ผู้ช่วยอัจฉริยะตัวใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีแนวโน้มจะมาแทนที่ Bixby ของเดิม โดยจะนำมาใช้งานกับ Galaxy S24 series เป็นรุ่นแรก – ปัจจุบันข้อมูลของ Galaxy AI ยังมีไม่มากนัก คาดว่า Samsung จะเปิดเผยรายละเอียดเต็ม ๆ ในงานแถลงข่าว ‘AI for All: Connectivity in the Age of AI’ วันที่ 8 มกราคม 2024 ในงาน CES ก่อนหน้างาน Galaxy Unpacked เล็กน้อย
และไม่ใช่แค่ฝั่งผู้ผลิตมือถือที่ต้องมีการขยับตัว ฝั่งผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เองก็ต้องอัปเกรดชิปให้สอดรับกับเทรนด์ AI เช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่า Snapdragon 8 Gen 3 และ Dimensity 9300 ต่างมีการอัปเกรดความสามารถด้านการประมวลผลด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างก้าวกระโดดจนสามารถรันโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ได้จากบนเครื่องแล้ว
กล่าวโดยสรุป เทรนด์ AI อาจทำให้ภาพรวมการแข่งขันในตลาดมือถือในปี 2024 และในปีถัด ๆ ไปแตกต่างออกไปจากที่เคย ‘ต่อไปนี้ แค่เครื่องแรงอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องฉลาดด้วย’
RAM อาจเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
แม้มือถือ Android จะมี RAM สูงสุดแตะ 24GB ไปแล้วในปีนี้ แต่ขนาดของ RAM อาจไม่ใช่ปัจจัยในการเลือกซื้อลำดับต้น ๆ ของคนส่วนใหญ่เท่าไหร่นัก เนื่องจาก RAM ขนาด 8GB ที่เป็นขนาดเริ่มต้นในกลุ่มเรือธงส่วนใหญ่ ยังรองรับการใช้งานทั่วไปได้ดีพอ ประกอบกับรอมของผู้ผลิตมือถือบางค่ายมีพฤติกรรมสั่งปิดแอปในเบื้องหลัง ทำให้ดึงพื้นที่ใน RAM มาใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่
ทว่า การมี RAM ขนาดใหญ่ อาจกลายเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในอนาคตจากการมาถึงของ AI โดย Macquarie รายงานว่า RAM ขนาดใหญ่ มีความจำเป็นอย่างมากต่อการรันโมเดลปัญญาประดิษฐ์และฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องจากบนเครื่องนอกเหนือจาก NPU หรือ APU ที่ทรงพลัง ดังนี้
- RAM ขั้นต่ำ 12GB สำหรับการสร้างภาพด้วย AI
- RAM ขั้นต่ำ 20GB สำหรับการรันผู้ช่วยอัจฉริยะพร้อม AI
รายงานของ Macquarie ยังอาจตอบข้อสงสัยได้ว่า ‘ทำไม Google อัปเดต Gemini ให้เฉพาะ Pixel 8 Pro แค่รุ่นเดียว’ เพราะ Pixel 8 Pro มี RAM อยู่ที่ 12GB ในขณะที่ Pixel 8 มี RAM เพียง 8GB และข้อบ่งชี้อีกประการคือ Google เลือกใช้ Gemini Nano ซึ่งเป็น Gemini สเกลเล็กที่สุดจากทั้งหมด 3 ขนาด โดย Google ชี้แจงว่า เป็นขนาดที่ถูกปรับให้เหมาะสมตามกำลังประมวลผลของอุปกรณ์
ทั้งนี้ มือถือ Android ที่มี RAM ไม่มาก อาจสามารถใช้งานฟีเจอร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ได้อยู่โดยต้องอาศัยการประมวลผลจากบนคลาวด์ ซึ่งมีข้อด้อยในแง่ความหน่วง ความเป็นส่วนตัว และต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตขณะใช้งาน
เรือธงกลับมาใช้ดีไซน์ขอบเหลี่ยมและจอแบน
มีคำกล่าวกันว่า ‘เทรนด์การออกแบบและแฟชัน มักวนไปวนมา’ เฉกเช่นเดียวกับวงการมือถือที่หลายค่ายทยอยปรับดีไซน์กลับมาเป็นแบบขอบเหลี่ยม หรือขอบตัดอีกครั้งในรอบหลายปี รวมถึงการเลิกใช้จอโค้งในรุ่นเรือธง และกลับมาใช้จอแบนแบบปกติแทน
เทรนด์นี้สวนทางกับมือถือกลุ่มมิดเรนจ์บางส่วน ที่เริ่มใช้งานจอโค้งให้เห็นประปรายในช่วงหลัง เพื่อให้ภาพลักษณ์ดูพรีเมียมขึ้น
จอสว่างทะลุ 2000 นิต รองรับ Ultra HDR
มือถือ Android หลายรุ่นอัปเกรดมาใช้จอที่มีความสว่างสูงสุด (peak brightness) เกิน 2000 นิตแล้ว คาดว่าตัวเลขนี้อาจเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับเรือธงในปี 2024 เพราะ Ultra HDR ที่เป็นของใหม่ใน Android 14 ก็จะพร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้าเช่นกัน (ตอนนี้มีเฉพาะมือถือ Pixel บางรุ่นที่ใช้งานได้)
Ultra HDR คือระบบการถ่ายภาพและการแสดงผลแบบใหม่ โดยขณะถ่ายจะมีการฝัง HDR gain map ลงในเมตาดาตาของไฟล์ และเมื่อเปิดบนอุปกรณ์ที่รองรับ รูปจะดูสมจริงยิ่งกว่าเดิมด้วยช่วงไดนามิกเรนจ์ที่กว้างกว่าภาพ SDR แบบปกติที่เห็นกันในปัจจุบัน ดังนั้นหน้าจอที่มีความสว่างสูงสุดสูงจึงกลายมาเป็นสิ่งจำเป็น
ขยายการอัปเดตซอฟต์แวร์
Samsung เป็นผู้นำเทรนด์ขยายกรอบเวลาอัปเดตซอฟต์แวร์มายังมือถือ Android โดยประกาศการันตีอัปเดตระบบปฏิบัติการ 3 รุ่น และแพตช์ความปลอดภัย 4 ปีครั้งแรกในปี 2021 ก่อนที่จะมาประกาศขยายเพิ่มอีกรอบเป็น 4 รุ่น และ 5 ปี ในปี 2022
แนวทางของ Samsung ได้สร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกครั้งใหญ่ในตลาด Android ให้ผู้ผลิตมือถือค่ายอื่นต้องเริ่มปรับตัวขยายการอัปเดตซอฟต์แวร์ตาม จากที่ก่อนหน้านี้ปัญหาเรื่องการลอยแพเป็นหนึ่งในจุดอ่อนใหญ่ของ Android ก็ทยอยดีขึ้นเป็นลำดับ
และในปีนี้ Google ก็เกทับ Samsung โดยการประกาศการันตีอัปเดตซอฟต์แวร์ให้ Pixel 8 เป็นเวลา 7 ปี ครอบคลุมทั้งในส่วนของระบบปฏิบัติการและแพตช์ความปลอดภัย จึงมีแนวโน้มที่ค่าเฉลี่ยกรอบเวลาการอัปเดตซอฟต์แวร์ของมือถือ Android ในตลาดจะกระเตื้องขึ้นอีกครั้ง
ระยะเวลาการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่ยาวนานขึ้น อาจนับได้ว่าเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนด้วย เพราะเมื่อมือถือสามารถใช้งานได้นานขึ้น เท่ากับว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะลดลง มลพิษต่อสิ่งแวดล้อมก็น้อยลงตาม
มือถือจอพับมีตัวเลือกมากขึ้น ได้รับความนิยมมากกว่าเดิม
Counterpoint, IDC และ Statista ออกรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า เทรนด์มือถือจอพับจะยังเติบโตต่อเนื่องเรื่อยไปจนถึงปี 2027 เป็นอย่างน้อย สวนทางกับตลาดมือถือปกติที่เข้าสู่สภาวะทรงตัวสลับซบเซา โดย Counterpoint ประเมินว่ายอดขายมือถือจอพับในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 18.6 ล้านเครื่อง และจะขยับไปแตะหลัก 100 ล้านเครื่องในปี 2027 ส่วน IDC คาดการณ์ในปี 2027 ที่ 54.3 ล้านเครื่อง น้อยกว่ากันประมาณครึ่งหนึ่ง
ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งคือ ยอดขายมือถือจอพับที่แข็งแกร่งในตอนนี้ มีรากฐานจากจีนเป็นส่วนใหญ่ เพราะผู้ผลิตหลายค่ายไม่ได้ทำตลาดมือถือจอพับนอกประเทศ (อาจไม่อยู่ในแผน หรือมีแผน แต่ยังไม่ถึงเวลา)
แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปในปีหน้า โดย Jene Park นักวิเคราะห์อาวุโสของ Counterpoint วิเคราะห์ว่า ผู้ผลิตค่ายต่าง ๆ จะเปิดตัวมือถือจอพับที่หลากหลายขึ้น มีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะด้านราคาที่มีแนวโน้มจะถูกลงอีก เพราะเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้าขึ้น และต้นทุนวัสดุลดลง
อัปเกรดวัสดุไทเทเนียม
Apple เปลี่ยนวัสดุขอบเครื่องจากอะลูมิเนียมมาเป็นไทเทเนียมใน iPhone 15 ในปีนี้ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ตัวเครื่องมีน้ำหนักโดยรวมลดลงจน iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max กลายเป็น iPhone ในกลุ่ม Pro ที่เบาที่สุดที่เคยมีมา และ Samsung เองก็มีข่าวลือจะใช้วัสดุชนิดเดียวกันนี้ใน Galaxy S24 Ultra ในปีหน้าเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวใด ๆ ของ Apple และ Samsung ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดมือถือ มักส่งอิทธิพลต่อค่ายอื่น ๆ ที่เหลืออยู่บ่อยครั้ง จึงมีแนวโน้มที่มือถือเรือธงในปี 2024 บางรุ่นจะอัปเกรดมาใช้วัสดุไทเทเนียมเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์
แต่ปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือ ‘ราคา’ เพราะไทเทเนียมมีต้นทุนที่สูงกว่าอะลูมิเนียมแบบเดิม หากอ้างอิงตามการวิเคราะห์ของ Nikkei พบว่า เฟรมเครื่อง iPhone 15 Pro Max มีต้นทุนประมาณ 50 ดอลลาร์ แพงขึ้น 43% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อน
เซนเซอร์กล้องแบบหลายเลเยอร์
เราต่างรู้กันดีว่า ขนาดเซนเซอร์กล้องเป็นปัจจัยสำคัญในการให้ภาพที่ดี แต่การจะขยายขนาดเซนเซอร์บนมือถือนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะถูกผูกมัดไว้ด้วยข้อจำกัดด้าน ‘ขนาด’ และ ‘น้ำหนัก’ หากขยับไปใช้เซนเซอร์ขนาดใหญ่ ชุดเลนส์ก็ต้องใหญ่ตาม สิ่งที่ตามมาถัดจากนั้นคือน้ำหนักมหาศาล ซึ่งคงไม่เหมาะนักกับอุปกรณ์พกพาลักษณะนี้ที่เน้นใช้งานในชีวิตประจำวัน
ผู้ผลิตเซนเซอร์กล้องพยายามมองหาแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาข้างต้นมานานหลายปี และดูเหมือนเทคโนโลยี stacked sensor จะตอบโจทย์ข้อนี้ได้ ซึ่ง stacked sensor ถูกเริ่มนำมาใช้งานจริงแล้วใน Xperia 1 V ของ Sony และ OnePlus Open ของ OnePlus รวมถึง OPPO Find X7 Pro ของ OPPO ที่จะตามมาในปี 2024
โครงสร้าง stacked sensor ที่นำมาใช้งานในมือถือ เป็นโครงสร้างเซนเซอร์แบบ 2 ชั้นที่ Sony เรียกว่า ‘2-Layer Transistor Pixel’ ซึ่งมีโฟโตไดโอด (photodiodes) และวงจรทรานซิสเตอร์พิกเซล (pixel transistor) แยกชั้นและวางซ้อนกัน ส่งผลให้ขนาดโดยรวมของเซนเซอร์เล็กลง แต่มีประสิทธิภาพการรับแสงดีขึ้นและนอยส์น้อยลงเมื่อเทียบกับเซนเซอร์แบบเก่า
หากผลลัพธ์ของ stacked sensor เป็นไปได้ด้วยดี และในระหว่างนี้ไม่มีอะไรที่ใหม่กว่าและดีกว่ามาแทนที่ เทคโนโลยีนี้อาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของเซนเซอร์กล้องบนมือถือนับจากนี้ก็เป็นได้
Comment