Xperia 5 II สมาร์ทโฟนเรือธงขนาดกะทัดรัดรุ่นล่าสุดจาก Sony โดดเด่นมากเรื่องการจับถือและใช้งานมือเดียว แอปกล้องปรับตั้งค่าได้เยอะ UI น่าใช้งาน พร้อมปุ่มชัตเตอร์แยก ทำให้รู้สึกสนุกกับการถ่ายภาพ แบตเตอรี่อึดสุด ๆ ใช้งานข้ามวันก็ยังไหว จอภาพ OLED 120Hz พร้อมลำโพงคู่ เล่นเกมก็ดี ดูหนังก็เพลิน แถมด้วยประสบการณ์การใช้งานที่ใกล้เคียงกับ pure Android แท้ ๆ ในราคา 28,990 บาท

สเปค XPERIA 5 II

  • จอภาพ :
    – CinemaWide OLED 6.1 นิ้ว, Full HD+ 2520 × 1080 พิกเซล, สัดส่วน 21:9
    – อัตรารีเฟรช 120Hz, อัตราตอบสนองการสัมผัส 240Hz
    – รองรับ HDR
  • ชิป : Qualcomm Snapdragon 865 5G
  • หน่วยความจำ : RAM 8GB + 256GB, รองรับ micro SD card สูงสุด 1TB
  • กล้องหลัง :
    – Wide 12MP (ƒ/1.7), 24 มม.
    – Ultra-wide 12MP (ƒ/2.2), 16 มม.
    – Telephoto 12MP (ƒ/2.4), 70 มม.
    – เลนส์ ZEISS T*
  • กล้องหน้า : 8MP (ƒ/2.0)
  • เครือข่าย : GSM / HSPA / LTE / 5G (ไม่รองรับคลื่นความถี่ 2600 MHz)
  • การเชื่อมต่อ :
    – Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac/ax
    – Bluetooth 5.1
    – GPS, A-GPS, A-Glonass, Beidou, Galileo, QZSS9
    – USB Type-C 3.1
  • เซนเซอร์ : สแกนลายนิ้วมือ (รวมกับปุ่มพาวเวอร์)
  • แบตเตอรี่ : 4000mAh, รองรับชาร์จไว USB Power Delivery (USB PD) 3.0 21W
  • ระบบปฏิบัติการ : Android 10
  • ความทนทาน :
    – กันน้ำและฝุ่นมาตรฐาน IP65/68
    – Corning Gorilla Glass 6 (ด้านหน้า, ด้านหลัง)
  • ขนาด : 158 × 68 × 8 มม.
  • น้ำหนัก : 163 กรัม
  • สี :  ชมพู,  น้ำเงิน, ◉ ดำ
  • ราคา : 28,990 บาท

อุปกรณ์ภายในกล่อง

Sony ใส่อุปกรณ์พื้นฐานมาให้ในกล่อง Xperia 5 II อย่างครบครัน ได้แก่ สาย USB-C to USB-C สำหรับชาร์จไฟและถ่ายโอนข้อมูล, อะแดปเตอร์แปลงไฟ USB PD (Power Delivery) ขนาด 18W และสุดท้าย หูฟังอินเอียร์รุ่น MH750 ที่ชาวอารยธรรมน่าจะคุ้นเคยกันดี

ไม่มีเข็มสำหรับจิ้มถาดซิมแถมมาให้ เพราะ Xperia 5 II สามารถดึงถาดซิมออกมาได้โดยใช้เพียงแค่เล็บเกี่ยว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เข็มจิ้มถาดซิมนั่นเอง ส่วนวัสดุของบรรจุภัณฑ์นั้นทำมาจากกระดาษแข็งแทบทั้งหมด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดี

เป็นเรื่องน่าเสียดายเล็กน้อยที่ Sony เลือกแถมอะแดปเตอร์แปลงไฟขนาด 18W มาให้ แทนที่จะเป็นตามระดับสูงสุด 21W ที่ Xperia 5 II รองรับ

ดีไซน์ภายนอกและการจับถือ

ความรู้สึกหลังจากที่ได้ลองจับ Xperia 5 II ต้องบอกว่า เป็นอะไรที่สร้างประทับใจได้มากถึงมากที่สุด ด้วยขนาดตัวเครื่องที่เล็ก น้ำหนักที่เบา และเฟรมเครื่องที่โค้งมน ทำให้ทุกอย่างดูลงตัวไปหมด ถือได้กระชับ เข้ามือมาก ๆ ใช้งานมือเดียวได้โดยที่นิ้วโป้งยังคงเอื้อมถึงขอบหน้าจออีกฝั่งได้แบบไม่ต้องฝืนหรือเกร็งเลย งานประกอบทำได้เนี๊ยบ ไม่รู้สึกถึงรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนเท่าไหร่ เพราะตรงมุมจะมีความโค้งมนทั้งหมด เต็ม 10 ไม่หัก

ปุ่มกดทั้งหมดของ Xperia 5 II จะมากองรวมอยู่ที่ฝั่งขวา ไล่จากบนลงล่าง ประกอบด้วย ปุ่มปรับระดับเสียง, ปุ่มพาวเวอร์พร้อมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ, ปุ่ม Google Assistant และสุดท้ายคือ ปุ่มชัตเตอร์ โดยส่วนตัวรู้สึกว่า ตำแหน่งของปุ่มโดยรวมจะอยู่ค่อนข้างต่ำ เข้าใจได้ว่า Sony ต้องการออกแบบให้ใช้งานมือเดียวได้ถนัด กดปุ่มต่าง ๆ โดยการขยับเพียงแค่นิ้ว ไม่ต้องขยับทั้งมือ ใช้ไปสักพักคงชินไปเอง

การที่ปุ่มกดทั้งหมดอยู่รวมกันในฝั่งเดียวนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียในคราวเดียวกัน ซึ่งจะพูดถึงในส่วนถัดไป และบริเวณมุมขวาบนของหน้าจอจะมีไฟ LED สำหรับบอกสถานะหรือการแจ้งเตือนมาให้ด้วย

Sony เลือกใช้กระจก Gorilla Glass 6 จาก Corning เป็นวัสดุสำหรับทั้งหน้าจอและฝาหลังของ Xperia 5 II ซึ่งดูเหมือนมีการเคลือบสารลดรอยนิ้วมือมาให้แล้ว แต่หากจับบ่อย ๆ ก็หนีไม่พ้นอยู่ดี รวมถึงเฟรมเครื่องที่เป็นโลหะผิวมันวาวเองก็เช่นกัน ถ้าหงุดหงิดกับอะไรแบบนี้ แนะนำให้หาเคสมาใส่ก็จะดีกว่า

มีหลายคนสงสัยเกี่ยวกับสีของตัวเครื่อง โดยเฉพาะสีชมพู ซึ่งเครื่องที่ผมได้มาก็บังเอิญเป็นสีชมพูพอดี ของจริงสีจะออกหม่น ๆ อมม่วง อมเทา เล็กน้อย หากกระทบกับแสงจะสะท้อนแบบเมทัลลิก ให้ความรู้สึกพรีเมียมและหรูหรา แต่ถ้าไม่โดนแสงตรง ๆ จะเป็นสีแบบพาสเทล สวยไปอีกแบบ ผู้ชายถือได้ไม่มีปัญหาแน่นอน โดย Xperia 5 II รุ่นนี้ยังคงผลิตที่ประเทศไทยบ้านเราเหมือนเดิม แต่ไม่มีการสกรีนบอกเอาไว้ที่ฝาหลังนะครับ

จอภาพและการแสดงผล

Xperia 5 II มาพร้อมกับจอภาพ CinemaWide OLED 6.1 นิ้ว หากดูจากความยาวตามแนวทแยงอาจดูเหมือนเยอะ แต่จริง ๆ แล้วเครื่องไม่ได้ใหญ่อะไรเลย เพราะจอภาพมีสัดส่วน 21:9 ยาวเป็นพิเศษ ด้านกว้างจึงสั้น และหน้าจอขนาดประมาณนี้ถือว่าหาได้ยากมาก ๆ สำหรับสมาร์ทโฟนในสมัยนี้ ยิ่งกับพวกเรือธงด้วยยิ่งแล้วใหญ่

เรื่องสีสันนั้นทำได้ดีตามมาตรฐาน แสดงผลสีดำได้มืดสนิทตามแบบฉบับ OLED โดย Xperia 5 II มีโปรไฟล์การแสดงผลให้เราเลือก 2 รูปแบบ ได้แก่ โหมด Standard สีสดจี๊ดจ๊าด บาดลึกไปทั้งหัวใจ อุณหภูมิสีจะอมฟ้าแบบที่หลายคนน่าจะชอบ (แต่หากไม่ถูกใจก็สามารถปรับเอาทีหลังได้) ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ โหมด Creator ที่เน้นความถูกต้องเที่ยงตรงของเฉดสี ให้ผู้ใช้งานได้เสพสีสันที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องการจะสื่อมากที่สุด โดยจะรองรับการแสดงผลสีในขอบเขตสเปกตรัม BT.2020 และสีแบบ 10-bit


โหมด Creator เน้นความถูกต้องของสี / โหมด Standard เน้นความสดใสของสี


ปรับอุณหภูมิสีของหน้าจอได้ด้วยนะ

ยิ่งไปกว่านั้น Sony ยังใส่เทคโนโลยี X1 for mobile มาให้กับสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ด้วย เมื่อเปิดใช้งานจะเป็นการเพิ่มความสดใสและความคมชัดให้แก่วิดีโอ ฟีเจอร์นี้จะเปิดใช้งานได้เฉพาะโปรไฟล์ Standard ถ้าไม่ชอบก็สามารถปิดได้ตามสะดวก ซึ่งส่วนตัวผมก็ปิดเอาไว้ เพราะรู้สึกว่า เมื่อเปิดใช้งานแล้วภาพวิดีโอมันดูแข็ง ๆ กระด้างแปลก ๆ เพราะมันไปเร่งความคมชัด จนเกิดเป็นเอฟเฟกต์เฮโล (halo effect) ในภาพ ขึ้นเป็นขอบขาว ๆ และคอนเทนต์สมัยนี้ก็มีความคมชัดมากพออยู่แล้ว จนไม่มีความจำเป็นต้องไปยัดเยียดแบบฝืน ๆ เข้าไปอีก

อัตรารีเฟรช 120Hz แสดงผลได้ลื่นไหลเนียนตาสุด ๆ แต่มีจุดสังเกตเล็กน้อยตรงที่ Xperia 5 II มีให้เลือกแค่ 60 Hz กับ 120Hz เท่านั้น ไม่มีโหมด adaptive ที่จะปรับเปลี่ยนอัตรารีเฟรชไปตามสถานการณ์โดยอัตโนมัติ ดังนั้น หากเปิดใช้งาน 120Hz คงต้องทำใจล่วงหน้าเลยว่า มันจะสูบแบตเพิ่มขึ้น


อัตรารีเฟรช 120Hz เลือกได้แค่ เปิด หรือ ปิด

สำหรับมือถือขนาดปกติทั่ว ๆ ไป ผมสามารถแยกความแตกต่างระหว่างความละเอียดจอภาพ Full HD กับ 2K หรือสูงกว่าได้อย่างง่ายดาย แต่กับ Xperia 5 II ที่มีพื้นที่การแสดงผลค่อนข้างเล็ก แม้จะมีความละเอียดระดับ Full HD แต่ความหนาแน่นของจุดพิกเซลก็สูงเกินพอ ระดับ 449 PPI สามารถใช้งานได้โดยไม่ติดขัดอะไรเลย

จากที่ได้ลองใช้งาน Xperia 5 II มาสักระยะหนึ่ง ผมพบกับสิ่งชวนหงุดหงิดในเรื่องจอภาพของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้อยู่ 3 ประการด้วยกัน อันดับแรกคือ ระดับความสว่าง ทั้งต่ำสุดและสูงสุด ซึ่งทำได้ไม่ดีเท่าไหร่นักหากเทียบกับมือถือที่ใช้หน้าจอ OLED เหมือน ๆ กันจากที่ส่วนตัวเคยสัมผัสมา ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผมเป็นอย่างมากเมื่อใช้งานกลางแจ้ง ต่อให้ไม่ใช่สภาพที่มีแดดจัดก็แทบมองไม่เห็นอะไรเลย ต้องคอยเอามือมาป้องบังแดดเอาไว้

ผมไม่มีอุปกรณ์สำหรับวัดระดับความสว่าง จึงแอบไปส่องผลทดสอบจากแลปของเว็บต่างประเทศมา พบว่า Xperia 5 II ทำความสว่างสูงสุดได้ประมาณ 530 nit เท่านั้น เป็นค่าความสว่างที่ต่ำมากหากเทียบกับสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นอื่นที่ทำได้สูงสุดทะลุเกิน 800 nit ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือว่า เรือธงรุ่นต่อไปของ Sony จะได้รับการปรับปรุงในส่วนนี้ ส่วน Xperia 5 II คงต้องรับสภาพกันไป เพราะมันเป็นปัญหาระดับฮาร์ดแวร์ แก้ไขอะไรไม่ได้

อันดับถัดมาคือ การไล่ระดับความสว่างที่ไม่นุ่มนวล แทนที่จะไล่เป็นสเต็ป 1, 2, 3, 4, 5, … อย่างที่ควรจะเป็น แต่ Xperia 5 II กลับกระโดดเป็น 1, 5, 13, 15, 19, … เสียอย่างนั้น ส่วนอันดับสุดท้ายคือ อาการภาพซ้อนแบบแปลก ๆ เมื่อปรับระดับความสว่างต่ำกว่า 10% ลงไป พบได้ทั้ง 60Hz และ 120Hz

กล้องและการถ่ายภาพ

Xperia 5 II มีกล้องหลังจำนวน 3 ตัว ประกอบด้วย กล้องหลัก ความยาวโฟกัส 24 มม. รูรับแสง ƒ/1.7 ซึ่งกล้องนี้จะมีคุณภาพสูงที่สุด + กล้องอัลตร้าไวด์ ให้ภาพมุมกว้าง 124 องศา กว้างเป็นอันดับต้น ๆ ของสมาร์ทโฟน รูรับแสง ƒ/2.2 + กล้องเทเลโฟโต้ ความยาวโฟกัส 70 มม. รูรับแสง ƒ/2.4 ความละเอียด 12 MP ปิดทับด้วยเลนส์ ZEISS T* คุณภาพสูงที่ได้รับการเคลือบผิวมาเป็นพิเศษ ขยับขึ้นมาด้านบนเล็กน้อยจะมีไฟแฟลช LED และเซนเซอร์ RGB-IR สำหรับช่วยประมวลผลไวต์บาลานซ์ให้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น

แอปกล้องของ Xperia 5 II มีด้วยกัน 3 แอป Camera เป็นแอปกล้องพื้นฐานที่ปรับตั้งค่าอะไรแทบไม่ได้เลย เน้นถ่ายง่าย ๆ ไว ๆ ส่วนแอป Photo Pro กับ Cinema Pro เป็นแอปใหม่ Sony ที่พัฒนาโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากกล้องในตระกูล Alpha ของตัวเอง ดังนั้น ทั้งหน้าตา UI การปรับตั้งค่า รวมทั้งเสียงตอนโฟกัสและกดชัตเตอร์ จะเหมือนกับกล้อง Alpha เป๊ะ ๆ เลย ใครชอบถ่ายภาพ บอกเลย ฟินมาก

ในการทดสอบถ่ายภาพ ผมจะใช้แอป Photo Pro ในโหมดออโต้เป็นหลัก ปน ๆ กับเซมิออโต้บางภาพ แต่จะไม่ใช้โหมดแมนนวล เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้งานโหมดนี้ได้เป็น และในบางสถานการณ์อาจไม่ได้มีเวลามากพอให้เรามานั่งปรับตั้งค่าอย่างประณีต

.
ภาพถ่ายจาก Xperia 5 II มีสีสันแนวธรรมชาติ โทนกลาง ๆ ตัวซอฟต์แวร์ไม่ได้บูสต์ความสดมาให้สักเท่าไหร่ ข้อดีคือ เอาภาพไปแต่งต่อได้ง่าย ไดนามิกเรนจ์กว้างพอที่จะตอบรับกับสถานการณ์ทั่วไปได้สบาย ๆ การวัดแสงตัวแบบไวต์บาลานซ์ทำงานได้ดีในสถานการณ์ส่วนใหญ่ น่าจะเป็นอานิสงส์จากเซนเซอร์ RGB-IR ส่วนระบบโฟกัสทั้งแบบปกติและแบบ Eye AF ติดตามดวงตาก็รวดเร็วและแม่นยำไว้ใจได้

.
แม้ว่า Xperia 5 II จะมีไวต์บาลานซ์ที่เชื่อถือได้ แต่จากภาพตัวอย่างด้านล่าง แสดงให้เห็นว่า เมื่อกับแสงจากหลอดไฟทังสเตน ภาพจะอมเหลือง ๆ ส้ม ๆ ทันที ซึ่งเป็นปัญหาที่สมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ก็เจอเหมือนกัน

.
การถ่ายภาพกลางคืนและในสภาวะแสงน้อย Xperia 5 II พอถู ๆ ไถ ๆ ไปได้ เท่าที่ผมสังเกต Sony เลือกใช้เทคนิคการลากความเร็วชัตเตอร์นาน ๆ ไม่ได้ใช้เทคนิคการรวมภาพ (image fusion) แบบที่ค่ายอื่นนิยมใช้กันในปัจจุบัน ข้อดีคือ ไม่เกิด artifact หรือการเรนเดอร์เพี้ยน ๆ จากการรวมภาพ ส่วนข้อเสียคือ มือต้องนิ่ง ไม่อย่างนั้นภาพที่ถ่ายออกมาจะเบลอ ไดนามิกเรนจ์แคบกว่า และต้องรอประมวลผลนาน


ไดนามิกเรนจ์เมื่อถ่ายในสภาวะแสงน้อยมีจำกัด เพราะไม่มี image fusion


เมื่อเจอกับสภาวะแสงน้อย Xperia 5 II จะพยายามเกลี่ยนอยส์ให้เนียน ภาพจึงขาดความคมชัดและรายละเอียด

เลนส์อัลตร้าไวด์มีซอฟต์แวร์แก้ความบิดเบี้ยวที่ดี แทบไม่รู้สึกถึงความบวมของภาพเลย เก็บงานได้เนียนกริบ ซึ่ง Sony ได้ให้อิสระแก่เราในการตั้งค่าตรงนี้ สามารถเลือกปิดการแกไขความบิดเบี้ยวได้ มุมมองจะกว้างขึ้นอีกสเต็ป แต่ภาพก็จะป่อง ๆ บวม ๆ ตามข้อจำกัดของเลนส์


เลนส์อัลตร้าไวด์ ปิดการแก้ไขความบิดเบี้ยว


เลนส์อัลตร้าไวด์ เปิดการแก้ไขความบิดเบี้ยว


เปรียบเทียบความกว้างของภาพกับเลนส์หลัก

เลนส์เทเลโฟโต้ของ Xperia 5 II มีความยาวโฟกัสเทียบเท่า 70 มม. ซึ่งเป็นระยะที่ทับซ้อนกับระยะซูมไกลสุดแบบดิจิทัลของเลนส์หลัก เอาจริง ๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาแทบไม่แตกต่างกันเลย ผมจึงคิดว่า หาก Sony ขยับความยาวโฟกัสขึ้นเป็น 85 มม., 100 มม. หรือ 135 มม. ดูจะเป็นอะไรที่มีประโยชน์มากกว่า


เลนส์เทเลโฟโต้ มีทางยาวโฟกัสทับซ้อนกับการซูมแบบดิจิทัลของเลนส์หลัก


ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ ซูมดิจิทัลไปที่ 100 มม. ผลลัพธ์พอรับได้ ไม่ถึงกับแย่มาก

Xperia 5 II ไม่มีเลนส์มาโครสำหรับถ่ายภาพระยะใกล้ แต่เลนส์หลักและเลนส์อัลตร้าไวด์ต่างก็มีระยะโฟกัสที่ค่อนข้างใกล้ ประมาณ 8.5 ซม. และ 8 ซ.ม. ตามลำดับ พอแก้ขัดได้บ้างในระดับหนึ่งหากจำเป็นต้องใช้งานขึ้นมาจริง ๆ


ไม่มีเลนส์มาโคร แต่สามารถใช้เลนส์หลักแก้ขัดได้โดยการซูมถ่าย

การถ่ายภาพแบบ burst shooting เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของ Xperia 5 II หากถ่ายด้วยเลนส์หลักจะสามารถล็อกโฟกัสและความสว่างของวัตตุขณะถ่ายรัว ๆ ได้ที่ความเร็วสูงสุด 20 fps จำนวนสูงสุด 200 ภาพ (หากอยากถ่ายต่อ ต้องกดชัตเตอร์ใหม่) เอาไว้ถ่ายสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ หรือคาดเดาไม่ได้ เช่น ถ่ายเด็กเล็ก ถ่ายสัตว์เลี้ยง หรือถ่ายกีฬา เป็นต้น การใช้งานโหมดนี้ต้องแลกมาด้วยสีสันและรายละเอียดของภาพที่ด้อยลงไปกว่าการถ่ายปกติ และไม่สามารถบันทึกภาพเป็นไฟล์ RAW ได้ แต่ผมกลับชอบนะ สีภาพจะซีด ๆ เฟด ๆ คอนทราสต์ต่ำมาก เหมือนภาพจากกล้องฟิล์มไม่มีผิด

ปัญหาเรื่องความร้อนที่หลายคนกังวลกัน แม้ยังร้อนอยู่บ้าง แต่กล้องไม้ตัด เครื่องไม่ดับ แอปไม่เด้งแล้ว ส่วนเรื่องประมวลผลช้า ยังคงมีอยู่สำหรับภาพถ่ายกลางคืน ต้องรอสักอึดใจใหญ่ ๆ เลยกว่าจะประมวลผลเสร็จและถ่ายภาพต่อได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Sony ควรปรับปรุง

ข้อเสียหลัก ๆ เกี่ยวกับแอปถ่ายภาพของ Xperia 5 II คือ เมื่อเราปรับตั้งค่าอะไรเอาไว้ แล้วละออกจากหน้าจอ เช่น เรียกดูภาพ สลับไปแอปอื่น หรือออกมาหน้าจอโฮม พอกลับเข้าแอปกล้องอีกที ระยะการซูมที่เราตั้งค่าเอาไว้จะถูกรีเซตหายไปหมด กลับมาเป็นระยะดั้งเดิมของเลนส์นั้น ๆ ยิ่งกับแอป Camera พื้นฐาน ยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะจะเด้งกลับมาเป็นเลนส์หลักเสมอ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ Sony ควรแก้ไขแบบด่วน ๆ


หน้าตาอินเทอร์เฟซภายในแอป Photo Pro


เมื่อตั้งค่าระยะการซูมไว้แล้วสลับไปหน้าจออื่นหรือเปลี่ยนโหมดการถ่ายภาพ การตั้งค่าจะถูกรีเซต

นอกจากนี้ ผมพบว่า การสลับกล้องแต่ละตัวขณะถ่ายภาพนั้นทำได้ช้า ราวกับว่า กล้องตัวที่เหลืออื่น ๆ ไม่ได้มีการสแตนด์บายเอาไว้ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา พอสลับกล้องทีก็ต้องรอให้กล้องเปิดการทำงานใหม่ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการใช้งาน

กลับมาเรื่องของปุ่มกด ตามที่ค้างคาไว้ด้านบน ข้อดีของการที่ Xperia 5 II มีปุ่มอยู่ฝั่งเดียวกันทั้งหมด คือ เมื่อถ่ายรูปในแนวนอนแล้วต้องวางโทรศัพท์ราบไปกับพื้น จะวางได้ระนาบพอดีโดยไม่มีปุ่มจากอีกฝั่งมารบกวน เช่น หากเป็นปุ่มปรับระดับเสียง ก็อาจลั่นไปโดนกลายเป็นกดถ่ายรูปได้โดยไม่ตั้งใจ แต่ทั้งนี้ก็มีข้อเสียเหมือนกัน คือ Xperia 5 II จะเจอปัญหาเมื่อใช้งานกับขาจับสมาร์ทโฟนสำหรับยึดกับขาตั้งกล้องทั่วไป เพราะปุ่มเรียงติดกันเป็นพืด จนไม่มีที่ว่างเหลือพอสำหรับหนีบ

ระบบเสียงและการฟังเพลง

Xperia 5 II มีลำโพงคู่สเตอรีโอแบบหันหน้าเข้าหาผู้ใช้งาน เวลาฟังเพลงที่มีการแพนเสียงจากซ้ายไปขวา (หรือขวาไปซ้าย) จะรู้สึกได้ในทันที ข้อดีคือ สามารถปรับระดับเสียงได้ละเอียดยิบถึง 30 ระดับ แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกัน คือ เสียงเบามากและมีความอู้อี้พอสมควร เหมือนเสียงไปอุดอยู่ข้างในเครื่อง ส่งผลให้ฝาหลังสั่นมากเมื่อเปิดลำโพงด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานนมือถือ Sony บ่นกันมาหลายรุ่นแล้ว และใน Xperia 5 II ก็ยังคงมีปัญหาดังกล่าวอยู่ ส่วนแจ็กหูฟัง 3.5 มม. ในรุ่นนี้ไม่ได้ถูกตัดหายไปไหน

การฟังเพลงผ่านหูฟังนั้นทำได้ดีไม่มีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อผ่านสายหรือไร้สายก็ตาม Xperia 5 II มีเทคโนโลยีด้านเสียงเด่น ๆ 2 อย่าง คือ DSEE Ultimate โดยจะเป็นการนำ AI เข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพไฟล์เพลงธรรมดาให้เทียบเท่า Hi-Res และ 360 Reality Audio ฟอร์แมตเสียงสามมิติรูปแบบใหม่ ให้ประสบการณ์ที่แปลกแหวกแนว แต่อย่างหลังหูฟังกับแอปก็ต้องรองรับด้วยนะครับ ถึงจะใช้ได้

.
นอกจากนี้ Xperia 5 II ยังมีลูกเล่นเก๋ ๆ อย่าง Dynamic Vibration เมื่อเราเล่นเกม ฟังเพลง หรือดูหนัง ตัวเครื่องจะสั่นไปตามจังหวะ คล้ายระบบสั่นบนจอย DUALSHOCK ของเครื่อง PlayStation เลย สนุกไปอีกแบบ

ประสิทธิภาพการใช้งานและอินเทอร์เฟซ

Xperia 5 II ขับเคลื่อนด้วย Snapdragon 865 ชิประดับไฮเอนด์จาก Qualcomm ซึ่งเป็นชิปที่ทรงพลังที่สุดของ Android ในปัจจุบันแล้ว แรงสุดขีด ลื่นหัวทิ่ม เป็นรองแค่ Snapdragon 865+ นิดหน่อยเท่านั้น หัวข้อนี้จึงไม่มีอะไรให้พูดถึงมากเท่าไหร่

.
หน้าตาอินเทอร์เฟซต่าง ๆ ใน Xperia 5 II เหมือน Android แบบดั้งเดิมแทบทุกประการ (stock Android หรือ pure Android) แต่มีการเสริมฟีเจอร์ Side sense เข้าไป สำหรับเรียกใช้งานทางลัดต่าง ๆ โดยการ แตะ 2 ครั้ง เลื่อนขึ้น หรือเลื่อนลง กำหนดค่าทางลัดต่าง ๆ และตำแหน่งกับขนาดของ Side sense เองได้ตามความถนัดของแต่ละคน

 


ตัวอย่างการใช้งาน Side sense โดยการแตะขอบหน้าจอ 2 ครั้ง


หน้าจอการตั้งค่า Side sense

เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือทำงานได้แม่นยำและรวดเร็ว แต่ด้วยขนาดหน้าสัมผัสที่เล็ก จึงมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่การสแกนที่อาจไม่ครอบคลุมนิ้วมากนัก เวลาบันทึกลายนิ้วมืออาจต้องขยับนิ้ว ซ้าย-ขวา บน-ล่าง หลาย ๆ ตำแหน่ง หรือใช้วิธีการบันทึกลายนิ้วมือเดิมซ้ำ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มความครอบคลุม หากนิ้วเปียกหรือมีคราบมันจะสแกนไม่ติด ต้องเช็ดให้สะอาดก่อน

การเล่นเกม

Game enhancer แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ฮับสำหรับรวมเกมทั้งหมดในเครื่องเอาไว้ในที่เดียว ให้เราปรับตั้งค่าเกมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกได้จากตรงนี้ อีกส่วนหนึ่งเป็นโอเวอร์เลย์ให้เรียกใช้งานขณะกำลังเล่นเกมอยู่

มีให้เลือกปรับได้ 3 โหมด ได้แก่ Performance preferred จัดเต็มสุด สูบแบตสุด, Balanced เน้นสมดุล ระหว่างประสิทธิภาพและอายุแบตเตอรี่, Battery life preferred ลดทอนประสิทธิภาพลง ยืดอายุแบตเตอรี่ให้ยาวนาน และมีโหมด Custom ให้เรากำหนดค่าต่าง ๆ เองได้ด้วย ทั้งอัตรารีเฟรชหน้าจอ อัตราตอบสนองการสัมผัส และความแม่นยำของการติดตามการสัมผัส ปรับแยกกันแต่ละเกม ของใครของมันได้เลย

.
ในส่วนนี้เราสามารถล็อกอัตรารีเฟรชหน้าจอได้ ต่อให้เกมที่กำลังเล่นไม่รองรับการแสดงผลถึงระดับนั้นก็ตาม ซึ่งมีให้เลือกปรับสูงสุดที่ 240Hz แต่จะเป็นเพียงการจำลองด้วยซอฟต์แวร์เท่านั้นนะครับ ไม่ใช่ 240Hz แท้ เป็นเทคนิคแทรกเฟรมแบบเดียวที่ใช้กันบนทีวีในปัจจุบัน


ปรับอัตรารีเฟรชได้สูงสุด 240Hz แต่เป็นการจำลองด้วยซอฟต์แวร์

ฟีเจอร์ที่เด็ดที่สุดในหัวข้อนี้ ผมยกให้เป็นของ H.S. power control เมื่อเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้ ขณะเล่นเกมไปด้วยเสียบชาร์จไปด้วย แบตจะชาร์จแทบไม่เข้า เสียบทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แบตขึ้นมาไม่ถึง 5% แต่…เอ๊ะ ! ชาร์จแบตไม่เข้า…แล้วมันจะไปดีได้ยังไง ? ข้อดีของมันก็คือ เครื่องจะไม่ร้อนเลยแม้แต่นิดเดียวครับ ทำให้ประสิทธิภาพการประมวลผลของซีพียูไม่ดร็อปลงขณะเล่นเกม ซึ่ง H.S. ย่อมาจาก Heat Suppression อีกทั้งยังเป็นการช่วยถนอมแบตเตอรี่ไปในตัวด้วย เหมาะสำหรับเกมที่มีการเปิดบ็อตทิ้งไว้มาก ๆ

แบตเตอรี่และการชาร์จ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม ปี 2014 Sony ได้เผยโฉมเรือธงรุ่นจิ๋วเป็นครั้งแรก ในนาม Xperia Z1 Compact มาพร้อมกับหน้าจอขนาดมินิ 4.3 นิ้ว แม้จะมีแบตเตอรี่ความจุเพียง 2300mAh แต่ก็ได้รับคำชมเป็นอย่างมากในเรื่องความอึด ซึ่ง Sony ก็รักษามาตรฐานในเรื่องในได้ดีเสมอมาในรุ่นต่อ ๆ ไปหลังจากนั้น รวมถึง Xperia 5 II เองก็ด้วย

ความจุแบตเตอรี่ของ Xperia 5 II ได้รับการอัปเกรดขึ้นรุ่นก่อน จากเดิม 3140mAh เป็น 4000mAh เท่ากับ Xperia 1 II แล้ว ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกับสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ ผมไม่เคยมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่หมดระหว่างวันเลยแม้แต่ครั้งเดียว เปิดใช้งานฟังก์ชั่นทุกอย่างเต็มที่ไม่มีกั๊ก อย่างแย่ที่สุด เคยออกจากบ้านด้วยแบต 70% และวันนี้ก็ใช้งานเยอะกว่าทุกที แต่ก็ยังเหลือแบตอีก 15% เมื่อกลับถึงบ้าน


แบตอึดมาก สมราคา Sony

ตามข้อมูลระบุว่า Xperia 5 II รองรับการชาร์จไว USB Power Delivery (USB PD) 3.0 สูงสุด 21W แต่อะแดปเตอร์ที่แถมมาในกล่องเป็นแบบ 18W เท่านั้นนะครับ ด้วยอะแดปเตอร์ที่แถมมา Xperia 5 II สามารถชาร์จจาก 0 – 50% ได้ในเวลาประมาณ 35 นาที และชาร์จจาก 0 – 100% ได้ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง กับอีก 50 นาที หากเทียบกับ Android ระดับท็อปด้วยกันที่ตอนนี้หลาย ๆ รุ่นสามารถชาร์จจาก 0 – 100% ได้ในเวลาต่ำกว่า 1 ชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมงนิด ๆ คงต้องบอกว่า Sony ต้องทำการบ้านเพิ่มอีกพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ฟีเจอร์ Batter Care ของ Xperia 5 II นั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจ หลักการทำงานของมันก็คือ แบ่งการชาร์จออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกเป็นการชาร์จด้วยความเร็วระดับเดียวกับปกติ จากนั้นจะหยุดการชาร์จลงเมื่อถึงความจุที่กำหนด 80% หรือ 90% ยิ่งน้อยยิ่งถนอมแบต และจะทำการชาร์จต่อจนเต็ม 100% เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม


ฟีเจอร์ Battery Care ช่วยถนอมแบตเตอรี่ในระยะยาว

ในการตั้งค่าเริ่มต้น Battery Care จะเรียนรู้พฤติกรรมและระยะเวลาการชาร์จของเราและคำนวณเวลาให้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็คือ เวลาเข้านอนกับเวลาตื่นของเรานั่นแหละครับ (ชาร์จเต็มก่อนตื่นนอนเล็กน้อย) หรือถ้าใครไม่อยากเสียเวลารอเครื่องเรียนรู้ ก็สามารถตั้งเวลาได้เอง ทั้งเวลาเริ่มต้นและเวลาที่ต้องการให้ชาร์จเต็ม หรือจะเปิดให้ Batter Care ทำงานตลอดเวลา ลิมิตการชาร์จไวที่ 80% หรือ 90% ก็ทำได้เช่นกัน


หลักการทำงานของ Battery Care คือ แบ่งการชาร์จออกเป็น 2 เฟส

วิธีการถนอมแบตในลักษณะนี้มีใช้กันมานานแล้วกับอุปกรณ์ประเภทแล็ปท็อป โดย Sony เคลมว่า เมื่อรวมฟีเจอร์ Battery Care เข้ากับ H.S. power control แล้วล่ะก็ Xperia 5 II สามารถใช้งานกันได้ยาว ๆ 2 ปี โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องแบตเตอรี่เสื่อมสภาพเลยทีเดียว เจ๋งสุด ๆ ไปเลย ยี่ห้ออื่นน่าเอาไปทำตามบ้าง เป็นอะไรง่าย ๆ ที่ให้ผลลัพธ์ดีมาก

การใช้งาน 5G และ 4G VoLTE ในประเทศไทย

Xperia 5 II ยังไม่สามารถใช้งาน 5G ในไทยได้ เพราะไม่รองรับคลื่นความถี่ 2600 MHz (n41) เฉกเช่นเดียวกับ Xperia 1 II อย่างเร็วที่สุดคงต้องรอไปจนถึงช่วงต้นปี 2021 ให้คลื่นความถี่ 700 MHz (n28) ทำการรีฟาร์มกันให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน เพราะฉะนั้น ตอนนี้ทำได้แค่รอกันไปยาว ๆ ครับ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่อยากแจ้งไว้ให้ทราบกัน คือ  Xperia 5 II หากใส่ 2 ซิมพร้อมกัน จะสามารถใช้งาน 5G ได้แค่ซิมเดียวเท่านั้นนะครับ


มีตัวเลือก 5G ก็จริง แต่ยังใช้งานในประเทศไทยไม่ได้นะ

ส่วน 4G VoLTE เองก็ยังใช้งานไม่ได้เหมือนกัน ซึ่ง Sony ประเทศไทยพึ่งปล่อยอัปเดตปลดล็อกให้ Xperia 1 II ไปหมาด ๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 พฤศจิกายน 2020) ซึ่งกว่า Xperia 5 II จะส่งถึงมือผู้พรีออร์เดอร์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2020 เป็นต้นไป ถึงตอนนั้นอาจมีอัปเดตออกมาแล้วก็เป็นได้ครับ

สรุปข้อดีและข้อสังเกต Xperia 5 II

ข้อดี

  • ตัวเครื่องขนาดพอดีมือ จับถือถนัด และมีน้ำหนักเบา
  • งานประกอบและวัสดุสมราคา แทบไม่รู้สึกถึงรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนเมื่อสัมผัส
  • จอภาพไม่มีติ่ง บาก หรือกล้องเซลฟี่แบบเจาะรูให้รำคาญตา
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้ทั้งวันสบาย ๆ ข้ามวันก็ยังพอไหว
  • มีฟีเจอร์ Battery Care ช่วยยืดอายุการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ในระยะยาว
  • H.S. power control ใช้งานได้จริง ควบคุมอุณภูมิขณะเล่นเกมได้อยู่หมัด
  • มีปุ่มชัตเตอร์แยก ถ่ายภาพและเปิดใช้งานกล้องได้สะดวก
  • UI ของ Photo Pro และ Cinema Pro น่าใช้ ปรับแต่งได้เยอะ ทำให้รู้สึกสนุกกับการถ่ายภาพ และสามารถใช้งานมือเดียวได้โดยไม่ติดขัด
  • ระบบโฟกัสติดตามดวงตา Eye AF ทำงานได้รวดเร็วมาก
  • ไวต์บาลานซ์แม่นยำ เชื่อถือได้ และวัดแสงฉลาดในแทบทุกสถานการณ์ แม้แต่ขณะเปิดแฟลช LED
  • มีแจ็กหูฟัง 3.5 มม. กับไฟ LED แสดงสถานะและการแจ้งเตือน ซึ่งหาได้ยากสำหรับสมาร์ทโฟนเรือธงในปัจจุบัน
  • ถอดถาดซิมได้โดยใช้เล็บเกี่ยว ไม่ต้องอาศัยเข็มจิ้ม
  • กันน้ำและฝุ่น IP65/68
  • UI ของระบบ โล่ง สะอาดตา ตอบสนองได้ฉับไว แทบไม่มี bloatware ให้รกเครื่อง

ข้อสังเกต

  • จอภาพไม่สว่าง ไม่สู้แสง มีปัญหาเวลาใช้งานกลางแจ้ง
  • ปรับระดับความสว่างของหน้าจอได้ไม่ละเอียด
  • แสดงผลเป็นภาพซ้อนเมื่อปรับความสว่างหน้าจอต่ำกว่า 10% ทั้ง 60Hz และ 120Hz
  • มีแอปกล้องถึง 3 ตัว อาจสร้างความสับสนให้ผู้ใช้งาน
  • ซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพถ่ายในที่แสงน้อยยังตามหลังคู่แข่ง ทำงานได้ช้า และขาดทั้งรายละเอียดและความคมชัด
  • ลำโพงเสียงเบา อู้อี้ และฝาหลังจะมีอาการสั่นเมื่อเปิดลำโพงเสียงดัง
  • รองรับชาร์จไวสูงสุดเพียง 21W
  • อะแดปเตอร์ที่แถมมาในกล่องเป็นขนาด 18W หากอยากใช้งาน 21W เต็มประสิทธิภาพ ต้องซื้อเพิ่มเอง (แต่การใช้งานจริงก็ไม่ต่างกันมากนะ)

Xperia 5 II น่าซื้อไหม แล้วเหมาะกับใคร ?

ส่วนตัวมองว่า Xperia 5 II นั้นเหมาะสำหรับใครก็ตามที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนเรือธงสักรุ่นที่มีขนาดตัวเครื่องเล็กกะทัดรัด ฟีเจอร์การใช้งานครอบคลุมแทบทุกอย่าง มีแอปกล้องที่ดูน่าสนุก ปรับแต่งได้เยอะ ทำให้อยากออกไปถ่ายภาพ

และหากใครอยากลองใช้งาน Pixel มือถือ pure Android จาก Google แต่ไม่อย่างเสี่ยงกับเครื่องหิ้ว Xperia 5 II ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน ให้ประสบการณ์การใช้งานใกล้เคียงกันเลย เสริมด้วยลูกเล่นที่มากกว่าด้วย ถ้ารับได้กับจอภาพที่ไม่ค่อยสว่างและลำโพงที่เสียงอู้อี้นิดหน่อยล่ะก็นะ

Sony ประเทศไทยนำ Xperia 5 II เข้ามาจำหน่ายด้วยกัน 3 สี คือ ชมพู น้ำเงิน และดำ ในรุ่น RAM 8GB + 256GB ค่าตัวอยู่ที่ 28,990 บาท แว่วมาว่า ตอนนี้สินค้าล็อตแรกที่เปิดให้พรีออร์เดอร์ของใกล้หมดแล้ว ใครเล็ง ๆ อยู่ก็รีบกันหน่อยนะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติมก็ทิ้งคอมเมนต์เอาไว้ได้เลยครับ