ศูนย์วิจัย Telenor ร่วมกับ dtac จัดงาน Tech Trend ประจำปี 2565 เปิดเผยถึงการคาดการณ์ความก้าวหน้าสำคัญทางเทคโนโลยีของโลกในปีนี้ โดยมีกระแสหลักคือ การเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว หลังสภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะเลวร้ายลงไปอีก พร้อมทั้งพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับ Great resignation อันเป็นผลกระทบมาจาก COVID-19 ที่องค์กรต่าง ๆ ต้องหาทางรับมือด้วย

ระบบคลาวด์ที่เป็นมิตรต่อโลก


ภาพจาก Statista

จากการเก็บข้อมูลโดย Statista พบว่า อัตราการรับส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียวนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 11.51 เอกซะไบต์เมื่อปี 2560 ขยับเป็น 77.49 เอกซะไบต์ในปี 2564 และอาจแตะ 80 ล้านเอกซะไบต์ภายในปี 2566 ด้วยการเดินทางของข้อมูลปริมาณมหาศาลขนาดนี้ ย่อมต้องอาศัยพลังงานมากขึ้นตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีการประเมินว่า ปัจจุบันนี้ศูนย์ข้อมูลทั่วโลกมีสัดส่วนการใช้พลังงานมากกว่า 1% ของทั้งโลก ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว


ภาพจาก Green Edge Compute

เกี่ยวกับเรื่องนี้ Telenor ให้ความเห็นว่า การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลย่อยหรือที่เรียกว่า Edge data center เพื่อประยุกต์ใช้งานกับเครือข่าย 5G เป็นทางออกที่น่าสนใจ เพราะสามารถจัดตั้งได้ในพื้นที่ท้องถิ่นอย่างยืดหยุ่น ซึ่งมีระยะห่างระหว่างผู้ใช้งานน้อยกว่าศูนย์ข้อมูลแบบปกติ ส่งผลให้ทำการประมวลผลได้เร็วกว่าเดิมในขณะที่กินพลังงานน้อยลง โดยเทคโนโลยีนี้เรียกว่า Edge computing หรือ Edge นอกจากนี้ยังสามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานได้อย่างยั่งยืนได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลมขนาดเล็ก และความร้อนส่วนเกิน เป็นต้น

คอร์สเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้าถึงง่ายกว่าเดิม

การที่เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันก่อให้เกิดความสะดวกสบายอย่างมหาศาล แต่ในอีกทางหนึ่งอาชีพบางส่วนอาจถูกลืนกินด้วยเทคโนโลยีเช่นกัน ทั้งเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่นับวันยิ่งฉลาดไปทุกที ดังนั้นการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องย่อมเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการจ้างงานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กับชีวิตการทำงานที่มีเวลาจำกัดนั้น ครั้นจะให้ไปนั่งเรียนในรูปแบบเดิม ๆ คงไม่ตอบโจทย์เสียเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดเทรนด์การเรียนในรูปแบบ Micro learning ขึ้นมา เป็นคอร์สเรียนในเรื่องหนึ่ง ๆ แบบเฉพาะเจาะจงในช่วงเวลาสั้น ๆ ครั้งละ 5 – 15 นาที อาทิหลักสูตร MicroMasters ของมหาวิทยาลัย MIT ด้วยเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจงทำให้ผู้เรียนสามารถนำมาปรับใช้ได้ทันท่วงทีและตรงประเด็น ซึ่ง Telenor มองว่า ในปีนี้เราจะได้เห็นคอร์สเรียนในหลักสูตรเกี่ยวกับกระแสความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเว็บไซต์เรียนออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Coursera, LinkedIn Learning, Udacity และ Khan Academy

เครื่องใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพดีขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง

จากข้อเรียกร้องขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ที่ต้องการผลักดันให้เครื่องใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้น ทำให้ Telenor เชื่อว่า นี่เป็นปัจจัยให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ในด้านนี้ โดยในอนาคตจะมีการทุ่มเม็ดเงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานโดยเฉพาะ พร้อมทั้งยกการพัฒนาชิปเซตมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ครั้งที่มีการเปิดตัวชิปรุ่นใหม่ ๆ มักมีการเอ่ยถึงอัตราการกินแบตที่ลดลงควบคู่กันไปกับประสิทธิภาพการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นด้วยเสมอ

ก่อกำเนิด Greenfluencer นำเสนอคอนเทนต์อย่างสร้างสรรค์และรักษ์โลก

มีเทรนด์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยเทรนด์ส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นมาจากการสร้างความบันเทิง หาก Influencer รายใดจับถูกกระแสในเวลาอันเหมาะสมจะมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มีการวิเคราะห์ว่า เทรนด์บางอย่างที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างลึกซึ้งในทางบวกเป็นอะไรที่น่าสนใจ มั่นคง และยั่งยืนกว่า

Telenor ได้ยกตัวอย่างในกรณีของแฮชแทก #BlackLivesMatter ที่ก่อให้เกิดการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงและการเหยียดเชื้อชาติต่อคนผิวสีไปทั่วโลก จากเหตุผลที่ว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้ตัดสินไอดอลของตัวเองเพียงแค่ดูจากไลฟ์สไตล์อีกต่อไป แต่คอนเทนต์ที่นำเสนอนั้นต้องเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ด้วย ซึ่งก็แน่นอน หัวข้อที่น่าจับตามองในปีนี้คือ เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยจะเห็นได้ว่า เริ่มมี Greenfluencer ที่ได้รับความนิยมโผล่มาให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ และในทางตรงกันข้าม หาก Influencer แสดงออกถึงความนิ่งเฉย อาจถูกมองในแง่ลบหรือเสื่อมความนิยมลงได้

องค์กรต้องรับมือกับ Great Resignation อย่าลืมเอาใจใส่พนักงาน

COVID-19 ทำให้รูปแบบชีวิตการทำงานของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง Work from home และ Work from anywhere กลายมาเป็นความปกติใหม่ในสังคม แต่มีผลสำรวจจากหลายแห่งระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสเริ่มบรรเทาลงและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มนุษย์เงินเดือนกลับพร้อมใจกันลาออกจากงานเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นคำว่า Great resignation ขึ้นมา

สาเหตุของการลาออกจากงานมาจากเหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่โดยมากแล้วมักให้คำตอบไปในทิศทางเดียวกัน คือ

  • การทำงานจากระยะไกลทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างยืดหยุ่นและสมดุล Work-life balance ในขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ตกลงแม้ไม่ได้เข้าออฟฟิศ อีกทั้งยังประหยัดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางตลอดจนถึงค่าอาหารในแต่ละวัน
  • ในขณะที่พนักงานบางส่วนเกิดภาวะหมดไฟหรือ Burnout เพราะไม่สามารถแบ่งเวลาในการทำงานและการพักผ่อนได้อย่างเหมาะสม นำมาสู่ความเครียดทางใจ ความเหนื่อยล้าทางกาย ส่งผลเสียต่อสุขภาพ จนอยากลาออกในที่สุด
  • วัฒนธรรมองค์กรหรือวิธีที่นายจ้างปฏิบัติต่อพนักงานขณะที่เกิดการระบาดของ COVID-19 เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ความสัมพันธ์มาถึงจุดแตกหักได้ไวขึ้น

นอกเหนือจากการหาทางรับมือกับการลาออกของหนักงานมือเก๋าแล้ว บริษัทยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับพนักงานรุ่นเยาว์ด้วย เพราะจากการทำงานจากระยะไกลในช่วงนี้ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนรุ่นใหม่บางส่วนในการปรับตัวเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมในองค์กร ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ทาง Telenor จึงได้แนะนำเคล็ดลับ 3 ประการเพื่อให้องค์กรนำไปปรับใช้ ดังนี้

  • สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีความสุข จัดพื้นที่ให้มีการพูดคุย อภิปราย และเปลี่ยนความคิดกันระหว่างพนักงานเก่าและใหม่ อาจเป็นได้ทั้งในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์
  • มอบหมายหน้าที่ให้พนักงานเก่าเป็นพี่เลี้ยง คอยดูแล แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่พนักงานใหม่
  • สุดท้ายคือ การเปิดโอกาสให้พนักงานใหม่ได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น หากทำดีควรชื่นชมอย่างเปิดเผยเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ

 

ที่มา : งานแถลงข่าว
อ้างอิง : Statista | Energy InnovationILO