Blockchain วันนี้น่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เพราะในปีที่ผ่านมามีการพูดถึงกันเยอะมาก ซึ่งเรายังไม่ค่อยเห็นองค์กรหรือหน่วยงานในเมืองไทยนำมาใช้งานเท่าไหร่นัก แต่มาวันนี้ในสายการเงินการธนาคารมีการขยับก่อนใคร โดยสมาคมธนาคารไทยพร้อมกับอีก 14 แบงก์จับมือแถลงข่าวความร่วมมือนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้งานเป็นครั้งแรก ตั้ง Thailand Blockchain Community Initiative แห่งแรกในไทย
โดยการแถลงข่าวนี้จัดขึ้นภายในงาน Bangkok Fintech Fair 2018 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีคุณวิรไทย สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคุณปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วยตัวแทนจาก 14 ธนาคารในไทย และรัฐวิสาหกิจและองค์กรธุรกิจใหญ่ 7 แห่ง มาร่วมกันเปิดตัวโครงการ Thailand Blockchain Community Initiative เพื่อนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมายกระดับประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศ ซึ่งโครงการแรกที่จะนำเอาบล็อกเชนไปใช้งานก็คือ บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน โดยจะยกเอาหนังสือค้ำประกันทั้งหมดในระบบ ในทุกธนาคาร มูลค่าวงเงิน 1.35 ล้านล้านบาท เข้ามาร่วมใช้งานทันที พร้อมเข้าสูยุค e-document เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ 100% ได้เลยทันที อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทดสอบภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (Regulatory Sandbox) อยู่ รอใช้งานจริงในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
Blockchain ปลอดภัยกว่าเป็นเอกสารและการจัดเก็บแบบอื่นอย่างไร
ถ้าจะต้องอธิบายเรื่อง Blockchain แบบเต็มๆท่าจะยาว แต่เอาแบบสั้นๆเข้าใจง่ายๆก็คือปกติการเก็บข้อมูลที่ผ่านๆมา เราจะรวมศูนย์เข้าไปเก็บที่ Server (Centralized) โดยเชื่อว่าข้อมูลจะไม่โดนเปลี่ยนแปลงใดๆ เก็บ Log ความเคลื่อนไหวทุกอย่างเอาไว้เพื่อตรวจสอบ แต่ในความเป็นจริงคือข้อมูลที่ศูนย์กลางนี้มีสิทธิ์ที่จะโดนแฮกหรือแก้ไขข้อมูลได้โดยที่เราไม่อาจทราบได้เลย หาก Log โดนลบเอาไว้ก็จบ แต่ Blockchain คือการแบ่งข้อมูลให้ทุกคนช่วยๆกันเก็บ (Distributed Ledgers) และตรวจสอบกันเองได้ว่าข้อมูลมีการแก้ไขอะไรรึเปล่า หากโดนแฮกหรือเปลี่ยนแปลงก็จะรู้ได้ทันที และธุรกรรมนั้นๆก็จะทำไม่ได้ ซึ่ง Blockchain นี้ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายแล้วว่ามีความปลอดภัยสูงมาก ต่อให้เป็นหน่วยงาน หรือเจ้าของระบบก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขใดๆได้เลย จึงที่เป็นมาของระบบที่อยู่เบื้องหลัง Bitcoin หรือ Cryptocurrency ต่างๆ และถูกนำเอามาประยุกต์ใช้ในทางอื่นๆ ที่ต้องการความถูกต้องของข้อมูลสูง ใครทำอะไรก็สามารถติดตามได้หมด ป้องกันการโกงได้ดี แบบที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราคงไม่อยากจะเอามาใช้เลยทีเดียว 😛
ก่อนหน้านี้การจะเข้าสู่ยุค e-document หรือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปได้ยากก็เพราะเรื่องความปลอดภัยและการยืนยันความถูกต้องนี่แหละ การมีเอกสารเก็บเอาไว้เป็นแผ่นๆก็จะทำให้มีความอุ่นใจกว่านั่นเอง แต่ด้วย Blockchain เราแทบจะไม่ต้องห่วงเรื่องการเก็บเอกสารอีกต่อไป เพราะถ้าเปรียบเทียบแล้ว ก็เหมือนเรามีคนอื่นๆช่วยเก็บเอกสารตัวจริงเอาไว้ให้อีกเต็มไปหมด และสามารถมาช่วยเรายืนยันความเป็นเจ้าของได้นั่นเอง
หนังสือค้ำประกันคืออะไร ทำไมต้องไปอยู่บน Blockchain?
อธิบายเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยละกันเผื่อมีคนไม่รู้ หนังสือค้ำประกัน (Letters of Guarantee) เป็นหนังสือที่ธนาคารออกให้กับทางองค์กร-หน่วยงานต่างๆ เพื่อค้ำประกันการชำระเงินให้ว่าบุคคลผู้นั้นจะชำระค่าสินค้าและบริการนั้นๆแน่ๆ โดยมากจะออกให้ในดีลที่มีมูลค่ามากๆ และมีการผ่อนชำระเป็นเวลานาน เช่น การชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่ประมูลกันไปก่อนหน้านี้ ทาง AIS – Truemove ต่างต้องไปขอหนังสือค้ำประกันจากทางธนาคารมายื่นให้กับ กสทช. ว่าจะจ่ายให้จริงๆ ซึ่งถ้าทั้งสองบริษัทไม่สามารถจ่ายได้ ทางธนาคารจะเป็นคนรับผิดชอบเงินจำนวนนั้นแทน ซึ่งเอกสารเหล่านี้แทนที่จะถูกจัดเก็บเอาไว้ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจะตรวจสอบขอเรียกดูทีต้องมีการตรวจสอบและผ่านขั้นตอนอะไรมากมาย เมื่อเก็บบน Blockchain ที่มีความปลอดภัยสูง เชื่อถือได้แล้วนั้น ใครที่ต้องการจะดูรายละเอียดตรงนี้และมีสิทธิ์ก็สามารถที่จะเข้าดูได้อย่างมั่นใจว่าข้อมูลถูกต้องสมบูรณ์ ไม่ต้องเช็คกับเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรเลย
ถ้าใครอยากอ่านเรื่อง Blockchain เพิ่มเติมมาลงชื่อเอาไว้หน่อยละกันครับ จะได้รู้ว่าคุ้มค่าแค่การเขียนยาวๆมั้ย 5555 หรือไม่งั้นก็ไปอ่านที่ nuuneoi เคยเขียนเอาไว้ดีแล้วก็ได้ครับ 🙂
ที่มา ข่าวประชาสัมพันธ์ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย
พี่กิมไปงานนี้ด้วยหรอฮะ
ไปคร้าบ
ผมกำลำงทำกะของโปรเจคนี้อยู่เลย
เขียนบทความBlockchainใหม่เลยก็ดีครับว่ามีเทคโนโลยีอะไรบ้าง
ขอแชร์ต่อนะครับ
อยากอ่าน
แบบในกรณีนี้ ในหนังสือค้ำประกัน 1 ฉบับจะมีใครเป็นคนเก็บบ้างอ่ะครับ
ทุกโหนดเป็นคนเก็บครับ ทั้งผู้ขอ ธนาคาร และผู้รับผลประโยชน์