AIS ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและนักวิชาการ สร้าง”ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลตัวแรกของไทย” เพื่อนำผลไปช่วยพัฒนาและส่งเสริมและป้องกันให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันในการใช้งานสื่อออนไลน์ พร้อมเผย 44.04% เสี่ยงภัยไซเบอร์ และวัยผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีค่าดัชนีเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลคืออะไร?
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล พูดง่าย ๆ คือ เป็นตัวชี้วัดว่าเรามีความสามารถในการใช้งานโซเชียลมีเดียมากน้อยแค่ไหน และสุ่มเสี่ยงในด้านใดบ้าง มองภาพง่าย ๆ ก็เหมือนตัวชี้วัดทักษะทั่วไป อย่างด้านสติปัญญาก็จะวัดออกมาเป็น IQ ด้านทักษะทางอารมณ์ก็จะวัดออกมาเป็น EQ นั่นเอง
โดยดัชนีดังกล่าวได้เป็นไปตามพื้นฐานการวิจัยที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุด จากการออกแบบกรอบแนวคิดของการศึกษา เก็บผลและวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล สำคัญอย่างไร ?
ในปัจจุบันสื่อโซเชียลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเราค่อนข้างมาก ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใช้งานได้รับทั้งข้อดีและความเสี่ยงพร้อม ๆ กัน จึงจำเป็นจะต้องมีดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลในการจัดการกับการใช้งานสื่อออนไลน์ พร้อมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้งานโซเชียลในทุกรูปแบบ โดยดัชนีได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- ระดับสูง (ADVANCED) หากผู้ใช้งานอยู่ในระดับ จะถือว่าเป็นผู้มีทักษะและความรู้ในการใช้เทคโนโลยี ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย รู้เท่าทันภัยทุกรูปแบบ พร้อมแนะนำผู้อื่นได้
- ระดับพื้นฐาน (BASIC) ในระดับนี้ยังถือว่าปกติดี ใช้งานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
- ระดับที่ต้องพัฒนา (IMPROVEMENT) ในระดับนี้ถือว่ายังมีความรู้ความสามารถในการใช้งานโซเชียลไม่เพียงพอ และมีความเสี่ยง
การแบ่งประเภทของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล
- การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล
- การรู้เท่าทันดิจิทัล
- การใช้ดิจิทัล
- ความมั่นคงความปลอดภัยดิจิทัล
- การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์
- เข้าใจสิทธิทางดิจิทัล
- การแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล
จากผลสำรวจของกลุ่มตัวอย่าง 21,862 คน จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยพบว่า ด้านการใช้ดิจิทัล, การรู้เท่าทันดิจิทัล และความมั่นคงความปลอดภัยดิจิทัลอยู่ในระดับพื้นฐาน ด้านการแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัลและการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัลอยู่ในระดับต้องพัฒนา และการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์อยู่ในระดับสูงค่ะ
หากแบ่งเป็นช่วงอายุ จะพบว่าผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา ส่วนช่วง 10 – 59 ปีอยู่ในระดับพื้นฐาน และกลุ่มที่ได้ค่าดัชนีชี้วัดสูงสุดก็คือช่วงอายุ 16 – 18 ปีค่ะ
หากแบ่งเป็นอาชีพจะพบว่า อาชีพนักเรียนนักศึกษา, ข้าราชการ, ข้าราชการบำนาญและพนักงานของรัฐมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับพื้นฐาน และคนว่างงาน, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, พนักงานเอกชน, ค้าขายธุรกิจส่วนตัวและเกษตรกรมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา
หากแบ่งเป็นภาพรวมในระดับภูมิภาค พบว่า กรุงเทพฯ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก, ภาคใต้และภาคกลางของประเทศไทยมีค่าดัชนีเฉลี่ยอยู่ในระดับพื้นฐาน ส่วนภาคตะวันตกและภาคเหนืออยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา
ในภาพรวมถือว่าประชาชนส่วนใหญ่มีสุขภาวะทางดิจิทัลอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ก็ยังมีข้อมูลเผยว่า มีประชาชนถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีอีกกลุ่มนึงที่ต้องการความรู้ความเข้าใจในการใช้งานโซเชียลให้มากขึ้น
ซึ่งทาง AIS และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้เห็นถึงจุดที่ต้องพัฒนาทักษะ พร้อมทั้งเผยว่าจะเดินหน้าสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนไทยอย่างต่อเนื่อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ก็ได้เผยว่า ปัญหาภัยไซเบอร์กลายเป็นวาระที่ทั้งโลกโดยส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคลทั้งเรื่องการขโมยข้อมูล, การล่อลวงผ่านช่องทางออนไลน์, การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ไปจนถึงระดับประเทศหรือองค์กรจึงต้องมีการรับมืออย่างจริงจัง
ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์
Comment