CEO ท่ามกลางห่ากระสุนดิจิทัล

การดำรงตำแหน่ง CEO ให้ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องยากมากในปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจที่มีความรวดเร็วมากอย่างก้าวกระโดด เพราะปรากฏการณ์การพลิกผันทางเทคโนโลยี (Technology disruption) ได้เข้ามามีผลกระทบต่อการล่มสลายของหลายธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยทีมนักวิจัย MIT ได้ร่วมกันทำการวิจัยด้วยการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับ CEO ถึง 1000 คน จาก 137 ประเทศและจาก 27 อุตสาหกรรม ซึ่งได้ผลว่า 90% ของผู้บริหารเชื่อว่าธุรกิจของเขากำลังจะถูก disrupt หรือไม่ก็ต้องถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วย Digital business model และ 70% ของผู้บริหารได้ตอบว่าพวกเขาไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านดิจิทัล และไม่สามารถนำพาองค์กรให้ปรับตัวเพื่อให้รอดพ้นต่อการถูก disrupt ได้

แล้ว CEO จะทำอย่างไร? เราจะจ้างผู้บริหาร Chief Digital Officer มาช่วยดีไหม? หรือเราจะจ้างทีมผู้บริหารจากบริษัทที่ทำธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ตมาทั้งทีมเพื่อเข้ามาแทนผู้บริหารทีมเดิม? หรือเราจะบังคับให้ทุกคนในองค์กรต้องเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลและ business model ใหม่จะดีกว่าไหม?

ผลการวิจัยดังกล่าวพบคำตอบว่า สิ่งที่ถือว่าเป็นรากฐาน (Fundamental) ที่ได้จากองค์กรที่สามารถอยู่รอดท่ามกลาง disruption ได้คือ องค์กรนั้นจะต้องมีการปรับตัวเข้าสู่ Digital business model ทันทีเมื่อเห็นสัญญาณที่ชัดเจนโดยไม่ต้องรอผลกระทบให้มาถึงก่อน และองค์กรต้องไม่เพียงแต่ทำเครื่องมือและการให้บริการรวมทั้งผลิตภัณฑ์ให้เป็นดิจิทัลก่อนที่จะถูก disrupt เท่านั้น แต่จะต้องมีพฤติกรรมและวัฒนธรรมที่เป็นดิจิทัลอีกด้วย (They don’t just “do digital”; they “act digital.”) คืออาจพูดได้ว่า เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (Digital transformation) ที่ต้องมีการวางแผนและอาจจะต้องได้รับการสูญเสียและเจ็บปวดของพนักงานบางส่วนเพื่อให้องค์กรอยู่รอดในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน นั่นเอง

อย่างไรก็ตามองค์กรที่เป็น Leader ของอุตสาหกรรมมักจะมีการเปลี่ยนผ่านตั้งแต่เริ่มมีสัญญาญ disruption ก็จะทำการเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านเร็วกว่าองค์กรอื่น จึงทำให้มีเวลาในการเปลี่ยนผ่านนานกว่าและจะทำให้ความสูญเสียขององค์กรและความเจ็บปวดของบุคคลากรเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญที่สุดคือ “CEO จะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง”

แล้วความเป็นผู้นำดิจิทัล หรือ “Digital leadership” คืออะไรกันแน่? จากผลงานวิจัยดังกล่าวเรียกความเป็นผู้นำดิจิทัลในอีกนัยหนึ่งว่า “Digital DNA” ซึ่ง CEO จะต้องมีคุณสมบัติใหม่ที่โดดเด่น ตัวอย่างเช่น มุ่งเน้นการสร้างแรงบันคาลใจในการเปลี่ยนแปลงแก่บุคคลากร ริเริ่มการกระจายอำนาจ ริเริ่มการทดลองทดสอบโครงการใหม่ๆ สร้างให้เกิดความร่วมมือ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็นประโยชน์สูงสุด และมีความรวดเร็วในการตัดสินใจ

ผู้นำดิจิทัลจะต้องสร้าง Working group หรือ Task force ทีมเล็กๆ และมอบหมายความรับผิดชอบและความไว้วางในการทำงานด้วยการมอบหมายโครงการให้รับผิดชอบ โดยให้วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน และผู้นำดิจิทัลจะต้องสื่อสารกับทีมให้ทราบถึงภัยคุกคามและผลกระทบต่างๆให้กับทีมได้รับทราบด้วย ทีมจะต้องสร้างระบบการเก็บการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ รวมทั้งระบบการสื่อสารแบบ Realtime และทีมจะมีรูปแบบการทำงานด้วยการเริ่มทดลองทดสอบ (Experiment) ด้วยตัวอย่างขนาดเล็ก และค่อยๆพัฒนา ปรับแต่งแก้ไข (Adapt) ให้ไปสู่ความสำเร็จ โดยรูปแบบการทำงานจะเป็นทั้งแบบ face-to-face และแบบ mobile ผสมผสานกัน โดยไม่ยึดติดกับสถานที่

ผู้นำดิจิทัลจะต้องมองธุรกิจเป็น Platform ไม่ใช่เป็นเพียงผลิตภัณฑ์และการบริการ และการออกแบบ Platform นั้นจะต้องคำนึงถึงการขยาย Platform และจะต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ง่าย และ Platform ยังจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารไปถึงผู้บริหารทุกระดับขององค์กรได้อย่าง realtime

เพื่อสนับสนุนการบริหารแบบกระจายอำนาจและเพื่อการเพิ่มขีดความสามารถแก่องค์กร องค์กรจะต้องสร้างระบบสื่อสาร mobile และ realtime ให้ฝังอยู่บน Platform ขององค์กร และทุกๆอย่างที่องค์กรทำ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้า หรือการสนับสนุนการทำงานของบุคคลากรนั้น จะต้องทำอยู่บน mobile applications ทั้งสิ้น

สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีรูปแบบการทำงานแบบดั้งเดิม ในยุคดิจิทัลมีความจำเป็นต้องแตกย่อยองค์กรออกเป็น business units เล็กๆ โดยไม่ใช้การบริหารรูปแบบ top-down อีกต่อไป โดยผู้บริหารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคขององค์กร จะต้องสามารถติดตามและเห็นถึงการเคลื่อนไหวของการเติบโตของฐานลูกค้า สถานภาพของบุคคลากร ไปจนถึงความพึงพอใจของลูกค้าและพนักงานที่มีต่อองค์กรได้อย่าง realtime

เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นในองค์อย่างต่อเนื่อง องค์กรมีความจำเป็นต้องจ้างบุคคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ (Digital native) และเข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สามารถทำให้องค์กรเติบโตต่อไปในอนาคตได้ โดยองค์กรจะต้องให้อิสระในความคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์และรูปแบบการขาย รวมไปถึงการทำการตลาด ซึ่งทีมเหล่านี้จะต้องมีการแลกเปลี่ยนและร่วมใช้ข้อมูลข่าวสารความรู้ผ่านระบบสื่อสารแบบ VDO realtime ด้วย mobile applications ที่องค์เตรียมไว้

องค์กรจะต้องเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม โดยการสร้างความแตกต่างที่เหนือชั้นไปอีกขั้น เพื่อหนีโอกาสที่จะถูก disruption จากองค์กรอื่น ซึ่งอาจจะข้ามมาจากอุตสาหกรรมอื่น เช่น Kodak ที่ถูก NOKIA ทำลายธุรกิจฟิล์มเสียราบคาบ เป็นต้น การสร้างความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมจะต้องประกอบไปด้วยการออกแบบองค์กรที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน มีวัฒนธรรมที่เรียนรู้สิ่งใหม่และติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งจะต้องจ้างบุคคลากรที่มีความรู้เพื่อพัฒนาสู่อนาคต ไม่ใช่การจัางงานเพื่อทำงานในปัจจุบัน และควรจะจ้างบุคคลากรที่มีหัวคิดเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์อีกด้วย

ผลการวิจัยของทีมวิจัยจาก MIT นี้ยังค้นพบอีกว่าองค์กรที่มี “ความเป็นผู้นำดิจิทัล” ที่ประสบความสำเร็จในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั่น “วัฒนธรรมองค์กร” คือกุญแจแห่งความสำเร็จ และความสำเร็จดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าเกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความรู้กันทั่วทั้งองค์กร ไปจนถึงการร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ร่วมกันนั่นเอง ผลจากการสร้างสรรค์ความรู้ จึงทำให้บุคคลากรทุกคนไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และพร้อมรับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน

การที่ CEO จะทำให้องค์กรปรับตัวได้ง่าย (adaptability) และอ่อนตัว (flexibility) เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของโลกใบนี้ (Disruptive world) ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ที่ปราศจากอคติ ที่จะไม่เชื่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กำลังวิ่งไปสู่ “Hyperconnected World”

แน่นอน การเป็น CEO ในยุคห่ากระสุนดิจิทัลนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายและยากยิ่ง และในยุคดิจิทัลจากนี้ไป CEO จะไม่สามารถทำหน้าที่ “เจ้านาย” หรือ “Boss” ท่ามกลางผู้ร่วมงานในยุค Digital native ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะหากว่าคุณต้องการประสบความสำเร็จในตำแหน่ง CEO แล้วละก็ คุณต้องทำตัวเป็น “ผู้นำดิจิทัล” หรือ “Digital leader” ให้ได้

Reference

http://www.cio.com/article/3123385/leadership-management/cios-must-step-into-the-digital-leadership-void.html

https://www.spencerstuart.com/research-and-insight/seven-key-traits-of-transformational-digital-leaders

http://www.forbes.com/sites/iese/2013/08/23/how-to-be-a-digital-leader/#529f217515d1

https://hbr.org/2016/12/digital-leadership-is-not-an-optional-part-of-being-a-ceo
——————
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
11 ธันวาคม 2559 18:00
www.เศรษฐพงค์.com