หลักคิดของผู้นำและผู้บริหารในระดับชาติและระดับองค์กร ที่ใช้กันเป็น best practices เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (พยายามอธิบายแบบบ้านๆ)

(1) การดำเนินการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ digital platform ต้องดำเนินการด้าน cybersecurity อย่างจริงจังไปพร้อมกัน เปรียบเทียบกับมีบ้านหรูแต่ไม่มีรั้วและ รปภ.

(2) ปรับ mindset คน (ตัวผู้นำและผู้บริหารก่อน) และพัฒนาบุคคลากรก่อนเป็นอันดับแรก ให้รู้จริงๆว่า พลังอำนาจที่แท้จริงของดิจิทัลคืออะไร แล้วจึงรีบ move เทคโนโลยีสู่ digital platform เปรียบเทียบกับการที่เรามี iphone 7 แต่ใช้เป็นได้แค่โทรออกและเล่นไลน์ แถมคุยฟุ้งว่ารู้จักดิจิทัล ซึ่งจริงๆแล้ว ต่อให้มีมัน ชีวิตก็ไม่มีอะไรดีขึ้นนัก ถ้าไม่รู้จักมันจริง เพราะ digital transformation ไม่ได้มาจากการใช้ iphone และ social media เป็น

(3) ใช้คนรุ่นใหม่ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราต้องการคนดิจิทัลที่ทำงานจากจิตใต้สำนึก ไม่ใช่แค่รู้ว่ามันสำคัญ เปรียบได้กับเอาคนชรามาทำงานที่ต้องใช้คนหนุ่มสาวทำ เช่น เอาคนชรามาแข่งวิ่ง 100ม. กับคนหนุ่มสาวจากประเทศอื่นในกีฬาโอลิมปิค ต่อให้วิ่งอีก 100 ปี ก็ไม่มีวันทันเขา…เหมือนเพลง “คนที่ไม่ใช่แฟน ทำแทนไม่ได้”

(4) การสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ digital platform นั้น ใช่ว่ามีเงินก็สามารถทำได้ คล้ายๆ กับว่ามีเงินแต่ก็หาซื้อกระเป๋า แอรเมส ไม่ได้ เพราะบุคคลากรที่มีคุณสมบัติเป็นดิจิทัลหายากกว่าเงิน เนื่องจากพวกเขาเลือกที่ที่จะไปอยู่กับใครก็ได้ ถ้าเขาเป็น แอรเมส แท้ ราคาพวกเขามีแต่สูงขึ้น

(5) การที่ผู้บริหารทราบว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลนั้นสำคัญ และได้แค่พูดให้คนในองค์กรทราบและตระหนัก และทุกคนเมื่อฟังก็พยักหน้าว่า “จริงครับท่าน” แต่ก็ไม่ได้มี action อะไรจากผู้บริหารสูงสุดในองค์กร ก็คล้ายกับว่า เราบอกคนในองค์กรของเราให้ปรับตัว ปรับวิธีคิด ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลจริงอย่างแข็งขัน แต่ในขณะที่เราแม้เปิดคอมพิวเตอร์ยังไม่เป็นเลย และก็ยังสั่งงานด้วยกระดาษ และฟังการวิเคราะห์จากการ present powerpoint ในห้องประชุมที่ยืดเยื้อจบไม่ลง และได้รับความเห็นจากจินตนาการ อคติจากคนรอบข้างและการนินทา โดยไม่ใช้ข้อมูลที่เก็บมาจริงจากภาคสนามด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร้อคติ หากยังดำเนินการด้วยจินตนาการต่อไปโดยไร้ข้อมูลจริง องค์กรจะหลงทาง ตกอยู่ในอุตสาหกรรม (-4.0) ไปตลอดกาล

(6) การที่ผู้นำและผู้บริหารกำหนดวิสัยทัศน์ให้องค์กรวิ่งไปสู่องค์กรดิจิทัลด้วย “การลอกเพียงความคิดและคำพูด” ให้ดูดีทันสมัยจากคนอื่น และไม่มีการปฏิบัติและเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังจากนั้นในระยะหนึ่ง จะทำให้ผู้คนในองค์กรทั้งหมดตกอยู่ในความระแวง สิ้นหวัง กังวล และหมดศรัทธา เพราะทุกคนทราบดีว่า “ดิจิทัล” คือ platform ใหม่ของโลกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และในที่สุดองค์กรก็จะหลุดออกจากวงของการแข่งขันอย่างหลุดลอย เปรียบเสมือนกับเรากำลังบอกครอบครัวเราว่า บ้านเราจะเปลี่ยนจากสลัมให้เป็นบ้านที่ดูดี แต่ผ่านไป 1 ปี บ้านข้างๆ เริ่มทำร้านอาหารสวยงาม เป็นบ้านและคอนโดสวยงามติด Wi Fi broadband ทันสมัย แต่บ้านเราก็ยังเป็นสลัมเหมือนเดิม ความระส่ำระสายจะเกิดขึ้นทันทีจนทุกคนจะค่อยๆย้ายออกจากบ้านและเราจะต้องขายบ้านและที่ดินให้คอนโดข้างๆ ในที่สุด

หากผู้บริหารและผู้นำพบว่า องค์กรของท่านไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และต้องมาถูก disrupt จากบริษัทยุคใหม่ ท่านสามารถหาคนมารับผิดได้ไม่ยากเลย เพราะคนที่ต้องรับผิดนั้น คือ “ตัวท่านเอง”

“ขอให้ผู้บริหารทุกท่านโชคดี”

อ่านเพิ่มเติม
[1] http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000123999
[2] https://www.beartai.com/article/beartai-ict/110287

Reference
[1] https://hbr.org/2016/06/to-go-digital-leaders-have-to-change-some-core-beliefs
[2] https://hbr.org/2016/12/digital-leadership-is-not-an-optional-part-of-being-a-ceo
————–
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
23 ธันวาคม 2559 10:45
www.เศรษฐพงค์.com