บทความโดย : พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
“โดรน” อากาศยานไร้คนขับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่เหลือเชื่อของโลกอย่างหนึ่งที่เราเคยเห็นแต่ในหนัง แต่ในที่สุดมันก็กลายเป็นความจริง ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีที่สามารถทำให้อากาศยานบินได้โดยไร้คนขับ และยังสามารถปฏิบัติภารกิจแทนมนุษย์ได้เกือบสมบูรณ์แบบแล้วนั้น เราก็น่าจะปราศจากข้อสงสัยได้แล้วว่า ยานยนต์ไร้คนขับ (Self-driving cars) นั้นต้องเป็นไปได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะเมื่อเทียบเคียงแล้ว ความยุ่งยากซับซ้อนในการสร้างนวัตกรรมของทั้งสองเทคโนโลยีนั้น ไม่ได้แพ้กันเลย
“โดรน” ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่รวบรวมสุดยอดเทคโนโลยีดิจิทัลของโลกไว้ในตัวมัน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), IoT, Cloud, Big Data, image processing, mobile, remote sensing และอื่นๆ ซึ่งในวงการ R&D เชื่อว่า Data analytics จะถูกประยุกต์เพื่อการวิเคราะห์แบบ realtime ในเทคโนโลยีโดรนเพื่อภารกิจความมั่นคงปลอดภัย, ภารกิจกู้ภัยช่วยชีวิต และโดรนจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในเชิงพาณิชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเวลาอันรวดเร็วนับจากนี้
โดรนได้เข้ามาเปลี่ยนความเชื่อจาก “เป็นไปไม่ได้” ในหลายๆ เรื่องให้กลายเป็น “มันเป็นไปแล้ว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจทางทหารที่เคยใช้ทรัพยากรและเงินมหาศาลในการลาดตระเวนที่ต้องใช้การบินและส่งภาพจากความสูง แต่โดรนได้มาเปลี่ยนยุทธวิธีทางทหารไปโดยสิ้นเชิง โดยขณะนี้ภารกิจดังกล่าวโดรนได้ทำหน้าที่แทนด้วยทุนที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกัน ซึ่งในกองทัพสหรัฐฯ โดรนได้เข้าแทนภารกิจดังกล่าวแล้วกว่า 40%
ในปี 2016 กองทัพสหรัฐฯ ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบความสามารถของมนุษย์ในการขับอากาศยานกับความสามารถของ AI ในการขับโดรน ภายใต้โครงการ ALPHA โดยแข่งกันระหว่างคนและระบบ AI ด้วยระบบจำลองการบิน (Flight simulator) ผลปรากฏว่า นักบินสหรัฐฯ ที่มีประสบการณ์สูงมาก ไม่สามารถเอาชนะ AI หรือโดรนได้เลย
“โดรน” ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกในระดับ digital platform disruption ซึ่งจะเข้าไปแทรกซึมในอุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐทุกส่วน เนื่องจากโดรนสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกการให้บริการ ดังนั้นโดรนจึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในระดับผลิตภัณฑ์ (product disruption) เท่านั้น และขณะนี้ได้มีการลงทุนใน R&D อย่างมหาศาล จึงคาดว่าโดรนจะมีขีดความสามารถสูงยิ่ง และจะมีราคาถูกลงมากจนทุกคนเป็นเจ้าของได้เฉกเช่น smartphone
ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ คาดว่าหากโดรนเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต, mobile, cloud, digital maps, และ service providers ด้านต่างๆ เช่น ประกันภัย, ขนส่ง, ค้าปลีก, บันเทิง, รายงานข่าว, โฆษณา, ความปลอดภัย เป็นต้น ก็จะเป็นผลให้เกิดการ disruption ในทุกการให้บริการ แต่อยู่ในเงื่อนไขของหน่วยงานกำกับดูแลทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงนี้เมื่อใด อย่างไรก็ตามในแวดวงนักวิเคราะห์เชื่อว่า เราหนีการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่พ้นอย่างแน่นอนภายในทศวรรษนี้
หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้ออกกฎใหม่เกี่ยวกับการกำกับดูแลโดรน เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 โดยมีสาระสำคัญคือโดรนต้องมีน้ำหนักน้อยกว่า 55 ปอนด์ เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (ไม่ใช่เพื่อเล่นเป็นงานอดิเรก) แต่เพื่อการถ่ายทำในการรายงานข่าว และ CNN ก็ได้นำโดรนไปใช้เพื่อการรายงานข่าวแล้ว
สหราชอาณาจักร โดยหน่วยงาน Civil Aviation Authority หรือ CAA ให้เริ่มทดสอบโดรนเพื่อใช้ในการส่งสินค้าได้แล้ว จึงทำให้ Amazon พัฒนาบริการ Amazon Prime Air ซึ่งเป็นบริการใช้โดรนส่งสินค้า โดย Amazon เผยว่าจะใช้ในเวลาเพียง 30 นาทีหลังจากลูกค้าสั่งสินค้าไปแล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดลอง ซึ่ง FedEx และ UPS ก็เริ่มสนใจในการใช้โดรนขนส่งสินค้าด้วยเช่นกัน
ดู video
ไม่เว้นแม้แต่ Facebook ที่กำลังทำโครงการ “Aquila” โดยใช้โดรนเป็นจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตลอยฟ้า (Internet access point) และเปิดเผยว่าได้เริ่มโครงการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชนบทที่การให้บริการอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมถึง
Reference
[1] https://www.digi.com/customersuccesses/draganfly
[2] http://www.forbes.com/sites/jvchamar…/#56153d4d6297
[3] http://arstechnica.com/business/2016…ime-air-trial/
—————-
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com
3 มกราคม 2560 08:30
—————–
หากท่านสนใจความรู้ด้านดิจิทัล
เข้าร่วมกับเราและทักเข้ามาที่
LINE id : @march4g
https://www.it24hrs.com/2017/drone-disr … -platform/