หุ่นยนต์กำลังมาแทนตำแหน่งงานมนุษย์ถึง 80% ในอนาคตอันใกล้???
ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในการใช้งานมาก เช่นเดียวกับการแพร่หลายของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกวันนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทึ่สวนทางกันก็คือ ในปัจจุบันบุคลากรทางด้านหุ่นยนต์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติ หรือนักเศรษฐศาสตร์ด้านนี้ เริ่มหายากขึ้น และยิ่งนับวันวิวัฒนาการของหุ่นยนต์มีแต่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการให้บริการ Healthcare ทั้งนี้เพราะการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี mobile broadband และ Internet of Things (IoT) ที่ทำให้หุ่นยนต์สามารถถูกควบคุมสั่งการด้วยระยะไกลข้ามโลกได้ จึงยิ่งส่งผลให้มีแนวโน้มในการนำมาใช้ในทุกอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด
ในขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
โดยมีการศึกษาจากองค์กร และสถาบันวิจัยชั้นนำทั่วโลกต่างบ่งชี้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์สามารถเข้ามาแทนที่ทรัพยากรมนุษย์ได้ถึงร้อยละ 80 และเพียงแค่ความก้าวหน้าในการจดจำเสียง (voice recognition) ของหุ่นยนต์เพียงอย่างเดียว ก็สามารถลดงานของมนุษย์ลงได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างมหาศาล อย่างเช่น การแปลภาษาและการตอบคำถามอัตโนมัติ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการยืนยันอีกว่าหุ่นยนต์และการหลอมรวมเทคโนโลยี mobile broadband, AI และ IoT จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานหรือทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน โดยมีการคาดการณ์ว่ากระบวนการอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ จะส่งผลกระทบอย่างแรงต่อตำแหน่งงานของผู้บริหารระดับกลางในองค์กร มากกว่าร้อยละ 80 เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาทำงานแทนได้
อีกไม่ช้าจะมีแรงงานไหลออกจากระบบ โดยจะเริ่มมีการขาดแคลนทักษะ และมีค่าตอบแทนในระดับไม่สูงมากนัก (ต่ำลงเรื่อยๆ) ซึ่งทำให้ประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ไม่สามารถประสบความสำเร็จในวิชาชีพ และจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ล้าหลังจนไม่สามารถพัฒนาปรับปรุงตัวเองได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่มีการปรับเปลี่ยนการจ้างงานในระยะสั้นมากขึ้นตามลำดับ และพบว่าส่วนใหญ่จะมีค่าตอบแทนการจ้างงานในระดับต่ำ โดยร้อยละ 73 ของงานใหม่ มีค่าตอบแทนการจ้างงานอยู่ที่ฐานพิรามิด และมีการจ้างงานแบบชั่วคราวมากกว่างานประจำ
ส่วนสายงานที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถเติบโตได้อีกในช่วง 10 ปีข้างหน้า คืองานประเภท Healthcare อย่างเช่น พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และผู้ดูแลผู้ป่วย เป็นต้น รวมไปถึงพนักงานเตรียมอาหารและพนักงานเสิร์ฟ แต่ยังคงได้ผลตอบแทนในระดับต่ำลง
มีผลการศึกษาด้วยว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จะมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่องค์กรและทักษะของบุคลากรปรับเปลี่ยนไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้คนจำนวนนับล้านถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งรายได้และงานของพวกเขาจะค่อยๆ จางหายไป
World Economic Forum, predicts a “Fourth Industrial Revolution,” characterized by unprecedented “developments in genetics, artificial intelligence, robotics, nanotechnology, 3D printing, and biotechnology.”
ในการประชุม World Economic Forum มีการเตือนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และงานถูกแทนที่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 2 – 3 ทศวรรษข้างหน้า โดยการเพิ่มขึ้นของเครื่องจักร ไม่ใช่เป็นแค่เพียงแทนแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นสมองให้แก่องค์กรอีกด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล หรือยุค “Second machine age” เป็นแค่การเริ่มต้นของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และแรงงานทางปัญญาก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อพวก brainworker อย่างเช่น นักบัญชี และ broker ค้าหุ้นเป็นต้น และอาชีพพนักงานตรวจสอบสต๊อกสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตก็มีแนวโน้มที่จะกำลังหายไป เช่นกัน
หุ่นยนต์และอุปกรณ์อัตโนมัติ IoT อื่นๆ สามารถเพิ่มระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมได้มาก ซึ่งทำให้ปริมาณงานที่ต้องใช้มนุษย์ลดจำนวนลงอย่างมาก และเป้าหมายต่อไปของระบบงานอัตโนมัติก็คือระบบในสำนักงานทั้งหมด
ในภาคส่วนการผลิตของสหรัฐอเมริกา มีตัวเลขการเพิ่มยอดขายขึ้นร้อยละ 8 ในช่วงปี 2007 – 2012 แต่อัตราการจ้างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทำนองเดียวกันบุคลากรประมาณ 1 ใน 25 คน ในประเทศญี่ปุ่นนั้นคือ “หุ่นยนต์” ทั้งนี้เนื่องจากการเติบโตของประชากรผู้สูงอายุ และอัตราการเกิดของประชาคกรลดลง ซึ่งหมายถึงแรงงานการผลิตมีอัตราลดลง แต่ในธุรกิจทั่วโลกต่างกำลังเสาะแสวงหาวิธีการเพื่อให้มีผลผลิต ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ที่ดีขึ้นโดยการใช้หุ่นยนต์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้จะมีการจ้างงานลดลงในภาคการผลิตของสหรัฐอเมริกา แต่พบว่าการจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมีเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น วิศวกร เพื่อดูแลรักษาเครื่องจักรยุคใหม่ที่มีความซับซ้อนและพบว่าบุคลากรกลุ่มนี้มีผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น
หุ่นยนต์, ฮาร์ดแวร์, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ซอฟท์แวร์, ระบบอัตโนมัติ และการเชื่อมต่อเครือข่ายสื่อสาร เป็นเครื่องมือที่ทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสมรรถภาพสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ และมีผลกระทบอย่างมากต่อการจ้างงานและระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอาจจะเข้ามาแทนที่งานของมนุษย์ในหลายส่วน แต่ก็จะมีความต้องการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างมากในหลายสาขา เช่นกัน
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรจะต้องหันมาพิจารณาอย่างจริงจังถึงอนาคตของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีผลกระทบ และต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะทำให้ประชากรของประเทศสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรยุคใหม่ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลาการเปลี่ยนแปลงจริง แต่ไร้ซึ่งการวางแผนในระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาวที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างร้ายแรง และอาจทำให้ประเทศอ่อนแออย่างก้าวกระโดด
“เรากำลังผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อทำงานในปี 2025 หรือเพื่อทำงานในปี 2017…นั้นคือคำถามที่ผู้นำทุกประเทศต้องหาตอบ”
Reference
[1] https://robotenomics.com/2014/04/16/…ce-80-of-jobs/
[2] http://www.mckinsey.com/business-fun…-they-cant-yet
[3] http://www.digitaltrends.com/cool-te…ion-jobs-2020/
—————-
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com
19 มกราคม 2560 08:00
—————–
หากท่านสนใจความรู้ด้านดิจิทัล
เข้าร่วมกับเราและทักเข้ามาที่
LINE id : @digital4u
——————