เข้าสู่ยุค Platform Economy

บทความโดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม

ผู้เขียนได้ดูข่าวการเปิดตัวของ UberEATS ที่มาเปิดตัวในประเทศไทยในช่วงปีใหม่นี้ ซึ่งไม่ได้แปลกใจนักที่จะมีบริการแปลกใหม่ในแนวนี้ และผู้เขียนก็ได้เคยกล่าวไว้แล้วใน “ธุรกิจใหม่น่าจับตามองของไทยในปี 2017” ว่าจะเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ


รูปแบบธุรกิจ Uber ถือว่าเป็นผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถรับส่ง(ด้วยรถยนต์ส่วนตัว) ได้เปิดตัว UberEATS แอพพลิเคชั่น เพื่อบริการจัดส่งอาหารร้านชั้นนำในกรุงเทพฯกว่า 100 ร้าน ภายใต้สโลแกน “สั่งง่าย สั่งทันใจ อร่อยเหมือนทานในร้าน” เสิร์ฟอาหารถึงบ้านเพียงไม่กี่นาที ทั้งนี้เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนเมืองหลวงที่ไม่มีเวลาในการรอคิว และ อยากลิ้มลองอาหารใหม่ๆโดยไม่ต้องออกนอกห้องหรือบ้าน รวมไปถึงกลุ่มคนทำงานที่ต้องการปาร์ตี้ในออฟฟิศ ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

แม้ว่าแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารจะไม่ใช่เรื่องใหม่มากนักสำหรับประเทศไทย แต่ UberEATS เข้ามาทำตลาดชูจุดเด่นด้วยการเลือกเจาะร้านและคัดเลือกพันธมิตรร้านอาหารในเกรดพรีเมี่ยมทั้งไทยและนานาชาติ เข้ามาอยู่ในแอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีเป้าหมายกลุ่มลูกค้าที่ขัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจประเภท Uber ยังสร้างงานในส่วนของการใช้คนในการส่งสินค้า ด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหาร ที่ทำให้ messengers สร้างรายได้โดยไม่มีเจ้านาย ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ และเลือกทำในชั่วโมงที่ต้องการ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลที่วิ่งไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่ง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Data Analytics, คลาวด์ (Cloud), และ Mobile broadband เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีที่ทั้งหมดดังกล่าวจะเข้ามาเชื่อมโยงหลอมรวม (Convergence) กับอุปกรณ์ต่างๆ จนทำให้เราสามารถออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แปลกใหม่ได้มากมาย

ในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เริ่มถูกพลิกผันด้วยการก้าวข้ามอุปสรรคด้านสถานที่และเวลาได้แล้ว เช่น จากการฟังเพลงด้วย CD กลายมาเป็น download จากอินเทอร์เน็ตแบบ anywhere and anytime โดยสัญญาณการเข้าแทนที่ลักษณะนี้ถือว่าเป็นการเข้าแทนที่ไม่ใช่เพียงแค่แบบ Product-based แต่ถือว่าเป็นการ breakthrough ไปสู่การพลิกผันในระดับ platform หรือที่เราเรียกว่า platform-based ความหมายคือ การกระโดดจากกายภาพไปสู่ cyber space ที่ทะลุอุปสรรคด้านสถานที่และเวลานั่นเอง

ขณะนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการผลิตตัวสินค้าและการบริการทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ไปมุ่งเน้นการรวบสินค้าและบริการประเภทต่างๆ มาไว้ที่เดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นการทำธุรกิจเชิง platform-based ด้วยการเสนอการให้บริการซื้อขายแบบ realtime ด้วยการแสดงถึงสถานะของสินค้าและบริการในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มซื้อจนสิ้นสุดการส่งถึงลูกค้า ด้วยการใช้เทคโนโลยี mobile broadband และ location-based services ซึ่งกำลังเกิดขึ้นใหม่ๆ ทุกวันทั่วโลก โดยที่เราได้เห็นที่เกิดขึ้นแล้วชัดเจน ตัวอย่างเช่น
– รวบร้านอาหารไปวางบน UberEATS
– รวบรถ taxi ไปไว้บน Uber, Grab
– เอาสินค้าทุกอย่างยกไปอยู่บน Alibaba, Amazon

พูดง่ายๆ คือ มันเป็นการเคลื่อนตัวสู่ platform business model ซึ่งความคิดทำธุรกิจแบบเดิมๆ จะกลายเป็นไฟไหม้ฟาง

และแน่นอน ผู้อ่านอาจจะได้เห็น Uber Massage (อูเบอร์นวด) ในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้

Reference
[1] https://www.ubereats.com/bangkok/
[2] https://www.grab.com/th/en/taxi/
—————-
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
26 มกราคม 2560
www.เศรษฐพงค์.com
—————–
หากท่านสนใจความรู้ด้านดิจิทัล
เข้าร่วมกับเราและทักเข้ามาที่
LINE id : @march4g
——————

ขอบคุณที่มา: http://www.it24hrs.com/2017/ubereats-platform-economy/