ธุรกิจ Startup ด้านการเกษตรที่ประเทศไทยควรศึกษา

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเกษตรมีการจ้างงานประชากรทั่วโลกถึงร้อยละ 40 และสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาชาวอเมริกันถึง 120.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2013 ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจมากที่ Silicon Valley ไม่เคยสนใจในอุตสาหกรรมนี้มาก่อน แต่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้กลับมีผู้ประกอบการและนักลงทุนเริ่มหันมาสนใจในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น

ธุรกิจ Startup เกี่ยวกับการเกษตรที่น่าจับตามองที่ประเทศไทยควรจะต้องศึกษา ได้แก่

(1) Climate Corporation
Climate Corporation ได้เริ่มต้นธุรกิจในปี ค.ศ.2006 ภายใต้การนำของ David Friedberg และ Siraj Khaliq ด้วยความคิดที่จะขายประกันพืชผลที่ต้องอาศัยข้อมูลสภาพอากาศที่เฉพาะเจาะจง หลังจากนั้น 7 ปีต่อมา บริษัท Monsanto ที่ชอบความคิดนี้ ได้เสนองบลงทุนให้เป็นจำนวน ถึง 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2013 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรในรัฐมิสซูรี่ได้ซื้อกิจการบริษัทนี้ไป
แต่ Climate Corporation ยังคงบริหารงานอย่างอิสระในซานฟรานซิสโก โดยทำการกรองและวิเคราะห์ข้อมูลของดินและอากาศขนาด 50 เทราไบต์อยู่ตลอดเวลา ซึ่ง David Friedberg ได้มีจดหมายถึง Monsanto โดยมีใจความว่า พนักงานของ Climate Corporation กำลังจะเป็นผู้นำของโลกในการแก้ปัญหาทางการเกษตรที่มีอยู่เดิม และความเป็นพันธมิตรของทั้งสองบริษัท ทำให้มีเงินทุน, ข้อมูลอันมหาศาลที่มีค่าและมีสิ่งต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีมาก่อน

(2) Solum
“Solum” เป็นคำที่นักธรณีวิทยาใช้ในการเรียกชั้นดิน บริษัท Solum ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งได้ดำเนินการในสองระดับคือ นำเสนอการทดสอบดินให้แก่ชาวนา และพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยในการบริหารจัดการดิน แต่ทาง Solum ได้ประกาศว่า Climate Corporation (และบริษัทแม่ Monsanto) ได้ซื้อแผนกทดสอบดินของบริษัท Solum ไป และแผนกซอฟต์แวร์ก็ได้แยกตัวออกไปเป็นบริษัท Granular, Inc. ซึ่งจะเห็นว่าเป็นบทเรียนของสตาร์ทอัพของธุรกิจการเกษตร เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในธุรกิจอิเล็กทรอนิคส์และสมาร์ทโฟน ว่าความคิดที่ดีสามารถนำมาซึ่งเงินลงทุนจำนวนมหาศาลได้

(3) Soil IQ
ความคิดด้านการเกษตรมากมาย มาจาก Silicon Valley ที่มีเป้าหมายในการทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลการผลิตอาหารได้มากขึ้น มากกว่าจะเป็นการลงทุนในฟาร์มจริงๆ โดย Soil IQ เป็นผู้นำเทรนด์ดังกล่าวและนำ Internet of things (IoT) มาสู่อุตสาหกรรมการเกษตร โดยผลิตภัณฑ์ชนิดแรก คือเซ็นเซอร์ดินขนาด 3 นิ้ว ที่มีแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและ Wi-Fi โดยจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของดินและให้คำแนะนำว่าควรปลูกพืชชนิดใด หากมีการสมัครสมาชิกรายปี บริษัทจะมีการจัดส่งเมล็ดพันธ์ที่เหมาะสมในการปลูกแต่ละช่วงเวลาให้ด้วย ซึ่งมีบริษัทอื่นๆ อีก เช่น Easy Bloom และ Flower Power ที่มีแนวคิดและมีความสนใจเกี่ยวกับเซ็นเซอร์ดินเช่นกัน

(4) SmartGardener
SmartGardener อาจจะไม่ได้มีเซ็นเซอร์ที่ซับซ้อน แต่ได้กลายเป็นที่ช้อปปิ้งแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวของคนรักการทำสวน ซึ่งคล้ายๆ กับเรามีฟาร์มเองในชีวิตจริงที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเราสามารถสร้างแปลงเพาะปลูกได้ จากนั้นจะช่วยพิจารณาว่าควรปลูกพืชชนิดใดที่เหมาะกับพื้นที่ของคุณ โดยสามารถซื้อเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์พืชมาปลูกได้เลย และตลอดระยะเวลาฤดูเพาะปลูกจะมีการแจ้งเตือนทางออนไลน์ เพื่อทำให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดี โดยคุณสามารถใช้ SmartGradener แบ่งปันข้อมูลหรือรางวัลกับเพื่อนได้ด้วย ซึ่งขณะนี้ SmartGardener มีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนแล้ว 160,000 รายแล้ว

(5) Blue River Technology
Blue River Technology ได้แสดงให้เห็นว่าการนำทางโดย GPS และภาพถ่ายที่ได้จากโดรนจะมีประโยชน์อย่างไรกับอุตสาหกรรมการเกษตร
Jorge Heruad และ Lee Redden วิศวกรจาก Stanford ได้มีความคิดในการสร้างหุ่นยนต์ผักกาด (Lettuce Bot) เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของบริษัท ซึ่งหุ่นยนต์ผักกาดนี้จะถูกลากโดยรถแทรกเตอร์ โดยจะใช้กล้องมองหาพืช จากนั้นแยกแยะว่าพืชที่เห็นเป็นผักกาดหรือวัชพืช เปรียบเทียบสิ่งที่มองเห็นกับฐานข้อมูลที่เคยเก็บไว้ หุ่นยนต์จะทำการใส่ปุ๋ยลงไปบริเวณวัชพืช ซึ่งความเข้มข้นปุ๋ยที่ใส่นั้นมีปริมาณมากเพียงพอที่จะทำให้วัชพืชตาย และยังเป็นการเพิ่มอาหารให้ผักกาดไปในตัว โดยในอนาคตจะไม่หยุดดำเนินการจัดการกับผักกาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ขั้นต่อไปคือการดำเนินงานกับพืชชนิดอื่นๆ เนื่องจากเห็นว่าในเมื่อเทคโนโลยีของบริษัทสามารถใช้ได้กับผักกาดแล้ว ก็ควรจะสามารถนำไปพัฒนาต่อ เพื่อให้ใช้ได้กับพืชชนิดอื่นๆได้เช่นกัน

(6) Farmeron
Farmeron เป็นธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์ในเมืองเล็กๆ ของประเทศโครเอเชีย (Croatia) เนื่องจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในโลกนี้ มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับสัตว์ แต่ไม่รู้เลยว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ซึ่ง Farmeron มีความคาดหวังว่าจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยในปัจจุบัน ชาวนาทั่วโลกสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อเข้ามาดูข้อมูลของสัตว์หรือประสิทธิภาพการทำงานของฟาร์มทั้งหมด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขที่สำคัญในแต่ละวัน เช่น รายได้เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุน, ราคาอาหารสัตว์ และปฏิทินที่ช่วยเตือนให้ผู้ทำปศุสัตว์ทราบว่าเมื่อใดควรรีดนมวัว, ชั่งน้ำหนักสัตว์ และฉีดวัคซีน

(7) Freight Farms
การทำการเกษตรในเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยนาย Jon Friedman แห่ง Freight Farms ได้พยายามที่จะสร้างรายได้จากเรือนเพาะชำบนชั้นดาดฟ้าในบอสตัน และได้ค้นพบว่าสามารถที่จะทำฟาร์มในตู้คอนเทนเนอร์ได้ โดยสามารถทำสวนในเมืองได้ในราคาถูกกว่า และยังง่ายในการปรับขนาดและขนส่งอีกด้วย ซึ่งภายหลังจากการเพิ่มเงินลงทุนไป 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างชุด Freight Farm นั้น ทำให้ขณะนี้ทั้งนาย Jon Friedman และนาย Brad McNamara ผู้ก่อตั้งบริษัทร่วมกัน สามารถทำยอดขายได้เฉลี่ย 2 ตู้ต่อสัปดาห์ และมีแนวโน้มว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถาบัน Grist รายงานว่าตู้เหล่านั้นได้ถูกจัดส่งไปยังผู้ทำสวนในเมืองที่หลากหลาย ทั้งเชฟร้านอาหาร, ผู้กระจายสินค้า, ผู้ประกอบการ และสถานศึกษา ซึ่งในแต่ละตู้สามารถปลูกพืชได้ 4,500 ต้นต่อเดือน แต่จุดขายนั้นไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ เจ้าของตู้ยังสามารถควบคุมการให้น้ำและแสงสว่างได้จากสมาร์ทโฟนของตัวเองอีกด้วย โดยในปัจจุบันขายอยู่ที่ราคา 70,000 – 85,000 เหรียญสหรัฐ ต่อตู้

(8) Local Food Lab
สำหรับกิจการค้าปลีกขนาดเล็ก เช่น พ่อค้าขายชีสแพะในตลาด หรือผู้ประกอบการท้องถิ่นที่สร้างธุรกิจโดยการนำเสนออาหารที่สดและอร่อยให้แก่ชุมชน ควรจะมีเทคโนโลยีและข้อมูลของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ซึ่งสำหรับ Local Food Lab นั้น มีแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการอาหารท้องถิ่น ที่สามารถแบ่งปันความคิดเห็นร่วมกันได้ เหมือนกันกับ Pinterest สำหรับธุรกิจ startup ประเภทอาหาร
โดย Local Food Lab เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเป็นผู้ขับเคลื่อน หรือบริษัทที่ค้นหาธุรกิจใหม่ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อลงทุน ซึ่งมีการเรียนรู้พื้นฐานการทำธุรกิจและเชื่อมต่อความคิดระหว่างบริษัทกับนักลงทุน เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ ก็เลือกที่จะขยายขอบเขตของธุรกิจเพิ่มเติม เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์รูปแบบใหม่จะเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมการเกษตร

ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การทำงานหนักไม่ได้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ แต่การทำงานด้วยวิสัยทัศน์ที่เฉียบแหลม โดยใช้ความรู้และปัญญา และยอมรับการทำงานโดยไม่ขึ้นกับสถานที่และเวลา จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของทุกองค์กรและของประเทศ ถึงเวลาปลุกธุรกิจรูปแบบใหม่ Startup ให้มาช่วยพัฒนาประเทศไทยได้แล้ว

Reference
http://modernfarmer.com/2014/02/10-s…ure-start-ups/
————–
การให้สัมภาษณ์ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
เรื่องผลกระทบของธุรกิจ Startup จากเทคโนโลยี 4G
Play video
—————
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
9 กุมภาพันธ์ 2560
www.เศรษฐพงค์.com
——————-
หากท่านสนใจความรู้ด้านดิจิทัล
เข้าร่วมกับเราและทักเข้ามาที่
LINE id : @digital4u
——————-
ที่มา: www.เศรษฐพงค์.com