เลือกโรงพยาบาล ให้โดนใจ ผู้ประกันตนเลือกเองได้
“It’s good health that is real wealth and not pieces of gold and silver” ท่านมหาตมะ คานธี กล่าวไว้ว่า “ความมั่งคั่ง คือ การมีสุขภาพดี ไม่ใช่การมั่งมีเงินทอง”
เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมากในชีวิตของมนุษย์ เมื่อเราเกิดเจ็บป่วยและต้องเข้าโรงพยาบาล เราย่อมต้องการเข้ารักษาโรงพยาบาลที่ดี มีความสามารถ วันนี้สำนักงานประกันสังคม มีเรื่องราวดีๆ มาแนะนำเกี่ยวกับการเลือกโรงพยาบาลสำหรับผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคม ช่วงนี้สำนักงานประกันสังคมเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถเปลี่ยนโรงพยาบาล จนถึง 31 มีนาคม 2561 นี้ โดยสามารถตรวจสอบโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการสำหรับปี 61 และสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลได้ทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 และสามารถเลือกโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการโดยกรอกแบบฟอร์ม สปส. 9-02 การเลือกโรงพยาบาลนั้น แนะนำให้เลือกโรงพยาบาลด้วยตนเอง โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งอาจจะเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่ทำงาน หรือใกล้ที่พักอาศัย เพื่อจะได้เดินทางสะดวก ไม่เสียเวลา และหากมีโรคประจำตัว ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางตามโรคที่เป็น หรือโรงพยาบาลที่สามารถส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้น แนะนำให้ผู้ประกันตนตรวจสอบให้ละเอียดในเรื่องนี้ว่าโรงพยาบาลระดับสูงนั้นมีโรงพยาบาลอะไรบ้าง อีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ เลือกโรงพยาบาลที่มีสถานพยาบาลเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ที่เราสามารถเดินทางไปรักษาได้สะดวก และยิ่งถ้าโรงพยาบาลนั้นมีเครือข่ายจำนวนมาก ทำให้สะดวกสบายมากขึ้นมีทางเลือกมากขึ้น เป็นต้น เพิ่มเติมในส่วนของเรื่องการเปลี่ยนโรงพยาบาลระหว่างปีกรณีมีเหตุจำเป็น เช่น ย้ายที่พักอาศัย ย้ายสถานที่ประจำทำงาน ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอเปลี่ยนโรงพยาบาลระหว่างปีได้ เพื่อให้สามารถทำการรักษาได้ต่อเนื่อง โดยการยื่นเปลี่ยนสถานพยาบาลระหว่างปี สามารถยื่นได้ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ย้ายที่พักอาศัย หรือย้ายที่ทำงาน การยื่นแบบเลือกโรงพยาบาล สปส. 9-02 ยื่นได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือยื่นแบบฯ ทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน www.sso.go.th
สำหรับผู้ประกันตนที่พอใจโรงพยาบาลเดิมอยู่แล้ว ไม่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาล ก็สามารถใช้สิทธิเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลตามสิทธิเดิมได้จนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน นอกจากนั้นผู้ประกันตนที่สิ้นสุดจากความเป็นผู้ประกันตนแล้ว สามารถใช้สิทธิรักษาต่อไปได้อีก 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเมื่อไปรับการรักษา สามารถแสดงบัตรประชาชนได้เลย สำหรับคนต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนต้องแสดงบัตรประกันสังคมหรือหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่ง หรือที่สายด่วน 1506 กระทรวงแรงงาน