“วุฒิภาวะ” วุฒิสมาชิก กับ 3G

การเดินหน้าให้ประเทศไทยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในคลื่น 3G ใช้ เป็นเรื่องผลประโยชน์ประชาชน

เทคโนโลยี 3G ทั่วโลกใช้มานานแล้ว หลายประเทศแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา ก้าวล้ำไป 4G แล้ว

3G จึงต้องเอาประโยชน์ที่ประชาชนได้รับเป็นตัวตั้ง มากกว่าที่จะคิดแต่ประโยชน์รัฐ หรือติดกับประโยชน์ของบริษัทเอกชน

วุฒิสมาชิก ในความหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ “สมาชิกของสภาสูง” ซึ่งเป็น “สภาของผู้ทรงคุณวุฒิ” สมาชิกต้องมี “วุฒิภาวะ” คิดถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติในภาพรวมได้

การเมืองไทยที่ไม่ไว้วางใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วยค่านิยมที่หมิ่นแคลนความรู้ความคิดของประชาชนว่าไม่มีความสามารถที่จะเลือกผู้แทนที่เป็นคนดีมีความสามารถได้ โครงสร้างอำนาจการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นด้วยกรอบความคิดของอำนาจนอกระบบที่ไม่ไว้วางใจการตัดสินใจของประชาชน จึงให้มีวุฒิสภาขึ้นมาทำหน้าที่คัดเลือกองค์กรอิสระเข้ามาควบคุมการทำงานของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

วุฒิสภายังมีหน้าที่ถอดถอนนักการเมือง

เรียกว่าให้อำนาจเต็ม

ขณะที่ ที่มาของวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา หรือเอาเข้าจริงก็คือการแต่งตั้งโดยเครือข่ายของอำนาจนอกระบบที่เชื่อว่าพวกเขามีจริยธรรมมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ทั้งที่ประชาชนและผู้นิยมประชาธิปไตยทั่วไปไม่ได้เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่อยากปรักปรำว่าหลายคนในวุฒิสภาเห็นแก่ประโยชน์มากกว่าจริยธรรม

ทว่า สิ่งที่ไม่อยากพูดนั้น ดูเหมือนว่าจะต้องมาพูดกันสักครั้ง เมื่อวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่ง พยายามที่จะขัดขวางการดำเนินการให้ประชาชนได้ใช้คลื่น 3G อย่างเอาเป็นเอาตาย จนน่าสงสัยว่าก้าวข้ามจริยธรรมของตัวเองหรือไม่

จากข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553

ข้อ 17 “…จักต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ใช่หรือบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง หรือวิจารณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนเข้าใจผิด…”

และข้อ 19 “…จักต้องพิจารณารับเรื่องร้องทุกข์ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชน ตลอดจนถึงให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็วมีอัธยาศัย เสมอภาค เท่าเทียมเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ”

แต่ปรากฏว่าพฤติกรรมของ ส.ว.บางคน ดูจะไม่เข้ากับจริยธรรมนี้สักเท่าไร

ไม่เพียงเร่งเสนอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการประมูลคลื่น 3G โดยตั้งข้อสงสัยว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทุจริต โดยไม่ให้ กสทช. ชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งเสี่ยงต่อข้อหาวิจารณ์ในลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายเพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนเข้าใจผิด และ “ไม่รับฟังความคิดเห็นอย่างเสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ”

แค่นั้นก็แย่แล้ว แต่ยังไม่ทันที่ ป.ป.ช. จะพิจารณา กลับเร่งร้อนที่จะส่งเรื่องไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ที่หนักไปกว่านั้นคือ จี้ให้ “ประธาน กสทช.” เรียกประชุมเรื่องที่ตัวเองไม่มีหน้าที่

จนก่อความรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่เร่งรีบและเร่าร้อนจนคล้ายจะเกิดปกติ จนก่อให้เกิดข้อกังขาในกลุ่มผู้ติดตามเรื่องนี้ว่ามีแรงผลักดันอะไรสักอย่างหรือไม่

3G ใช้เร็วเท่าไร ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเร็วเท่านั้น

วุฒิสมาชิก คือ “ผู้ทรงเกียรติด้วยวุฒิภาวะ”

คงต้องทบทวนกันให้หนัก ว่ายังรักษาวุฒิภาวะที่สามารถมองเห็นผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องไว้ได้หรือไม่

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับ วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 หน้า 3
ที่เห็นและเป็นไป โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ