ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์รายงานความคืบหน้ากรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องศาลปกครองกลางฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในการจัดประมูลคลื่น3จี ความถี่ 2.1กิ๊กกะเฮิร์ตซ์ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศที่เกี่ยวข้องการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่น3จีและให้ชะลอการอนุญาตนั้น ทางกสทช.จัดทำคำชี้แจงประกอบการให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองกลางระบุ ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องผิดคน เนื้อหาคำฟ้องคลาดเคลื่อน บิดเบือน ไม่ชัดเจน เหตุผลตั้งอยู่บนหลักการที่ผิดพลาด และยังไม่เป็นไปตามระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยการเสนอการรับคำร้องเรียนและการสอบสวนหาข้อเท็จจริง 2545ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกฟ้องและกสทช.เข้าชี้แจงข้อร้องเรียน
นอกจากนี้กสทช.ยังระบุผลศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นผลเสียหายทางเศรษฐกิจจากการนำเทคโนโลยี3จีมาใช้ล่าช้าออกไปในช่วงระยะ1ปีมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 76,950ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดในคำชี้แจงของกสทช.ต่อศาลปกครองกลางระบุว่า อำนาจหน้าที่ในการออกประกาศจัดประมูลคลื่น3จี เป็นอำนาจของกสทช.ไม่ใช่เป็นอำนาจของสำนักงานกสทช.ที่มีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เป็นเลขาธิการ
“สำนักงานกสทช.มีหน้าที่ในการรับและจ่ายเงินรายได้ของกสทช. จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรับผิดชอบงานธุรการ ไม่ได้มีอำนาจในการอนุญาตและกำกับดูกลการปะกอบกิจการโทรคมนาคม รวมถึงไม่ได้มีอำนาจหน้าที่จัดประมูลคลื่นความถี่ 3จี”
ส่วนที่ผู้ฟ้องอ้างการประมูลคลื่นความถี่ 3จีครั้งนี้ทำให้เกิดความเสียหายนั้น ในความเป็นจริงการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดบริการสาธารณะ ส่งผลให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลทำสามารถนำคลื่นความถี่ จำนวน 45เม็กกะเฮิร์ตซ์ที่ถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้เกิดมูลค่าแก่รัฐ และขณะเดียวกันยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนคลื่นความถี่
ในคำชี้แจงยังระบุอีกว่า คำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ฟ้องสำนักงานกสทช.มีเนื้อหาคลาดเคลื่อนบิดเบือน กล่าวคือผู้ฟ้องอ้างกสทช.และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ไม่ใช่ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ ดังนั้นจึงไม่อยู่ในอำนาจของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องกลับบิดเบือนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายและนำเรื่องมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองกลางโดยอ้างเพียงข้อเท็จจริงว่าสำนักงานกสทช.โดยเลขาธิการกสทช.จัดประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ฟ้องคดีย่อมรู้วาไม่อาจฟ้องสำนักงานกสทช.ให้เปิดถอนประกาศการประมูลคลื่น 3จีได้ ในประเด็นนี้จึงเป็นการพยายามบิดเบือนในข้อกฎหมาย
ในส่วนของคำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดินมีเนื้อหาไม่ชัดเจนนั้นทางกสทช.ชี้แจงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องสำนักงานกสทช.เป็นเพียงหน่วยงานธุรกิจเท่านั้น แต่ในคำบรรยายฟ้องกลับเจาะจงการกระทำหรือการใช้อำนาจของกสทช.ทั้งสิ้น แต่ไม่ได้ชี้แจงให้เป็นที่ประจักษ์ว่า สำนักงานกสทช.กระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่เป็นตามประกาศประมูลคลื่น3จีอย่างไร พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อให้ได้ใช้สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล
กสทช.ยังชี้ว่าคำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดินตั้งอยู่บนหลักที่ผิดพลาดและคลาดเคลื่อน ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่า ประกาศพิพาทได้จำกัดให้ผู้เข้าประมูลแต่ละรายยื่นประมูลชุดคลื่นความถี่ได้ไม่เกิน3ชุด(Slot) จากทั้งหมด 9ชุดและพฤติกรรมการประมูลบางรายไม่สู้ราคานั้น เป็นการอ้างที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะเป็นผลที่เกิดขึ้นในภายหลังการประมูลแล้ว
ในขณะที่ออกประกาศจัดประมูลคลื่น3จี กสทช.ไม่ทราบและคาดการณ์ได้ว่าผู้เข้าร่วมประมูลมีกี่ราย เนื่องจากฐานข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบการในตลาดมี20รายที่มีสิทธิร่วมประมูลได้ อีกทั้งหลักเกณฑ์การประมูลขนาดใบอนุญาตให้แต่ละใบเหลือ 5เม็กกะเฮิร์ตซ์ และกำหนดราคาตั้งต้นไม่สูงเกินไปเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลางเข้าร่วมประมูลด้วย ขณะที่คลื่นความถี่ถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ คำฟ้องในประเด็นดังกล่าวจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและคลาดเคลื่อน
สำหรับประเด็นผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ปฎิบัติตามระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าด้วยการเสนอ การรับคำร้องเรียนและการสอบสวนหาข้อเท็จจริง พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกฟ้องคดีและ กสทช. มีโอกาสชี้แจงตามประเด็นที่ถูกร้องเรียน กสทช.ชี้แจงต่อศาลปกครองกลางว่า
ในการเสนอ การรับคำร้องเรียน และการสอบสวนข้อเท็จจริง ผู้ฟ้องคดีได้ออกระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าด้วยการเสนอ การรับคำร้องเรียนและการสอบสวนหาข้อเท็จจริง พ.ศ2545ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับตาม 49แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 โดยข้อ 16 กำหนดไว้ว่า
“ภายใต้บังคับข้อ 15การสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนเป็นหนังสือให้พนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนทำความเห็นเสนอต่อเลขาธิการเพื่อรายงานให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยพลันและให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทำหนังสือชี้แจงเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียน”
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับหนังสือร้องเรียนพร้อมกับเอกสารหลักฐานจากผู้ร้องเรียน จำนวน 3 ราย ที่ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ได้แก่ (1) นายสุริยใส กตะศิลา (2) นายนราพล ปลายเนตร และคณะ (3) นายไพบูลย์ นิติตะวันและคณะ
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับเร่งรีบ ละเลย และไม่ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว โดยมิได้มีหนังสือแจ้งมายัง กสทช. ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องตามหนังสือทั้ง 3ฉบับ เพื่อให้มีโอกาสชี้แจงตามประเด็นข้อร้องเรียนแต่อย่างใด ทั้งการกระทำดังกล่าวยังขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองซึ่งไม่เปิดให้มีการรับฟังความทุกฝ่ายและไม่เปิดโอกาสให้ กสทช. และผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้มีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงตามประเด็นร้องเรียน และไม่มีโอกาสได้โต้แย้งหรือแสดงหลักฐานอย่างเพียงพอ ทั้งที่ในประเด็นข้อร้องเรียนมีความเกี่ยวข้องทั้งในด้านเทคนิค ด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายหลายฉบับจนนำไปสู่การสรุปสำนวนที่ไม่ชอบด้วยระเบียบดังกล่าวและประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง และบิดเบือนในข้อกฎหมาย เพื่อนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในคดีนี้
ส่วนคำชี้แจงของกสทช.ต่อศาลปกครองกลางในประเด็นผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากมีการระงับการประมูลคลื่น3จีหรือกระบวนการออกใบอนุญาตคลื่น 3จีหยุดชะงัก ยกเลิกไป ระบุว่า ผลการศึกษาวิจัยของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปรียบเทียบค่าเสียโอกาสจากความล่าช้าในการพัฒนาคลื่น3จีในประเทศไทยเทียบกับจีนและอินเดีย โดยศึกษาวิจัยประเมินมูลค่าความเสียหายจากความล่าช้าในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1กิ๊กกะเฮิร์ตซ์ ของประเทศไทย คำนวณในระยะ 2 ปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 153,900ล้านบาท
ถ้าหากการประมูลคลื่นความถี่3จี ต้องล่าช้าออกไปจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะเวลา 1 ปี จะไม่น้อยกว่า 76,950 ล้านบาท และหากการประมูล ต้องล่าช้าออกไปในระยะเวลา 8เดือน จะก่อให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 51,300 ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสในการจะนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติมาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติจะส่งผลเสียหายที่จะต้องเริ่มต้นในกระบวนการตามกฎหมายใหม่อีกครั้งหนึ่ง และจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะเวลา 1 ปี จะไม่น้อยกว่า 76,950 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีข้อวิเคราะห์จากนักวิชาการที่เคยประเมินว่าระหว่างปี 2553-2555 ที่การประมูลคลื่น3จี ถูกยกเลิกไป มีผลเสียหายต่อประเทศเคยคิดเป็นมูลค่าถึง 210.8 ล้านบาทต่อวัน แต่หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในขณะนี้ การจัดประมูลคลื่นความถี่นี้ ได้เสร็จสิ้นจนทราบผลและมีการเดินหน้ากระบวนการไปมากแล้ว ผลกระทบและความเสียหายย่อมมีมากกว่า
http://www.matichon.co.th/news_detail.p … &subcatid=