ก่อนอื่นต้องขอบคุณ อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวนิชย์ จากทีดีอาร์ไอ ที่อุตส่าห์โทรมาชี้แจงข้อเขียนเรื่องการประมูล 3จี ตอนที่แล้ว

อาจารย์บอกว่า ข้อมูลอาจจะไม่ครบถ้วน หากจะให้ครบถ้วน สามารถไปหาอ่านได้ที่เว็บไซต์ที่มีมากมาย ก็ขอบอกผ่านไปยังผู้อ่านทุกท่านตามนี้นะครับ ถ้าอยากได้ข้อมูลแบบจุใจเชิญตามสะดวก แต่จะถูกใจหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง
ก็ยังขอยืมยันว่า ข้อมูลถูกหรือผิด ครบหรือไม่ครบ จำเป็นต้องหยิบแง่มุมให้หลากหลายมิติ โดยเฉพาะแง่มุมของผู้บริโภคที่เรียกว่า เอ็นด์ยูสเซอร์ หรือผู้ใช้บริการจริงๆ ต้องให้ความสำคัญมากๆ เพราะที่ผ่านมามักจะถูกละเลย จึงถูกเอาเปรียบมาตลอด

ไม่ใช่ให้ความสำคัญแค่ตัวเลขรายได้จากการประมูลเป็นหลัก หรือไปกล่าวหาใครว่าฮั้วหรือไม่ฮั้ว หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จึงต้องวางกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

สิ่งที่อยากจะสะท้อนก็คือ อยากให้เห็นถึงหัวอกคนไทยเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อย ที่ต้องจ่ายค่าบริการ 3จี เดือนละเกือบ 900 บาทแต่ได้รับบริการไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นบริการ 3จี เวอร์ชั่น “ติดๆ หลุดๆ” ไม่สมประกอบ แต่ไม่ยักกะมีใครมาดูแล จึงต้องเรียกร้องกับ “โจทย์ใหม่” อย่างการประมูล 3จี นี่แหละ

พูดกันตามจริงแล้ว ประเทศไทยพัฒนาด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคมมาก่อนเพื่อนบ้านหลายประเทศ
ถ้ายังจำกันได้เมื่อก่อนใครจะติดตั้งโทรศัพท์บ้านซักเครื่อง จะต้องจ่ายเป็นแสน แถมยังต้องมีเส้นมีสาย กว่าจะได้ “ฮัลโหล” เพราะการให้บริการสื่อสารรัฐวิสาหกิจอย่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในสมัยนั้นก็คือ กสท.ในปัจจุบัน ตอบสนองประชาชนไม่ทันความต้องการ

ทางรัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบริการแทนในรูปแบบสัมปทาน ทั้งโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ ระบบสื่อสารบ้านเราถึงโตแบบก้าวกระโดดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ และส่งผลให้การพัฒนาประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วไปด้วย
เมื่อก่อนใครจะซื้อโทรศัพท์มือถือก็บอกว่าฟุ่มเฟือย แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นสินค้าจำเป็นไปแล้ว

ความจำเป็นดังกล่าวพัฒนาไปถึงขั้นแค่ “มี” อย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้อง “เร็ว” และ “ครบเครื่อง” ด้วย
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนคนไทยอยากได้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีคุณภาพมากขึ้น สื่อสารได้ทั้งเสียง ข้อมูลและภาพ และต้อง “เร็ว” ด้วย เพราะถือเป็นดัชนีวัดอัตราการเติบโตขอประเทศปัจจัยหนึ่ง เป็นที่ยอมรับในสากล

แต่อาจจะเป็นเพราะการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้ององค์กรกำกับดูแลของบ้านเรา ปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ประการหนึ่ง

และอาจจะมาจากกลุ่มผลประโยชน์ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคมมูลค่ามหาศาล คอย “ยื้อยุดฉุดกระชาก” ความเจริญด้านนี้ อีกประการหนึ่ง

จึงไม่แปลกหากบริการสื่อสารโทรคมนาคมบ้านเรา โดนเพื่อนบ้านแซงไปอย่างหน้าตาเฉย ทั้งที่คนที่ไปให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นคนจากบ้านเราทั้งนั้น

จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมในฐานะประชาชนคนไทย หากใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการประมูล 3จี ครั้งนี้
แต่ขอให้การแสดงความเห็นเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ใครที่มีความเห็นแตกต่างจะกลายเป็นคนไม่ดีไปซะหมด เหมือนอย่างกรณีข้อกล่าวหาของ NBTC Watch หน่วยงานคอยตรวจสอบ กสทช. กล่าวหาว่า “มติชน” ไปรับโฆษณาจาก กสทช. ทำให้ต้องเขียนเชียร์

ข้อกล่าวหาเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความ “เสื่อม” ขาดความน่าเชื่อถือ ของหน่วยงานนั้นๆ เพราะจ้องจะเล่นงานคนที่เห็นต่าง

ถ้าอย่างนั้น ขอถามกลับละกันว่า สิ่งที่ได้ยินกันมานานแล้วว่า คนที่ต้องการล้ม 3จี มีต่างชาติอยู่เบื้องหลังเพราะไม่ต้องการให้ไทยพัฒนาได้ทันจริงหรือไม่ ใครก็ได้ช่วยตอบที

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา
คอลัมน์: เดินหน้าชน, ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 23 พ.ย. 2555