“ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีดีเอสไอ ยัน ผลตรวจสอบ ไม่พบ ผู้เสนอราคาประมูลคลื่น 3 จี ทั้ง 3 ราย กระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล แต่ยังขอ กสทช.ส่งหนังสือมายืนยันความถูกต้อง คาดตรวจสอบเสร็จภายในสัปดาห์นี้
วันที่ 28 พ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เผยผลการตรวจสอบสัมปทาน 3จี ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งต่อมา กสทช.ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz หรือ 3จี เนื่องจากได้มีการร้องขอให้ดีเอสไอ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. โดยเฉพาะการออกหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ การจัดประมูล โดยมีการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่ นั้น
นายธาริต กล่าวว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานตามที่ กสทช. ชี้แจง ในเบื้องต้นยังไม่พบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ตามที่ได้มีการกล่าวอ้าง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ดีเอสไอ จึงได้เชิญเจ้าหน้าที่ของ กสทช. โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ การจัดประมูลคลื่นความถี่ โดยมีพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นที่ปรึกษามาร่วมด้วยในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการ ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการประมูล วิธีการเสนอราคา ผลของการประมูลราคา โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญ กรณีการกำหนดราคาประมูลเริ่มต้นที่ 4,500 ล้านบาท
ขณะที่ผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้ กสทช. กำหนดราคาประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ไว้ที่ 6,440 ล้านบาท และประเด็นมีผู้เสนอราคาเพียง 3 ราย ซึ่งผู้เข้าประมูลที่เสนอราคาสูงสุด เสนอราคาที่ 14,625 ล้านบาท ส่วนอีก 2 บริษัท เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท เท่ากับราคาเริ่มต้น
นายธาริต กล่าวว่า จากการชี้แจงดังกล่าว ปรากฏว่า มีรายละเอียดข้อเท็จจริง และเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน ดีเอสไอ จึงได้มีหนังสือถึง กสทช. เพื่อให้ชี้แจง มาเป็นหนังสือในประเด็นดังกล่าว พร้อมขอให้ส่งเอกสารหลักฐานมาประกอบการพิจารณาด้วย คาดว่า การตรวจสอบจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ แล้วกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้แจ้งผลกลับไปยัง กสทช. อย่างเป็นทางการต่อไป
“กรณี 3 จี เราทำหน้าที่ตรวจสอบความผิดในการเสนอราคาของภาครัฐ ซึ่งเท่าที่มีการสอบสวนมาก็ไม่พบการกระทำความผิดตามกฎหมายฮั้วประมูล” นายธาริต กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการยกเลิกสัญญา 3จี 7,000 ล้านบาท จากผู้ประกอบการในต่างประเทศ แล้วมาให้ ฮัทช์ ดำเนินการในราคา 6,000 ล้านบาทนั้น นายธาริต ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของดีเอสไอ
“หากจะมีหน่วยงานใดว่าการตรวจสอบไม่ถูกต้อง ผมเชื่อว่า กสทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐคงไม่เอาเรื่องเท็จมาให้ดีเอสไอตรวจสอบ หน่วยอื่นจะเห็นต่างก็แล้วแต่ สำหรับดีเอสไอไม่พบว่ามีมูลความผิด” นายธาริต กล่าว.
http://www.thairath.co.th/content/pol/309474