สมาคมโทรคมนาคมฯ ร้องประธานวุฒิสภาขอความเป็นธรรม และสอบข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล กรณีพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3จี…
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) และสมาชิกนิติบุคคล ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทผู้เข้าร่วมการประมูลที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินการของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา (คณะกรรมาธิการฯ) เข้าร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานวุฒิสภา เกี่ยวกับผลการดำเนินการเบื้องต้นอย่างเร่งรีบของคณะกรรมาธิการฯ
เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ เสนอเอกสารข้อเท็จจริงอย่างรวบรัด ซึ่งอาจไม่ครบถ้วน หรือคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงขัดต่อหลักขององค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงรอบด้านจากผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งกรรมาธิการฯ ของคณะกรรมาธิการฯ บางท่านได้วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนต่างกรรมต่างวาระกันผ่านทางสื่อมวลชน ยังผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้มีส่วนได้เสีย และเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้มีส่วนได้เสียได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และยังก่อให้เกิดความสับสนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทั้งองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญและสาธารณชน นอกจากจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้มีส่วนได้เสียเสื่อมเสียชื่อเสียงแล้ว การตัดสินใจขององค์กรที่เกี่ยวข้องภายใต้การเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าว ยังอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อ “ประโยชน์สาธารณะ” ที่พึงประสงค์ในที่สุด
ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (หรือ 3จี) เนื่องจากนักวิชาการ นักการเมือง ข้าราชการ และกลุ่มคนบางกลุ่มได้เคลื่อนไหวกดดันให้ล้มการประมูลครั้งนี้ โดยยกเหตุผลว่า ตั้งราคาเริ่มต้น หรือราคาขั้นต่ำ ต่ำเกินไป มีการฮั้วประมูลและทำให้รัฐเสียหายจากการได้รับรายได้การประมูลน้อยเกินไปนั้น สมาคมโทรคมนาคมฯ และสมาชิกนิติบุคคลดังกล่าว เข้าใจว่าความขัดแย้งดังกล่าวน่าจะเกิดจากสาเหตุที่บุคคลในแต่ละกลุ่มดังกล่าวต่างมีข้อมูล ทัศนคติ และค่านิยม รวมทั้งความเข้าใจที่แตกต่างกันในการตีความคำว่า ประโยชน์สาธารณะ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญและการปรับความสมดุลที่ดี ระหว่างมูลค่าคลื่นความถี่กับประโยชน์สาธารณะที่ต้องคำนึงถึงทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้ให้บริการ และภาคประชาชนผู้ใช้บริการที่มิต้องรับภาระต้นทุนที่สูงเกินไป
สำหรับการตัดสินใจของ กสทช. ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลดังกล่าว ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของตลาดโทรคมนาคมของไทย รวมทั้งผลกระทบและผลลัพธ์ที่มีต่อการพัฒนากิจการโทรคมนาคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงผู้ได้รับใบอนุญาตยังต้องไปลงทุนสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมโดยใช้เม็ดเงินอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการสร้างงานในหลายภาคส่วน ดังนั้น ราคาใบอนุญาตไม่ใช่ต้นทุนเบ็ดเสร็จที่สามารถไปให้บริการได้เลย ยังต้องมีเงินลงทุนในส่วนอื่นอีกมาก ดังนั้น ราคาใบอนุญาตที่เหมาะสมจะทำให้ผู้ให้บริการไม่ผลักภาระดังกล่าวไปสู่ประชาชนผู้ใช้บริการ และขณะการจัดทำกฎการประมูลไม่มีผู้ใดคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 3 ราย เพราะขณะนั้นมีผู้สนใจและขอรับเอกสารเพื่อเข้าร่วมการประมูลเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น สมาคมโทรคมนาคมฯ จึงร้องขอความเป็นธรรม และตรวจสอบข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการฯ กรรมาธิการ และสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว กรณีพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ว่า การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ ปี 2553 หรือไม่.
http://www.thairath.co.th/content/tech/309773