โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เป็นที่ตระหนกกันพักใหญ่สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมคำจำกัดความโทรคมนาคมของไอทียู ที่ต้องการเพิ่มเรื่องไอซีทีและอินเทอร์เน็ตเข้าไป

การควบคุมดูแลความปลอดภัยต่าง เรื่องเชิงลบ การเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศด้อยพัฒนา ตลอดจนการกำกับดูแลให้เกิดเป็นกฎระเบียบที่เป็นธรรมและเท่าเทียมทุกประเทศ

เดือนพ.ย. 2555 ไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม World Conference on International Telecommunications 2012 (WCIT-12) ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่ง “กรุงเทพธุรกิจ” มีผลการประชุมดังกล่าวมาให้เกาะติด

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม WCIT-12 กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นที่จับตามองเรื่องการรวมไอซีทีและอินเทอร์เน็ตเข้าไว้ในคำจำกัดความของโทรคมนาคมตามข้อเสนอของหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย และกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลางนั้นมีข้อยุติแล้ว

ทั้งนี้หลังจากที่อภิปรายกันอย่างดุเดือดและแบ่งกลุ่มย่อยล็อบบี้ ได้เกิดการประนีประนอมโดยเสนอทางเลือกที่จะไม่บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในข้อความตกลงใดๆ และนำไปบรรจุไว้ในข้อเสนอแนะที่จะต้องนำไปศึกษาต่อ (Resolution) แต่ไม่มีผลผูกพันใดๆ ต่อประเทศภาคีแทน

เขากล่าวว่า จากสมาชิกทั้งหมดกว่า 150 ประเทศมี 89 ประเทศรวมทั้งไทยที่ยินยอมลงนามในหลักการแล้ว แต่เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ละเอียดอ่อนซึ่งจำเป็นต้องนำไปศึกษาถึงผลกระทบและความสอดคล้องกับกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง โดยหลายประเทศได้ตั้งข้อสงวนไว้

ส่วนประเทศไทยระบุว่าจะไม่ผูกพันตามร่างไอทีอาร์ หากมีประเด็นที่ขัดต่อกฎหมายภายใน และสงวนสิทธิที่จะตั้งข้อสงวนเพิ่มเติมก่อนให้สัตยาบัน รวมทั้งสงวนสิทธิที่จะดำเนินการใดๆ หากประเทศภาคีอื่นไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เป็นผลจากการเจรจานี้ หรือมีการตีความที่ไม่เหมาะสม

“แต่ละกลุ่มประเทศมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน และต่างต้องการนำเสนอความคิดของตนให้เป็นที่ยอมรับ ผลที่ออกมาจึงน่าจะดีที่สุดแล้ว ถือเป็นการพบกันครึ่งทาง และไม่มีใครต้องเสียหน้ากลับไป”

เพิ่มความเคารพสิทธิมนุษยชน

นายสุทธิพลกล่าวต่อว่า อีกประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คือ การเพิ่มประเด็นการเคารพในหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปในอารัมภบท (Preamble Clause) ของร่างไอทีอาร์ ซึ่งที่ประชุมเสียงแตกเป็นสองฝ่าย มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลังได้ลงคะแนนลับ ผลปรากฏว่าเสียงข้างมากจำนวน 77 เสียงเห็นด้วย ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบให้บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในอารัมภบทด้วย

“เราเห็นด้วยในเรื่องนี้เพราะโทรคมนาคมมีบทบาทสำคัญต่อประชาชน ดังนั้น กฎ กติกา และการกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน ประชาชนในทุกประเทศ จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการใช้บริการ ควบคู่ไปกับการได้รับการปกป้องในสิทธิพื้นฐานของตน”

การประชุมครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่สหรัฐและอีกหลายประเทศในกลุ่มยุโรปแสดงท่าทีที่จะไม่ลงนามรับรอง เนื่องจากไม่พอใจในอารัมภบทเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มข้อความในวรรคสาม ให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวยอมรับสิทธิในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศของประเทศภาคี

ขณะเดียวกันมีหลายประเทศตั้งข้อสงวนไว้หลายประการ ทำให้แม้การปรับปรุงเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่อาจมองได้ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากขาดสภาพบังคับไป

นอกจากนี้ยังต้องคอยจับตาดูว่าหากร่างไอทีอาร์มีผลใช้บังคับแล้ว แต่บางประเทศไม่ปฏิบัติตาม จะมีกลไกเยียวยาอย่างไร และจะมีหน่วยงานใดเป็นผู้ตีความบทบัญญัตินี้ คาดว่าน่าจะเป็นสงครามรักษาผลประโยชน์ทางโทรคมนาคม ระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่อเนื่องต่อไป

“ส่วนของไทยถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และเราได้ดำเนินการอย่างรอบคอบมากที่สุดเพื่อปิดช่องทางที่ทำให้เกิดความเสี่ยง พร้อมมีส่วนร่วมในการแสดงออกตามจุดยืน 2 ประการคือ ไม่เห็นด้วยกับการนำไอซีทีและอินเทอร์เน็ตเข้าไปไว้ในคำจำกัดความของโทรคมนาคม และการเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชน” นายสุทธิพล กล่าว

พร้อมระบุว่า ขั้นตอนต่อไปก่อนเข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีที และกระทรวงต่างประเทศที่ต้องนำหลักเกณฑ์ต่างๆ มาศึกษาและตรวจสอบโดยละเอียด ในบางหลักการที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์และกฎหมายไทยสามารถนำไปใช้ได้เลย ทว่าบางประการที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 190 จำเป็นต้องให้สภาเห็นชอบเสียก่อน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังกระทรวงไอซีที แต่ได้รับคำตอบว่า เรื่องนี้จะมีแถลงร่วมกันระหว่าง กสทช. และไอซีที ปี 2556

“คลิกเน็ตจ่ายสตางค์” ยังไม่มีผล

นางสาวดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ประเทศไทย (ไอซอก) กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงรอสรุปผลการประชุมและประเมินผลในภาพรวมอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ช่วงต้นปีหน้า

เบื้องต้นทุกประเทศไม่ต้องการให้เขียนสนธิสัญญาใหม่ที่เป็นเชิงบังคับ และหลายประเทศตกลงจะลงนามที่หมายความว่ายินยอมจะรับนิยามใหม่คือ รวมอินเทอร์เน็ตเข้าไปด้วย

แต่จุดที่ทำให้หลายประเทศเห็นขัดแย้งกันคือ เรื่องของอินเทอร์เน็ตในมุมของการควบคุมดูแลความปลอดภัยต่างๆ เช่น สแปม และเรื่องเชิงลบสำหรับเยาวชน ตลอดจนการเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศด้อยพัฒนาที่ยังไม่มีมาตรฐานกลาง หรือคนที่จะกำกับดูแลให้เกิดเป็นกฎหรือระเบียบของการใช้งานที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับทุกประเทศ

ส่วนประเด็นการจัดระบบการเก็บค่าใช้อินเทอร์เน็ตที่มีบางประเทศเสนอให้ใช้วิธีเก็บแบบ “เปย์ เปอร์ คลิก” ก็ยังคงเป็นประเด็นที่พูดคุยกันในที่ประชุม แต่ยังไม่มีการผลักดันข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

“ระบบการเก็บเงิน เช่น เปย์ เปอร์ คลิก หรือเซนเดอร์ เปย์ ล้วนแต่เป็นแนวคิดที่บางประเทศต้องการให้เกิดการรับรู้รายได้ของอินเทอร์เน็ต เหมือนกับการใช้ระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น โทรศัพท์ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่กลับไปพูดกันเรื่องของการให้บริการและคุณภาพมากกว่า นั่นแปลว่ายังมีเวลาอีก 2 ปีในการต่อรองก่อนที่สนธิสัญญาฉบับใหม่จะเริ่มมีผลในปี 2558” นางสาวดวงทิพย์กล่าว

http://bit.ly/ZCnXzX