10 เรื่องเด่นไอซีทีส่งท้ายปี’55 (อันดับ1.ใบอนุญาต 3G ความถี่ 2.1 GHz ของกสทช.)

ทีมงานไซเบอร์สุดสัปดาห์ สรุป 10 เรื่องเด่นที่น่าสนใจในปี 2555โดยสุดยอดเหตุการณ์สัญญาณบวกสำหรับอุตสาหกรรมไอซีทีบ้านเรา หนีไม่พ้นการได้รับใบอนุญาต 3G ความถี่ 2.1 GHz ของ 3 โอเปอเรเตอร์หลัก เพราะจะทำให้ปีหน้าทุกส่วนที่รวมเป็นอีโคซิสเต็มส์ได้รับผลดีตามมาหมด รวมทั้งเศรษฐกิจในภาพรวม และการเติบโตของบรอดแบนด์เคลื่อนที่

***1.ใบอนุญาต 3G ความถี่ 2.1 GHz ของกสทช.

16 ต.ค. 2555 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมโทรคมไทย หลังจากกสทช.ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz (3G) โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันอย่าง เอไอเอส ดีแทค และทรู

แม้ว่าจะมีการฟ้องร้องจากหลายภาคส่วนถึงการประมูลดังกล่าว ทั้งในแง่ของราคาตั้งต้นต่ำเกินไป ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เป็นการประมูลที่ไม่เกิดการแข่งขัน แต่ในที่สุดทุกเรื่องราวก็ผ่านไปได้ด้วยดี จนล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2555 บอร์ดกทค.มีมติอนุมัติใบอนุญาตแก่ผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย ส่งผลให้ทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์ในไทย สามารถลงทุนเพื่อให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ได้ทันที

แต่ต้องมีการระบุแนบท้ายใบอนุญาตเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการกำหนดพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 50% ภายใน 2 ปี และครอบคลุม 80% ภายใน 4 ปี รวมกับการปรับลดค่าบริการลง 15 – 20% เมื่อแต่ละค่ายเริ่มให้บริการในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2556

***2.สมาร์ทโฟนแข่งดุ

เป็นอีกปีที่สมาร์ทโฟนบุกตลาดหนักทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ส่งผลให้สัดส่วนสมาร์ทโฟนในท้องตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30% หรือราว 5 ล้านเครื่องในปีนี้ ด้วยปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ในปี 2555 ถือว่าเป็นปีที่มีการสร้างสรรนวัตกรรมในวงการสมาร์ทโฟนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเกิดสมาร์ทโฟน Pureview 808 กล้อง 41 ล้านพิกเซลของโนเกีย การมาของซัมซุง Galaxy S3 และ Galaxy Note 2 ที่ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากปี 2554 ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์และประสิทธิภาพของตัวเครื่องเข้าไปอย่างจัดเต็ม และส่งผลให้ซัมซุงขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟน

ในส่วนของกระแส iPhone 5 ก็ต้องยอมรับว่ายังมีเหล่าสาวกที่คลั่งไคล้แอปเปิล ไปต่อคิวรอซื้อ และสรรหามาครอบครองกันอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่ยังไม่เทียบเท่ากับสมัย iPhone 4S รวมกับแบรนด์อื่นๆในตลาดของเอชทีซี แอลจี โซนี ออปโป้ ไอโมบาย ที่มีการเพิ่มสีสรรให้กับตลาดได้เป็นอย่างดี

***3.หนทางรอดของ 2 ผู้ผลิตมือถือใหญ่

เมื่อแอปเปิลและแอนดรอยด์ กวาดส่วนแบ่งตลาดจำนวนมาก ในโทรศัพท์มือถือไปจาก 2 ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตอย่างโนเกีย ที่ฝากความหวังไว้กับไมโครซอฟท์ และระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โฟน กับริม ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบล็กเบอรี ที่ซุ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการน้องใหม่อย่าง BB10 ที่จะเริ่มวางจำหน่ายในช่วงต้นปี 2556

ในส่วนของโนเกีย เมื่อเริ่มวางจำหน่าย Lumia 820 และ 920 ในช่วงปลายปี ก็ถือเป็นการเรียกความหวังของบริษัทกลับคืนมา จากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่มากจนนำเข้ามาขายไม่ทัน ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแก่อดีตยักษ์ใหญ่รายนี้

ส่วนในมุมของริม เรียกได้ว่าถอยจนหลังชนฝา เพื่อเฝ้ารอการจำหน่าย BB10 หลังจากเลื่อนการจำหน่ายเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปี 2555 ออกไปเป็นต้นปี 2556 แทน ทำให้ต้องเฝ้าดูกันว่าระบบปฏิบัติการที่ถือเป็นความหวังหลักของแบล็กเบอรีจะช่วยให้ริมกลับมารอดในตลาดสมาร์ทโฟน และการตั้งสำนักงานในประเทศไทยจะช่วยให้สามารถชิงตลาดกลับมาได้หรือไม่

***4.แท็บเล็ตกวาดตลาดพีซี

แม้ว่าในไทยสัดส่วนตลาดของแท็บเล็ตจะยังใกล้เคียงกับพีซี แต่ในตลาดโลกยอดขายของแท็บเล็ตได้แซงหน้าพีซีไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นในไทยปีหน้าอย่างแน่นอน เพราะระบบปฏิบัติการหลักที่คนนิยมใช้เป็นวินโดวส์ 8 ก็ได้พัฒนาออกมาให้รองรับการใช้งานทัชสกรีนเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันการมาของแท็บเล็ตขนาด 7 นิ้ว ทั้งจากกูเกิล Nexus 7 และ iPad Mini รวมกับบรรดาแท็บเล็ตแบรนด์จีนราคาถูก ก็ช่วยมาผลักดันให้การเติบโตของแท็บเล็ตมีปริมาณมากขึ้นอย่างแน่นอน

*** 5.ลุ้นหุ้น facebook

หลังเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกเพื่อการระดมทุน (IPO) ในวันที่ 18 พ.ค. ด้วยสถิติสูงสุดที่ 38 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น และทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 45 เหรียญในวันเปิดจำหน่าย หลังจากนั้นหุ้นของเฟซบุ๊กก็มีแต่ดิ่งหัวลงด้วยการทำนิวโลว์ในวันที่ 4 ก.ย. ที่ราคา 17.73 เหรียญ หลังจากนั้นในช่วงปลายเดือนต.ค.ด้วยผลประกอบการไตรมาส 3 ก็ช่วยให้มูลค่าหุ้นกลับมาอยู่ที่ราว 23 เหรียญ

นอกจากเรื่องการเปิดขาย IPO แล้วในปี 2555 เฟซบุ๊กยังมีเรื่องการเข้าซื้อ Instagram เครือข่ายสังคมแห่งการแบ่งปันภาพถ่าย เพื่อนำมาพัฒนาเข้ากับระบบแชร์ภาพของเฟซบุ๊ก ก่อนที่จะกลายมาเป็นประเด็นในช่วงท้ายปีกับการโยนหินถามทางของ Instagram ในการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อนำภาพไปขาย ที่ถูกกระแสสังคมต่อต้านจนต้องกลับมาใช้นโยบายเดิม

***6.โซเชียลเน็ตเวิร์ก แจ้งเกิดง่ายแค่ข้ามคืน

โซเชียลเน็ตเวิร์กกลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น หลังจากเห็นกระแสดังข้ามปีไม่ว่าจะเป็นวลีฮิตติดปากจากเกมอย่าง ‘ธนูปักหัวเข่า’ การนำวิดีโอมาลิปซิงค์เพลงเสียใจแต่ไม่แคร์ของน้องก้อง ที่ถูกแชร์เผยแพร่กันชั่วข้ามคืน เช่นเดียวกับคลิปนักเรียนถ่ายถอดอารมณ์โกรธเพื่อนๆ กับประโยคดัง ‘ฟ้องครูอังคณา’ ยังไม่รวมถึงการแชร์ภาพเสี่ยใจดีในเฟซบุ๊ก ที่มีการพูดคุยกับพริตตี้สาวสวย ด้วยประโยคเด็ด ‘แก่-สปอร์ต-ใจดี-กทม.’ ที่มีนักการตลาดหลายคนลงความเห็นว่าเป็นการนำ 4P เข้ามาใช้อย่างถูกจุด

ปิดท้ายปีด้วยกระแสร้อนแรงจากทวิตเตอร์ @noeyzupermarket ที่สร้างตัวตนเสมือนขึ้นมาในโลกออนไลน์ บอกกล่าวการใช้ชีวิตประจำวันที่แฝงไปด้วยแนวคิดรักโลกที่ค่อนข้างสุดโต่งไปหน่อย จนเกิดเป็นกระแส ‘เนยรักโลก’ ที่เพิ่มปริมาณการติดตามจากผู้คนใช้ทวิตเตอร์ในไทยเป็นอย่างมาก

ในฝั่งของต่างประเทศหนุ่ม PSY กับเพลง Gangnam Style และท่าเต้นควบม้ากวนๆ คงถือเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้เครือข่ายสังคม เพื่อโปรโมตเพลงที่ล่าสุดยอดการรับชมคลิปวิดีโอดังกล่าวในยูทูป ทะลุ 1 พันล้านครั้งไปเรียบร้อย และครองสถิติคลิปที่มีผู้ชมจำนวนมากที่สุดอยู่ในปัจจุบัน

***7.ตลาดแชท แข่งเดือด

เมื่อกระแส BBM ถูกแทนที่ด้วยโปรแกรมแชตใหม่ๆอย่าง Whatsapp และ Line ได้ในเวลาไม่กี่เดือน จนล่าสุดการเข้ามาของ WeChat แอปแชตยอดนิยมจากจีนที่หวังเข้ามากวาดตลาดในไทย ที่มีปริมาณผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตนั้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดไปโดยปริยาย

จุดที่น่าสนใจจากสถิติผู้ใช้ Line ในไทยกว่า 10 ล้านคน คือ ไทยติดอันดับ 1 ในมุมของผู้ใช้กว่า 50% ใช้งานซ้ำใน 24 ชั่วโมง หรือเรียกง่ายๆว่าพี่ไทยใช้งานบ่อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ จากสถิติดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าความนิยมในการแชทผ่านโทรศัพท์มือถือกำลังจะกลายเป็นพฤติกรรมหลักในอนาคตต่อไป

***8.กสทช. ตั้งกฏเหล็กคุมถ่ายทอดกีฬา

จากเหตุการณ์จอดำในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ทำให้หลายฝ่ายต่างฝากความหวังในการกำกับดูแลลิขสิทธ์การถ่ายถอดกีฬาสำคัญๆกับกสทช. จนในที่สุดก็มีความชัดเจนจากการประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ทำให้ประชาชนชาวไทยใจชื้นขึ้นมาบ้างว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์จอดำขึ้น ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก สำหรับ 7 รายการแข่งขันกีฬาที่ประกาศประกอบไปด้วย 1. กีฬาซีเกมส์ 2. กีฬาอาเซียนพาราเกมส์ 3. กีฬาเอเชียนเกมส์ 4. เอเชียนพาราเกมส์ 5. กีฬาโอลิมปิก 6. กีฬาพาราลิมปิก 7. ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

***9.ถึงเวลากล้องมิลเลอร์เลส

การมาของกล้องมิลเลอร์เลสที่ใช้แนวคิดกระจกสะท้อนภาพ ที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เปลี่ยนเลนส์ได้ ใช้งานง่าย และประสิทธิภาพใกล้เคียงกับกล้อง DSLR สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ช่วยกระตุ้นสัดส่วนตลาดของมิลเลอร์เลสให้เพิ่มขึ้น นำทัพหลักในช่วงแรกโดยโซนี พานาโซนิค โอลิมปัส ก่อนที่นิคอน และแคนนอน 2 ยักษ์ใหญ่จะลงมาจับในตลาดดังกล่าว

ส่งผลให้สัดส่วนของกล้องมิลเลอร์เลส เริ่มเข้ามาแทนที่กล้องดิจิตอลคอมแพกต์ในปัจจุบัน เพราะการขยับขึ้นมาใช้งานกล้องมิลเลอร์เลส ที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาคอมแพกต์ไม่เท่าไหร่ แต่ได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับกล้อง DSLR ทำให้กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้บริโภคที่ไม่ต้องการแบกกล้องใหญ่อุปกรณ์ครบ มาเป็นพกกล้องเล็กตัวเดียวก็เที่ยวได้แทน

***10.ดีแทค ‘ล่ม’ ซ้ำซาก

ผลจากการเปลี่ยนเครือข่ายใหม่ กับอุบัติเหตุสุดวิสัย ทำให้ในปี 2555 ถือเป็นปีโชคไม่ดีของดีแทค ที่ต้องเจอเหตุการณ์เครือข่ายล่ม 4 ครั้งในปี 2555 เริ่มกันตั้งแต่ช่วงต้นปีในวันที่ 5ม.ค.ส่งผลกระทบลูกค้าราว 1.8 ล้านคน จากอุปกรณ์เครือข่ายขัดข้อง ถัดมาในวันที่ 8 ม.ค. เกิดเหตุรถบรรทุกชนเสาไฟฟ้า และทำให้สายเคเบิลใยแก้วของดีแทคถูกตัดขาด หลังจากนั้นไม่นานเกิดเหตุไฟไหม้ใกล้กับสายเคเบิลใยแก้วสำรอง ทำให้สัญญาณไปสู่ภาคใต้โดนตัดขาดโดยสมบูรณ์ลูกค้า 2 ล้านรายใช้งานไม่ได้

อีกครั้งต่อมาเกิดในช่วงวันที่ 4 พ.ค.ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจากเหตุรถบรรทุกเกี่ยวสายเคเบิลอีกเช่นเดียวกัน และครั้งสุดท้ายของปีเกิดขึ้นในวันที่ 28 ส.ค.จากเหตุอุปกรณ์ขัดข้อง ส่งผลกระทบในวงกว้างแก่ลูกค้าดีแทคราว 4 ล้านเลขหมาย และแม้ว่าดีแทคจะมีมาตรการชดเชยให้แก่ลูกค้าที่ไม่สามารถใช้งานได้ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องเสียเงินค่าปรับแก่หน่วยงานกำกับดูแลอย่างกสทช.เพิ่มอีก 10 ล้านบาท

http://astv.mobi/Ai6Mh0S