กสทช. ย้ำชัดข้อมูล”ถูกบิดเบือน”ต้องรีบแก้ไข
ต้องทำให้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวว่า ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)
ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างความรู้ความเข้าใจ ต่อสังคมเกี่ยวกับการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G เพื่อให้ประชาชนเข้าใจตรงกันว่า การจัดสรรคลื่นโดยวิธีการประมูลนั้น ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้านยังต้องอาศัยหลักการแนวทางที่เป็นสากลเพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคของ ประเทศไทย ที่ต่างมีวิธีการอันซับซ้อน ทั้งเชิงเทคนิค รายละเอียดทางวิศวกรรม

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ สภาวะทางตลาดและลักษณะของอุตสาหกรรม โทรคมนาคม และข้อกฏหมายต่างๆ เพื่อจะทำให้ประชาชน สังคมไทย เข้าใจหลักการที่ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้ง ความสับสนต่อสังคม ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไปได้ ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า กสทช. จำเป็นต้องสร้างความคุ้นเคยกับผู้คนที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม และพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงาน ได้แสดงข้อเท็จจริงหรือขยายผลต่อไป

โดยในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.นั้น จะปฏิบัติตามกฏหมาย เคารพกฏกติกา และรักษาจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน และประโยชน์สูงสุดแก่สังคม ซึ่งหลักการในการทำงานรูปแบบคณะกรรมการ(Board of Commissioners) จะมีการดำเนินงานตามมติที่ประชุม ที่จะนำไปสู่ผลทางกฏหมาย คือ เสียงข้างมาก เป็นเสียงที่มีผลผูกพันโดยคณะกรรมการมีความรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารงานในรูปแบบ”องค์คณะ” อันก่อให้เกิดสิทธิในการคาดหวังว่ากรรมการแต่ละท่านจะปกป้องกรรมการท่านอื่นๆ โดยไม่ทำให้กรรมการทั้งองค์คณะเสื่อมเสียชื่อเสียง

อีกทั้งการที่ยอมเข้าสู่ตำแหน่งกรรมการ ไม่ได้ก่อให้เกิดบทบาทหน้าที่ในฐานะกรรมการผู้กำกับดูแลเท่านั้นแต่ยังเป็นการสละความเป็น อิสระบางส่วน อย่างเช่นการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือมติ ในเรื่องนี้กรรมการจะมีเสรีภาพแบบบุคคลธรรมดาและมีบทบาทหน้าที่ในฐานะกรรมการไปพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ แต่ต้องเลือกทำในฐานะกรรมการเท่านั้น ดังนั้นการที่บอร์ดเสียงข้างน้อยแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากมติเสียงข้างมาก แม้สามารถจะกระทำได้ในการเปิดเผยมติของตน แต่ไม่ควรไปเผยแพร่ต่อสาธารณะในลักษณะตำหนิความเห็นของบอร์ดเสียงข้างมาก โดยเฉพาะการนำความเห็นเพียงบางส่วนออกไปเผยแพร่เพราะอาจเป็นอันตรายและส่งผลต่อเสถียรภาพของการบริหารงานด้วย

เนื่องจากผลการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ภาพลักษณ์ของคณะกรรมการ กสทช. เสื่อมเสียชื่อเสียงและยังทำลายความเป็นกลางความเป็นอิสระ และประโยชน์ของประเทศชาต อีกทั้งยังสร้างข้อกังขา และความเข้าใจผิดต่อประชาชน และวุฒิสภาในเรื่องกระบวนการ ที่มาของมติที่ประชุม ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของการบริหารงาน ดังนั้นบอร์ดที่ให้ข่าวบิดเบือนและไม่เคารพในมติจะต้องรับผิดชอบ โดยในอนาคตหากมีการตักเตือนและไม่เป็นผล ก็ควรเสนอเรื่องต่อซุปเปอร์บอร์ดและวุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตลอดจนองค์กรตรวจสอบอื่นๆ เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ในเวทีระหว่างประเทศ กรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ยังได้มีการจัดทำความร่วมมือกับ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) ทำการศึกษาและประเมินผลการจัดประมูลคลื่นความถี่ เพื่อวิเคราะห์ถึงประเด็นต่างๆ พร้อมนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มาประกอบการพิจารณาในการจัดทำหลักเกณฑ์ การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งต่อไป โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงาน คือ การให้สำนักงานฯสนับสนุนข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อให้ ITU นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหลักเกณฑ์ ที่สามารถตอบสนองเงื่อนไข และบริบททางกิจการโทรคมนาคในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสมตลอดจนจัดให้มีการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ITU ต่อผู้ที่เกียวข้องด้วย

นอกจากนี้ ในการเตรียมตัวการรองรับคลื่นความถี่ที่จะหมดอายุในอนาคต กสทช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ วิทยุคมนาคมระบบ เซลลูลาร์ Digital PCN 1800 ขึ้นเพื่อรองรับผลของการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ให้มีความต่อเนื่องในการให้บริการ และคุ้มครองผู้ใช้บริการ ให้สอดคล้องกับกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจัดเตรียมแผนการรองรับการย้ายโครงข่าย Migration Plan ที่ต้องอยู่บนหลักการของการเพิ่มประสิทธิภาพประหยัดเวลา และกระทบผู้บริโภคให้น้อยที่สุดพร้อมขยายขีดความสามารถในการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

“บอร์ดที่ให้ข่าวบิดเบือนและไม่เคารพในมติจะต้องรับผิดชอบ”

ดร.สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กสทช.ยังได้เตรียมมาตรการเพื่อรองรับข้อร้องเรียนต่างๆ เนื่องจากมีการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้นโดยการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทการให้บริการ เพิ่มสอดคล้องกับแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่1 ที่กำหนดเรื่องการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภค สามารถเข้าใช้ช่องทางร้องเรียนจากการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่มีตัวชี้วัด คือ การปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ โดยเสรีอย่างเป็นธรรม

ดังนั้น การกำหนดกระบวนการ ขั้นตอนการปฏิบัติ เกี่ยวกับการรับร้อง การพิจารณาจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ตามประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในเรื่องกระบวนการรับร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. 2549 เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภค เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการใช้ระเบียบ กสทช. ที่ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้ร้องเรียน พ.ศ. 2555 ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาทให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยตามหลักสากลสิ่งที่ควรคำนึงถึง 3 ส่วนคือ ประโยชน์ของรัฐ ประโยชน์ของผู้บริโภค และประโยชน์ของผู้ประกอบการ จะต้องมีความสมดุลกัน โดยไม่มุ่งมั่นไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งนี้ต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดความพอดีซึ่งในปีที่ผ่านมาถือได้ว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤตการขาดแคลนคลื่นความถี่ ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ได้ขาดแคลน หากแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้

ดร.สุทธิพล กล่าวอีกว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่มีความสำคัญมากในทุกๆ ประเทศทั่วโลก แต่เนื่องจากฟิกไลน์จะต้องเดินสายผ่านพื้นที่ต่างๆ ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เกิดความล่าช้าและประสบปัญหา โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่รวมถึงประเทศไทยด้วย ในขณะเดียวกันที่มีความต้องการคลื่นความถี่มากขึ้น เทคโนโลยีก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยสื่อสาร รับส่งข้อมูลผ่านทางเสียงเพียงอย่างเดียว ก็ได้ริเริ่มมีการรับส่งข้อมูล ทั้งภาพและเสียง โดยยังเป็นคลื่นความถี่ 2G เช่นเดิม

หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 3G เป็นผลสำเร็จ โดยไม่ถูกล้มการประมูล เป็นผลให้เราสามารถจัดสรรคลื่นความถี่ย่านนี้ได้ ถือว่าเราประสบความสำเร็จไปอีกขั้น ทั้งนี้ ในอนาคตเราได้มีการวางแผน เตรียมตัวการเปิดประมูลคลื่น 4G โดยการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นพร้อมการประชุม ให้คำปรึกษา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใน เพื่อแก้ไขปัญหาในการเปิดการประมูล ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในการประมูลแบบครั้งที่ผ่านมา

ซึ่งการประมูล 3G เป็นคลื่นความถี่ที่ถูกทิ้งไว้ แต่การประมูล 4G เป็นคลื่นความถี่ที่ถูกใช้อยู่ จึงเกิดมุมมองที่แตกต่างกันดังนั้น ในการแก้ปัญหาเราจึงมองว่า เมื่อหมดสัญญาการใช้คลื่นความถี่ 3G แล้ว จะต้องมีการส่งคืนกลับมา โดยมุมมองของผู้เกี่ยวข้อง ในส่วนภาคเอกชน ยังคงยินดีที่จะคืนกลับมา แต่ในแง่ของ TOT CAT หรือในส่วนของกระทรวง ICT ยังอยากจะเอาคลื่นไว้ต่อไป ซึ่งทางข้อกฏหมายไม่ได้เขียนชัด

แต่เราทำการตรวจสอบและส่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฏหมายของกสทช. ให้ความเห็น ซึ่งอนุกรรมการทุกท่านมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าต้องคืนคลื่นมาที่ กสทช.

ตามกฏหมายมาตรา 84 บ่งชี้ว่า ให้ใช้คลื่นความถี่ที่ได้มาโดยสัมปทาน เป็นคลื่นที่มาตามกฏหมายเก่า และสิทธิที่มีมาจากกฏหมายเก่า โดยกฏหมายใหม่รองรับให้มีการใช้คลื่นต่อไป เมือ่ถึงกำหนดที่ต้องคืน คนที่มีอำนาจในการจัดสรร คือกสทช. แต่ในการกำหนดคืนคลื่นเราต้องคำนึงถึงผู้ใช้บริการ ภาครัฐ และส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้กฏหมายกำหนดว่า จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และความจำเป็นของการประกอบคลื่นความถี่ แต่ในแผนแม่บทเราเน้นเฉพาะสัมปทานที่ไม่กำหนดระยะเวลาคือให้คืนภายใน 15 ปีในกรณีของโทรคมนาคม

สำหรับกรณีสัญญาที่กำหนดเวลา แผนแม่บทกำหนดให้คืนเมื่อสิ้นสุดสัญญา ซึ่งในความเป็นจริงกสทช.จะต้องกำหนดเวลาคืนให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่กฏหมายระบุ ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับประเด็นความพร้อมอีกหลายองค์ประกอบ ที่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ หากทุกฝ่ายยอมรับและมีความเข้าใจตรงกันได้ทุกอย่างก็จะไม่เป็นปัญหา

ทั้งนี้ในการประมูลคลื่น 4G หากจะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในแบบการประมูลคลื่น 3G ทุกฝ่ายทุกภาคส่วน จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ทั้งกับประชาชน สื่อมวลชน และฝ่ายรัฐนอกจากนี้เรายังได้บทเรียน จากการประมูลคลื่น 3G ถึงจุดอ่อนและแนวทางแก้ไขที่ถูกต้อง โดยจะต้องทำให้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง ที่สำคัญอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศชาติอย่างแท้จริง ที่สำคัญอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย จะต้องอยู่ได้ดีขึ้นและเข้มแข็งขึ้นถือว่าตรงนี้คือโอกาส เพราะขณะนี้เรายังไม่ได้เปิดตลาดเสรีในด้านโทรคมนาคมอย่างเต็มที่เรามีข้อจำกัด ซึ่งเราต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อเตรียมตัวรองรับ AEC ด้วย ดังนั้นการเปิดให้ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้เข้ามาลุงทุนรวมทั้งกิจการโทรคมนาคมไทยมีแต้มต่อ โดยหน้าที่ของเราคือเรากำกับดูแล ให้คำปรึกษา และเปิดกว้าง เมื่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยเข้มแข็งขึ้นแล้ว หากต่อมามีการเพิ่มผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้เกิดการแข่งขันในการประมูลครั้งต่อไปสูงขึ้น ก็จะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้เกิดการแข่งขันในการประมูลครั้งต่อไปสูงขึ้น ก็จะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการของไทยมาก

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สำคัญที่ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด คือ การตั้งทีมเฉพาะกิจ ที่คอยให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เมื่อมีข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงต้องรีบแก้ไข การรองรับการบริการโทรคมนาคม เมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคไม่ได้รับความพึงพอใจก็สามารถร้องเรียนผู้ประกอบการได้ โดยเมื่อมีการใช้คลื่นความถี่มากขึ้น การบริการต่างๆ ก็จะมากขึ้น จำเป็นต้อนำวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกมาใช้

โดยการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ขณะนี้ กสทช.ได้เริ่มสร้างและพัฒนาบุคลากร เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง และเพิ่มกลไกให้เร็วขึ้น

โดยให้ผู้บริโภคได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว สะดวก และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ กสทช.ประสบความสำเร็จ คือ การยอมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน พร้อมชี้แจงในทุกข้อกล่าวหา ผลที่ออกมาจะมีรากฐานที่เข้มแข็ง อาจเหนื่อยบ้างท้อบ้าง แต่หากเราผ่านไปได้ เราจะสามารถยืนอยู่และสู้ต่อไปได้ ด้วยความหวังของประชาชน

จึงมั่นใจว่าปีใหม่ 2556 จะเป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมเพราะทุกองคาพยพจะเดินหน้าเต็มสูบในเรื่องกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะมีการสังคายนา กฏ กติกา ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บิโภค พร้อมกับปรับปรุงยุทธศาสตร์การทำงาน และสิ่งที่สำคัญจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดในทางความคิดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 30 ธ.ค. 2555- 2 ม.ค. 2556:
กสทช.ย้ำชัดข้อมูล “ถูกบิดเบือน” ต้องรีบแก้ไขต้องทำให้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง