“สุทธิพล ทวีชัยการ” กก. กสทช. เล็งออกโรงสุ่มตรวจการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินร้านค้ารอบสอง หลังสุ่มตรวจ 18 ม.ค.ไร้ผล ขู่ค่ายมือถือฝ่าฝืน คาดโทษปรับ 1 แสน ถึงเพิกถอนใบอนุญาต…

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. กล่าวว่า จากการที่ร่วมกับ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ไปสุ่มตรวจศูนย์บริการของผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันดีเดย์ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ที่ห้ามกำหนดวันหมดอายุของบัตรโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินนั้น พบว่าผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อรองรับกับเส้นตายที่ กสทช. กำหนด โดยถึงแม้จะมีการกำหนดวันหมดอายุ แต่ปรับปรุงเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคมากขึ้น เช่น กำหนดวันหมดอายุเป็น 30 วัน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเติมจำนวนเงินตามที่กำหนด และเมื่อระยะเวลาใกล้ครบกำหนดก็จะมีการขยายวันให้

ทั้งนี้ โดยภาพรวมถือว่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับ กสทช. ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากอาจจะเป็นวันแรกที่นำระบบใหม่มาใช้ จึงพบว่าหลายค่ายยังขลุกขลักอยู่บ้าง และยังไม่พร้อม ซึ่งได้รับการชี้แจงจากพนักงานของผู้ประกอบการว่าเป็นปัญหาด้านเทคนิคและรับรองว่าจะเข้าที่เข้าทางโดยเร็ว

กรรมการ กสทช. กล่าวต่อว่า เพื่อให้การกำกับดูแลผู้ประกอบการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กสทช.จะติดตามการดำเนินการของผู้ประกอบการทั้ง 3 รายต่อ โดยจะลงพื้นที่ตรวจศูนย์บริการและระบบเติมเงินครั้งต่อไปในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประกอบการดำเนินการตามที่ให้สัญญาไว้กับ กสทช. จริงๆ ไม่ใช่ตรวจเพียงแค่วันดีเดย์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการดังกล่าวยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จะส่งผลให้จำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้วันละ 1 แสนบาท ยังคงเดินหน้าไปเรื่อยๆ และถ้าหากแนะนำแล้วยังไม่ปรับปรุงก็จะเพิ่มจำนวนค่าปรับต่อวันให้สูงขึ้นอีก ส่วนมาตรการที่จะนำมาใช้บังคับนั้นจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก คือ เตือน ปรับ เพิ่มค่าปรับ พักใช้ใบอนุญาต ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต

“อย่าไปคิดว่าค่าปรับเพียงวันละ 1 แสน จะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการที่ได้กำไรแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล ผมเชื่อว่าตอนนี้สังคมกำลังจับตามองผู้ประกอบการอยู่อย่างไม่กะพริบตา เพื่อที่จะดูว่าผู้ประกอบการรายใดปฏิบัติตามกฎกติกา และรายใดบ้างที่ไม่ปฏิบัติตาม และยังคงเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่ ซึ่งภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ณ ขณะนี้หากผู้ประกอบการที่ตกลงในวันประชุมกับ กสทช. เมื่อวันที่ 14 มกราคม แล้วไม่ปฏิบัติตามที่สัญญาไว้ ก็จะกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาผู้บริโภคทันที ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน ตรงกันข้ามหากผู้ประกอบการปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้และยึดตามกรอบกติกา ก็จะกลายเป็นพระเอกในดวงใจของผู้บริโภคอย่างแน่นอน จึงขอเตือนให้รีบทำตามสิ่งที่รับปากกับ กสทช.เอาไว้” นายสุทธิพล กล่าว

อนึ่ง แม้ข้อ 11 ของประกาศ กทช. ข้างต้นจะห้ามผู้ประกอบการกำหนดวันหมดอายุ แต่ก็ยังเปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ต้องการกำหนดวันหมดอายุในบัตรเติมเงินทำเรื่องขอความเห็นชอบจาก กสทช.ได้โดยให้ กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขการให้บริการประกอบตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ แต่ก็มักเข้าใจผิดกันว่า เงื่อนไขที่ว่านี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตามการที่ กสทช.ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะกำหนดวันหมดอายุในบัตรเติมเงินเสนอเงื่อนไขเข้ามาก็เพื่อต้องการทราบข้อมูลจากผู้ประกอบการเพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อไป

กรรมการ กสทช. กล่าวอีกว่า ทราบว่าผู้ประกอบการได้ทยอยส่งข้อเสนอเกี่ยวกับเงื่อนไขเข้ามาแล้ว โดยเรื่องเข้ามาที่กลุ่มกฎหมายโทรคมนาคม และเมื่อทางสำนักงาน กสทช.ทำความเห็นประกอบการพิจารณาแล้ว บอร์ด กทค. จะรีบพิจารณาทันที โดยจะดูว่าอยู่ในกรอบมาตรฐานขั้นต่ำที่ทาง กสท ช.กำหนดไว้หรือไม่ โดยเงื่อนไขที่จะกำหนดจะต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งภายในสัปดาห์นี้น่าจะได้ข้อยุติในเรื่องนี้เสียที เพราะคาราคาซังมานานแล้ว หากปล่อยไว้เรื้อรังก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใด ทางบอร์ด กทค. ก็ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการหลายครั้ง และมาตรฐานขั้นต่ำในเรื่องบัตรเติมเงิน (พรีเพด) ที่กำหนดล่าสุดก็ยืดหยุ่นพอสมควรแล้ว ผู้ประกอบการน่าจะรับได้ และขอให้ผู้บริโภครอฟังข่าวดี

โดย: ไทยรัฐออนไลน์

20 มกราคม 2556, 17:00 น.

http://m.thairath.co.th/content/tech/321444