วันที่ 24 มกราคม 2556 17:27

กสทช.เตือนภัยร้ายแฝงมากับมือถือ จัด “ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้” สร้างความเข้าใจ ชี้มูลค่าความเสียหายด้านอิเล็กฯเฉลี่ยปีละ 713 ล้านล้านบาท

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงาน National Cybersecurity Awareness Day เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยร้ายที่มากับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในระหว่างวันที่ 24-27 มกราคมนี้

พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวว่า ในฐานะที่ กสทช. มีหน้าที่ในการกำกับดูแลทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม และยังมีในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการที่ กสทช. กำกับดูแล ซึ่ง กสทช.มีความรู้สึกเป็นห่วงความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ทำธุรกรรมผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพราะภายใต้ประโยชน์ของการจัดการธุรกรรมผ่านทางสมาร์ทโฟนยังมีอันตรายซ่อนอยู่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ทราบและต้องประสบกับมหันตภัยไร้สายนี้อยู่ตลอด ก่อให้เกิดคดีความมากมาย และสร้างความเสียหายทั้งในระดับบุคคล จนถึงระดับชาติ

นางสาวสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าความเสียหายในด้านอิเล็กทรอนิกส์ อยู่เฉลี่ยปีละ 713 ล้านล้านบาท

ส่วนในภาครัฐ มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 680,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นมูลค่าความเสียหายมหาศาล โดยในอนาคต 3จี จะถูกนำมาใช้ในทุกเครือข่ายอย่างสมบูรณ์แบบในเดือนเมษายน 2556 ก็คาดว่าจะมียอดการสูญเสียจากการถูกโจรกรรมบนโลกไซเบอร์สูงเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า”

กสทช. จึงต้องรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายจากโลกออนไลน์ให้กับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมถึงประชาชนได้หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้

นอกจากนี้ยังได้จัดนิทรรศการ คิด ก่อน คลิก cybersecurity มหันตภัยปลายนิ้ว ในระหว่างวันที่ 25-27 มกราคมนี้ ที่ Terminal 21 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้สัมผัสภัยร้ายไร้สายนี้ด้วยตัวเองผ่านกิจกรรมสนุกๆ ที่ได้จำลองสถานการณ์เสมือนจริง

พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี เชื่อมั่นว่าจากการจัดงานทั้ง 4 วันนี้ จะทำให้ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักรู้ถึงมหันตภัยไร้สาย ใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นกับเราโดยไม่คาดคิด และรับทราบถึงแนวทางการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการรับมือเมื่อเกิดภัยดังกล่าวกับตัวเอง เพื่อที่ประชาชนจะได้ตระหนักรู้และ“คิด ก่อน คลิก” เพื่อป้องกันภัยก่อนที่จะมาถึงตัว

http://bit.ly/XC3vs1