กสทช.ขี่ม้าขาวบี้ค่ามือถือ คุมมาตรฐาน 99 สต.
โพสต์ทูเดย์ : การตลาด; 28/01/2556
กลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ไปเรียบร้อยแล้วกับการจัดระเบียบกำหนดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ รวมถึงการยกเลิกวันหมดอายุของบัตรเติมเงิน (พรีเพด)นั้น เชื่อได้อย่างแน่นอนว่าจะทำให้เกิดการพลิกแมหน้าการให้บริการของค่ายมือถือสองค่ายหลัก อย่างแอดวานด์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)ที่จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดครั้งใหญ่ อย่างแน่นอน
ทั้งนี้เพราะแคมเปญใหญ่ของค่ายมือถือทั้งสองค่าย มีอัตราบริการสูงกว่านาทีละ 99 สตางค์
อย่างไรก็ตาม สมชาย เลิศสุทธิวงศ์ หัวหน้าผู้บริการด้านการตลาดไอเอเอส ได้ออกมายอมรับว่า กติกานี้ กสทช.ได้ประกาศใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2556 นั้น ทำให้เอไอเอสต้องปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นให้เข้ากับกติกาใหม่ที่เกิดขึ้นซึ่งเอไอเอสเองก็พร้อมที่จะดำเนินการตามที่ กสทช.กำหนด
แม้ว่าในปัจจุบันเอไอเอสจะมีแพ็กเกจโปรโมชั่นอยู่มากกว่า สองหมื่นแพ็กเกจย่อยแต่ก็ต้องปรับแพ็กเกจทั้งหมดให้ตรงกับกติกาใหม่ที่เฉลี่ยแล้วค่าบริการจะต้องไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์
กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลระเบียบทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เมื่อออกกติกามาเอกชนก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการบ้าง แม้ว่าเมื่อเฉลี่ยค่าบริการของเอไอเอสแล้ว เราจะมีราคาค่าบริการเฉลี่ยที่ 53 สตางค์ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การปรับบริการลงเหลือเฉลี่ยนาทีละ 99 สตางค์ นั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อบางแพ็กเกจของเอไอเอสอย่างเช่นแพ็กเกจที่เน้นเรื่องของการรับสายมากกว่าการโทร และยอมจ่ายค่าโทรนาทีที่แพงกว่าปกติ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่มีอายุและลูกค้าที่เป็นเด็กซึ่งเอไอเอสมองว่าต้องปรับแพ็กเกจสำหรับลูกค้าที่มีพฤติกรรมการใช้งานอย่างนี้ใหม่ เพื่อตอบสนองทั้งพฤติกรรมของลูกค้าและกติกาของ กสทช.
ส่วนกรณีการห้ามหมดอายุของบัตรพรีเพดที่ กสทช.ต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาของเงินค้างในบัตรที่หมดอายุ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10% ของบัตรพรีเพดเอไอเอส หรือประมาณ 4ล้านใบต่อปี ตัดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 360 ล้านบาท ที่แม้ว่าจะน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณการเติมเงินที่ตกเดือนละ 7,000 ล้านบาท แต่เอไอเอสก็พร้อมจะยกเลิกวันหมดอายุบัตรพรีเพด
แต่ได้เสนอให้ กสทช.เห็นถึงข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุนของบัตรพรีเพดที่ค่ายมือถือต้องจ่ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาเลขหมายเบอร์ละ 2บาท ที่ต้องจ่ายให้ กสทช. รวมถึงต้นทุนค่าบริการจัดการเลขหมาย ซึ่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อเดือน ว่าหากบัตรพรีเพดใดไม่มีการเคลื่อนไหวในการใช้งานต่อเนื่องกัน 1ปี ก็ขอยกเลิกการใช้บัตรดังกล่าวเพื่อควบคุมต้นทุนของบัตร
นอกจากนี้ การกำหนดเวลาบัตรพรีเพดที่ 1 ปี ยังช่วยแก้ปัญหาในเรื่องปริมาณของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขาดแคลนได้อีกด้วย เพราะหากไม่มีการกำหนดวันหมดอายุของบัตรแล้วค่ายมือถือจะไม่สามารถนำลขกหมายที่ไม่มีการเคลื่อนไหวการใช้งานกลับมาใช้ใหม่(Reuse)
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตจะมีการหารือเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
แม้กติกาที่ กสทช.ประกาศออกมานั้น จะส่งผลกระทบต่อค่ายมือถือ แต่สุดท้ายแล้วเป้าหมายของกสทช. คือ ลูกค้าต้องได้รับความเป็นธรรมในการใช้งาน และเพื่อเกิดความเท่าเทียมกันในหมู่ผู้ประกอบการมือถือด้วยกัน
ดังนั้น ผู้ประกอบการ ก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แม้จะเจ็บตัวในบางเรื่อง แต่เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดีตราบใดที่ทั้ง กสทช. และผู้ประกอบการมือถือหันหน้าเข้าหากันโดยเอาประโยชน์ของลูกค้าเป็นที่ตั้ง